++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2553

พระอภัยมณี - วรรณคดีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

            ทำนองแต่ง - ใช้กลอนเพลง
            ข้อคิดเห็น - ในการเขียนเรื่องพระอภัยมณี  สุนทรภู่ได้แสดงความริเริ่มเป็นส่วนตัวไว้มาก เช่น ใช่กลอนเล่านิทาน ใช้ฉากทะเลเป็นที่บรรยายเรื่อง แสดงความสามารถของหญิงในการต่อสู้ศึกและปกครองบ้านเมือง  กำหนดให้เด็กมีบทบาทสำคัญเท่าเทียมผู้ใหญ่ สุนทรภู่มีจินตนาการเกี่ยวกับความเจริญทางวิทยาศาสตร์อย่างกว้างขวางเช่น กล่าวถึงความกว้างใหญ่ของเรือกำปั่นของโจรสุหรั่ง สำเภายนต์ของพราหมณ์ ธนูของพราหมณ์ยิงได้ครั้งและ ๗ ดอก ตราราหูของนางละเวง โคตรเพชรเมืองลังกา ดินถนันที่นางละเวงเสวย โคลงเรื่องพระอภัยมณีน่าตื่นเต้นเร้าใจ เพราะผูกขึ้นจากจินตนาการอันสูงส่ง ประกอบกับความเป็นพหูสูต และความสามารถนำเหตุการณ์ที่ประสบมาแทรกในเรื่อง เช่น ได้เค้าเรื่องบางประการมาจากสามก๊ก ไซ่ฮั่น อาหรับราตรี และสงครามเก้าทัพสมัยรัชกาลที่ ๑
            สุนทรภู่วาดอุปนิสัยใจคอของตัวละคร ซึ่งมีอยู่มากมายให้เห็นความแตกต่างกันได้อย่างเด่นชัด ถึงแม้เรื่องจะยืดยาว แต่ก็สามารถควบคุมตัวละครเหล่านั้นไว้ได้คงเส้นคงวา เช่น ความใจอ่อนของพระอภัยมณี ความสุขุมของศรีสุวรรณ ความถือตัวทะนงองอาจของอุศเรน ความดุดันแต่ขลาดผู้หญิงของสินสมุทร ความสุภาพนิ่มนวลของสุดสาคร ความหึงหวงของนางสุวรรณมาลี ความจัดจ้านปราดเปรียวของนางละเวง และความสงบเสงี่ยมเจียมตัวของนางเกษรา เป็นต้น
            กระบวนกลอนในพระอภัยมณี มีความละมุนละไม รื่นหู และคมคายลึกซึ้งยิ่งนัก เพราะสุนทรภู่คิดแบบกลอนขึ้นใหม่ โดยเพิ่มสัมผัสในเป็นคู่ๆ ถึงจะมีการใช้คำแผลงและเปลี่ยนแปลงรูปคำผิดหลักไวยกรณ์ แต่ก็เป็นความประสงค์ของสุนทรภู่ ที่จะให้กลอนของตนเป็นกลอนซึ่งชาวบ้านร้านตลาดทั่วไปเข้าใจได้ ไม่ได้มุ่งแสดงภาษาของผู้คงแก่เรียน อย่างพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๒
            คุณสมบัติประการสำคัญที่สุดของเรื่องพระอภัยมณี คือ คติโลกและคติธรรมซึ่งแฝงอยู่ตลอดเรื่อง คติเหล่านี้สุนทรภู่ได้มาจากประสบการณ์ในชีวิตของตนเป็นส่วนใหญ่ จึงชวนฟังชวนเข้าใจกว่าสุภาษิตของกวีอื่นๆ
            สำหรับข้อวิจารณ์ที่ว่า ภูมิศาสตร์ในเรื่องพระอภัยมณีผิดพลาด เช่น บรรยายฝรั่งไม่สู้ตรงความจริง ผู้ที่มีความเห็นเช่นนั้นหาใช่ผู้เข้าใจเนื้อแท้ของวรรณคดีไม่ สุนทรภู่ไม่ได้เขียนตำราภูมิศาสตร์ สุนทรภู่ต้องการแสดงความจริงของคน ตัวละครในเรื่องพระอภัยมณีจึงไม่มีเชื้อชาติ แต่เป็นคนที่ถูกต้อง ถ้าถือข้อนี้เป็นการไม่สมควร พระราชนิพนธ์อิเหนาของรัชกาลที่ ๒ ก็ต้องบกพร่องเช่นกัน ที่กะเกณฑ์ให้ชาวเมืองดาหลากลายเป็นชาวกรุงเทพฯ ไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น