ส.บุญเสนอ
เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๗ โรงเรียนมัธยมวัดเญจมบพิตร ได้ออกหนังสือพิมพ์รายเดือนประจำโรงเรียนชื่อ "เบญจมานุสาสน์" ซึ่งสมัยนั้นนิยมจัดทำกันแทบทุกโรงเรียนใหญ่ๆในกรุงเทพฯ โดยมีพระพาณิชย์สารวิเทศ ครูใหญ่เป็นผู้จัดการ นายศุขทิมศิลป เป็นบรรณาธิการ
คณะผู้จัดทำได้แก่บรรดาครูและนักเรียนมัธยมปลายของโรงเรียนที่ใฝ่ใจรักหนังสือ ตอนนั้นผมยังเป็นนักเรียนมัธยมปลาย และมีใจนิยมงานประเภทนี้ จึงรับใช้เต็มที่ แต่ผู้เกี่ยวข้องทุกหน้าที่ทุกคน ไม่มีผู้ใดได้รับค่าตอบแทนสักคนเดียว
ผมได้อ่านข้อเขียนของครูอบ ไชยวสุ เป็นครั้งแรกในหนังสือนี้ ตอนนี้ครูอบสำเร็จเป็นครู ปม.แล้ว และสอนประจำโรงเรียนเบญจมบพิตร เป็นเรื่องขบขันที่เรียกได้ว่าฮือฮากันในสมัยนั้น และถือเป็นแนวทางของการเขียนตลอดมา
ครูอบสอนอยู่ที่เบญจมบพิตรมานานเท่าไรจำไม่ได้ เมื่อผมออกจากโรงเรียนไปแล้ว ทราบว่าต่อมาทางกรมศึกษาขอตัวกลับไปสอนที่เทพศิรินทร์โรงเรียนเก่าอีก ภายหลังเกิดผิดเส้นกับผู้ใหญ่บางคน จึงถูกย้ายไปสอนที่โรงเรียนผู้หญิง คือ เบญจมราชาลัย นานถึงแปดปี หลังจากนั้นก็ถูกย้ายไปสอนที่วัดสุทธิซึ่งไม่เป็นที่ถูกอัธยาศัย ครูอบเลยขอลาออกไปทำงานหนังสือพิมพ์ที่ทาบทามไว้ก่อนแล้ว และดำรงอาชีพเป็นนักเขียนอิสระตั้งแต่นั้นมา
ที่รวมกลุ่มกันอย่างรุ่งโรจน์ คือ ยุคที่ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ รวบรวมนักเขียนจากเทพศิรินทร์ มาออกหนังสือพิมพ์รายปักษ์ ชื่อ "สุภาพบุรุษ" มีสำนักงานอยู่ที่ห้อง "เกษมศรี" ซึ่งเป็นร้านขายเครื่องเขียนและแบบเรียนของครูอบเอง อยู่ใกล้เชิงสะพานรามบุตรี ตรงข้ามวัดชัยชนะสงคราม ตอนนั้นบ้านครูอบจึงเสมือนเป็นสโมสรของนักเขียน มีการนัดสังสรรค์พบปะกันเป็นประจำ
ครูอบถนัดเขียนแคะไค้ในเรื่องที่มีภาษาหนังสือเป็นหลัก ผู้ใดเขียนผิดหลักเกณฑ์ก็นำมาท้วงติง ทำให้หัวเราะยิ้มหัวกันได้ นอกจากจะเป็นที่ชื่นชอบแก่ผู้อ่าน ยังเป็นที่ค้อนควักแก่ผู้ถูกกล่าวถึง เคยได้ยินว่ามีนักเขียนหญิงที่ถูกท้วงติงพากันค้อนเอาครูอบจนหน้าคว่ำ
ครูอบจึงได้ชื่อว่าเป็น ยามภาษา หรือ สารวัตรหนังสือ คอยดูแลอยู่ในวงการหนังสือ เสมอมา
ที่มา ต่วยตูน ปักษ์แรก เดือนธันวาคม ๒๕๔๐ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๗
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น