เรียบเรียงโดย ฑีฆายุวัฒก์ สวัสดิ์ลออ
ตำบลม่วงหมู่อยู่ห่างจากอำเภอเมืองสิงห์บุรีประมาณ 5 กิโลเมตร ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมมีลำน้ำไหลผ่านหมู่บ้านซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแมน้ำลพบุรี อีกทั้งสองฝั่งของลำน้ำมีต้นมะม่วงขึ้นหนาแน่น แสดงถึงธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของชุมชนนี้ในอดีต จึงมีชื่อว่า "ม่วงหมู่"
การมีสุขภาพดีทั้งกายและใจเป็นปัจจัยชี้วัดสำคัญต้อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี การมีกองทุนหลักประกันสุขภาพฯของตำบลม่วงหมู่ เริ่มจากแนวคิดนี้ และมีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นให้ผู้ที่มีสุขภาพดี ได้รับการส่งเสริมสุขภาพให้มีสุขภาพดีอย่างต่อเนื่อง คนเจ็บไข้ได้รับการดูแลที่ได้มาตรฐาน ผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ สะดวก รวดเร็ว ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของการดำรงชีวิตของมนุษย์ สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพใกล้บ้านใกล้ใจ
ตำบลม่วงหมู่ภายใต้การนำของผู้นำหญิงแห่ง อบต.ม่วงหมู่ ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพของคนในชุมชนให้มีสุขภาพดีอย่างต่อเนื่อง นายกหญิง นัยนา ศรีเร ได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้ว่า " ต่อให้ชุมชนของเรามีถนนหลายสาย การคมนาคมสะดวกมากเท่าไร ..หากคนในชุมชนเจ็บป่วย สุขภาพไม่ดี ไม่สามารถออกมาเดิน หรือใช้ถนนหนทางเหล่านั้นทำมาหากินได้ จะเกิดประโยชน์อันใดเท่ากับการยอมที่จะลดถนนในหมู่บ้านบางสายเพื่อนำงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด มาสร้างสุขภาพคนในชุมชนให้แข็งแรง และร่วมกันพัฒนาชุมชนได้"
กองทุนหลักประกันสุขภาพของตำบลม่วงหมู่ จึงเป็นอีกแรงหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดีในชุมชน ซึ่ง โครงการแรกที่เป็นการนำร่อง คือ "โครงการชมรมขี่จักรยานเพื่อสุขภาพ" ที่เกิดต่อเนื่องจากกระแสของงานรวมพลคนรักสุขภาพ ที่กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ส่งเสริมให้ประชาชนออกกำลังกายด้วยการเต้นแอโรบิค แต่การเต้นแอโรบิคมีข้อจำกัดและไม่สอดคล้องกับบริบทของคนในชุมชนนี้ คือ ต้องใช้อุปกรณ์เครื่องเสียง ซึ่งในบางครั้งเป็นการรบกวนเพื่อนบ้าน อีกทั้งไม่เหมาะกับการออกกำลังกายในครอบครัว
ด้วยเหตุนี้ นางปุ่น บุษบงค์ ผู้ใหญ่บ้านจึงคิดหาวิธีการออกกำลังกาย ที่เหมาะสมกับตนเองและคนในชุมชน โดยทดลองขี่จักรยานและพบว่าการออกกำลังกายด้วยวิธีนี้ช่วยเสริมสร้างสุขภาพได้จริงและเหมาะสมกับบริบทของท้องถิ่น คือ บริเวณพื้นที่ในตำบลมีถนนลาดยางล้อมรอบหมู่บ้าน ลัดเลาะไปตามริมแม่น้ำ และมีระยะทางยาวพอที่จะขี่จักรยานเพื่อการออกกำลังกายได้ จึงเริ่มเผยแพร่การออกกำลังกายด้วยการขี่จักรยานแก่คนในชุมชน โดยเริ่มจากวัยเด็กก่อน แล้วมีผู้สนใจเข้าร่วมขบวนในการปั่นจักรยานเพิ่มขึ้น
เมื่อผู้ใหญ่บ้านเสนอโครงการขี่จักรยานเพื่อสุขภาพ แล้วได้รับการอนุมัติพร้อมกับงบประมาณเพื่อการกู้ยืม ซึ่งงบประมาณนี้จะนำไปให้สมาชิกของโครงการกู้ยืมต่อเพื่อนำ/ไปซื้อจักรยาน เสียงหนึ่งจากคณะกรรมการผู้รับผิดชอบโครงการนี้กล่าวว่า
"เรามองว่าประชาชนได้ประโยชน์มากจากการออกกำลังกายด้วยการขี่จักรยาน ผู้นำชุมชน ผู้สูงอายุ เด็กวัยรุ่นในชุมชนตอนนี้หันมาสนใจขี่จักรยานกันมาก เวลาขี่ผ่านบ้านไหนระยะแรก เขาก็จะมองดู ...สมาชิกที่ขี่จักรยานก็จะชักชวนให้ออกมาขี่ด้วยกัน ซักสองสามวันเขาก็เอาจักรยานมาขี่ จะรอกันเป็นจุดๆ ตอนนี้สภาพที่เจอก็คือ บางบ้านอยากขี่แต่ไม่มีจักรยาน บางบ้านมีรถคันเดียวต้องผลัดกันขี่คนละวัน ก็เลยรวมตัวกันจัดตั้งชมรมขี่จักรยานเพื่อสุขภาพฯ ทำประชาคมกันในหมู่บ้านและขอกู้เงินจากกองทุนฯ พอดีผู้ใหญ่บ้านเป็นเหรัญญิกของกองทุนฯ ด้วย เลยทราบข้อมูล จากนั้นท่านนายกก็ให้การสนับสนุนฯ และคาดว่าจะมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น ... แต่เงินกองทุนไม่เคยสูญหายนะ .. สมาชิกที่ขอกู้ไปซื้อจักรยานทุกเย็นก็จะหยอดกระป๋องวันละ 10 บาท เพื่อนำคืนกองทุนฯ "
จากการดำเนินโครงการ ผู้กู้ยืมเงินชำระเงินคืนทั้งหมดแล้ว และมีสมาชิกเพิ่มขึ้นโดยที่สมาชิกที่เพิ่มเข้ามามีจักรยานเป็นของตนเอง ได้ลงชื่อเข้าร่วมชมรมและร่วมกิจกรรมกับชมรม เช่น ขี่จักรยานร่วมกันในเวลา 17.00- 18.00 น. โดยเริ่มต้นที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน ผ่านบ้านใครก็เรียกสมทบรวมระยะทาง 20 กิโลเมตร นอกจากชาวตำบลม่วงหมู่แล้ว ยังมีผู้เข้าร่วมขี่จักรยานจากพื้นที่อื่นด้วย รวมทั้งนายอำเภอเมืองสิงห์บุรี ซึ่งท่านบอกว่า การสร้างสุขภาพของคนในชุมชนยังสามารถใช้ประโยชน์ในด้านอื่นได้ด้วย ทั้งการรณรงค์ด้านสุขภาพ รวมไปถึงการเลือกตั้งและการประชาสัมพันธ์ต่างๆ ซึ่งทางชมรมได้เคยช่วยรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลาย รณรงค์เลือกตั้ง รณรงค์ละเลิกยาเสพติด โดยการติดป้ายรณรงค์กับรถจักรยานแล้วขี่รวมกันเป็นกลุ่มเพื่อทำการประชาสัมพันธ์
นอกจากสุขภาพของคนในชุมชนและประโยชน์ในด้านการประชาสัมพันธ์แล้ว การขี่จักรยานร่วมกัน ยังเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิกในชมรม ซึ่งมีหน้าที่เป็นอาสาสมัครสาธารณสุข กรรมการศูนย์สงเคราะห์ประจำหมู่บ้าน หรือ กรรมการพลังแผ่นดิน
จากการดำเนินโครงการ "ชมรมขี่จักรยานเพื่อสุขภาพ" ทำให้คณะกรรมการกองทุนฯ ได้เรียนรู้ว่า
1) วิธีการสร้างสุขภาพที่สอดคล้องกับบริบทและความสนใจของคนในชุมชนโดยชุมชนเอง นำมาซึ่งความสำเร็จและความต่อเนื่องของการดำเนินงาน
2) การให้ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง คือ การเปิดโอกาสให้คนในชุมชนเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับชุมชนของตน โดยให้โอกาสคนในชุมชนได้ทดลองทำในสิ่งที่สนใจ ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง และการมีส่วนร่วมของชุมชนนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
ข้อจำกัดในการทำงานของปีที่ผ่านมา คือ การประสานความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่ง นายก อบต. ประธานกองทุนฯ เล่าว่า " การดำเนินการในรอบปีที่ผ่านมา เพิ่งเป็นปีแรก... ก็มีความไม่สะดวกอยู่หลายเรื่อง ทั้งเรื่องการบริหารจัดการ การประสานงาน เรื่องของข้อมูลคนในชุมชนซึ่งสำคัญมาก ..แต่เราถือว่าเป็นปีแรกที่เริ่มต้น ก็เริ่มต้นใหม่ได้ อบต.มีการจัดทำฐาานข้อมูลชุมชนขึ้นมาใหม่ให้ครอบคลุมทุกด้าน โครงการต่างๆที่ดำเนินการในปีที่ผ่านมา มีการประเมินผลและเก็บข้อมูลไว้สำหรับเป็นฐานการทำงานในปีต่อไป"
ส่วนข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการนี้ ประธานกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ได้ฝากไว้ว่า "อยากฝากหน่วยงานระดับสูงขึ้นไปให้ช่วยประสานชี้แจงนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับ มีความชัดเจนในการทำงานในพื้นที่ อยากให้มีการประสานกันเพื่อทำงานให้ชุมชนอย่างแท้จริง
ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
พรเจริญ บัวพุ่ม
ดวงใจ เกริกชัยวัน
วงเดือน เล็กสง่า
ปารวีร์ กุลรัตนาวิโรจน์
อุไรวรรณ บุญสาลีพิทักษ์
เพ็ญศรี รอดพรม
วพบ.ชัยนาท
ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น