++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เกร็ดควรรู้เมื่อไปตรวจสุขภาพ

เมื่อจะไปตรวจสุขภาพประจำปี
เราควรเตรียมตัวและปฏิบัติตัวให้ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งจะมีผลต่อการตรวจ
โดยมีข้อปฏิบัติต่างๆ ดังนี้

- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรอดนอนก่อนวันตรวจสุขภาพ

- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มกาเฟอีนโดยเฉพาะในวันก่อนตรวจ

- งดอาหารและน้ำ 8-12 ชั่วโมงก่อนเจาะเลือด
หากต้องการตรวจเฉพาะระดับน้ำตาลในเลือด ควรงดอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
แต่หากต้องการตรวจระดับไขมันในเลือดด้วย อาจต้องงดถึง 12 ชั่วโมง

- การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
บางกรณีแพทย์จะระบุว่าไม่จำเป็นต้องงดอาหาร

- ควรไปถึงโรงพยาบาลในช่วงเช้า เพื่อไม่ให้ร่างกายอิดโรยเกินไป
เพราะงดน้ำและอาหารมาหลายชั่วโมงแล้ว

- สวมเสื้อผ้าที่สะดวกต่อการเจาะเลือดที่ข้อพับแขน

- หากต้องตรวจภายในควรสวมกระโปรง และควรตรวจก่อนหรือหลังมีประจำเดือน 7 วัน

- หากทดสอบสมรรถภาพของหัวใจด้วยการวิ่งบนสายพาน (Exercise Stress
Test) ควรสวมเสื้อผ้าและรองเท้าที่เคลื่อนไหวสะดวก

- นั่งพักให้หายเหนื่อยก่อนตรวจวัดความดันโลหิต

- เมื่อ เจาะเลือดแล้ว ควรใช้นิ้วมือกดเบาๆ
ลงบนพลาสเตอร์ที่ปิดไว้ตรงตำแหน่งที่เจาะ ประมาณ 5 นาที
จนกว่าเลือดจะหยุดไหล ไม่จำเป็นต้องพับแขน
และไม่ควรนวดคลึงบริเวณที่เจาะเลือด เพราะอาจทำให้เป็นรอยช้ำได้

- ผู้ที่มีประวัติเขียวช้ำง่าย หรือเจาะเลือดแล้วเกิดรอยช้ำเสมอ
รวมถึงผู้ที่เป็นโรคเลือดหรือโรคที่ทำให้เลือดแข็งตัวได้ไม่ดี
เมื่อเจาะเลือดแล้วให้กดนิ่งๆ ไว้นานกว่าปกติเล็กน้อย
เพื่อให้แน่ใจว่าเลือดหยุดแล้วจึงไปทำกิจกรรมอื่น

- ทำความสะอาดบริเวณภายนอกอวัยวะขับถ่ายด้วยน้ำสะอาดก่อนเก็บปัสสาวะ

- การใช้ทิชชูเช็ดทำความสะอาด อาจทำให้ปนเปื้อนเชื้อโรคจากทิชชูได้

- เก็บปัสสาวะช่วงกลาง คือปล่อยปัสสาวะช่วงต้นทิ้งไปเล็กน้อย
และทิ้งปัสสาวะช่วงสุดท้ายไป

- กรณีที่ต้องการถ่ายอุจจาระ หรือต้องเก็บอุจจาระด้วย
ควรเก็บปัสสาวะก่อน เพื่อป้องกันการปนเปื้อน

- หากมีประจำเดือนควรเลื่อนการตรวจร่างกายไปก่อนจนกว่าจะหมด
การตรวจปัสสาวะขณะมีประจำเดือน จะมีเม็ดเลือดแดงปน ซึ่งมีผลต่อการอ่านค่า

- กรณี เก็บอุจจาระ
ควรถ่ายลงบนโถที่แห้งก่อนใช้ไม้หรือช้อนพลาสติกป้ายตัวอย่างอุจจาระขนาด
ประมาณหัวแม่มือใส่ลงในภาชนะที่เตรียมไว้
หากถ่ายลงน้ำอาจทำให้อุจจาระถูกเจือจางด้วยน้ำ ซึ่งมีผลต่อการตรวจ

- หากสังเกตเห็นอุจจาระที่ผิดปกติ เช่นมีมูกสีขาว
หรือมีสีแดงหรือดำคล้ายเลือด ควรป้ายบริเวณนั้นมาตรวจด้วย

- ตรวจสอบชื่อ นามสกุล บนภาชนะที่เก็บเลือด ปัสสาวะ
และอุจจาระให้ดีว่าถูกต้องแล้ว

- หากสงสัยว่าตั้งครรภ์ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนตรวจร่างกาย
หากตั้งครรภ์ไม่ควรเอกซเรย์

- ถอดเสื้อ เสื้อชั้นใน และเครื่องประดับที่เป็นโลหะก่อนเอกซเรย์

- บางโรงพยาบาลได้ยกเลิกการเก็บฟิล์มเอกซเรย์
โดยแพทย์สามารถเรียกดูภาพจากห้องตรวจผ่านระบบคอมพิวเตอร์
หากต้องการฟิล์มเอกซเรย์กลับบ้าน อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

- การตรวจเอกซเรย์เต้านม (Mammogram)
ควรตรวจก่อนหรือหลังมีประจำเดือน 7 วัน งดทาแป้ง โลชั่น ครีม และโรลออน
บริเวณเต้านมและรักแร้ในวันตรวจ และควรงดอาหารไขมันสูงก่อนตรวจ 3 วัน

- การตรวจมะเร็งปากมดลูก ห้ามสอดยา เหน็บยา
หรือสวนล้างภายในช่องคลอด และงดมีเพศสัมพันธ์ก่อนวันตรวจ

- ก่อนตรวจลำไส้ใหญ่ 2 วัน ควรรับประทานอาหารอ่อนและมีกากน้อย
เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ไข่ ปลา น้ำเต้าหู้ และควรงดผัก ผลไม้
และต้องรับประทานยาระบายหลังอาหารเย็นหรือก่อนนอนเป็นเวลา 2 วัน

- การตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนบน ควรงดน้ำและอาหารก่อนทำ 6
ชั่วโมง หากกระหายน้ำ ให้จิบน้ำได้เล็กน้อย

- การตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนล่างหรือมดลูก ควรดื่มน้ำมากๆ
และอย่าเพิ่งปัสสาวะก่อนตรวจ

- การตรวจบางอย่างอาจต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะทราบผล เช่น
ตรวจโรคธาลัสซีเมีย ตรวจมะเร็งปากมดลูก

- หากผลการตรวจไม่ปกติและต้องมีการตรวจรักษาเพิ่มเติมไปจากโปรแกรมการตรวจสุขภาพ
ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

- นอก จากการตรวจสุขภาพทั่วไปประจำปีแล้ว
ยังมีการตรวจพิเศษก่อนแต่งงาน เพื่อตรวจหาโรคเลือดทางพันธุกรรม เช่น
โรคธาลัสซีเมีย ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส
ตับอักเสบจากไวรัสบี และเอชไอวี
และตรวจว่ามีภูมิต้านทานต่อหัดเยอรมันหรือไม่ หากยังไม่มี
ควรฉีดวัคซีนป้องกัน เนื่องจากหากติดโรคระหว่างตั้งครรภ์
อาจจะทำให้ทารกพิการได้

- สำหรับผู้ที่ต้องการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
แต่ไม่ทราบประวัติการติดเชื้อหรือการได้รับวัคซีนที่ชัดเจน
อาจจะตรวจหาเชื้อและ/หรือภูมิต้านทานต่อโรคตามความเหมาะสม
ส่วนผู้ที่จะไปศึกษาต่อหรือทำงานต่างประเทศ
อาจต้องฉีดวัคซีนหรือตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อโรคบางโรค

โดย เอมอร คชเสนี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น