รัฐมีอำนาจจัดการม็อบแดงตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แถมมีหลักฐานม็อบแดงใช้อาวุธ
ขณะเดียวกันยังมีช่องทางเรียกร้องความเป็นธรรมผ่าน ป.ป.ช.หรือศาลอยู่แล้ว
ชี้การปรองดองที่แท้จริง คือ ยึดหลักนิติรัีฐ
แนะปรับวิธีทำงานเน้นตรวจสอบหาสาเหตุของปัญหา เชื่อถึงที่สุดจะพ้บต้นตอ
มาจาก"ทักษิณ" คนเดียว ประชดถ้าอยากปรองดองก็คืนเงินให้ "แม้ว"
พร้อมยกเลิกโทษจำคุก 2 ปี
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์"
เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด
ประธาน คณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ
(คอป.) และ นายกิตติพงศ์ กิติยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม
ได้เข้าพบนายนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่บ้านพระอาทิตย์ โดยทางรายการ
"เมืองไทยรายสัปดาห์" ASTV ได้นำเทปการสนทนามาออกอากาศ
นายสนธิกล่าวว่าตนเองไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการ(คอป.)ชุดนี้ขึ้นมาเพื่อปรองดองหรือเพื่อมาหาข้อเท็จจริง
เนื่องจาก ประการแรกการดำเนินการสลายการชุมนุมของรัฐบาลนั้น
ถูกต้องตามกฎหมายภายใต้ พรก.บริหารราชการในภาวะฉุกเฉิน
นอกจากนี้รัฐบาลมีข้ออ้างชี้แจงได้ในหลายๆ เรื่องทั้งอาวุธปืน, คลิปภาพ,
การเกิดเหตุการณ์การเผาสถานที่ต่างๆ
นายสนธิกล่าวว่า นอกจากนี้
กระบวนการยุติธรรมเปิดช่องให้ผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมสามารถร้องเรียนได้อยู่แล้ว
การที่ศาลจะออกหมายจับแกนนำต้องมีหลักฐานพอสมควรจึงออกเป็นหมายจับ
คนที่ถูกออกหมายจับก็ไปสู้คดีกันตามกระบวนการยุติธรรม
กลไกการขอความเป็นธรรมต่างๆ ก็มีอยู่ทั้งการร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.
หรือผู้ตรวจการรัฐสภา ซึ่งตนเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมยังใช้ได้อยู่บ้าง
การตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาถือว่าเป็นการซื้อเวลาของรัฐบาล
การตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาแสวงหาข้อเท็จจริง
แสดงว่ารัฐบาลไม่มั่นใจในการกระทำของตนเองหรือ หรือว่าการออกหมายจับต่างๆ
มีปัญหา พูดไม่ได้ว่ารัฐบาลทำอะไรผิด
นายสนธิกล่าวว่าตนไม่อยากให้สับสนเอากรณีของไทยไปเทียบกับกรณีอังกฤษกับไออาร์เอ
หรืออาฟริกาใต้ที่มีปัญหาสีผิว
กรณีอาฟริกาใต้มีปัญหาสีผิวต่อสู้กันมากว่า 30 ปี
ฝ่ายผิวขาวได้รับการสนับสนุนจากประเทศทางตะวันตก
ฝ่ายผิดดำได้รับการสนับสนุนจากทางรัสเซียและจีน
อาฟริกามีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาความเกลียดชังระหว่างคนในประเทศ
จากปัญหาสีผิว ส่วนกรณีของอังกฤษก็เป็นปัญหาต่อเนื่องมากว่า 200-300 ปี
เป็นความขัดแย้งเรื่องศาสนา เมื่อพวกไออาร์เอยอมวางอาวุธ
ก็มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ
กรณีของประเทศไทยไม่เหมือนกับกรณีเหล่านี้ เรามองประเด็นผิดไปแล้ว
เพราะต้นตอปัญหามันเกิดจากคนๆ เดียว
เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลอยากจะปรองดองจริงๆ ก็ต้องคืนเงินให้ พ.ต.ท.ทักษิณ
ชินวัตรไป แล้วก็ยกเลิกโทษจำคุก 2 ปี ให้ด้วย
วิกฤติการณ์ครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากวิกฤติศรัทธา
แต่เกิดจากการใช้เงินสร้างวิกฤติให้เกิดขึ้น
นายสนธิให้ความเห็นว่า ถ้าจะมีคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา
เพื่อหาสาเหตุจริงๆ ว่าเกิดจากอะไร
และวางแนวทางว่าจะป้องกันอย่างไรในอนาคตก็มีเหตุผล
ถ้าพูดอย่างไม่เกรงวใจก็ต้องบอกว่าสาเหตุจริงๆ เกิดจาก พ.ต.ท.ทักษิณ
ถ้ามีกรรมการชุดใหญ่ที่สรุปได้ว่าตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติ 19 กันยายน
มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง มีการใช้เงินกันอย่างไร ไปหาข้อมูลจากฝ่ายต่างๆ
ให้เห็นว่ามีการเผาเมืองอย่างไร มีอาวุธอย่างไร
แล้วหาข้อสรุปว่าเหตุเกิดจากอะไรเพราะอะไร ก็จะเห็นว่าเเหตุจริงๆ
มาจากคนๆ เดียว ไม่ใช่เรื่องชนชาติ เป็นเรื่องของ
พ.ต.ท.ทักษิณที่ต้องการเงินคืน
และต้องการกลับประเทศไทยโดยไม่ต้องรับโทษแค่นั้น
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเป็นเพียงการซื้อเวลา
และนายคณิตเป็นเครื่องมือของรัฐบาล เพราะการปรองดองแล้วต้องรายงานให้ใคร
มีอำนาจตามกฎหมายจะทำอะไรได้บ้าง
ความจริงการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ต้องตั้งโดยรัฐสภา
ทำไมไม่ให้รัฐสภารับรอง
นายสนธิกล่าวว่า การทำตามกฎหมายคือการปรองดอง
ถ้านิติรัฐได้ใช้จริงจังก็จะไม่มีปัญหา
แต่ถ้าใครทำผิดกฎหมายแล้วไปขอโทษขอโพยกัน ไปนิรโทษกรรมกัน มันทำไม่ได้
เพราะถ้ายึดตามกฎหมายฝ่ายนั้นก็มีช่องทางให้ร้องเรียนให้ต่อสู้มาโดยตลอด
พันธมิตรฯ โดนทั้งหอก ดาบ ปืน แต่ไม่เคยเรียกร้องตั้งคณะกรรมการ
เพราะต้องการต่อสู้ตามระบบกระบวนการยุติธรรม ก็ไปร้องเรียน ป.ป.ช.
แล้วพวกเสื้อแดงก็ไปร้อง ป.ป.ช.เหมือนกัน
เพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการชุดนี้
นายคณิตกล่าวว่า ตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญปี 2540
ก็มีการปฏิรูปประชาธิปไตย มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
ตนอยากเข้าไปดูว่าทำไมจึงเกิดเหตุอย่างนี้ได้
นายคณิตยืนยันว่าจะไม่เป็นเครื่องมือของใคร จะเน้นการแก้ปัญหาของชาติ
และดูว่าจะป้องกันอย่างไรในอนาคต ดูว่าจะปรับปรุงอะไรได้บ้าง
จะคุยกับคณะกรรมการคนอื่นๆ คิดว่าการดำเนินการคงใช้เวลา
อาจจะข้ามเลยอายุรัฐบาลนี้ก็ได้
อย่างกรณีในต่างประเทศเกิดความขัดแย้งรุนแรงกว่าเรามากเขายังแก้ไขได้
โดยเห็นว่าถ้าเราใช้นิติรัฐจริงๆ ผลคงไม่ออกมาอย่างนี้
นายสนธิกล่าวสรุปว่ากรณีของเราไม่เหมือนกับเรื่องของไออาร์เอ
นั่นเป็นเรื่องความขัดแย้งกันทางศาสนา และมีมานานเป็นร้อยๆ ปีแล้ว
เราไม่ควรไปเทียบ ของเราเกิดเพราะคนๆ เดียว ถ้าจะคืนเงินที่ยึดมา
และยกโทษจำคุกให้ พ.ต.ท.ทักษิณ
ก็ขึ้นอยู่กับว่าสังคมไทยจะยอมรับกันหรือไม่ แต่ตนไม่รับ
ตนยังเชื่อในกฏหมาย ยังยึดในนิติรัฐ
ถึงจะถูกรังแกก็ยังมีความเชื่อในระบอบยุติธรรม
และขอให้กำลังใจคณะกรรมการชุดของนายคณิตให้ตรวจสอบอย่างรอบด้าน
ให้เห็นชัดว่า การชุมนุมที่ยึดอหิงสาจริงๆ เป็นอย่างไร
แล้วการชุมนุมที่วางอหิงสาไว้ข้างหน้่าแล้วซ่อนอาวุธไว้ข้างหลังเป็นอย่างไร
นายสนธิยังกล่าวว่าคณะกรรมการชุดนี้ไม่มีหน้าที่ต้องไปหาข้อเท็จจริงว่าใครยิง
พ.อ.ร่มเกล้า รัฐบาลจะต้องเป็นผู้ตอบ เรามีตำรวจไว้ทำไม
ไม่ใช่โยนมาให้คณะกรรมการชุดนี้รับผิดชอบ แต่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ
นายคณิตกล่าวว่าจะดูตามความจริงที่มีอยู่
และจะเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะเพื่อให้สังคมรับรู้
เพื่อให้เกิดความไว้วางใจจากสาธารณะ
คำต่อคำ "สนธิ" สนทนา "คณิต"แนะแนวทางการทำงาน คอป.
วันที่ 25 มิ.ย. 2553 เวลาประมาณ 11.00 น. นายคณิต ณ นคร
ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ
(คอป.) และนายกิติพงษ์ กิติยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะเลขาธิการ
คอป. เข้าพบนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ที่บ้านพระอาทิตย์ เพื่อหารือถึงแนวทางการปรองดอง โดยใช้เวลาการหารือราว
25 นาที ก่อนที่นายคณิตและนายกิตติพงษ์จะเดินทางกลับ
"ASTVผู้จัดการออนไลน์" ถอดคำสนทนามานำเสนอคำต่อคำดังนี้
สนธิ - เดี๋ยวเล่าอะไรให้ท่านปลัดฟังนิดหนึ่ง
คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่นายจักรภพนะครับ
อัยการเขาส่งไปให้คณะอัยการพิเศษที่ท่านปลัดพิจารณา
ทั้งหมดเหตุการณ์เกิดขึ้นมาประมาณเกือบ 4 ปี ปรากฏว่า คดีผมนะ
อัยการชุดเดียวกันแทนที่จะส่งให้ท่านคณะนี้พิจารณา สั่งฟ้องเลย
และพอเรายื่นคำร้องไปบอกว่าทำไมมาตรฐานไม่เท่ากัน
มันก็ส่งไปให้อัยการชุดนี้ กรรมการชุดนี้
ในเมื่อคุณสั่งฟ้องแล้วคุณก็ไม่ต้องส่งมา นี่คือสำนักอัยการของพี่
คณิต - ไม่ใช่ผม ของประชาชน
สนธิ - เรื่องเดียวกันนะ เรื่องเดียวกันมันส่งไป
แต่พอมาเป็นเรื่องผมมันสั่งฟ้องเลย โอ้ มันสุดยอด
คณิต - ไอ้คนละคณะ ใช่ไหมฮะ
สนธิ - ผมไม่แน่ใจอธิบดีกายสิทธิ์
คณิต - เอาๆ ซิ
สนธิ - มีชื่ออยู่แล้วคนนี้ เขาบอกว่าคณะกรรมการท่านปลัด
แทงเรื่องกลับมาบอกว่าสั่งฟ้องไปแล้วก็ไม่ต้องส่ง เขาอ้างอย่างนี้
ผมไม่ทราบข้อเท็จจริงเหมือนกันครับ
กิติพงษ์ - อ๋อ ผมก็ส่งไปที่ฝ่ายเลขานะครับ
แต่ประเด็นนี้เข้าใจว่าเป็นการให้สัมภาษณ์ในเชิงว่าฟ้องคดีเรื่องนี้ไปแล้ว
แล้วส่งมา
สนธิ - แต่ไม่ได้ฟ้อง แล้วผมยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม
แล้วหนังสือขอความเป็นธรรมระบุด้วยว่าอยากให้ส่งเรื่องนี้ไปที่กรรมการชุดนี้
กิติพงษ์ - อ๋อ
ก็อาจต้องมาคุยกันอีกเพราะว่าไม่เคยมีกรณีที่สั่งฟ้องแล้วก็มีการส่งเข้ามา
ส่วนใหญ่
สนธิ - ไม่มีครับ ใช่ กำลังเขาพิจารณาสั่งฟ้อง แต่ยังไม่ได้ฟ้อง
กิติพงษ์ - ความจริงชุดนี้ตั้งมานานพอสมควรแล้ว
ก็ไปสั่งฟ้องก่อนที่จะส่งเข้าชุดนี้แล้วก็พอสั่งฟ้องแล้วถึงจะส่งเข้าชุดนี้ออกมา
ซึ่งก็ไม่ได้เหมือนกรณีทั่วไป
สนธิ - คือๆ เขาสั่งฟ้องจริงแต่ว่า เรายื่นขอความเป็นธรรม
เรายังไม่ได้ไปให้เขาฟ้อง เขาก็รับเรื่อง
ก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาชุดหนึ่ง ก็แทงกันไปแทงกันมา
คือเขาจะหาเรื่อง พี่คณิต เขาก็เลยส่งไป
เขาก็อ้างว่าทางโน้นอ้างมาบอกว่าในเมื่อคุณสั่งฟ้องเรียบร้อยแล้ว
คุณก็ไม่ต้องส่งมา ซึ่งผมคิดว่าเหตุผลที่เขาขอความเป็นธรรม
เพราะว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องนี้
ในเมื่อตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ ผมมั่นใจยังไงก็ไม่ผิด
เพราะว่าดูเจตนา แต่ที่สำคัญที่สุดน่าสนใจคือ ท่านอธิบดีกายศิต
ท่านบอกว่า คดีผมไม่ต้องดูเจตนา
คณิต - หื้ย
สนธิ - พูดอย่างนี้ฮะ
คณิต - เออ อย่างนี้มันต้องยื่นให้
สนธิ - ไม่พี่ ช่างมันฮะ เอาเรื่องของพี่ดีกว่า ตกลงพี่มีอะไรจะให้ผมรับใช้
คณิต - จะมาฟังน่ะ รับใช้อะไร อย่าว่ารับใช้เลย แนะนำ มาขอคำแนะนำ
สนธิ - ผมต้องเรียนพี่ทราบนิดหนึ่งครับว่า ตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว
ผมไม่เคยเห็นด้วยว่าจะต้องมีคณะกรรมการชุดนี้ ผมมีเหตุผลของผม 2-3 ประการ
ประการแรก คำสั่งของการสลาย 1. ถูกต้องตามกฎหมายไหม
ตอบว่าถูกต้องตามกฎหมาย เพราะใช้อำนาจใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2.
การกระทำทุกอย่างรัฐบาลมีข้ออ้างหมด
ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานในเรื่องของอาวุธปืน ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอคลิป
ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ ตามลงมาด้วยการเผาสถานที่ต่างๆ
ด้วยเหตุนี้ผมถือว่าการกระทำของรัฐบาลถูกต้องตามกฎหมาย
ผมมองว่าระบบกระบวนการยุติธรรมในบ้านเราเปิดช่องให้ผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมสามารถร้องเรียนได้ทุกช่อง
คนซึ่งถูกศาลจับไป คนที่ถูกศาลออกหมายจับนั้น
ประการแรกต้องตั้งข้อสมมติฐานไว้ก่อนว่า ศาลออกหมายจับนั้น
อย่างน้อยที่สุดศาลต้องมีหลักฐานพอสมควรถึงจะออกหมายจับได้
หากไม่มีหลักฐานพอสมควร ศาลจะไม่ออกหมายจับ ศาลจะให้ออกหมายเรียก
เพราะฉะนั้นแล้ว กระบวนการที่ออกหมายจับไป
คนซึ่งถูกออกหมายจับก็ต้องไปสู้กันในกระบวนการยุติธรรม
อุปมาอุปไมยเหมือนเรื่องที่ผมเล่าให้ท่านปลัดฟังเมื่อกี้
ผมก็พร้อมจะขึ้นไปสู้ตามกระบวนการยุติธรรม
กระบวนการร้องเรียนขอความเป็นธรรมนั้นมันก็มี
ถ้าเรื่องถึงอัยการแล้ว เขาก็สามารถจะยื่นหนังสือ ซึ่งเป็นปกติธรรมดา
ถ้าเขาเห็นเจ้าหน้าที่ประพฤติปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เขาก็สามารถยื่นไป
ป.ป.ช.ได้ มันมีชาแนล ทุกชาแนล รวมทั้งผู้ตรวจการรัฐสภา
ชาแนลทุกชาแนลมีหมดแล้ว เมื่อมีหมดแล้ว
ผมยังเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมในบ้านเรานี่ยังใช้ได้อยู่บ้าง มากพอสมควร
ถึงแม้จะไม่ 100% เพราฉะนั้นการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา
วัตถุประสงค์ผมกลับมองว่าเป็นการตั้งเพื่อซื้อเวลา
เพราะว่าถ้าจะพูดถึงเรื่องการปรองดอง
หรือพูดถึงเรื่องการแสวงหาข้อเท็จจริง เอาข้อแรกก่อน
ถ้าคณะกรรมการชุดนี้จะแสวงหาข้อเท็จจริง
ก็แสดงว่ารัฐบาลไม่มั่นใจว่าสิ่งที่รัฐบาลทำนั้นถูกกฎหมาย หรือผิดกฎหมาย
ก็แสดงว่าสิ่งซึ่งรัฐบาลเอาเรื่องราวไปยื่นศาลขอหมายจับพวกนี้
รัฐบาลไม่มั่นใจเลย ก็แสดงว่าที่ศาลออกหมายจับมานี่มีปัญหา
เพราะศาลก็ไม่ได้ออกหมายจับทุกคน บางคนก็ยกคำร้อง แม้กระทั่งล่าสุดที่
DSI ไปขอให้ยกคำร้องคุณจตุพร พรหมพันธุ์ ยกการประกันตัว ศาลยกคำร้อง DSI
เพราะฉะนั้นศาลก็มีวิจารณญาณของศาลเอง ในขณะเดียวกัน อัยการก็เช่นกัน
หลายๆ เรื่อง เขาก็ยื่นขอความเป็นธรรมได้ กรณีคุณจักรภพ เพ็ญแข
หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เขาก็ยื่นขอความเป็นธรรมอัยการ
อัยการยังสั่งฟ้องไม่ได้จนกระทั่งทุกวันนี้ หลังเหตุการณ์เกิดมาแล้ว 3-4
ปี เพราะฉะนั้นจะพูดไม่ได้ว่า รัฐบาลทำผิด ในเมื่อ
ถ้าหากเป็นสังคมที่ไม่มีช่องทางให้เขาร้องเรียนแล้ว
แล้วความกดดันจากสังคมบังคับให้รัฐบาลต้องตั้งกรรมการมาพิจารณา
ผมไม่อยากให้เราไปสับสนกับกรณีของรัฐบาลอังกฤษกับรัฐบาลไออาร์เอ
หรือว่าของแอฟริกาใต้ ไม่อยากให้สับสน เพราะว่า 2 กรณีมีข้อแตกต่าง
กรณีแอฟริกาใต้เป็นปัญหาเรื่องสีผิว เขาสู้กันมาตั้ง 30 ปี
แล้วในช่วงการสู้นั้นเป็นปัญหาเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ
เพราะว่าทางฝ่ายขาวในขณะนั้นได้รับเงินอุดหนุน ได้รับอาวุธจากทางอังกฤษ
ประเทศทางตะวันตก ทางฝ่ายดำก็ได้รับเงินอุดหนุนจากทางด้านรัสเซียและจีน
เพราะฉะนั้นมันเป็น 2 อุดมการณ์ชนกัน จนกระทั่งขั้วสลาย
พอขั้วมันเริ่มสลายแล้วมันถึงต้องกลับมาเป็นรัฐบาลฝ่ายดำ
ทีนี้การตั้งคณะกรรมการของแอฟริกาใต้นั้น ตั้งเพราะว่า
ความเกลียดชังมันมีมาตั้ง 30 ปี
แล้วมันเป็นความเกลียดชังระหว่างผิวกับผิว
ความเกลียดชังในไออาร์เอ.กับอังกฤษ มันย้อนหลังไปตั้ง 200-300
ปีที่แล้ว ไม่ใช่เพิ่งมี เพราะฉะนั้นแล้ว
การที่เขาต้องตั้งคณะกรรมการมาสอบสวนก็เพราะว่า
เมื่อไออาร์เอ.ยอมวางอาวุธและต้องการเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตย
เลือกตั้ง เขาก็เลยตั้งคณะกรรมการมาสอบ เฉพาะกรณีเดียว คือ Black Sunday
ทั้งๆ ที่มันมี Monday Tuesday Wednesday Thursday Friday มีทุกวัน
เพราะฉะนั้นแล้วถ้าเอาสองอันนี้มาว่าด้วยเหตุอันนี้ เราควรจะทำแบบเขา
ผมเข้าใจว่าคงมองประเด็นผิดไปแล้ว เพราะสำหรับผมแล้ว ถ้าพี่อยากจะปรองดอง
ไม่ต้องไปทำอะไรมาก 1. คืนเงินให้คุณทักษิณเขาไป 2. ยกเลิกโทษจำคุก 2 ปี
ก็จบ เพราะว่าเหตุที่แท้จริงมาจากตรงนี้ เพราะวิกฤตครั้งนี้มันเกิด
ไม่ได้เกิดจากวิกฤตศรัทธา
แต่มันเกิดจากวิกฤตการใช้เงินขึ้นมาเพื่อสร้างวิกฤตขึ้นมา
เพราะฉะนั้นแล้วผมยังไม่รู้จะปรองดองเรื่องอะไรกัน นี่ผมไม่เห็นด้วย
ข้อที่ 1
ข้อที่ 2 กระบวนการ ถ้าพี่คณิต คณะกรรมการชุดนี้จะตั้งขึ้นมา
ไม่ใช่เพื่อหาข้อเท็จจริง หรือไม่ใช่เพื่อปรองดอง
แต่ตั้งขึ้นมาเพื่อหาสาเหตุ เพื่อสาเหตุว่ามันเกิดขึ้นจากอะไร
เกิดขึ้นจากอะไรแล้วในอนาคตจะป้องกันได้ยังไง ถ้าอย่างนั้นมีเหตุผล
ซึ่งถ้าหาสาเหตุ ถ้าหากันอย่างไม่เข้าข้างใคร
ก็ต้องรู้ว่ามันเกิดขึ้นจากคนๆ เดียว คือคุณทักษิณเท่านั้นเอง
ถ้าอย่างนั้นเป็นคณะกรรมการชุดใหญ่ที่สรุปได้ว่าเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2549
ตั้งแต่วันที่คุณสุรยุทธ์เข้ามา 19 กันยาฯ ตั้งแต่ 19 กันยาฯ
มาเกิดอะไรขึ้น เกิดอะไรขึ้นมาบ้าง มีการใช้เงินใช้ทองยังไง
หลักฐานมียังไง เอามาคุยกัน ไปคุยกับฝ่ายสีแดง
สีแดงก็อ้างว่าเป็นอย่างนี้ มาคุยกับฝ่ายรัฐบาล มาคุยกับพวกผม
ผมก็เอาหลักฐานให้ดู ว่านี่นะ มีการเผาบ้านเผาเมืองอย่างนี้ มีอย่างนี้ๆ
นะ มีอาวุธมาอย่างนี้ๆ นะ แล้วถ้าเราใช้วิจารณญาณที่เที่ยงตรง
เราก็สามารถสรุปได้ว่าเหตุที่เกิด เกิดเพราะอะไร
ถ้ากรรมการชุดนี้มาสรุปเพื่อหาเหตุที่มันเกิดอย่างเท็จจริงนะครับ
อย่างไม่เข้าข้างใคร และอย่างที่เหมือนไม่ได้ดูวิดีโอเทปตัดต่อนะครับ
ให้ดู ให้เทียบกันว่า ระหว่างที่เขายกพลพรรคของเขาไปที่โน่นไปที่นี่
กับพวกเราไปชุมนุมหน้ารัฐสภาแล้วเราโดนยิง เรานี่เป็นฝ่ายถูกกระทำมาตลอด
แล้วพี่สามารถจะหาข้อเท็จจริงได้เลยว่า
ตั้งแต่เราชุมนุมมาเราไม่เคยเผายางเลยแม้แต่เส้นเดียว เส้นเดียวก็ไม่เคย
แต่เขาเผายาง เผาบ้านเผาเมือง ทำไม
คำถามมีว่าทำไมเวลาเขาถูกสลายที่ราชประสงค์
ทำไมเขาต้องเผาบ้านเผาเมือง ทำไมเราถูกฆ่าเกือบตาย ทำไมเรากลับทำเนียบฯ
เราไม่เผาทำเนียบฯ ล่ะ มันเห็นข้อแตกต่าง ใช่มั้ย
เพราะฉะนั้นแล้วถ้าเป็นอย่างนี้ผมเห็นด้วย
แต่ว่าถ้ามาเพื่อปรองดองแล้วเนี่ย ผมรับไม่ได้ ที่ผมรับไม่ได้ก็เพราะว่า
เนื่องจากว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องชนชาติ
ไม่ใช่เป็นเรื่องลูกคนไทยเชื้อจีน คนไทยเชื้อมุสลิม
หรือว่าเป็นคนไทยเชื้อเขมร ไม่ใช่ มันเป็นเรื่องของคนไทยคนเดียว
มันไม่ใช่เรื่องของพวกผิวดำ แมนเดลา กับผิวขาว แล้วผิวขาว 20%
ปกครองผิวดำ 80% มา 30 ปี มันไม่ใช่เรื่องนี้ ไม่ใช่เลยแม้แต่นิดเดียว
แต่มันเป็นเรื่องของคุณทักษิณต้องการคืนเงิน
และต้องการที่จะให้เขากลับบ้านได้โดยที่เขาไม่โดนโทษ จบ มีแค่นี้เอง
เพราะฉะนั้นแล้ว ผมสรุปว่า ปัญหาทั้งหมดที่ท่านนายกฯ
ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ผมสรุปได้อย่างเดียว พี่ ซื้อเวลา
และผมก็กล้าพูดว่า พี่อย่าโกรธผม พี่เป็นเครื่องมือเขา นี่ผมพูดอย่าง
public เลย เป็นเครื่องมือ เพราะว่าถ้าพี่ไปปรองดอง
พี่ทำแล้วพี่รายงานใคร พี่มีอำนาจอะไรบ้าง
แค่เป็นการตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งก็เท่านั้นเอง
เหมือนเขาตั้งคณะกรรมการแก้รัฐธรรมนูญ 6 ข้อ แล้ว 6 ข้อที่แก้นั้น
เขาไม่ได้แก้ให้ประชาชน แก้ให้นักการเมือง ถามว่าพอเสนอไปแล้วปัง
เขารับไหม ก็ไม่รู้จะรับหรือเปล่า 3 ปีให้จบ ปีหน้าก็เลือกตั้งใหม่
รัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมา ข้อเสนอให้ดีเขาจะรับไหม ก็ไม่รับอีกเหมือนกัน
ผมคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดต้องให้ท่านนายกฯ ทราบเหมือนกันบอกว่า
วิธีการที่ท่านนายกฯ ทำแบบนี้ไม่ถูกต้อง ถ้าท่านนายกฯ
ต้องการจะทำไม่เหมือนกับคณะกรรมการสมานฉันท์ของแอฟริกาใต้
เขาตั้งโดยรัฐสภา
ถ้าอย่างนั้นทำไมไม่เอาคณะกรรมการชุดพี่ให้รัฐสภาไทยรับรองว่าถูกต้อง
อย่างน้อยที่สุดพี่มีหลักอะไรก็ตามที่ยืนอยู่
แต่อย่างที่ผมเรียนให้พี่ทราบว่า ผมไม่เคยเชื่อเรื่องนี้
เพราะฉะนั้นแล้วพี่จะถามผมว่าสมานฉันท์ ปรองดองได้ยังไง
ผมบอกกฎหมายคือตัวปรองดอง ท่านปลัดอยู่กระทรวงยุติธรรม
ท่านก็เป็นอดีตผู้พิพากษา
กิตติพงษ์ - อัยการ
สนธิ - อดีตอัยการ พี่ก็ต้องรู้ว่า ถ้านิติรัฐใช้อย่างจริงจังแล้ว
ไม่มีปัญหา ทำไมผมถึงร้องเรียนคดีผม เมื่อร้องเรียนแล้วไม่สำเร็จ
ผมวันที่ 5 ก็ขึ้นศาลแล้ว ผมพร้อมจะไปสู้ในศาล ไม่ใช่ผมไม่โดนคดี คดีต้น
คดีอุทธรณ์ ผมโดนจำคุกมา ผมก็ยังเชื่อมั่นในระบบ ผมก็ยังสู้ถึงฎีกา
แล้วถ้าฎีกาพิพากษาผมต้องติดผมก็จะติดให้ดู
ถ้านิติรัฐไม่เป็นนิติรัฐแล้วบ้านเมืองจะไปได้ยังไง พี่จะปรองดองได้ยังไง
พี่จะปรองดองโดยบอก อันนี้ขอโทษกัน นิรโทษกรรมไปนะ มันไม่ใช่ มันทำไม่ได้
เพราะฉะนั้นแล้วคณะกรรมการชุดนี้
น่าจะเป็นคณะกรรมการที่แสวงหาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตมากกว่าที่จะเป็นหาวิธีการมาปรองดองกัน
ไม่ใช่พี่ เพราะว่าอย่างที่ผมบอกว่า
เนื่องจากว่าอีกฝ่ายหนึ่งเขามีช่องทางในการร้องเรียน ในการต่อสู้มาตลอด
พี่ 2548,2549,2550 ตลอดมาจนกระทั่งยุคคุณสมัคร สุนทรเวช สมชาย
วงศ์สวัสดิ์ พวกผมโดนตั้งไม่รู้ ทั้งหอก ทั้งดาบ ทั้งอาวุธปืนทุกอย่าง
ทำไมพวกผมไม่เรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการ เพราะพวกผมตัดสินใจสู้ในระบบ
พวกผมโดนกี่คดีแล้วละ 100 กว่าคดีตอนนี้ ทนายผม คุณสุวัตร อภัยภักดิ์
คุณนิติธร ล้ำเหลือ ขึ้นศาลเป็นว่าเล่น
บางคดีมาถึงทนายไม่ว่างต้องเลื่อนไปอีก 2-3 ปี แต่เราก็สู้
เพราะว่ามันมีช่องทางให้เราสู้ ทำไมเราร้อง ป.ป.ช. ก็เพราะว่าช่องทาง
ป.ป.ช.มีให้ร้อง แล้ว ป.ป.ช.พิพากษาตัดสินมาแล้ว ว่าการฆ่า การยิง
การสลายกลุ่มของเราไม่ถูกต้องด้วยกฎหมาย เขาก็ไปยื่น ป.ป.ช.
เขาไปยื่นกล่าวหา คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ และนายกฯ นั่นคือช่องทางเขา
ใครจะไปรู้ถ้า ป.ป.ช.เกิดตัดสินขึ้นมาว่า คุณสุเทพกับนายกฯ ผิด ก็ปล่อย
ป.ป.ช.ไป
เพราะฉะนั้นไม่ใช่หน้าที่คณะกรรมการชุดใดที่จะมาบอกว่า 2
ฝ่ายมานั่งคุยกัน มันไม่ใช่พี่
แต่ว่าถ้าเป็นคณะกรรมการตั้งขึ้นมาเพื่อระดมความคิด ระดมหลักฐาน
สัมภาษณ์คน เหมือนกับเป็นหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยว่า
เหตุทั้งหมดที่เกิดขึ้นมามันเกิดขึ้นเพราะอะไร ถ้าอย่างนั้นน่าสนใจ
นั่นหละคือความเห็นผม ผมขอโทษพี่
คณิต - ไม่มีอะไรครับ ความจริง มาเรียนเพื่อจะฟังความคิดเห็นหลายๆ
ฝ่าย อย่างที่คุณสนธิพูดถึง สาเหตุที่มา ผมมองไปถึงรัฐธรรมนูญปี 40 ปี 40
นี่ เราปฏิรูปการปกครอง พูดง่ายๆ เราปฏิรูปประชาธิปไตย
นอกจากนั้นเรายังปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หลายท่านก็คงทราบ
แต่ทำไมมันถึงเกิดอย่างนี้ขึ้นมาได้ ผมอยากจะลงไปดูตรงนั้นจุดหนึ่ง
อย่างที่คุณสนธิพูด ก็ใช่
แล้วก็ ผมคิดว่า ผมไม่เป็นเครื่องมือใคร คุณสนธิก็รู้อยู่ จริงๆ
แล้ว เราจะดูว่าเราจะแก้ปัญหาของชาติบ้านเมืองยังไง ทุกคนก็เหมือนกัน
เราก็จะทำงานในลักษณะที่จะ positive เสนอแนะอย่างที่คุณสนธิพูดถึงว่า
จะป้องกันกันอย่างไรต่อไปข้างหน้า นี่ร่างรัฐธรรมนูญ
อาจารย์สมบัติมาก็ไม่การันตีว่าจะไม่ยึดอำนาจอีกนะ ผม
ตอนที่เรียนอยู่ประเทศเยอรมัน ผมก็เคยรับรู้ ตอนนั้นฟรังโก้ปกครองสเปน
แล้วก็มีนายพลเยอรมันไปร่วมสวนสนาม กลับมา มันปลดฮะ นายยอร์ก เลเบอร์
ซึ่งเป็นหัวหน้าสหภาพแรงงาน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
แล้วก็มีอีกคน นายพล ไปแอฟริกาใต้ กลับมามันก็ปลด
เราอยากจะดูตรงนี้ว่ามันจะปรับปรุงอะไรได้บ้างหรือไม่
ที่จะป้องกัน เราต้องคิดว่าจะยังไง ผมคิดว่า 2 แนวทางที่คุณสนธิกรุณาบอก
อยู่ในใจผมแล้ว ผมต้องไปคุยกับคณะกรรมการซึ่งผมกำลังจะฟอร์มมา ผมคิดว่า 2
ประเด็นหลังเป็นเรื่องใหญ่ แล้วเป็นเรื่องที่ไม่ใช่จบในวันสองวัน
อาจจะข้ามรัฐบาลไปก็ได้ แล้วเท่าที่ผม แต่ก่อนผมก็มีความรู้
ตอนหลังได้ฟังท่านผู้รู้พูดหลายๆ คน มันมีเวลาทำตั้งนาน
บางประเทศเป็นสิบๆ ปี เมื่อเช้าก็เจอหมอประเวศ ท่านพูดถึงไอร์แลนด์
ที่เพิ่งจะขอโทษกันเร็วๆ นี้เอง ซึ่งเกิดมาตั้ง 30 ปี
สนธิ - พี่ต้องไม่ลืมรากฐานความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
ไอร์แลนด์เขามีเป็นร้อยๆ ปีแล้ว แล้วเป็นเรื่องของศาสนา ไอ้นี่
ความขัดแย้งของเราเกิดขึ้นเพราะคนๆ เดียวเท่านั้นเอง พี่ต้องเข้าใจตรงนี้
ถ้าคณะกรรมการชุดนี้ไม่เข้าใจตรงนี้ ยังพยายามที่จะไปหารากเหง้าอะไร
แล้วไปเทียบกับไอร์แลนด์ หรือเทียบกับแอฟริกาใต้ ผมคิดว่าหลงทางแล้ว
คณิต - เราไม่ได้เทียบ เพียงแต่ว่า
ความขัดแย้งในชาติของเขามันรุนแรงยังแก้ได้ พูดง่ายๆ นะ
แล้วถ้าเราสามารถจะช่วยกันทำให้เกิดสงบได้
สนธิ - ผมก็ขอโทษพี่หลนะ
คณิต - อยากจะขอกำลังใจ พูดง่ายๆ
สนธิ - กำลังใจผมให้พี่อยู่แล้ว
เพียงแต่ผมมาให้กำลังใจและความคิดที่ผมคิดว่าในความคิดที่ตรงไปตรงมาว่า
สำหรับผมแล้วมันเกิดขึ้นเพราะคนๆ เดียว คนๆ เดียวเท่านั้นเอง
ก็อย่างที่ผมบอกว่าอยากปรองดองไม่ใช่หรือ ก็คืนเงินเขาไปซิ
แล้วก็ไม่ต้องให้เขามารับโทษ คำถามที่ต้องถามทุกคนในสังคมว่า
สังคมในประเทศไทยยอมรับกันไหม สมมติว่าคนในสังคมประเทศ 59,999,999 คนรับ
แต่ผมคนหนึ่งผมรับไม่ได้ แต่ 59 ล้านคนรับก็รับไป
ผมก็จะไม่อยู่กับใครแล้ว ผมขอไม่เป็นคนไทย เพราะว่าผมยึดถือหลักวิธีการ
เพราะผมเชื่อในกฎหมาย
คณิต - ก็ผมก็มีความเชื่ออย่างนี้นะครับ
ไม่ทราบว่าคุณสนธิเคยอ่านบทความผมไหม
สนธิ - ไม่ๆ พี่โอเคครับ พี่โอเค ถ้าประวัติ โอเค
คณิต - อันนี้คือรากเหง้า
สนธิ - ผมเชื่อ ผมเชื่อในตัวพี่
คณิต - รากเหง้าตรงนี้แหละ ถ้านิติรัฐจริงๆ
ผลไม่ได้ออกมาอย่างนี้หรอก ใช่ไหมครับ ไม่มีทางหรอก
อันนี้ผมก็จะไปดูว่ามันยังไง มีอะไรในกอไผ่หรือเปล่า
กิตติพงษ์- เจอหน้ากัน จริงๆ คุณสนธิ
พูดกันตรงกับที่ทีมงานท่านอาจารย์ เพราะดูแล้วก็กังวลนะครับว่า
ถ้าทำเป็นลักษณะเหมือนกับ committee of inquiry เข้าไปวัดใครผิดใครถูก
ถ้าทำแค่นั้นมันอาจจะสับสน
เพราะว่ามีกระบวนการยุติธรรมได้ทำแล้วส่วนหนึ่ง
มีคณะกรรมการหลายคณะที่เข้าไปดูแลทั้ง ป.ป.ช.และกรรมการสิทธิ์ด้วยนะครับ
ก็คุยกันเบื้องต้นว่าถ้าจะทำน่าจะเป็นเรื่องความจริง
เพื่อเข้าใจว่าทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้
ซึ่งผมฟังดูก็น่าจะตรงกับที่คุณสนธิพูดอยู่
ซึ่งเป็นความตั้งใจอยู่แล้วว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เข้าไปเฉพาะตรงนี้เท่านั้น
แต่ไปดูจริงๆว่าทำไมถึงเกิดอย่างนี้
ซึ่งอันนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งซึ่งเข้าใจว่าตอนที่ผมรับโจทย์อาจารย์มาก็คือเรื่องนี้อยู่แล้ว
ก็น่าจะตรงกันในระดับหนึ่ง
สนธิ - ก็ผมคิดว่าถ้าเรายึดถือหลักนิติรัฐ ถึงแม้จะโดนรังแกแค่ไหน
ถ้ายังเชื่อถือในระบบ เหมือนที่ผมโดนอัยการรังแกมาตลอดชีวิต ผมก็ยังเชื่อ
ผมยังเชื่อว่าในบรรดาอัยการเลวๆ ยังมีอัยการดีๆ หลงเหลืออยู่บ้าง
ถึงจะมีจำนวนน้อยนิด ผมก็พยายามทำตัวให้เป็นตัวอย่าง
เพื่อให้กำลังใจกับอัยการดีๆ
คณิต - ผมนี่เป็นอัยการสูงสุดคนแรกที่ถูกฟ้องนะ ซิลลี่มาก
ผมโกรธมาก ผมโกรธที่ว่า ผมอยู่กับอัยการตั้งแต่เด็กจนกระทั่งถึงสุดท้าย
มีเลือดเนื้อเชื้อไข ถ้าผมไม่เป็นนะ ผมจะเบาตัวที่สุด
หลังจากนั้นผมไม่เข้าไปยุ่ง
สนธิ - ให้กำลังใจพี่ พี่คณิต ท่านปลัด ยินดีให้กำลังใจ
ขอให้ตรวจสอบอย่างรอบด้านและรอบคอบ
เพราะว่ามันมีหลายเหตุการณ์ที่มันเปรียบเทียบกันได้
ให้ตัวอย่างให้เห็นกันได้ หลายๆ ประการ
เพราะฉะนั้นแล้วถ้าหากสามารถจะเปรียบเทียบเอาหลักฐานมาดูจะเห็นได้ชัด
จะเห็นได้ชัดเลยคำว่า ชุมนุมอย่างสันติอหิงสาเป็นยังไง
ชุมนุมอย่างสันติอหิงสา คือ การที่โดนยิงด้วย M79 ตลอดชีวิต
แล้วการที่ยิงแก๊สน้ำตาแล้วคนตาย และบาดเจ็บ พิการ ที่แท้จริง
แต่ชุมนุมโดยเอาสันติอหิงสาวางไว้ข้างหน้าเนี่ย
ข้างในมีแต่อาวุธหนักทั้งนั้น หลักฐานมีหมด รัฐบาลก็มี ทุกอย่างก็มี
มีหมดพี่
คณิต - เมื่อ 2 วัน ผมก็ไปเยี่ยมปลัดกระทรวงกลาโหม
ท่านก็บอกว่าจะให้ความรู้ที่ดีนะ ผมก็คาดหมายอย่างนั้นหละนะ
เพราะว่าผมทำแล้ว ก็ต้องมาตอบสังคมให้ได้
สนธิ - พี่ไม่ต้องค้นหาว่าใครเป็นคนยิง พ.อ.ร่มเกล้า
หน้าที่รัฐบาลต้องตอบ เรามีตำรวจไว้ทำไม ใช่ไหมครับ
ไม่ใช่คณะกรรมการชุดนี้เป็นคนจะต้องไปค้นว่าใครยิง
เราต้องโยนกลับให้รัฐบาล
เป็นหน้าที่คุณรับผิดชอบคุณมาโยนให้ผมรับผิดชอบได้ยังไง
มันต้องพวกนั้นเขารับผิดชอบกัน
คณิต - ผมก็พูดแล้วว่าเราไม่ไปหาว่าใครผิดใครถูก เราทำว่า
อะไรความจริงที่สามารถเอามาให้สาธารณชนรับรู้ได้
แล้วผมคิดว่าการทำงานของคณะผม สำคัญที่สุดก็คือ public trust
สนธิ - ถ้าจะให้ public trust พี่ต้องกอดผมด้วยนะ
เพราะพี่ไปกอดวีระคนเดียว ผมพูดเล่นพี่ผมพูดเล่น
คณิต - แน่นอน ไม่มีอะไร พี่ก็ไป คุณวีระก็รู้จักผม เป็นคนใต้ด้วยกัน
สนธิ - ไม่มีปัญหา ผมล้อเล่นพี่ อย่าไปจริงจังพี่
คณิต - วันนั้นก็มีคนใต้เยอะแยะ คุณวิภูแถลง ก็คนพัทลุง
คุณก่อแก้วที่จะลงแข่งกับพรรคท่าน ก็คนพังงา ผมบอก
คุณบ้านเดียวกับภรรยาผม แล้วก็มี ณัฐวุฒิก็คนบ้านเดียวกับผม
อำเภอเดียวกันด้วย
สนธิ - พี่ทำไมคนใต้ถ้าดีก็ดี ถ้าเลวก็เลว รักชาติก็รักจริงๆ
รักพระเจ้าอยู่หัวก็รักจริงๆ เอ มันแปลก เหมือนคนอีสาน
ผมเคยตั้งคำถามถามคนอีสานเขาตอบไม่ได้ พี่รู้ไหมว่า พระอริยสงฆ์
พระอรหันต์ มากที่สุดมาจากอีสาน
บรรดาเกจิที่สุดยอดในเรื่องธรรมะทั้งหลายและปฏิบัติธรรม ฌานขั้นเทพ 100
คน 90 คนมาจากอีสาน แต่กลับกลายเป็นว่าคนอีสานเข้าถึงธรรมน้อยมาก
เป็นอย่างงั้นไป กลับไม่เข้าใจธรรมพระพุทธเจ้า
เพราะถ้าเข้าใจธรรมพระพุทธเจ้า เหตุการณ์พวกนี้ไม่เกิดขึ้น
เหมือนกับที่ผมพูดถึงคนใต้ ถ้ารักชาติ รักบ้านรักเมือง รักป๋า
รักพระมหากษัตริย์ ปัญหานี้ไม่เกิด แต่ที่เลวก็เลวได้ใจจริงๆ
คณิต - คือผมยังมองอย่างนี้ โดยภาพรวมนะ เมืองไทยเราเนี่ย
เราบอกว่าสยามเมืองยิ้ม เจอหน้าทักทายดี เป็นที่ติดอกติดใจของต่างชาติ
แต่พอเกิดอะไรนี่ คนไทยเหี้ยมมากเลยะ อย่างผมเจอตอน 19
ผมยังอยู่ต่างประเทศ ที่มีการยิง การเผา ยังดิ้นกะแด่วๆ
ผมเข้าใจว่ามีหลายส่วนที่มีโอกาสเห็น ผมก็ได้มีโอกาสเห็น
แล้วก็แขวนคอคนยังฟาดอีก มันเกิดขึ้นได้ยังไงไม่ทราบ
ผมมองว่าคนไทยที่เห็นยิ้มอยู่นี่ เหี้ยมสุดๆ
สนธิ - เอาเป็นว่า พี่ต้องการให้พวกเราให้ความร่วมมือ ยังไง
อย่างที่ผมคุยไปแล้ว แต่ถ้าจะให้เราปรองดอง
เราบอกว่าไม่จำเป็นต้องปรองดอง เพราะว่าหลักนิติรัฐมีอยู่แล้ว
ถ้าคณะกรรมการชุดนี้ตั้งเพื่อปรองดอง ผมไม่เอา
คณิต - นั่นอาจจะเป็นปลายเหตุมากกว่า
สนธิ - มันไม่ใช่ปลายเหตุพี่ มันต้องเอาเหตุมาเล่าให้ฟังก่อน
พอเหตุเล่าให้ฟังเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้สังคมรับทราบ
พอสังคมรับทราบแล้วสังคมก็รู้ว่าเหตุที่มันเกิดเพราะอันนี้
โดยอัตโนมัติมันจะปรองดองกันเอง ถ้ามันรู้ว่าที่มาที่ไปเป็นยังไง
คือเอามาตรการทางสังคมมาลงโทษคนซึ่งสร้างเหตุอันนี้
ตรงนั้นต่างหากเป็นเรื่องที่สำคัญ
คณิต - ก็จะพยายาม go ไปตามนั้น
สนธิ - ตามสบายพี่ไม่ต้องเกรงใจ พี่มีอะไรจะถามผมอีกไหม
คณิต - ไม่มีครับ
สนธิ - ถ่ายรูปหน่อย กอดพี่ กอดแค่นี้พอ ขอบคุณ
แล้วจะทันปี 2555 ไม๊นี่ ปีที่พระอริยเจ้าห่วงใยลูกหลานชาวไทย อ่านต่อ...http://www.ainews1.com/article311.html
ตอบลบ