++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

สมุทโฆษคำฉันท์ - วรรณคดีสมัยกรุงศรีอยุธยา

            ผู้แต่ง -  พระมหาราชครู สมเด็จพระนารายณ์ และสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส
            ทำนองแต่ง - แต่งด้วยกาพย์และฉันท์ ตอนจบเป็นโคลงสี่สุภาพ ๔ บท
            เรื่องย่อ - เริ่มต้นกล่าวสรรเสริญคุณพระพุทธเจ้า พระพรหม พระพิษณุ และพระเจ้าแผ่นดิน แล้วสรุปเรื่อง พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระสมุทโฆษ ได้ นางพินทุมดี เป็นชายา จนได้รับเวนราชสมบัติ พระสมุทโฆษทรงทราบจากนายพรานว่า มีช้างป่ามากมาย จึงตรัสลาพระบิดา มารดา และพระมเหสีประพาสป่า พระสมุทโฆษ ประทับแรมใต้ต้นโพธิ์ ก่อนบรรทมได้ตรัสสุดดีและขอพร เทพารักษ์ ครั้นบรรทมหลับ เทพารักษ์เมตตาอุ้มไปสม นางพินทุมดี จวนสว่างจึงพามาไว้ ณ ที่เดิม พอตื่นบรรทม ทรงคร่ำครวญหากัน พระสมุทโฆษ เสด็จกลับเมือง นางพินทุมดี ร่ำหาพระสวามี
            นางธารี พระพี่เลี้ยงต้องวาดรูปถวาย และอาสาจะไปพาพระสมุทโฆษมาให้ พอดีกับท้าวสีหนรคุปต์พระบิดานางพินทุมดี จะทำการสยุมพรนางพิมทุมดี
            ในการประลองศร พระสมุทโฆษ มีชัยได้อภิเษกกับนางพินทุมดี วันหนึ่งได้พบพิทยาธรจนหนึ่งถูกพิทยาธรอีกตนหนึ่งแย่งนางของตนไป และถูกทำร้ายอยู่ในสวน พระสมุทโฆษได้พยาบาลให้เป็นอย่างดี พิทยาธรจึงได้ถวายพระขรรค์วิเศษ พระสมุทโฆษพานางพินทุมดีไปเที่ยวป่าหิมพานต์และได้บรรทมหลับไปทั้งสองพระองค์ พิทยาธรตนหนึ่งเหาะมาพบเข้าจึงลักเอาพระขรรค์ไป พระสมุทโฆษพานางพินทุมดีกลับเมืองถึงแม่น้ำใหญ่ต้องเกาะขอนไม้งิ้วข้าม ขณะข้ามเกิดพายุใหญ่พัดขอนขาดทั้งสององค์จึงพลัดกัน นางพิมทุมดีขึ้นฝั่งได้แปลงเป็นพราหมณี และตั้งศาลาโรงทาน และเขียนภาพเรื่องของนางกับพระสมุทโฆษไว้ ส่วนพระสมุทโฆษลอยน้ำอยู่เจ็ดวัน นางมณีเมขลาจึงได้ช่วยเหลือ พระอินทร์ทรงทราบรับสั่งให้พิทยาธรนั้นเอาพระขรรค์มาคืน พระสมุทโฆษเทียวติดตามพระมเหสีอยู่เก้าเดือนจึงพบเสด็จกลับเมือง แล้วได้รับเวนราชสมบัติ ตอนท้ายได้แสดงถึงการกลับชาติว่า ผู้ใดในเรื่องได้กลับชาติมาเกิดเป็นใครในชาตินี้ตามแบบชาดกทั้งปวง

            ข้อคิดเห็น - สมุทโฆษคำฉันท์ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรในรัชกาลที่ ๖ ว่าเป็นยอดแห่งคำประเภทฉันท์ ทั้งนี้เพราะนอกจากความไพเราะเพราะพริ้งของฉันท์แต่ละบทแล้ว ยังประกอบด้วยวรรณคดีครบถ้วน เช่น บทโลมลานาง บทรำพันสวาท บทสังวาส บทโศก บทรบอันสยดสยอง บทชมบ้านเมือง บทชมธรรมชาติ บทชมกระบวนทัพ และแทรกคติธรรมอันสูงไว้ด้วย เช่น ความรักอันมั่นคง ความเมตตากรุณาและความเพียร เป็นต้น สมุทโฆษคำฉันท์มีประวัติความเป็นมาน่าอัศจรรย์ ที่ต้องใช้กวีแต่งต่อเนื่องมา ๓ ท่าน และใช้เวลาถึง ๓ สมัย คือ กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ กวีทั้งสามไม่ได้ร่วมแต่งพร้อมกัน แต่งต่อช่วงกัน แต่สามารถรักษาระดับรสของกวีนิพนธ์ไว้ได้เท่าเทียมและกลมกลืนกันสนิท
            สมุทโฆษคำฉันท์ ดำเนินเรื่องตามสมุทโฆษชาดก ซึ่งเป็นชาดกทางพุทธศาสนาเรื่องหนึ่ง ในปัญญาสชาดก (ชาดก ๕๐ เรื่อง) ซึ่งภิกษุชาวเชียงใหม่แต่งไว้เป็นภาษาบาลี ส่วนที่เป็นของพระมหาราชครู และสมเด็จพระนารายณ์ มีเรื่องแทรกผิดแผกไปจากชาดกบ้าง เช่น กำหนดให้พระสมุทโฆษมีพระชายา คือ นางสุรสุดาอยู่ก่อนจึงไปได้ยางพิมทุมดี บทอุ้มสม และสงครามชิงนางพิมทุมดี เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ปรากฏในชาดก ส่วนที่ สมเด็จพระมหาสมณะเจ้าฯ ทรงนิพนธ์เป็นไปตามชาดกอย่างใกล้ชิด ในด้านภาษา ที่เป็นของพระมหาราชครูและสมเด็จพระนารายณ์ ใช้คำสันสกฤตมาก แต่ในส่วนของสมเด็จพระมหาสมณะเจ้าฯ ใช้คำบาลีมากกว่าสันสกฤต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น