++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ผู้นำคือกำลังสำคัญของวังน้ำคู้ กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบล วังน้ำคู้ อ.เมือง จ.พิษณุโลก

เรียบเรียงโดย ณัฐฏ์ รัตนกานต์

            แม่น้ำน่าน  มีที่ราบติดแม่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประชากรมีอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน ทำไร่ เป็นส่วนใหญ่ ตำบลวังน้ำคู่ อยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ที่จัดว่าเป็นตำบลเล็กๆ แต่มีคุณภาพ เดี๋ยวค่อยมาเรียนรู้กันว่า มีคุณภาพอย่างไร

            วังน้ำคู้ มีหมู่บ้านแบ่งเป็นเขตจำนวน 8 หมู่บ้าน มีประชากรทั้งสิ้น 4,285 คน มีทั้งหมด 1,398 ครัวเรือน มีผู้นำชื่อ นายวิเศษ ยาคล้าย นายก อบต.ผู้ที่เคยเป็นมาแล้วทั้งกำนัน และผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่กว่า 5 ปี
            กล่าวกันว่า วังน้ำคู้ "มีบุญเก่า" เพราะเหตุว่า ก่อนการเข้ามาของกองทุนฯ นั้น วังน้ำคู้ก็ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของสุขภาพเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว  จึงเป็นเรื่องไม่ยากในการพัฒนางานให้เดินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว
            หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สถานีอนามัย, อบต. โรงเรียน วัด กลุ่มต่างๆในชุมชนประสานเป็นเนื้อเดียวกันได้ และสามารถพัฒนางานได้อย่างเป็นรูปธรรม มีการวางแผนเป็นโครงการต่างๆไว้อย่างชัดเจน
           
             ในระยะแรก วังน้ำคู้ได้ดำเนินงานโครงการต่างๆไปกว่า 16 โครงการ อาจมีปัญหาอยู่บ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นความไม่เข้าใจในเรื่องของระเบียบการใช้เงินของโครงการ หรือบางครั้ง ไม่กล้าตัดสินใจในการที่จะใช้เงินของกองทุนฯ ต่อมาเมื่อทำโครงการมากขึ้น ความคล่องตัวในการตัดสินใจมากขึ้น ปัจจุบัน มีโครงการในวังน้ำคู้เพิ่มขึ้นอีก 6 โครงการ ส่วนโครงการอื่นก็เป็นโครงการที่พัฒนาต่อยอดจากโครงการที่เคยทำมาก่อนหน้าทั้งสิ้น
            โครงการที่โดดเด่น คือ โครงการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ นายก อบต.พูดถึงโครงการนี้ว่า
            " พอใจโครงการเสริมสร้างสุขภาพผู้สูงอายุ เนื่องจากประชาชนชอบมาก มีหน่วยงานอื่นเข้ามามีส่วนร่วมให้การสนับสนุน เช่น งบจากกระทรวงมหาดไทย"
            โครงการนี้เป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากชมรมผู้สูงอายุเดิม  ก่อนที่กองทุนฯ จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาพของประชาชน ผู้ริเริ่มแต่แรกคือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้จัดกิจกรรมที่สร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้สูงอายุ เช่น เชิญเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลพุทธชินราชมาตรวจสุขภาพ , ส่งเสริมการออกกำลังกาย , เชิญวิทยากรจากโรงพยาบาลวัดโบสถ์มา ส่งเสริมการเห็นคุณค่าของตนเอง และยังมีกิจกรรมอื่นอีกมากมายที่เป็นกิจกรรมที่กระตุ้นให้ผู้สูงอายุเกิดความตื่นตัวในการเข้าร่วมกิจกรรม

            นอกจากนี้ผู้สูงอายุเองก็มีการสมทบเงินเข้ากองทุนคนละ 50 บาท ด้วยความสมัครใจ เพราะเห็นว่ากองทุนฯ เหล่านี้มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ของตน ปัจจุบันชมรมผู้สูงอายุนี้มีสมาชิกกว่า 500 คน เข้าร่วมกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอกว่า 300 คน ได้แสดงให้เห็นถึง ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจากคนในชุมชนเอง  เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกล่าวถึงการทำงานว่า

            "ปัญหาของเรา เช่น เราทำโครงการไม่ทัน เราก็ประสานงานกับ อบต.ว่า ขอเลื่อนระยะเวลาออกไปอีก ทาง อบต.ก็ไม่ว่าอะไรแต่ขอให้ทำกิจกรรมเพื่อชาวบ้านจริงๆ ก็พอ บางทีก็มีการปรับเปลี่ยนแผนงาน ก่อนทำโครงการเพราะต้องดูว่า มีเจ้าหน้าที่ และ อสม.พร้อมที่จะทำหรือไม่"

            งานทุกงานเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามระยะเวลาที่เหมาะสม ตามความพร้อมของทุกภาคส่วน รวมไปถึงความพร้อมของผู้เข้าร่วมกิจกรรม

            ปัจจัยสู่ความสำเร็จของโครงการวังน้ำคู้ มีหลายประการ ดังที่ตัวแทนคณะกรรมการกองทุนฯ ทั้งเจ็ดท่าน ได้กล่าวถึง นายก อบต. ดังนี้

            " นายก...เปิดใจมาก รับฟังความคิดเห็น ใจกว้าง เป็นคนดี เปิดเผย
                นายก..รับฟังปัญหา เน้นความสามัคคี หานายกอย่างนี้ไม่ได้
                นายก..มองปัญหาไกล โปร่งใส
                นายก..มีวิสัยทัศน์กว้าง เข้าใจง่าย
                นายก..ดูแลประชาชน เป็นเหมือนพี่น้อง
                นายก..ไม่แบ่งชั้นวรรณะ เป็นคนดี
                นายก... เป็นกันเอง บางครั้งเห็นว่าเรากำลังเดินอยู่ในหมู่บ้านก็จอดรถรับมาเลย"

                นอกจาก นายก อบต.แล้ว ยังมีทีมงานที่เข้มแข็ง ทำงานด้วยจิตอาสาอย่างแท้จริง รวมไปถึงเจ้าหน้าที่จากสถานีอนามัยทุกท่านโดยเฉพาะ หัวหน้าสถานีอนามัย ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทำงานมานานกว่า 25 ปี มีความผูกพันกับชาวบ้านและมีส่วนสำคัญในการผลักดันโครงการต่างๆให้ประสบผลสำเร็จ
            และที่สำคัญที่สุด คือ ความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนที่มีแนวคิดไปในทิศทางเดียวกัน ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมประเมิน และร่วมรับผลประโยชน์ เมื่อล้อทุกล้อต่างขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน อย่างนี้มีหรือที่คนวังน้ำคู้จะผิดหวังกับการสร้างหลักประกันสุขภาพให้เกิดขึ้นในชุมชนของตน

        ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
        ดร.ประจวบ แหลมหลัง
        วสส.พิษณุโลก           



ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น