ราว 100 ปี ที่ผ่านมา บรรพบุรุษของคนโพนทองในปัจจุบัน ได้ก่อสร้างบ้านเรือนอยู่บนเนินที่มีชื่อว่า "เนินราษฎร" ทำอาชีพหล่อทองขาย ต่อเมื่อมีคนเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงเปลียนชื่อเสียใหม่ว่า "โพนทอง" แล้วแยกตัวออกจากตำบลกุดตุ้มก่อตั้งเป็นตำบลโพนทอง เพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการ
ความเจริญเติบโตของเมือง เป็นสิ่งที่หลักเลี่ยงไม่ได้ กระแสสังคมในปัจจุบันที่มีการรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา ผู้คนโพนทองบางส่วนจึงดิ้นรนเสาะแสวงหางานทำยังแหล่งต่างๆ ตามความฝันและปรารถนา ด้วยมุ่งหวังว่า เงินตราจะเติมเต็มความสมบูรณ์พูนสุขให้แก่ชีวิต กลายเป็นปัญหาทอดทิ้งผู้เฒ่าผู้แก่เอาไว้เบื้องหลัง
ปัญหาเหล่านี้ เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องการวิถีทางในการแก้ไขอย่างตรงจุด
จากการสำรวจพบว่า กลุ่มผู้สูงอายุใน ต.โพนทอง มีชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว มากกว่า 1,217 คน ทั้งที่เป็ส่วนสำคัญในการพัฒนาชุมชนได้เป็นอย่างดี แต่ความรู้และภูมิปัญญาเหล่านั้นถูกปล่อยให้เสื่อมไป ตามวันวัยของท่านเหล่านั้น หลายคนต้องประสบกับโรคภัย เช่น โรคปวดเมื่อย โรคข้อเสื่อมและอักเสบ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคที่เกี่ยวข้องกับดวงตา
ผู้สูงอายุจะมีอาการตาพร่ามัว ระคายเคือง น้ำตาไหลตลอดเวลา เพราะสายตาได้เริ่มเสื่อมสภาพลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ยืดหดเลนส์ลูกตา อ่อนกำลังทำให้ลำบากในการเพ่งดูสิ่งของโดยเฉพาะวัตถุเล็กๆ ทั้งนี้ โรคตาที่ผู้สูงอายุเป็นกันมาก คือ โรคจอประสาทตาเสื่อม และโรคต้อกระจก
ปัญหาใหญ่อีกประการสำคัญที่ลดทอนศักยภาพของผู้สูงอายุ คือ ความรู้สึกว่าด้อยในคุณค่าเป็นภาระให้ลูกหลาน
โครงการกองทุนหลักประกันสุขภาพของ อบต.โพนทอง จึงเริ่มทำการสำรวจเพื่อหาทางเยียวยาสภาพปัญหาดังกล่าว พบว่า อุปสรรคสำคัญ คือ ผู้สูงอายุขาดความรู้ในการดูแลสุขภาพทั้งในแง่การป้องกันส่งเสริมและไร้ผู้ดูแล เนื่องจากบุตร-หลาน ออกไปหางานทำในเมือง ต้องดูแลตัวเองด้วยการไปรักษาเบื้องต้นที่โรงพยาบาลชัยภูมิ ตัดแว่นสายตาราคาแพงตามคลินิคหรือซื้อแว่นสายตาตามร้านขายแว่นในตัวเมืองอย่างไม่มีความรู้ ความเข้าใจ
"รู้สึกถูกใจแว่น สวยกว่าของเดิมที่มีอยู่ ทำไมถึงตัดแว่นได้ราคาถูก (100 บาท) " นางทองผัด เติมผล ผู้ใหญ่บ้านโพนทองกล่าว
จากผลการสำรวจดังกล่าว โครงการส่งเสริมสุขภาพดวงตาผู้สูงอายุ จึงเกิดขึ้นในแผนงานกองทุนฯ โดยเน้นงานช่วยเหลือ ดูแล บริการสุขภาพอนามัยทางตาในกลุ่มผู้สูงอายุอย่างครอบคลุมทั่วถึง เน้นการเสริมสร้างป้องกันสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดวงตา ที่สำคัญกว่านั้น คือ พื้นความรู้เรื่องการรักษาสุขภาพที่ผู้สูงอายุได้รับ ช่วยสร้างกำลังใจไม่ให้รู้สึกโดดเดี่ยว และใช้ประสบการณ์ของตนเข้ามามีส่วนในการพัฒนาชุมชนร่วมกัน
โครงการดำเนินงานจึงเริ่มต้นที่การจัดประชุมผู้สูงอายุที่มีปัญหาทางสายตา เพื่อทำการอบรมให้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ จากการคัดกรองเบื้องต้น โดยเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยที่ผ่านการอบรมมาเป็นอย่างดี เพื่อจัดการตัดแว่น ทั้งในกรณีแว่นสายตาสั้นและสายตายาวผ่านการประสานงานจากเจ้าของร้านแว่นสายตาในเมืองที่เข้ามาตัดแว่นให้ในราคาพิเศษ หรือรักษาอาการ ต้อกระจก ต้อหิน ต้อเนื้อ ทั้งหมดเป็นแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ มีการอบรมเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการป้องกันและรักษาอาการทางสายตาให้แก่ผู้สูงอายุ อีกด้วย
มีผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพตาเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 1,100 คน ใน 12 หมู่บ้าน และใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น 32,000 บาท
ปัจจัยของความสำเร็จของโครงการนี้ คือ
- ความร่วมแรงร่วมใจกันของคณะกรรมการกองทุนฯ และตัวแทนภาคประชาสังคมจากกลุ่มเครือข่ายต่างๆ
- การบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ ฉับไว เป็นขั้นเป็นตอนและมีการประสานงานเพื่อขอความร่วมมือจากส่วนต่างในทุกระดับ เช่น ร้านตัดแว่น หรือ ผู้เชียวชาญด้านสายตา
- ทั้งหมดนี้ เป็นผลพวงอันเกิดจากแนวคิดของผู้นำ คือ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพนทอง ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดหางบประมาณ ประสานงานและให้ความสำคัญแก่คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ
" แรกๆ ใส่แว่นมีปัญหา ไม่เข้าใจว่าใช้อ่านหนังสือหรือมองวัตถุที่อยู่ใกล้ เมื่อได้รับคำแนะนำให้ใช้อย่างถูกต้องก็ไม่พบปัญหา " นางบุปผา ลีวงศ์คด
"แว่นมีอายุการใช้งาน ถ้าตัดใหม่ต้องเสียเงินอีกหลายบาท " นางกอแลง เพียงชัยภูมิ
"แว่นสวย ถูกใจ แบบไม่เหมือนกัน ถึงไม่ได้เลือกแบบ แต่ถูกใจ" นางละม่อม คุ้มไข่น้ำ
"คุณหมอให้คำแนะนำดี " นางประทุมทอง ฝาชัยภูมิ
เสียงเหล่านี้มิใช่หรือที่มีพลังมากพอที่จะช่วยยืนยันว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพฯ เกิดขึ้นแล้วจริงๆ และสร้างความสุขใจจริงๆ ให้กับคนโพนทองแห่งนี้
ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
อภิรดี สุขแสงดาว
จุฑาทิพย์ ศิรินภาดล
ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น