เรียบเรียงโดย กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
"กรรมการเป็นชุดเดียวกับ อสม. กรรมกาจะทำงานในทุกๆเรื่องจึงเกิดการเรียนรู้ได้เร็ว เพราะเป็นชุดเดียวกัน" เสียงจากคณะทำงาน อบต.บุ่งเลิศ
คนส่วนใหญ่ในตำบลบุ่งเลิศ เป็นชาวภูไท ตำบลเล็กๆแห่งนี้ อยู่ทางตอนเหนือสุดของจังหวัดร้อยเอ็ด มีการบันทึกเอาไว้ว่า แรกเริ่มเดิมทีเดียว สองตายายที่มีชื่อว่า คุณยายปุ่นและคุณตาอ้วน เป็นผู้บุกเบิกพื้นที่ ทั้งสองย้ายมาจากอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ประกอบอาชีพตั้งรกราก ด้วยการทำน้ำมันยางหาของป่าและทำไต้แลกข้าวปลาอาหาร จนเกิดการหักร้างถางพงก่อตั้งเป็นชุมชน จนกระทั่งปัจจุบัน
ชาวภูไทมีความเหนียวแน่นและยึดถือประเพณีปฏิบัติ ที่เรียกว่า "ฮีต12-คอง14" เป็นวิถีชีวิตที่สอดคล้องและเข้มแข็ง ด้วยฐานทางวัฒนธรรม การยึดถือ "พ่อล่ามแม่ล่าม" ซึ่งเสมือนพ่อแม่คนที่สอง เพราะพ่อล่ามแม่ล่าม คือ ผู้ที่ให้คำปรึกษาแก่คู่สมรสและความรู้เกี่ยวกับการครองเรือน ทำให้ระบบครอบครัว หน่ยพื้นฐานที่มีความสำคัญที่สุด ของชุมชนแห่งนี้ มีความเข้มแข็ง
ด้วยแนวคิดของ นายก อบต. สมัย พ้นทุกข์ และหัวหน้าสถานีอนามัยบุ่งเลิศ ที่เห็นความสำคัญของการสร้างเสริมระบบหลักประกันสุขภาพฯ และคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ได้เข้ารับเป็นพื้นที่นำร่อง โครงการหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น จัดระดมสมองเพื่อจัดทำแผนกิจกรรมโครงการทางด้านสุขภาพชุมชน บนพื้นฐานของความรักและศรัทธา
ถึงแม้ว่า ในระยะแรก การประชุมเพื่อขยายความเข้าใจจะไม่ประสบผลสำเร็จมากมายเท่าไรนัก เพราะระยะเวลาที่กระชั้นและกิจกรรมยังเป็นเรื่องใหม่ สำหรับคนในชุมชนแห่งนี้ แต่ด้วยความอุตสาหะและเพียรพยายาม ผลที่สุด มีการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจที่มาจากหน่วยต่างๆในชุมชนเพื่อรับทราบวาระการประชุมและขยายผลความเข้าใจออกไปในฐานะตัวแทนของกลุ่ม โดยยึดหลักของ ความครอบคลุม เสมอภาค สะดวก เข้าถึงง่ายและได้มาตรฐาน
จนเกิดโครงการที่ดำเนินการในปีที่ผ่านมาหลายโครงการด้วยกัน
จากโครงการทั้งหมด กิจกรรมโครงการหมู่บ้านปลอดไข้เลือดออก ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในระดับประเทศเป็นกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนได้รับรางวัลสถานีอนามัย(บุ่งเลิศ) เฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกดีเด่นในระดับจังหวัด
กิจกรรมนี้ได้มีการจัดแบ่งการทำงานออกเป็นส่วนงานที่ชัดเจน โดยองค์การบริหารส่วนตำบล คณะกรรมการหมู่บ้าน อสม. เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย แบ่งออกเป็น 9 สาย ประจำ 9 หมู่บ้าน ดำเนินการกิจกรรมรณรงค์ กำจัดลูกน้ำยุงลาย
โดยอาศัยช่วงทำบุญตามประเพณีของหมู่บ้าน
หลังการทำบุญตักบาตรร่วมกันในตอนเช้าแล้ว ชาวบ้านจะแบ่งกลุ่มตามสาย ออกเดินรณรงค์เรื่องการกำจัดลูกน้ำยุงลายในแต่ละหมู่บ้าน
ตกเที่ยง กลุ่มไหนอยู่ที่บ้านไหนก็จะตั้งวงรับประทานอาหารร่วมกันเหมือนการทำบุญ ใครมีอะไรก็เอามาเผื่อกัน สร้างบรรยากาศคุ้นเคย เหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน
ตกบ่าย จะไขว้สายตรวจประเมินผล การดำเนินงานของแต่ละสาย ซึ่งทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปจนเย็นย่ำ หลังรับประทานอาหารเย็นจะมารวมตัวกันอีกครั้งเพื่อประชุมกลุ่ม สรุปผลการดำเนินงาน
โดยภาพรวม วัฒนธรรมประเพณี กลายเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในการยึดโยงกลุ่มคน สร้างการมีส่วนร่วม
แม้ว่าจะยังไม่มีการประเมินผลที่ชัดเจน แต่เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนในเวทีประชาคมหรือจากที่ประชาชนแจ้งมา ทำให้ทราบว่าประชาชนมีความรู้สึกพึงพอใจกับการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ในทุกๆโครงการ
ผลจากการทำงานทำให้ชุมชนได้เรียนรู้ใน 3 ด้าน คือ บทเรียนการเสริมพลังในการทำงาน บทเรียนการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพให้ชุมชน บทเรียนกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งเสริม ให้เกิดผลสำเร็จ อันมีฐานมาจาก ประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่น ที่เป็นตัวกำหนดเงื่อนเวลาในการทำกิจกรรมร่วมกัน
กองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ในชุมชนแห่งนี้จะดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง ตราบใดที่คุณค่าของวัฒนธรรมชุมชนยังคงเข้มข้น
ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
สาคร อินโท่โล่
สุจิมา ติลการยทรัพย์
เนาวรัตน์ สุขณะล้ำ
ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น