ฝ่ายเสธ.ฯ เฮฮา
ผู้บังคับบัญชา
วิชัย ภูเวียงกล้า
"ผู้บังคับบัญชาย่อมรับผิดชอบการปฏิบัติทั้งสิ้นของหน่วย ไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว"
นี่นับว่าเป็นคาถาอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับเตือนใจผู้บังคับบัญชา หรือ "นาย" กับนายทหารฝ่ายเสนาธิการ หรือฝ่าย "เสธ." ทั้งหลาย
สำหรับผู้บังคับบัญชาก็เตือนว่า เอ็งจะหลับหูหลับตาเซ็นส่งเดชไม่ได้นะโว้ย เวลาฝ่ายเสธ.ฯ มันเสนอขึ้นมาน่ะ อ่านซะก่อน คิดซะก่อนที่จะลงนามสั่งอะไรไป เพราะถ้ามันพลาดขึ้นมานะ ..คุกนะโว้ยจะบอกให้ ครับ...นี่คือคำเตือนที่หลวงท่านให้กับผู้ที่เป็นนายๆทั้งหลายได้สังวรณ์ไว้
เพราะเอ็งต้อง "รับผิดชอบการปฏิบัติทั้งสิ้นของหน่วย...."
สำหรับคำเตือนที่หลวงท่านให้ต่อนายทหารฝ่านเสนาธิการก็ทำนองว่า
"เอ็งน่ะเก่ง.. ข้ารู้ เพราะเอ็งเป็นไอ้พวกหัวเสธ. ฯ แต่เวลาเอ็งเสนออะไรไปแล้ว นายเค้าไม่เอาอย่างที่เอ็งว่าละก้อ เอ็งอย่าไปยั้วะเขานะโว้ย ... เพราะถ้ามันพลาดขึ้นมาน่ะเอ็งไม่ติดคุกหรอก คนที่ลงนามในคำสั่งโว้ย คือนายของเอ็งนั่นแหละ ที่ต้องติดคุก ดังนั้น เอ็งมีหน้าที่เสนอก็เสนอไป เอาไม่เอาเป็นหน้าที่ของนายเค้า"
เพราะว่านายเอ็งเค้าเป็นคน "รับผิดชอบการปฏิบัติทั้งสินของหน่วย.."
ผู้บังคับบัญชาหน่วยนั้นต้องรับผิดชอบงานทั้งหมดของหน่วย แต่สำหรับนายทหารฝ่ายเสนาธิการแล้วเราแยกงานกันรับผิดชอบครับ ทั้งนี้มี "เสนาธิการของหน่วย" ซึ่งมีชือ่แตกต่างกันออกไปคอยดูแลเป็นส่วนรวมอีกทีนึง เรื่องตัวเสนาธิการของหน่วยเอาไว้ว่ากันทีหลัง ตอนนี้มาดูกันว่าพวกผมแบ่งงานกันยังไง เหมือนกับกระทรวงเขาแบ่งกันมั้ย คือหยั่งเป็น สส.จากอิสานให้คุมองค์การสะพานปลา หรือว่าเคยเป็นทหารก็ให้ท่านคุมซะซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ฯลฯ เป็นต้น
โดยทั่วไปแล้วเราแบ่งงานกันออกเป็นสายๆ รวม ๕ สายงานหลักด้วยกันดังนี้
สายที่หนึ่ง เรียกว่า "สายงานกำลังพล"
งานของสายนี้เอากันง่ายๆ ว่าเกี่ยวกับเรื่องของกำลังทหารเป็นตัวบุคคล ในเรื่องการรักษายอดว่ามีอยู่เท่าไหร่ ตายไปเท่าไหร่ เหลือเท่าไหร่ ฯลฯ รวมทั้งเรื่องหลักคือ เรื่องการบำรุงรักษาขวัญได้แก่ การดูแลการพักผ่อนหย่อนใจของทหาร เวลาทหารเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาลก็คอยเสนอให้ผู้บังคับบัญชาไปเยี่ยม เพื่อให้มันตายไปเสียพ้นๆเวร เอ๊ย ไม่ใช่ให้เค้ามีกำลังใจว่า ผู้บังคับบัญชาไม่ทอดทิ้ง รีบหายนะลูกนะ จะได้ไปรบกะมันใหม่ ฯลฯ
งานที่สำคัญเรื่องหนึ่งของสายงานกำลังพลหรือที่เราเรียกกันย่อๆว่า "สายหนึ่ง" ก็คือ การย้าย จะเป็นย้ายประจำวันย้ายประจำเดือน หรือย้ายประจำปี ที่คุณคอยกันนักคอยกันหนาว่าบิ๊กไหนจะไปลงที่ไหนก็สายหนึ่งแหละครับ เป็นคนกุมความลับทั้งสิ้น
สายที่สอง เรียกเต็มๆว่า "สายงานข่าวกรอง" เรียกย่อๆว่า "สายสอง" (ห้ามมีหน่วยนับค่าของเงินยี่สิบห้าสตางค์ตามเป็นอันขาด จะถูกข้อหาบ่อนทำลายความมั่นคงของกองทัพบก) สายนี้มีหน้าที่หาข่าวเกี่ยวกับภูมิประเทศลมฟ้าอากาศและข้าศึก ยิ่งละเอียดเท่าไหร่ยิ่งดี งานสายนี้อธิบายไม่ยาก คุณนึกถึงพวกซีไอเอ , เคจีบี, เอ็มไอไฟว์, มอสสาด ฯลฯ ก็คงจะอีแมจีนออก และหมายเหตุเอาขีดความสามารถของหน่วยเหล่านั้น มารวมกันเข้าก็จะได้เศษหนึ่ง ส่วนสิบแปดของครึ่งหนึ่ง ของขีดความสามารถของการข่าวกองทัพบกไทย เฮอะ....
นอกจากการหาข่าวของข้าศึกแล้ว หากจำเป็นยังสามารถใช้สายสองสำหรับการหาข่าวฝ่ายเดียวกันได้อีกด้วย นี่คือ ขีดความสามารถของสายสองที่ไม่ได้บันทึกไว้ในเอกสารเล่มใดของทางราชการ แต่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปสำหรับนักการข่าวทั่วโลก
ส่วนว่าจะหาไปทำพระแสงด้ามยาวอะไร ข่าวพวกเดียวกันน่ะ ...ก็แล้วแต่ครับ ก็แล้วแต่...
งานสายต่อไป คือ สายสาม หรือ "สายงานยุทธการ"
งานสายนี้ของนายทหารฝ่ายเสนาธิการนับว่าเป็นงาน "พระเอก" ของหน่วยในระดับต่างๆ ดูตัวอย่างได้เลยครับว่า บิ๊กๆทั้งหลายในกองทัพบกทั้งอดีตและปัจจุบันล้วนเติบโตมาจากสายงานด้านยุทธการทั้งสิ้น ตั้งแต่เจ้ากรมยุทธการ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ ฯลฯ ไล่เรียงไป
เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ในขณะที่ฝ่ายเสนาธิการสายอื่นๆ จะมุ่งสนใจเฉพาะแต่งานในความรับผิดชอบของตนเป็นเฉพาะเรื่องๆไปนั้น ฝ่ายยุทธการจะต้องสนใจทุกเรื่อง เพราะเป็นคนเอางานของทุกสายมาผสมผสานกันแล้วทำออกมาเป็นหนทางปฏิบัติเพื่อเสนอแก่ผู้บังคับบัญชา ในขณะที่ฝ่ายเสนาธิการอื่นๆ ไม่มีสิทธิทำอย่างนี้
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อหน่วยได้รับภารกิจจะเข้าไปตีกะข้าศึกที่ไหนซักทีหนึ่ง ฝ่ายกำลังพลก็จะสนใจว่าเข้าตีครั้งนี้ตามสถิตินี่มันจะเจ็บจะตายซักเท่าไหร่ จะได้หาคนเตรียมทดแทนได้พอ รวมทั้งจะได้เตรียมโรงพยาบาล เตรียมโลงศพ ฯลฯ ไว้ให้พร้อมแล้วก็บอกให้สายยุทธการรับทราบ ยุทธการก็พยักหน้าแล้วก็เก็บข้อมูลไว้
สายสองก็จะบอกว่าข้าศึกอยู่ตรงไหน มีกำลังซักเท่าไหร่ พรุ่งนี้น้ำขึ้นกี่โมงลงกี่โมง เดือนมืดหรือเดือนหงาย พระจันทร์ขึ้นกี่ทุ่มมืดดีมั้ย มันจะได้ไม่เห็นเรา เราก็ไม่เห็นมัน ไม่ต้องยิงกันปลอดภัยทั้งสองฝ่าย ฯลฯ สายงานยุทธการหรือสายสามก็พยักหน้าบันทึกไว้เป็นข้อมูล
สายอื่นๆ ที่ผมยังไม่ได้กล่าวถึงก็จะให้ข้อมูลข่าวสารแก่สายสามทำนองนี้ในขอบเขตความรับผิดชอบของตน สายสามก้พยักหน้าแล้วเก็บเป็นข้อมูลไว้
พอข้อมูลเข้ามามากๆ สายยุทธการก็จะเอามารวมกันแล้ว หาหนทางออกเพื่อเสนอนาย เช่น ในการเข้าตีครั้งนี้มีหนทางปฏิบัติอยู่สองหนทางครับ คือ เข้าตีมันดื้อๆ ตอนเที่ยงวันเพราะหยั่งงี้ ส่วนอีกหนทางหนึ่งคือ เข้าตีกลางคืนเพราะหยั่งงี้ๆ ผม (หัวหน้ายุทธการ) เห็นว่าหนทางปฏิบัติที่ดีที่สุด คือ เข้าตีกลางวันครับ ฯลฯ ผู้บังคับบัญชาฟังไปพยักหน้ามั่งส่ายหัวแก้ง่วงมั่งตามเรื่องตามราว พอฟังสายสามพูดจบ ผู้บังคับบัญชาก็จะตกลงว่าจะเอาแบบไหน แบบไหน อาจจะเห็นด้วยกับข้อเสนอของนายทหารยุทธการก็ได้เพราะไอ้นี่มันสอบได้ที่หนึ่งมาจากโรงเรียนเสธฯ ส่วนตัวนายนั้นเกือบตก หรืออาจไม่เห็นด้วยโดยเปลี่ยนไปเข้าตีตอนกลางคืนดีกว่า เพราะต่างคนทั้งข้าศึกและเราต่างก็มองไม่เห็นกัน
หรือว่า นายจะล้มกระดานไม่เอาด้วยกับข้อเสนอของสายสามโดยกำหนดหนทางปฏิบัติขึ้นใหม่ก็ย่อมได้ เช่น กลางวันก้ไม่เข้าตีกลางคืนก้ไม่เข้าตี ยกทัพกลับดีกว่าว่ะ เลิกเล่น... อย่างนี้ก็ย่อมได้ เพราะ "ผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดชอบ" ทุกอย่างอยู่แล้ว
จึงเห็นได้ว่า นายทหารยุทธการนั้นต้องคิดเหมือนกับเป็นผู้บังคับบัญชานั่นเอง จึงต้องเก่งกาจหน่อย และที่ผ่านมานายทหารฝ่ายเสนาธิการที่เคยทำงานด้วยยุทธการมาแล้วจะไม่ประสบปัญหาเลยกับการเป็นผู้บังคับบัญชาเสียเอง ในภายหลังเพราะถึงแม้จะเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการมาตลอด แต่ธรรมชาติของสายงานยุทธการนี้ก็คือ ธรรมชาติของการเป็นผู้บังคับบัญชานั่นเอง
สายยุทธการเป็นผู้ "ผสมผสานอำนาจกำลังรบทั้งสิ้นเข้าด้วยกัน"
ต่อไปก็เจ้าของงาน "กองทัพเดินได้ด้วยท้อง" คือ งานสายส่งกำลังบำรุงหรือสายสี่ ... ก็ว่าด้วยข้าวปลาอาหาร น้ำมัน รถราช้างม้า เสื้อผ้า ฯลฯ ที่จะทำให้เหล่าทหารหาญมีเรี่ยวแรงไปรบกับข้าศึกนั่นเอง งานสายส่งกำลังบำรุงเป็นงานที่จุกจิกจู้จี้และถูกทหารนินทาว่าร้ายมากที่สุด เอาง่ายๆว่า แกงส้มให้ทหารทั้งกองพันเกือบฟ้าร้อยคนกิน บางคนมันยังแอบนินทาลับหลังว่า ใส่แต่วิญญาณกุ้งมั่งล่ะ อย่างโน้นมั่งล่ะ อย่างนี้มั่งล่ะ โธ่คุณ ...คนเป็นร้อยจะให้ถูกใจมันไปเสียทุกคนได้ยังไง สำหรับพวกฝ่ายเสนาธิการที่ทำงานสายสี่หรือสายส่งกำลังบำรุงนี้ มักมีลักษณะที่เวทนาเป็นอย่างยิ่ง เนื่องมาจากปัญหาด้านสุขภาพที่เกิดจากการท้องขึ้นมั่ง สะอึกบ่อยมั่ง สำลักน้ำมั่ง อันเป็นผลที่เกิดจากการถูกนินทาว่าร้ายลับหลังของเหล่าทหารหาญนั่นเอง หน่วยเล็กก็ไม่บ่อยครั้งนัก หน่วยใหญ่หน่อยก็บ่อยหน่อย นับว่าเป็นเวรกรรมอย่างที่สุดที่มารับผิดชอบงานสายนี้
งานสายต่อไปเป็นงานที่พวกผมถูกวิจารณ์มากที่สุด หาว่าเป็นรัฐบาลเงามั่งล่ะ , ปลุกผีคอมฯ มั่งละ , หรืออย่างเมื่อ ๒๖ ปี หม่อมป้าท่านประกาศโผงผางว่า "กูไม่กลัวมึงหรอก" (นะยะ) ก็สายงานนี้แหละครับ
งานเวรงานกรรมสายนี้เรียกว่า "สายงานกิจการพลเรือน" หรือ สายห้า
งานนี้เราดัดแปลงมาจากไอ้กันเพื่อนเราที่ชอบใช้เวลาว่างไปรบทัพจับศึกในบ้านเมืองอื่นอย่างตอนสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อชนะญี่ปุ่นได้ งานสายห้าก็ออกมาในรูปของการจัดตั้งรัฐบาลทหารของกองทัพสหรัฐฯ เข้าปกครองญี่ปุ่นชั่วคราว ดังนั้น งานด้านกิจการพลเรือนของสหรัฐก็จึงออกมาในรูปของรัฐบาลทหารที่ต้องปกครองบ้านเมือง(อื่น) ชั่วคราวเมื่อยึดครองได้หลังชัยชนะ
ตอนแรกเราก็รับความคิดเรื่องนี้มาใช้ในบ้านเมืองเรา โดยเฉพาะเมื่อมีปัญหารบกับคอมฯ แล้วไปเห็นแนวคิดและการปฏิบัติของไอ้กันในเวียดนามเข้า เราจึงนำมาทำมั่งในบ้านเราเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เพื่อเอาไว้สู้กะคอมฯ อีตอนแรกๆ ก็ประดักประเดิดหน่อย เพราะของมันยังใหม่ หน้าที่หลักของงานสายนี้จึงค่อนข้างไม่ชนะใจคนดูมากนัก เพราะหนักไปทางด่าคอมฯ และชมตัวเองเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหลายอย่างมันไม่ตรงกับความคิดของมิตรรักและแฟนเพลงทั่วไป
จนกระทั่งมีคำสั่ง ๖๖/๒๓ นั้นแหละครับ งานด้านกิจการพลเรือนจึงเป็นรูปเป็นร่าง และสามารถเอาชนะใจคนดูได้อย่างที่เห็นกันอยู่ในระยะหลังจากปี พ.ศ.๒๕๒๓ เป็นต้นมา
งานด้านกิจการพลเรือนเป็นงานที่ไม่ใช่งานของทหาร...อ้าว... เป็นอย่างนี้จริงๆ นะครับจะบอกให้ เพราะงานสายนี้ รับผิดชอบทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการทางทหาร ตานี้เชื่อหรือยังเล่า
เรื่องมันก็มาจากการรบกะคอมฯ อีกนั่นแหละครับจะมีอะไรซะอีกเล่า คือ อีตอนรบกะคอมฯ ใหม่ๆ เรายังไม่ค่อยจะประสีประสาอะไรนัก นึกว่ายิงตายมากๆก็คงหมดไปเอง แต่ที่ไหนได้ยิ่งยิงยิ่งมาก มาตอนหลังถึงรู้ว่าไอ้เรื่องยิงกันน่ะมันเรื่องปลายเหตุ สาเหตุหลักมันเกิดมาจากความไม่เป็นธรรมทางการเมือง การปกครอง ทางเศรษฐกิจ และทางสังคม ตาหากครับ .... อย่างที่ว่าไว้ในคำสั่ง ๖๖/๒๓ นั่นแหละ งานด้านกิจการพลเรือนเราก็จึงมุ่งไปช่วยหน่วยงานหลักของรัฐบาลในการแก้ปัญหาด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอันเป็นเงื่อนไขหลักของการรบกันกะคอมฯ ดังนั้น เมื่อเอาชนะคอมฯ ได้อย่างเด็ดขาด คือ เมื่อการเมือง เศรษฐกิจและสังคม เป็นธรรมแล้ว งานกิจการพลเรือนของทหารก็คงจะหมดไป เอาไวัตั้งอีกทีเวลาเราเกิดรบกับอเมริกาแล้วเราชนะต้องตั้งรัฐบาลปกครองโน่น
งานตอนนี้ของสายกิจการทางพลเรือนจึงทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่เรากำลังช่วยกันแก้ปัญหาทางการเมือง และเศรษฐกิจและสังคมอย่างรีบเร่งเช่นนี้
งานสายหกคือ สายปลัดบัญชี ผมไม่กล่าวถึง ไม่ใช่ว่าไม่สำคัญนะครับเพ่เพ่ใน ปช.ทบ. แต่ว่ามันไม่มีทุกระดับ แล้วพี่ๆก็ปิดทองหลังพระอยู่แล้ว ปิดต่อไปเถอะครับ ชาวบ้านไม่เห็นผู้บังคับบัญชาก็เห็นเองนั้นแหละ
ดังนั้น สรุปแล้วงานหลักๆที่เป็นสากลของทหารก็จึงมีอยู่ห้าสายด้วยกันดังที่ได่วิสัชนามานั่นแล
คนเราโดยทั่วไปมักอยากรู้อนาคตของตน ดังนั้น อาชีพโหรานุโหระจึงอยู่ยั้งยืนยงคู่โลกมาช้านาน ตั้งแต่ก่อนสมัยพระเจ้าพิมพิสารโน่นแนะ นี่เป็นสัญชาติญาณดั้งเดิมของมนุษย์
ทหารก็เป็นมนุษย์ ดังนั้นพวกเราก็จึงอยากจะรู้เรื่องอนาคตของพวกเราเหมือนกัน โดยเฉพาะในช่วงเดือนตุลาคม ที่มีการโยกย้ายประจำปี ครับก็อยากจะรู้ว่านายเค้าจะให้ตำแหน่งมั้ย หรือเค้าจะเด้งเราไปไหน ฯลฯ จะได้เตรียมวิ่ง เอ๊ย เตรียมวางตัวได้ถูก
ดังนั้น พอถึงช่วงเวลาอย่างนี้สายหนึ่งหรือสายงานด้านกำลังพลก็จะกลายเป็นพระเอกขึ้นมาทันที คนโน้นก็มาหา คนนี้ก็มาหา คนโน้นก็ฝากตัว คนนี้ก็ฝากตัว ทั้งๆที่คนที่จะสั่งย้าย ชาวบ้านเค้าได้นั้นไม่ใช่นายทหารกำลังพลซักหน่อย เพราะก็เป็นเพียงฝ่ายเสนาธิการเท่านั้น คนที่ย้ายได้ โน่น นั่งหนวดกระดิกอยู่โน่น คือ "นาย" นายแต่ผู้เดียวเท่านั้น
นานมาแล้ว ผมเคยรับราชการอยู่หน่วยๆหนึ่ง พอถึงสิ้นปีก็เป็นอย่างว่านี่แหละครับ นายทหารกำลังพลท่านนั้นบังเอิญลืมหลักวิชาการของฝ่ายอำนวยการ เลยเผลอตัวไปนึกว่าตัวเองเป็นคนเซ็นคำสั่งย้ายคนโน้นไปโน่น เอาคนนี้มานี่ซะเอง ผลสะท้อนก็คือ บรรดานายทหารว่าที่แน่ๆ ไม่ว่าจะเป็นสายยุทธการ ที่คิดแทนนาย ไม่ว่าจะเป็นสายข่าวซึ่งรู้ทุกข่าวทั้งข้าศึกและฝ่ายเรา หรือไม่ว่า เจ้าของข้าวปลาอาหารสายส่งกำลังบำรุงต่างก็ยอมลดความยิ่งใหญ่ของตัวเองลงชั่วคราว หันมาซูฮกหัวหน้ากำลังพลเป็นสามารถ รำๆว่าแสงฉัพพรรณรังสี จะฉายออกมาจากศีรษะของท่านอภิมหานายทหารกำลังพลอยู่แล้วเชียว คำสั่งย้ายประจำปีก็ออกมาซะก่อน
ผลน่ะหรือครับ
หัวหน้ากองกำลังพลท่านถูกย้ายไปโน่น ...หน่วยสุดชายแดนโน่น
ครับ .... "ผู้บังคับบัญชาย่อมรับผิดชอบ...." อย่าลืมเป็นอันขาด
ที่มา ต่วยตูน เดือนกรกฎาคม ๒๕๓๐
ปีที่ ๑๖ เล่มที่ ๑๑
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น