++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2553

อหิวาต์ระบาดหนัก ป่วยกว่า 750 ตายแล้ว 4 ราย

กรมควบคุมโรคพบผู้ป่วยอหิวาต์ พุ่ง 756 ราย เสียชีวิต 4 ราย
ระบาดหนักใน 20 จังหวัด ในรอบ 5 เดือน ปี 53 เตือนประชาชน กินอาหารสุก
เพื่อสุขภาพ เร่งประสานทุกจังหวัดให้เตรียมรับสถานการณ์

นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า
สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค มีรายงานว่า ระหว่าง 1 ม.ค. - 30 พ.ค.2553
พบผู้ป่วย จำนวน 756 ราย จาก 20 จังหวัด เสียชีวิต จำนวน 4 ราย จาก
จ.ปัตตานี 3 ราย รายแรกเป็นชาย อายุ 16 ปี
เป็นผู้พิการช่วยเหลือตนเองไม่ได้ รายที่ 2 เป็นหญิง อายุ 53 ปี
เป็นโรคตับเรื้อรัง รายที่ 3 เป็นชาย อายุ 66 ปี เป็นโรคเบาหวาน จ.สงขลา
1 ราย เป็นเด็กผู้หญิง อายุ 6 ปี มีโรคประจำตัว ท่อน้ำดีตีบตัน ตับแข็ง
ซึ่งถือว่ามากกว่า ปี 2552 ตลอดทั้งปีพบผู้ป่วย จำนวน 212 ราย จาก 16
จังหวัด และเสียชีวิตจำนวน 2 ราย

นพ.มานิตกล่าวต่ออีกว่า สำหรับอัตราการป่วยอหิวาต์ ในจำนวน 20
จังหวัด ของปี 2553 พบมากที่สุด คือ จ.ปัตตานี จำนวน 488 ราย จ.ตากจำนวน
213 ราย และ จ.นครราชสีมา 17 ราย ตามลำดับ
อหิวาตกโรคมีแนวโน้มที่จะระบาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและขยายพื้นที่ไปในหลายจังหวัดมากขึ้นด้วย
ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัดเมื่อต้นปีนี้
เพื่อขอความร่วมมือเตรียมรับสถานการณ์ระบาดของโรคอหิวาตกโรค
โดยขอความร่วมมือจากทุกจังหวัด ดังนี้

1.เมื่อมีผู้ป่วยเกิดขึ้นขอให้มีการรายงานโรคภายใน 24 ชั่วโมง
ไปยังสถานบริการสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลอย่างโปร่งใส
2.การป้องกันควบคุมโรคที่ต้องดำเนินการ เช่น ใช้ให้ถูกสุขลักษณะ
และจัดน้ำอุปโภคบริโภคที่สะอาดให้แก่ประชาชน 3.เมื่อมีผู้ป่วยเกิดขึ้น
ให้ระดมทรัพยากรภายในจังหวัดควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาดเป็นวงกว้าง
4.การดูแลรักษาให้เตรียมความพร้อมสถานพยาบาลทุกระดับ
ให้มีความพร้อมอยู่เสมอ
รวมถึงการส่งเสริมการดูแลรักษาตนเองเบื้องต้นด้วยน้ำผสมผงเกลือแร่
5.จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคระบาด คือ จังหวัดที่ติดชายทะเล
จังหวัดที่มีแรงงานต่างชาติจำนวนมากและจังหวัดที่มีการระบาดของโรคเป็นประจำ
ขอให้ทางจังหวัดเน้นกิจกรรมและแผนการดำเนินงานเป็นพิเศษ โดยมีเป้าหมาย
เมื่อเกิดโรคขึ้นแล้วให้ควบคุมโรคให้ได้ภายใน 10 วัน

"ประชาชนควรรับประทานอาหารที่สุกสะอาด ไม่มีแมลงวันตอม
โดยเฉพาะอาหารทะเลที่ปรุงสุกยาก ส่วนการดูแลผู้ป่วยเบื้องต้นนั้น
ควรให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอส โดยดื่มทีละน้อยๆ
แต่บ่อยครั้ง เมื่ออาการดีขึ้นให้หยุดดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่
และรับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย หากดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ไปแล้ว
ภายใน 8-12 ชั่วโมง หรือให้การดูแลเองที่บ้านแล้วอาการไม่ดีขึ้น
ต้องรีบไปรับการรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลทันที"
นพ.มานิตกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น