ต่อนี้ไปก็เริ่มคุยกันถึงเรื่องพระกรรมฐาน เอาแบบคุยกันนะ
เพราะว่ากรรมฐานจริงๆ ที่ญาติโยมพุทธบริษัททำนี่
ถ้าไปหวังเฉพาะเวลาสงัดเราจึงทำสมาธิ อาการแบบนั้นเป็นอาการของการฝึกใหม่
ไม่ใช่อาการของผู้ทรงกรรมฐานจริงๆ
เพราะการฝึกใหม่ หมายความว่าถึงเวลาสงัดก็นั่งหน้าพระบ้าง
เข้าที่สงัดบ้าง เงียบๆ รู้ลมหายใจเข้ารู้ลมหายใจออก
รู้คำภาวนาหรือพิจารณา อย่างนี้ถือว่าอาการฝึก คือฝึกการทรงตัวในด้านกุศล
ให้จิตคิดว่าสิ่งนี้เป็นกุศล อย่างภาวนาว่า พุทโธก็ดี สัมมาอรหังก็ตาม
อย่างนี้เป็นพุทธานุสสติ ก็ถือว่าเวลานี้เรานึกถึงพระพุทธเจ้า
นั่นเป็นการฝึก
ทีนี้ถ้าทำกันจริงๆ ที่กรรมฐานจะคุ้มครองกันได้จริง จะต้องไม่พาะเวลาฝึก
คือเวลาเราฝึกการทรงตัวนะก็ต้องการให้ยามปกติมีความรู้สึกตามนั้น
นั่นก็หมายความว่าขณะที่ฝึกการทรงตัว จิตเป็นกุศล
ยามปกติที่เราไม่ได้นั่งหลับตาแบบนั้น นั่งคุยกันอยู่ก็ตาม ทำงานก็ตาม
ถ้าคุยเรื่องอะไรก็คุยกันไปตามเรื่อง จิตก็ตั้งอยู่ในเรื่องที่เราจะคุย
อันนี้เป็นของธรรมดา เวลาทำงานจิตก็ต้องนึกถึงงาน
เวลาว่างจากการคุยหรือเวลาว่างจากงาน จิตน้อมไปในด้านกุศล
คือถ้าจิตหายก็คิดว่าเราเคยทำทานให้ทานไว้ เคยให้ทานแก่สัตว์บ้าง
ให้ทานแก่คนบ้าง ถวายทานแก่พระสงฆ์บ้าง นึกถึงทานกองการกุศลก็ดี
นึกว่าเราเคยใส่บาตร เราเคยฟังเทศน์ เราเคยบูชาพระ เราเคยภาวนาก็ตาม
จิตน้อมถึงกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง
เมื่อจิตน้อมถึงกุศลให้มันเพลิดเพลินในกุศล
คำว่าจิตน้อมถึงกุศลด้วยความมั้นใจตั้งใจจริง วันหนึ่งสัก ๒-๓
นาทีก็ถือว่าใช้ได้ จิตจะได้มีอารมณ์ชิน เพราะว่าความตายไม่มีนิมิต
ไม่มีเครื่องหมาย
เราจะไปคิดว่าความตายจะเข้ามาถึงเราในขณะที่เราเจริญกรรมฐาน อันนี้ไม่ได้
มันบอกกันแน่นอนไม่ได้
ถ้าจิตมีการทรงตัว มีอารมณ์สูงหน่อย เข้าในเขตวิปัสสนาญาณ
วิปัสสนาญาณตามแบบอย่างอ่อนก็คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
อันนี้ว่ากันตามแบบ
แล้ววิปัสสนาญาณอย่างสูง อย่างเข้มจริงๆ ก็ได้แก่ อริยสัจ
ขึ้นต้นด้วยทุกข์ อริยสัจนี่จริงๆ เราใช้ตัวเดียวก็พอ ใช้ทุกข์
แต่ความจริงการเจริญวิปัสสนาญาณด้านอริยสัจนี่ง่ายนะ
การเจริญอริยสัจไม่ต้องนั่งแก่ว ไม่ต้องไปนั่งหลับตา
ให้จิตมันชินกับอารมณ์ ถ้าจิตในยามว่างหายเพลีย
เห็นคนเดินไปเดินมาก็คิดว่า คนที่เดินไปเดินมาทุกคนน่ะ
เดินเพราะความทุกข์ ถ้าไม่มีความทุกข์ เขาไม่เดิน
เช่นเดินไปซื้อของก็ทุกข์เพราะมันหิว เพราะหิวในอาหาร
จึงไปซื้อของมาเพื่อรับประทาน ถ้าเดินไปหาหมอ ก็ทุกข์เพราะโรคภัยไข้เจ็บ
เดินไปทำกิจการงาน ก็ทุกข์เพราะสมบัติเราไม่พอ
ต้องสั่งสมสมบัติให้มันพอเพื่อใช้จ่าย
รวมความว่าคนทุกคนที่นั่งอยู่ก็ดี เดินไปทำงานทำการอยู่ก็ดี
ทุกอิริยาบถเขาเต็มไปด้วยความทุกข์ ไม่มีใครมีความสุขจริง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุกข์ของชาวบ้านนี่ไม่น่าจะสนใจมากนัก
ให้สนใจทุกข์ของเราเองให้มากที่สุด เพราะทุกข์ของคนอื่นเราไม่เห็นจริง
เช่น เขาป่วยไข้ไม่สบายมีทุกขเวทนาหนัก เราได้ทราบข่าวหรือได้ยินข่าว
ปวดหรือ ร้อนหรือ หนาวหรือ ก็เข้าใจว่าหรือเฉยๆ ถ้าเราโดนเข้าเอง
เราจะรู้ทุกขเวทนา
จงมองเห็นทุกข์ของเราให้หนักที่สุด ให้เห็นทุกข์เป็นประจำ
ถ้าถามว่าเห็นทุกข์จะดีหรือ ญาติโยมว่าดีหรือไม่ดีฉันไม่ทราบ
แต่พระพุทธเจ้าท่านว่าดี เคยฟังพระพุทธเน้าท่านพูดไหม
คนที่เห็นทุกข์เป็นคนดี ก็ถือว่ามีความฉลาดพอ
คนที่ขาดความฉลาดจะมองเห็นทุกข์ไม่ได้
เพราะการเกิดของคนมันเต็มไปด้วยความทุกข์ ไม่มีใครมีความสุข
อยู่ในครรภ์มารดาทุกข์หนัก เราจำไม่ได้ คลอดมาใหม่ๆ มีทุกข์หนัก
เราช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องอาศัยคนอื่น เราก็จำไม่ได้
ตอนนั้นหิวกว่าจะรู้สึกตัว กว่าจะมีคนเข้าไปช่วยต้องร้อง
มันหิวเต็มที่จึงร้อง ทุกขเวทนามันครอบงำหนัก
ก็รวมความว่าตั้งแต่เกิดมาเราก็พบแต่ความทุกข์
โตขึ้นมาแล้วสามารถช่วยตัวเองได้ เราก็พบความทุกข์อีก หิวเราก็ต้องหากิน
การหากินมันก็เต็มไปด้วยความทุกข์ มันทุกข์จึงไปกิน
แล้วของที่เอามากินได้ก็มาจากความเหนื่อยยาก มาจากความทุกข์
การประกอบกิจการงานทุกอย่างไม่มีความสุข แต่ความทุกข์ทั้งหมด
ทุกข์นอกจากจะหิวกระหาย มีความต้องการแล้ว ความแก่ก็เป็นเหตุของความทุกข์
แก่เข้ามาถึงก็ทุกข์ ความตายจะเข้ามาถึงก็ทุกข์ ก็รวมความว่า
เราเกิดเป็นมนุษย์ถือว่าเป็นสัตว์ประเสริฐที่สุดในโลกมนุษย์
สัตว์อย่างอื่นประเสริฐไม่เท่ามนุษย์ เขาว่าอย่างนั้นนะ
แต่ฉันไม่คิดอย่างนั้น คิดว่ามนุษย์มันระยำที่สุด คือสัตว์อย่างอื่นเช่น
เสือที่ว่าดุร้าย ตั้งแต่เกิดมายังไม่ได้ยินข่าวว่าเสือกัดคนหลายคนเลย
แต่คนนี่กัดปลาวันละหลายตัว ก็รวมความว่าสัตว์มนุษย์นี่ฆ่าสัตว์ไม่จำกัด
แต่เขาก็ยกย่องว่าสัตว์มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ
รวมความว่ามนุษย์ก็ดี สัตว์เดรัจฉานก็ดี ก็มีทุกข์เหมือนกัน
มีความเกิดเหมือนกัน แก่เหมือนกัน มีความป่วยไข้ไม่สบายเหมือนกัน
มีการพลัดพรากจากของรักของชอบใจเหมือนกัน มีความตายเหมือนกัน
รวมความแล้วสัตว์ทุกประเภทในโลกนี้เต็มไปด้วยความทุกข์
ในเมื่อเราเห็นทุกข์ คนใดเห็นทุกข์ คนนั้นชื่อว่าเห็นอริยสัจจริง
คนนั้นมีสิทธิ์เป็นพระอริยเจ้า
คนที่เป็นพระอริยเจ้าก็มีสิทธิ์ไปพระนิพพาน
คนที่ไปพระนิพพานได้แล้วก็ไม่มีสิทธิ์กลับมาเกิดเป็นคน
มีคนเคยมาถามว่า พระอรหันต์ที่ไปนิพพานแล้วจะแบ่งมาเกิดได้ไหม
นี่มีคนมาถามจริงๆ นะเมื่อวานนี้ แล้วที่วัดก็มีบ่อยๆ
แต่ความจริงขอบอกให้ทราบว่า พระอรหันต์นี่มาเกิดอีกไม่ได้นะ
แล้วก็ได้ยินข่าวจากหนังสือนะ เขาบอกว่าพระโมคคัลลาน์ท่านจะแบ่งภาคมาเกิด
พระสารีบุตรจะแบ่งภาคมาเกิด ไปถามจริงๆ เขาไม่บอกนะ ก็เลยคิดว่า
ไอ้วิชานี่มันมาจากไหน เป็นความเห็นผิดชัด แต่เราไม่โทษเขา
ในเมื่อเป็นความรู้เบื้องต้นใช่ไหม อาจจะพลั้งพลาดได้
ก็รวมความว่าญาติโยมทุกคนพยายามเห็นอริยสัจให้มาก คำว่าให้มาก
ก็ไม่ได้หมายความว่า ต้องเห็นกันทั้งวัน
วันหนึ่งตื่นขึ้นเช้ามาพยายามเห็นทุกข์เสียก่อน
เพราะตอนเช้ามีความสำคัญมาก เพราะยังไม่เหนื่อย พอตื่นขึ้นมาเช้าปั๊บ
กิจวัตรประสำวันไปไหน ไปส้วม พระพุทธเจ้าบอกว่า การหิวกระหายก็ดี
การปวดอุจาระปัสสาวะก็ดี ก็เป็นทุกข์ อย่างนี้เป็นนิพัทธทุกข์
คือทุกข์เนืองนิจ ทุกข์ประจำวัน เราต้องเห็น
ไอ้ทุกข์อย่างนี้ต้องถ่ายอุจจาระปัสสาวะก็ตาม มันมาจากใหน
มันก็มาจากความเกิด เพราะเราเกิดเป็นคนหรือเกิดเป็นสัตว์
ก็ต้องมีการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ไม่ไปถ่ายมันก็ทุกข์
รวมความว่าตื่นเช้าขึ้นมาให้พบคำว่าทุกข์ คิดว่าการเกิดมันทุกข์อย่างนี้
ตอนสายก็มีความหิวกระหาย ความหิวความกระหายก็เป็นทุกข์
หลังจากนั้นรับประทานอาหารแล้วก็ทำงานทำการ เพื่อแสวงหาทรัพย์สิน
การประกอบกิจการการงานเพื่อแสวงหาทรัพย์สินก็เป็นอาการของความทุกข์
ก็ใช้ปัญญาพิจารณาว่า ที่ราต้องเกิด แล้วอะไรทำให้เราเกิด
อย่าไปโทษพ่อโทษแม่ท่านนะ พ่อแม่หลายคนพยายามจะมีลูกแต่ก็ไม่มี
จะไปโทษท่านก็ไม่ถูก สิ่งที่ทำให้เราเกิดมี ๔ อย่างคือ
๑. กิเลส
๒. ตัณหา
๓. อุปาทาน
๔. อกุศลกรรม
ถ้าใน ๔ อย่างนี้ยังมีในเราเพียงใด
การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะยังมีอยู่เพียงนั้น
ถ้าการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะยังมีอยู่เราก็ไม่พ้นทุกข์
ฉะนั้นเราก็พยายามหนีทุกข์วันละน้อย ต้องหนีทุกวัน
ตอนเช้าตื่นขึ้นมาปั๊บ ลืมตาขึ้นมา นึกถึงงานที่เราจะพึงทำ
งานทุกอย่างที่จะทำต้องมีความเหนี่อยยาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับประทานอาหาร อย่าคิดว่าไม่ทุกข์ มันทุกข์นะ
ทุกข์ตรงไหน ความจริงการหามาแล้วมันก็ทุกข์ ตอนหิวกินใหม่ๆ ไม่ทุกข์หรอก
หม่ำๆ ไม่ได้ฟังเสียงหรอกนะ พออิ่มแล้ว มือก็เหม็น ปากก็เหม็น ฟันก็เหม็น
ช้อนก็เหม็น ชามก็เหม็นไปหมด ไอ้ตัวเหม็นนี่มันตัวทุกข์ใช่ไหม
ต้องรีบไปล้างมือล้างปาก ล้างถ้วยล้างชาม มันสกปรกเหลือเกิน
อีตอนหิวไม่รู้ ล่อซะไม่มี
ก็รวมความว่าทุกอย่างมันมีความทุกข์ เราก็หาทางหนีความทุกข์ คือตัดกิเลส
ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม
กิเลส ได้แก่ ความเศร้าหมองของจิต คืออารมณ์เลว
จะถือว่ามันชั่วเสียทุกอย่างก็ไม่ได้ ต้องถือว่าอารมณ์เลว
บูชาความเลวมากกว่าบูชาความดี อะไรที่มันไม่ดีไม่งาม
กิเลสสอนบอกว่ามันไม่ดี อย่างที่คนเกิดมาแล้วต้องแก่
แล้วความป่วยไข้ไม่สบายก็ต้องมีเป็นของธรรมดา
แล้วต่อไปการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ก็ต้องมีเป็นของธรรมดา
ใจที่สุดก็ก้องตาย แต่ว่าเจ้ากิเลสมันบอกว่าเอ็งต้องไม่แก่นะ
เราก็เชื่อกิเลสว่าเราจะไม่แก่ ในเมื่อความแก่เข้ามาถึงเราจริงๆ
ความสะดวกในการประกอบกิจการงานไม่มี ก็เป็นทุกข์ใช่ไหม ถ้าเราเชื่อกิเลส
เราก็พบกับความทุกข์
ตัณหา แปลว่า ความทะยานอยาก พูดภาษาไทยง่ายๆ ก็คือความอยาก
อยากได้อย่างโน้นอยากได้อย่างนี้ ไอ้ตัวอยากมันคือตัณหา
แล้วศัพท์ว่าตัณหานี่ท่านอย่าคิดว่ามันเลวเสมอไปนะ
ต้องคิดว่าถ้าอยากชั่วจึงเป็นตัณหา ถ้าอยากดีเป็น ธรรมฉันทะ
อยากจะร่ำรวยเพราะสัมมาอาชีวะ อันนี้เป็นธรรมฉันทะ ไม่ใช่ตัณหา
ถ้าอยากจะรวยเพราะการโกงเขา ขโมยเขา ยื้อแย่งทรัพย์ของเขาอันนี้เป็นตัณหา
เป็นกิเลส เพราะการแย่งเขา ขโมยเขา โกงเขาเป็นของเลว
ความชั่วคิดว่าเป็นความดี นี่เป็นกิเลส
ถ้าหวังจะประกอบกิจการงานทุกอย่างเพื่อหามาได้โดยทรัพย์สิน
หรือให้มีความสุขเพราะการหามาของทรัพย์สินมี่มีอยู่
แต่ว่าเป็นสัมมาอาชีวะ หาเลี้ยงชีพโดยชอบธรรม อันนี้ไม่ใช่ตัณหา
มันเป็นสัมมาอาชีวะ
ถ้าเป็นแต่การคิดก็ถือว่าเป็นธรรมฉันทะ มีความพอใจในธรรม
คำว่าพอใจในธรรมก็หมายความว่าถ้าไม่โกงเขา ทำด้วยสุจริตธรรมเป็นของดี
นี่ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า หรืออีกนัยหนึ่งที่พระเคยเทศน์ถามกันว่า
อยากได้โน่นอยากได้นี่ก็เป็นกามตัณหา สิ่งใดที่ยังไม่มีต้องการให้มีขึ้น
เขาเรียกกามตัณหา
เขาก็ถามว่า "คนที่อยากไปนิพพานเป็นตัณหาหรือเปล่า"
คนที่อยากไปนิพพานนี่เป็นธรรมฉันทะ คือมีความพอใจในธรรม
อย่างที่พวกญาติโยมพุทธบริษัทที่นั่งอยู่ตรงนี้
หรือที่อยู่ที่บ้านก็ตามต้องการอยากจะถวายทานแก่พระสงฆ์
อยากจะสงเคราห์คนที่มีความทุกข์ มีความลำบาก ขัดสน ยากจน
อยากจะสงเคราะห์สัตว์ที่มีความทุกข์ มีความหิวโหยในอาหาร
มีความเป็นอยู่ไม่สะดวกก็ตาม ทั้งหมดนี้ไม่ถือว่าเป็นตัณหา
จัดว่าเป็นธรรมฉันทะ คือมีความพอใจในธรรม เป็นสังคหวัตถุ
สังคหวัตถุ คือการสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน ถ้าอยากให้
อยากให้อาหารแก่สัตว์ อยากให้ทรัพย์สินบางอย่าง
หรืออาหารการบริโภคแก่คนที่ยากจนเข็นใจ อยากถวายทานแก่พระ
อย่างนี้นะท่านถือว่าเป็นธรรมฉันทะ
ถ้าไอ้ตัวอยากตัวนี้ มันคิดแต่ยังไม่ได้ให้ เห็นเดินไปเดินมา
ไอ้สุนัขตามข้างถนนมันท้องกิ่งมันหิว อันนี้ถ้าเรามีสตางค์เราจะซื้อขนม
ถ้ามีข้าวเราจะให้ มีของเราจะให้ แต่มันยังไม่ได้ให้
ไอ้ตัวอยากจะให้นี่เห็นคนขอทานก็อยากจะให้ เห็ฯพระสงฆ์เดินมาก็อยากจะถวาย
มันเป็นแต่เพียงแค่อยากเฉยๆ เรายังไม่ได้ให้
ตัวอยากตัวนี้เป็นจาคานุสสติกรรมฐาน คือคิดอยากจะสงเคราะห์ คิดจะให้
ตัวนี้เป็นตัวสำคัญนะ
ตัวคิดจะสงเคราะห์ คิดจะให้ ถ้าคิดไว้เสมอนะ มันเป็นฌาน
อาการอย่างนี้จะเป็นฌานได้ก็ต่อเมื่อความรู้สึกเกิดขึ้นทุกขณะ
ขณะที่เห็นสัตว์มีทุกข์ คนมีทุกข์ พระมีทุกข์ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม
เห็นเขาทุกข์แล้วอยากจะสงเคราะห์
ความอยากมันเกิดขึ้นทันทีทันใดโดยไม่ต้องบังคับ อยากจะให้
อย่างนี้ถือว่าเป็นฌานในจาคานุสสติกรรมฐาน เป็นฌานแท้นะ
อันนี้ฌานแท้ไม่ใช่ฝึก เป็นตัวแท้จริงๆ
ถ้าจะถามว่า ถ้าฌานในจาคานุสสติกรรมฐานเกิดขึ้น จะมีผลอะไรดีบ้าง
ก็ขอตอบว่า เพียงแค่อยากยังจะไม่ให้ ไม่ได้ให้ เห็นสัตว์หิวอยากให้
เห็นคนหิวอยากให้ หรือแม้แต่สัตว์อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม
ความอยากอย่างนี้ทรงตัว เห็นแล้วเดินไปถึงบ้าน ยังครุ่นคิดถึง
ถ้าบังเอิญคนประเภทนี้ถ้าตายไปแล้ว นรกเขาไม่ต้องการ เขารังเกียจ
คนแค่อยากยังไม่ทันลงมือให้ อยากจริงๆ อยากสงเคราะห์
แต่มันไม่มีเงินไม่มีทอง ไม่มีของที่จะให้ เพียงแค่นี้จิตเป็นมหากุศล
อย่างนี้ตายแล้วเข้าเขตนรกไม่ได้ เพราะว่าเขตเขาไล่ตี น่าเสียดายนะ
บ้านกว้างๆ น่าจะให้ไปอยู่บ้าง เพราะอะไร เพราะจิตเป็นฌาน
ถ้าขณะที่ยังป่วยไข้ไม่สบายใกล้จะตาย
จิตยังคำนึงถึงความที่ต้องการจะให้อยู่
ท่านถือว่าเป็นฌานในจาคาจุสสติกรรมฐาน
ถ้าเป็นอย่างนั้นตายเมื่อไหร่ไปเป็นพรหมเมื่อนั้น เป็นพรหมทันที
ไม่ใช่ของเล็กของหนักมาก
ตอนนี้สำหรับจาคานุสสติกรรมฐานนี่อานิสงส์ก็สูงมาก
จาคานุสสติกรรมฐานถ้ามีเป็นปรกติ ต่อไปถ้ากำลังสูงขึ้น
จิตในเมื่อนึกถึงจาคะเกิดขึ้น
ในเมื่ออารมณ์ทรงตัวเวลานั้นนิวรณ์ก็ไม่กวนใจ
ถ้านิวรณ์กวนใจมันก็คิดไม่ได้
ถ้าขณะใดที่จาคานุสสติกรรมฐานเกิดขึ้นประจำใจ นิวรณ์ไม่กวนใจ
เวลานั้นจิตก็มีปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นเพราะสมาธิตัวนี้
ถ้าปัญญาเบื้องต้นเกิดขึ้นก็สามารถจะไปสวรรค์ได้
ถ้าปัญญาอย่างกลางเกิดขึ้นก็สามารถไปพรหมโลกได้ แต่อาตมาจะไม่พูด ๒
อย่างนี้
ถ้าปัญญาตัวสุดท้ายเกิดขึ้น
นั่นคือมีความรู้สึกตามความเป็นจริงว่าเราก็มีทุกข์
สัตว์ทั้งโลกก็มีทุกข์ การเกิดเป็นทุกข์อย่างนี้
ถ้าหากการเกิดมีทุกข์อย่างนี้ เราเกิดกี่ชาติก็ทุกข์อย่างนี้
เราไม่ต้องการการเกิดอย่างนี้อีกต่อไป
ขึ้นชื่อว่าการมีร่างกายเพื่อการเกิดจะไม่มีสำหรับเราต่อไป
เราต้องการนิพพาน อย่างนี้มันเกิดคิดขึ้นมาเอง วันละนิด วันละสองสามนาที่
หรือนาทีสองนาทีก็ตาม เพียงแค่นี้ตื่นขึ้นมาใหม่ๆ มันคิดตามนี้ก็ตาม
ถึงเวลากลางวันทำกิจการงานต่างๆ คุยกับเพื่อนบ้าง ทำงานบ้าง
พอว่างจากการคุย ว่างจากงาน มันเหนื่อยจิตก็คิดว่าไอ้นี่มันทุกข์
เราไม่อยากเกิดมาเพื่อทุกข์อย่างนี้อีก
หรือก่อนจะนอนคิดสักหน่อยก็ตาม เวลาไม่จำกัด ถือเป็นเวลาปรกติ
ถ้าคิดอย่างนี้ทุกวัน เวลาที่ทุกคนจะตาย
ป่วยหนักครั้งสุดท้ายอารมณ์นี้จะทรงตัว จะเข้ามาสิงใจทั้นที
อกุศลเข้าครอบงำจิตไม่ได้ เพราะอันนี้เป็นมหากุศลใหญ่มาก
หรือวิปัสสนาญาณขั้นสูงสุด
ในเมื่อมหากุศลใหญ่เข้าครอบงำจิต อกุศลเข้าไม่ได้
ไอ้ตัวบาปก็ไม่มีโอกาสเข้ามาแทรกใจ เหลือแต่บุญ จิตจะทรงตัว ทรงตัวแบบไหน
ก็มีความรู้สึกว่าร่างกายมันจะพัง เมื่อรู้ว่าร่างกายมันจะพังใจก็เฉยๆ
ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของร่างกาย เวลาพร้อมกันนั้น
จิตใจก็ไม่ห่วงทรัพย์สิน ไม่ห่วงคนเบื้องหลัง ถือว่าตัวเราเองก็จะตาย
ความตายเป็นของธรรมดา ทุกคนก็สามารถทรงชีวิตอยู่ได้ตามความสามารถของเขา
จิตก็เป็นสุข อารมณ์ก็จะเป็นสังขารุเปกขาญาณ
สังขารุเปกขาญาณ คือการวางเฉยในร่างกาย ถือว่าตายเป็นของธรรมดาของมัน
อยากจะตายก็เชิญตาย ถ้าตายคราวนี้เราต้องการจุดเดียวคือนิพพาน
ถ้าอารมณ์เป็นอย่างนี้นะ อย่างนี้วันไหนตายวันนั้นเป็นพระอรหันต์
สำหรับฆราวาสในเมื่อเป็นอรหันต์แล้วต้องนิพพานในวันนั้น
ตามบาลีบอกว่าฆราวาสถ้าเป็นพระอรหันต์
จะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกินพระอาทิตย์ตกดินในวันพรุ่งนี้
แต่ว่าเนื้อแท้จริงๆ ที่ปรากฏในสมัยพระพุทธเจ้า
ฆราวาสที่เป็นพระอรหันต์นิพพานวันนั้นทุกคน
รวมความว่าการเจริญกรรมฐานขอบรรดาท่านพุทธบริษัท
ให้ถืออารมณ์ธรรมดาเป็นสำคัญ ยามปกตินะ
อย่าถือว่าเวลาสงัดที่เรานั่งสมาธิเป็นเวลาสำคัญ
เวลานั้นก็สำคัญถือว่าเวลานั้นเป็นการฝึกเพื่อการทรงตัวของจิตที่เป็นกุศล
อารมณ์ที่เป็นกุศลนี่ต้องการให้มีความรู้สึกเป็นประจำตอนกลางวัน
หรือยามปกติทำงานอยู่ก็ตาม เลิกงานแล้วก็ตาม เวลาไหนก็ตาม
มันว่างนิดจิตก็คิดขึ้นมาเองไม่ต้องบังคับ
คิดว่าความทุกข์อย่างนี้เกิดขึ้นมาเพราะเราเกิด เราเกิดเพราะอะไร
เพราะกิเลส คือความเศร้าหมองหรืออารมณ์ชั่วของจิต
ตัณหา คือความทะเยอทะยานอยากได้ตามกำลังที่กิเลสสั่ง
อุปาทาน มีความยึดมั่นถือในว่า ไอ้สิ่งที่กิเลสสั่งสอนเป็นของดี ยึดมั่นไม่ปล่อย
อกุศลกรรม ทำด้วยความไม่ฉลาด ตามกิเลสสั่ง
ก็รวมความว่า อาการทั้ง ๔ อย่างนี้เป็นปัจจัยให้เราเกิด
เวลานี้เราจะตัดกกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม
เราจะตัดแบบไหนก็ตัดแบบง่ายๆ คือ
๑. ไม่ลืมความตายของชึวิต
๒. ยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์
๓. มีศีลหรือกรรมบถ ๑๐ ให้ครบถ้วน เป็นการทรงความสงบของจิต
๔. ตัดกิเลสตัวสุดท้าย ตัดฉันทะ คือความพอใจในการเกิด เกิดเป็นมนุษย์
เป็นเทวดาหรือพรหม ตัดราคะ เห็นว่าการเกิดในเมืองมนุษย์มันสวยสดงดงาม
เทวดาหรือพรหมสวยสดงดงาม อย่างนี้เราไม่ต้องการ ต้องการจุดเดียวคือ
นิพพาน
ถ้าคิดอย่างนี้เพียงแค่ ๒ นาทีนะ วันละวาระ สองวาระก็ดี คิดให้เป็นประจำ
ถ้าเป็นประจำได้ก็ดี เฉพาะเวลาจำกัด เวลาที่บังคับ อย่างตั้งใจว่า
ถ้าตื่นเช้าเราจะคิดอย่างนี้ ก่อนหลับเราจะคิดอย่างนี้ แล้วต่อมาใหม่ๆ
มันเผลอบ้าง อะไรบ้าง ระยะหลังๆ ต่อไปพอตื่อปั๊บ อารมณ์คิดทันที
แล้วพอใกล้จะหลับหัวถึงหมอก็คิดทันที อย่างนี้ถือว่าเป็นฌาน
อารมณ์เป็นฌานแล้ว ในวิปัสสนาญาณขั้นสูงสุด
คือการไม่ติดในมนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก ถือว่าตัดอวิชชา
อารมณ์อย่างนี้ถ้าทรงตัว บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท
คำว่าทรงตัวไม่ได้หมายความถึงทั้งวันนะ อย่าเผลอ ฆราวาสจะทั้งวันไม่ได้
พระก็ทั้งวันไม่ได้ เอายามว่างที่โอกาสมีขึ้น จิตมันนึกอย่างนี้จริงๆ
ทุกคน บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทชายหญิง ชาตินี้หวังนิพพานได้แน่นอน
นี่เวลาจะหมดแล้ว พูดไปพูดมาไม่รู้ว่าพูดอะไรบ้าง ก็เหลือเวลาอีก ๓
นาทีเศษ สำหรับญาติโยมพุทธบริษัทที่มาใหม่
การเจริญพระกรรมฐานถ้าบังเอิญท่านที่มาใหม่ มาที่นี่ใหม่
แต่ก็บังเอิญเก่ามาจากที่อื่น เวลาภาวนาก็ดี
พิจารณาก็ตามให้รักษาอารมณ์เดิมที่ฝึกมาแล้วอย่าเปลี่ยน
เพราะถ้าเปลี่ยน บางทีถ้าทำเป็นฌานมาแล้ว
พอเปลี่ยนใหม่ปั๊บมันต้องขึ้นต้นใหม่
การเจริญสมาธิวิปัสสนาญาณย่อมมีอานุภาพเสมอกัน อานิสงส์เสมอกัน
ถ้าญาติโยมพุทธบริษัทที่ใหม่จริงๆ ไม่เคยปฏิบัติมาก่อนเลย ให้ปฏิบัติตามนี้
ก่อนภาวนาคิดว่าการเกิดมันเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์
ความป่วยไข้ไม่สบายเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์
ความตายเป็นทุกข์ ในเมื่อเกิดมาเพื่อทุกข์อย่างนี้อีกเราก็ไม่ของเกิด
ถ้าร่างกายตายไปเมื่อไหร่ขอไปนิพพานจุดเดียว
หลังจากนั้นรู้ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้ารู้อยู่ หายใจออกรู้อยู่
เวลาหายใจเข้านึกว่า พุธ หายใจออกนึกว่า โธ เอาแค่นี้นะ จนกว่าจะหมดเวลา
๒๐ นาที
ญาติโยมที่เก่าแล้วก็ว่าตามอัธยาศัยนะ
แต่ว่าระวังอย่าอธิษฐานขอดูเลขหวยเข้านะ
อย่านึกว่าไม่รู้นะว่าแกนึกอะไรบ้าง มันนึกว่าพระแก่ไม่รู้
โชคดีมีสุขญาติโยมเอ๋ย ต่อนี้ไปตั้งใจสมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐาน สวัสดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น