เรียบเรียงโดน นพรัตน์ จิตรครบุรี
วิถีชีวิตที่ปราศจากฝุ่นควัน รถติด และน้ำเน่าเสียของชาวชุมชน ต.นาถ่อน อ.ธาตุพนม จ.นครพนม อาจถือได้ว่าเป็นวิถีชีวิตที่ค่อนข้างปลอดภัย เพราะมีชีวิตที่ค่อนข้างใกล้ชิดกับธรรมชาติ แต่ทว่ากลับหนีไม่พ้นเรื่อโรคภัยไข้เจ็บ อย่าง เบาหวาน , ไข้เลือดออก มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม รวมไปถึงคนพิการและคนแก่ก็ยังไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลอย่างทั่วถึง
จากนโยบายหลักประกันสุขภาพช่วยคนไทยห่างไกลโรค ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือ สร้างสุขภาพที่ดีให้กับประชาชนและลดปัญหาค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในระยะยาว โดยใช้กระบวนการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จึงทำให้เกิดกองทุนระบบหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นขึ้น
อบต.นาถ่อน ได้ก่อตั้งกองทุนระบบหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 โดยการสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขาเขตพื้นที (สกลนคร) และ อบต.นาถ่อนที่นอกจากจะให้การสนับสนุน ด้านงบประมาณแล้ว ยังสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์ การดำเนินงานในชุมชน ได้แก่ เครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด เครื่องวัดความดันโลหิต และเครื่องชั่งน้ำหนักอีกด้วย
การดำเนินการกองทุนฯ ของ อบต.นาถ่อน เริ่มต้นด้วยการจัดทำข้อมูลสุขภาพของชุมชน โดย อสม.ประจำหมู่บ้าน ซึ่งมีการสำรวจข้อมูลด้านสุขภาพทุกปี และการทำแผนสุขภาพชุมชน ร่วมกันระหว่าง อบต.กับสถานีอนามัย ด้วยการจัดทำประชาคมหมู่บ้าน เพื่อให้ทราบถึงปัญหาและความต้องการของชาวบ้านที่แท้จริง
ปัญหาและความต้องการของชุมชน นำมาซึ่งโครงการที่เน้นเรื่องการส่งเสริมและป้องกันโรคต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพประชาชนกลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวาน/โรคความดันโลหิตสูง , โครงการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก , โครงการอบรมแกนนำสุขภาพประจำครอบครัว และโครงการแพทย์แผนไทยส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น
โครงการต่างๆจะถุกบริหารจัดการโดยการทำงานร่วมกันของคณะกรรมการกองทุนฯ ที่มาจากหลายส่วน ได้แก่ อบต. ผู้แทนหน่วยบริการของ สปสช. คือ หัวหน้าสถานีอนามัย , ผู้แทน อสม. หมู่บ้านที่คัดเลือกกันเอง , ผู้แทนหมู่บ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน) หมู่บ้านละ 1 คน โดยคณะกรรมการบริหารมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี
การทำงานของคระกรรมการกองทุนฯ นอกจากการประชุมทีมงานกันเดือนละครั้ง และการจัดประชุมร่วมกันระหว่าง อบต. สถานีอนามัย ฝ่ายปกครอง และสถานศึกษาทุกเดือนแล้ว ยังมีการพัฒนาทีมงานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยการให้ความรู้เรื่องการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด การวัดความดันโลหิต การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การเยี่ยมบ้านผู้ป่วยเรื้อรังและผู้สูงอายุ ซึ่งบุคคลหลักในการลงมือปฏิบัติคือ อสม. และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ส่วน อบต. เป้นผู้สนับสนุนหลักในการดำเนินงานให้สำเร็จลุล่วง
ความพึงพอใจของชาวบ้านหลังจากการมีกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ พบว่า มีความพึงพอใจมาก เพราะว่ามีแพทย์มาตรวจที่สถานีอยามัยทุกเดือน ทำให้สะดวกมากขึ้น ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปโรงพยาบาล
ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการทำโครงการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพประชาชนกลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวาน/ ความดันโลหิตสูง ของเครือข่ายบริการนาถ่อน-โพนแพง โดยมีที่มาจากการคัดกรองโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงของประชาชนกลุ่มอายุ 40ปีขึ้นไป ในพื้นที่รับผิดชอบของ อบต.นาถ่อน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2550 พบว่า มีผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ขึ้นทะเบียนรับการรักษา 170 คน โรคความดันโลหิตสูงจำนวน 47 คน และยังพบมีประชากรกลุ่มเสี่ยงอีกจำนวน 573 คน
กิจกรรมที่ทำ ได้แก่ การรวบรวมรายชื่อประชาชนกลุ่มเสี่ยงสูงจากข้อมูลการคัดกรองเบาหวานปี 2550, การให้ความรู้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงสูงในรูปแบบค่ายกระตุ้นความรู้ (Day camp) โดยให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ยา, การออกกำลังกาย, การรับประทานอาหารและการประเมินผลเบาหวานด้วยตนเอง , สนับสนุนการดำเนินงานชมรมสร้างสุขภาพให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีการดำเนินกิจกรรมร่วมกับชมรมเบาหวานเดิมที่มีอยู่ และติดตามประเมินผล สภาวะสุขภาพของผู้เข้าค่ายทุก 3 เดือน
สิ่งที่เป็นผลพลอยได้จากการดำเนินงานครั้งนี้ คือ อสม. ได้รับการพัฒนาศักยภาพดดยสามารถเจาะตรวจระดับน้ำตาลในเลือดได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนในชุมชนเกิดความเชื่อถือ ศรัทธาในตัว อสม. โดยชาวบ้าน บอกว่า " เมื่อก่อนไม่ค่อยเชื่อว่า อสม. จะช่วยเหลือชาวบ้านได้ จะเจาะเลือดเป็น เดี๋ยวนี้พอรู้สึกว่าตนเองวิงเวียน มีอาการผิดปกติ ก็จะเรียก อสม.มาเจาะเลือดให้ ได้ผลเร็ว ได้ผลตรวจเหมือนกันกับหมอตรวจ และมี อสม.คนหนึ่งไปเรียนเรื่องนวดมา แล้วมาช่วยชาวบ้านคนหนึ่งซึ่งเป็นอัมพฤกษ์ ให้สามารถเดินช่วยเหลือตัวเองได้ ยอมรับว่าเดี๋ยวนี้ อสม.เก่งมาก"
การดำเนินการกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ของ อบต.นาถ่อน ทำให้เห็นว่าความสำเร็จของการดำเนินงานมาจากการทำงานด้วยความรู้สึกว่า เป็นทีมเดียวกันของผู้นำชุมชน อบต. สถานีอนามัย และประชาชนที่ซึ่งต่างฝ่ายต่างให้ความร่วมมือ ร่วมใจ ร่วมพลังกันทำงาน
"ทุกวันนี้ อบต.กับสถานีอนามัย เป็นทีมเดียวกัน นายกฯ สามารถเรียกประชุมและขอความร่วมมือจากทีมทำงานได้ทุกเมื่อ อสม. ช่วยได้มาก เป็นกำลังสำคัญในการทำงาน ผมจะคอยให้กำลังใจ ชมเชยเขา บอกเขาเสมอว่า ถ้าขาดเหลืออะไรอยากได้อะไร ให้บอก ผมมีหน้าที่หามาให้คุณ ถ้าหาให้ได้ หาให้เลย นอกจากนั้นทุกปีผมจะพาเขาไปศึกษาดูงาน ให้ไปอบรมด้านการดูแลสุขภาพ เพื่อกลับมาดูแลสุขภาพชุมชน ผมให้ความสำคัญกับ อสม.มาก เพราะ อสม. ไม่มีค่าตอบแทน " นายก อบต.นาถ่อน
และการทำงานที่ยึดปัญหาและความต้องการของชุมชนเป็นหลัก จะช่วยทำให้ชาวบ้านตื่นตัวและให้ความร่วมมือเข้าร่วมโครงการฯ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในชุมชน คือ การหันมาสนใจ ใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น ทำให้รู้สึกว่าคุณภาพชีวิตของตนเองดีขึ้น
ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของกองทุนหลักประกันสุขภาพที่สามารถนำการเปลี่ยนแปลงทางด้านสุขภาพมาสู่ชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม
ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
สมสมร เรืองวรบูรณ์
พิพัฒน์พงศ์ เข็มปัญญา
จุรีรัตน์ กอเจริญยศ
ศิริรัตนฺ์ อินทรเกษม
พยอม สินธุศิริ
วพบ.นครพนม
ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น