++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ยกชั้น "บ้านขาม" ต้นแบบชุมชนจัดการตนเอง

สมทบกองทุนสวัสดิการ ชุมชนให้ตำบลบ้านขาม
ชัยภูมิ - เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชน จังหวัดชัยภูมิ
ยกชั้นตำบลบ้านขามต้นแบบชุมชนจัดการตนเองแห่งแรก ระบุ
เป้าหมายวางรากฐานสร้างชุมชนสวัสดิการพึ่งตนเองในอนาคตทั้งทางด้านสังคม
เศรษฐกิจ และสร้างการเมืองภาคพลเมืองอย่างสมานฉันท์

เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดชัยภูมิ
ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
เปิดเวทีเสนอแนวทางการสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ "ตำบลจัดการตนเอง" ขึ้น ณ
ศูนย์เรียนรู้ชุมชนตำบลบ้านขาม อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ โดยมี
ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดชัยภูมิ
คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดชัยภูมิ 46 ตำบล
พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชัยภูมิ ส่วนราชการ
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เครือข่ายองค์กรชุมชนตำบลบ้านขาม
เข้าร่วมงานครั้งนี้ประมาณ 250 คน โดยมี นายพินิจ บุญวัน นายอำเภอจัตุรัส
เป็นประธานในพิธีเปิด

นายพินิจ บุญวัน นายอำเภอจัตุรัส จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า
การพัฒนาที่ผ่านมา
เป็นการจัดการสั่งจากข้างบนลงข้างล่างจึงไม่เหมาะกับแต่วิถีชีวิต
วัฒนธรรม ประเพณี ของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่าง ซึ่งการคิดเอง ทำเอง
การจัดการตนเอง เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการพัฒนาตนเองที่ยั่งยืน
โดยเริ่มตั้งแต่เรื่องคน เงิน วัสดุ
การพัฒนาทุกอย่างต้องเริ่มจากตัวเราก่อน
แล้วค่อยขยับเป็นการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มๆ ตามถนัด
สำหรับตำบลบ้านขามมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่สามารถรวมรวบกันทำ
ตั้งแต่การรวมกลุ่ม ทำกลุ่มออมทรัพย์ โรงสีชุมชน ธนาคารข้าว
กองทุนสวัสดิการชุมชน เมื่อเห็นว่า
ช่วยเหลือกันได้ดีจึงคิดต่อถึงการนำกลุ่มมาบูรณาการเข้าด้วยกัน
ทำให้เห็นทิศทางในการแก้ไขปัญหา จึงร่วมกันคิด ร่วมกันทำมากขึ้น
เกิดการประสานงานกับหน่วยงานรัฐขึ้น

"ผมยกให้ตำบลบ้านขามเป็นต้นแบบแห่งแรกของ จ.ชัยภูมิ
เป็นชุมชนที่จัดการตนเองได้โดยไม่พึ่งปัจจัยภายนอก และเชื่อมั่นว่า
หากทั้งจังหวัดชัยภูมิทำแนวคิดไปปรับเปลี่ยนใช้กับตำบลของตนเองแล้วจะสามารถ
แก้ปัญหาได้อย่างมั่นคง" นายพินิจ กล่าว

ประจวบ แต่งทรัพย์ ประธานกองทุนฯ

นายประจวบ แต่งทรัพย์ ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบ้านขาม
กล่าวว่า การพัฒนาต้องใช้ทั้งรูปแบบเก่าและรูปแบบใหม่มาผสมกัน คือ
รูปแบบเก่าไม่มีเงินก็นำภูมิปัญญาวัฒนธรรมมาใช้ร่วมกัน
บ้านขามเข้มแข็งได้นั้นด้วยผู้นำดี เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน
อบต.มาเป็นส่วนหนึ่งในด้านการพัฒนา ปัจจัยที่สำคัญ ก็คือ
ผู้นำมีทิศทางคล้ายกัน คือ
เอาประชาชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและแลกเปลี่ยนความรู้กัน
โดยใช้กลไกบริหารแบบมีส่วนร่วม
ซึ่งตำบลบ้านขามกว่าจะมาถึงวันนี้ได้ต้องใช้เวลาเพาะบ่มมายาวนานกว่า 20
ปี

ในเรื่องของการจัดการตนเอง คือ คนต้องมารวมกลุ่มกัน มาออมร่วมกัน
และใช้ทุนที่มีอยู่มาจัดการปัญหาให้คลี่คลาย เช่น
เรื่องผลผลิตทางการเกษตร เรารับซื้อเอง ขายเอง แปรรูปเอง
ภายใต้การบูรณาการทุนร่วมกัน เราได้อำนาจ ได้การต่อรอง ได้คน ได้พลัง
ถ้าไม่ทำครบวงจรแบบนี้ปัญหาก็แก้ไม่หมด
ส่วนการแก้ปัญหาขั้นต่อไปจะเสนอโครงการเรื่องที่ดินทำกิน
ครัวเรือนไหนไม่มีที่ทำกิน หรืออยากมีที่ทำกินเราซื้อให้
แล้วมาผ่อนกับกลุ่มโดยมีดอกเบี้ยร้อยละหนึ่งบาท

ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบ้านขาม กล่าวเพิ่มเติมว่า
ตำบลบ้านขาม เป็นตำบลแห่งการเรียนรู้ด้านการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นตนเอง
โดยกระบวนการรวมกลุ่ม องค์กรชุมชนในหมู่บ้านทั้งตำบลรวม 117 องค์กร
ประกอบด้วย กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มสัจจะออมทรัพย์
กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการลิต กลุ่มกองทุนสวัสดิการวันละบาท
กลุ่มร้านค้าชุมชน ธนาคารข้าว กองทุนปุ๋ย กลุ่มโรงสีชุมชน กลุ่มอาชีพ
กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มพัฒนาสังคม เป็นต้น
โดยแยกเป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็งสามารถบริหารจัดตนเองได้ดี 66 กลุ่ม
กลุ่มที่มีความเข้มแข็งปานกลาง 38 กลุ่ม และ กลุ่มเรียนรู้ 13 กลุ่ม
มีแกนนำหลักในพัฒนา ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มองค์กรชุมชน และ ผู้นำท้องถิ่น รวม
47 คน


สมาชิกกองทุน สวัสดิการชุมชนร่วมประชุม
ในวันนี้ กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบ้านขาม
ได้จัดสวัสดิการถุงยังชีพและค่าครองชีพให้กับผู้ด้อยโอกาสในชุมชน จำนวน
224 คน และกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบ้านขามยังได้รับการสนับสนุนกองทุนสวัสดิการ
ชุมชนตำบล จากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวนเงิน 820,155
บาท โดยกำหนดไว้ว่าก่อนสิ้นปีนี้ทุนรอนที่เกิดจากการบูรณาการทุนจะนำไปแก้ไข
ปัญหาชุมชน เช่น วิสาหกิจชุมชน หนี้นอกระบบ การผลิต อาชีพ ฯลฯ
นี่คือชุมชนจัดการตนเอง
และพร้อมขยายเป็นเครื่อข่ายแก้ปัญหาร่วมกันทั้งจังหวัด
โดยมีตำบลบ้านขามที่จะเป็นทั้งพี่เลี้ยงและผู้ร่วมเรียนรู้
หากเราทำให้เข้มแข็งจากตัวเราชุมชนก็จะแข็งแรง

สำเริง เสกขุนทด ผู้จัดการสำนักงานปฎิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

นายสำเริง เสกขุนทด
ผู้จัดการสำนักงานปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนหรือ พอช. กล่าวว่า คำว่า
ตำบลจัดการตนเองถือว่าเป็นคำใหม่
เพราะเมื่อก่อนจะคุ้นชินคำว่าชุมชนพึ่งตนเอง ชุมชนพอเพียง จึงขอขยายความ
3 คำ คือ ตำบล แปลว่า วัฒนธรรม ประเพณี ชาติพันธุ์ ภูมินิเวศน์
ส่วนจัดการ แปลว่า
เราต้องการจัดการกับวิถีชีวิตของคนในตำบลและสามารถแปลได้ 2 ความหมาย คือ
จัดการปัญหา จัดการกับเรื่องไม่ดีไปสู่เรื่องที่ดีขึ้น เช่น
ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ประเพณีวัฒนธรรม หรือบางเรื่องดีอยู่แล้วๆ
ยกระดับให้ดีขึ้น สุดท้ายคือ ตนเอง แปลว่า ครอบครัว พ่อ แม่ ลูก ปู่ ย่า
ตา ยาย กลุ่ม หากกลุ่มไม่เพียงพอมันต้องเป็นระดับหมู่บ้าน
ตำบลหมายถึงหลายๆ กลุ่มในหมู่บ้านเป็นตำบล

นายสำเริง กล่าวว่า กระบวนการจัดการตนเองได้นั้น ประการแรก
ต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน ว่า พี่น้องในบ้านเรามีปัญหากี่ปัญหา
แล้วปัญหานั้นจะแก้ไขได้อย่างไร ข้อมูลจะเป็นสิ่งที่บอกถึงความชัดเจน
รวมถึงการผนวกกับแผนตำบล กล่าวคือเอาข้อมูลมาดูและแก้ปัญหาร่วมกัน

ประการที่สอง ต้องรวมทุนเป็นทุนใหม่เพื่อเสริมทุนเก่า จากครอบครัว
รวมกันเป็นกลุ่ม เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มสวัสดิการ กลุ่มสหกรณ์
กลุ่มเกษตร และประการที่สาม การหนุนเสริมของหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่น
เป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหา มาบูรณาการการทำงานร่วมกัน
โดยใช้แผนของหมู่บ้าน/ชุมชนเป็นหลัก และจะนำไปสู่การพึ่งตนเองได้
เมื่อรวมทั้งสามเรื่อง คือ คน กลุ่ม เครือข่าย การมีข้อมูลที่ชัดเจน
และหน่วยงานที่จะมาหนุนเสริม กระทั่งนโยบายของรัฐบาล

ผู้จัดการสำนักงานปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวย้ำว่า
ตัวอย่างที่ตำบลบ้านขาม คือ การปฏิรูปประเทศไทย
ถ้ามีลักษณะอย่างบ้านขามเกิดขึ้นใน อ.จัตุรัส อย่างน้อยร้อยละ 50
หรือในจังหวัดชัยภูมิมีร้อยละ 50
แบบนี้ถือว่าเป็นการปฏิรูปตนเองบนวิถีชีวิต คน ตำบล ท้องถิ่น
เป้าหมายก็เพื่อวางรากฐานสร้างชุมชนพึ่งตนเองทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ
และสร้างการเมืองภาคพลเมืองอย่างสมานฉันท์
ยกระดับไปสู่การจัดสวัสดิการชุมชนดูแลซึ่งกันและกันตั้งแต่เกิดจนตาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น