++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2553

"การบริหารแบบมีส่วนร่วม" ที่เกิดจากความจริงใจของผู้นำ กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลเนินศาลา อ.โกรกพระ จ.นครสวรรค์

เรียบเรียงโดย ณัฐฏ์ รัตนกานต์

            เนินศาลา ตำบลหนึ่งใน อ.โกรกพระ จ.นครสวรรค์ ที่มีพื้นที่เพียง 23.29 ตารางกิโลเมตร ตะวันตกเป็นแนวเทือกเขาหลวง เป็นเขตพื้นที่วนอุทยานเขาหลวง ตะวันออกเป็นที่ราบเชิงเขาแบ่งลักษณะการปกครองเป็นเขต ได้จำนวน 8 หมู่บ้าน โดยมีอดีตกำนันเป็นนายก อบต.
            "ชีวิตคนสำคัญ ถ้าจะทำอย่างอื่นให้ได้ดี สุขภาพต้องดีก่อน" มุมมองเกี่ยวกับสุขภาพของ นายก อบต. เสรี เนินพลับ ซึ่งเป็นนายก อบต.ที่ได้ชื่อว่าเป็นที่เคารพ ศรัทธา ของชาวบ้าน
            มุมมองของผู้นำที่เห็นความสำคัญเรื่องสุขภาพของคนในหมู่บ้าน ทำให้คนในหมู่บ้านเกิดความเข้าใจและให้ความสำคัญกับสิ่งนั้นๆ ก่อให้เกิดความร่วมมือตามมา และนี่คือทุนทางสังคมที่ทำให้ตำบลเนินศาลา มีการบริหารแบบมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการเสนอความคิดเห็นของประชาชน, การทำประชาคม , การประชุมประจำเดือน หรือข้อมูลจาก อสม.ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนและรับรู้ปัญหาของประชาชนเป็นอย่างดี
       
            การบริหารกองทุนฯ ในระยะแรก ชาวบ้านยังไม่มีความเข้าใจ และไม่สามารถเขียนโครงการได้ จึงทำให้มีส่วนร่วมน้อยในการเสนอปัญหา แต่จะมี อสม. ที่เป้นผู้ร่วมเสนอปัญหาจากการทำประชาคมในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อหาแนวทางการทำกิจกรรม เช่น โครงการหนูรักวันเสาร์ โครงการประกวดร้องเพลง หรือ โครงการอื่นๆ พร้อมกับเขียนโครงการ และจัดการดำเนินงาน เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจกับชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านก็ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

            "ถ้าขาดความร่วมมือจากชุมชน กรรมการก็จะดำเนินงานไม่ได้ ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ"

            นี่คือ ปัจจัยสู่ความสำเร็จในการบริหารกองทุนฯ ของ อบต.เนินศาลา ซึ่งเกิดจากการมองเห็นความสำคัญของสุขภาพจากผู้นำชุมชนเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านจริง และมีทีมงานที่เข้มแข็ง ทำงานด้วยความเข้าใจ มีจิตอาสาเพื่อพัฒนาชุมชน สุดท้ายคือ การมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ในการแสดงความคิดเห็นและร่วมตัดสินใจ

            จะเห็นว่า การทำงานของคณะกรรมการกองทุนฯ มุ่งเน้นถึง การทำความเข้าใจกับคนในชุมชนไม่ว่าจะเป็นการทำประชาคมตั้งคำถามหาคำตอบ ให้ได้ข้อมูลหรือการกระจายข่าวสารผ่านทางผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หรือ กรรมการกองทุนฯ การทำสิ่งเหล่านี้ เป็นการเกิดกว้างในการรับฟังความคิดเห็นเพื่อพัฒนางาน จึงทำให้ อบต. เนินศาลาเกิดการประสานงานในการทำงานที่ดี ยึดชาวบ้านเป็นหลักนั้นเอง

            "ชีวิตคนสำคัญ ถ้าจะทำอย่างอื่นให้ได้ดี สุขภาพต้องดีก่อน " ถ้าความคิดนี้ไม่เกิดขึ้นกับผู้นำ ผู้ตามที่เป็นชาวบ้านแบบเราๆ ก็อาจจะไม่เข้าใจความจริงใจของผู้นำที่ต้องการให้ผู้ตามอย่างเรามีส่วนร่วม
            " ถ้าขาดความร่วมมือจากชุมชน กรรมการก็จะดำเนินงานไม่ได้  ความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชน เป็นสิ่งสำคัญ"
            และถ้าคำพูดเหล่านี้ ไม่ออกจากปากผู้นำ ความสำเร็จในการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม ก็คงไม่เกิดขึ้นในชุมชน
            และสุดท้าย ปลายทางของการมีส่วนร่วม จะนำมาซึ่งความมั่งคงและยั่งยืนของกองทุนฯ อย่างแท้จริง

        ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
        ดร.ชมนาด วรรณพรศิริ
        ดร.สุชาดา อินทรกำแหง ณ  ราชสีมา
        วิภา ประสิทธิโชค
        วพบ.สวรรค์ประชารักษ์ นครสวรรค์



ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น