แบบแปลน "โครงการจัดสร้างสวนสำหรับสุนัขในพื้นที่สวนจตุจักร (Dog Park)"
รายงานพิเศษ โดย...พงศ์เมธ ล่องเซ่ง
ถอย แทบไม่ทันสำหรับ
"โครงการจัดสร้างสวนสำหรับสุนัขในพื้นที่สวนจตุจักร (Dog Park)"
หลังจากต้านเสียงค้านจากเหล่าผู้ใช้บริการ(เก่า) รุ่นใหญ่
ที่ยันเสียงแข็งว่าถึงอย่างไรก็ไม่ปล่อยให้พื้นที่ส่วนหนึ่งของสวนสาธารณจตุ
จักรประมาณ 2.7 ไร่ ใกล้ประตู 2 ติดกับพิพิธภัณฑ์รถไฟ ที่ซึ่งไว้พักผ่อน
"ปอด" ยามเช้า ให้กลายเป็นที่วิ่งเล่นของเจ้าสี่ขา...
เสียง (ค้าน) ส่วนใหญ่มองว่า ไม่อยากให้ Dog Park
มาใช้พื้นที่ร่วมกับสวนคน หากจะเอากันจริงๆ ก็ให้แยกไปสร้างโดยเฉพาะ
พูดง่ายคือ "หมาส่วนหมา คนส่วนคน" และย้ายพื้นที่สร้างให้ห่างไกลชุมชน
เพราะหวั่นเกรงและไม่มั่นใจในเรื่องสุขอนามัยทั้งกลิ่น เสียง
จนถึงเชื้อโรคที่จะตามมา
คำถามจึงตามมาว่า เมืองอย่าง "กรุงเทพฯ" พร้อมหรือยังที่จะมี Dog Park ?
สำหรับที่มาและที่ไปของการจัดสร้าง Dog Park นั้น
เกิดขึ้นจากการที่
กทม.มีนโยบายในการออกแบบสวนสำหรับคนเลี้ยงสุนัขในเมืองหลวง
เพื่อให้นำสุนัขมาออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรม
สิ่งที่ออกแบบไปใช้เนื้อที่ไม่มาก
ซึ่งก็เห็นตรงกันว่าพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างคือบริเวณสวนจตุจักร
บริเวณประตู 2 ใกล้พิพิธภัณฑ์รถไฟ
ทั้งนี้ พื้นที่ภายในสวน ประกอบไปด้วย สนามฝึก สุขาสำหรับสุนัข
ทางเดิน -ลู่วิ่ง เครื่องเล่นออกกำลังกาย สำหรับสุนัข
พร้อมทั้งมีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแก่เจ้าของรวมอยู่ด้วย
ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีรั้วรอบ ขอบชิด เป็นอย่างดี
ขณะที่การบริหารจัดการ
ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การใช้บริการไว้อย่างเคร่งครัด เช่น
เจ้าของสุนัขต้องทำบัตรอนุญาต ขึ้นทะเบียนผู้ใช้
สุนัขต้องมีการฉีดไมโครชิป และต้องผ่านการฝึกให้เชื่อฟังคำสั่ง
ขณะที่เจ้าของต้องมีสายลากจูง ปลอกคอ ไม่ปล่อยสุนัขเป็นอิสระ
มีอุปกรณ์สำหรับเก็บมูล ที่สำคัญคือห้ามไม่ให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 15
ปีอยู่กับสุนัขเพียงลำพัง และห้ามเจ้าของนำสุนัขที่ป่วย
เป็นโรคทางผิวหนังเข้าใช้ เป็นต้น
แบบแปลน "โครงการจัดสร้างสวนสำหรับสุนัขในพื้นที่สวนจตุจักร (Dog Park)"
แต่เมื่อพิจารณา จากทั้งเสียงค้าน และเจ้าของไอเดีย
ก็ต้องยอมรับว่าต่างฝ่ายก็มองถูกกันคนละแบบ
โดยฝ่ายค้านก็มองว่าสิ่งที่หวั่นเกรงกัน คงจะเกิดขึ้นแน่ๆ ส่วนหนึ่งเพราะ
"นิสัย" ซึ่งคนไทยยัง "มักง่าย" อยู่นั่นเอง
ในมุมของ รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร อาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์
ม.มหิดล เห็นว่า คนรักสุนัขส่วนใหญ่พร้อมและอยากจะให้มี Dog Park
มานานแล้ว แต่ กทม.ก็ยังไม่เอาจริงเสียที
อีกทั้งสิ่งที่คิดจะทำมีแต่ประโยชน์ แต่ก็ยังมีคนคัดค้าน ถามว่า หากมี
Dog Park แล้วสังคมจะแย่ลงอย่างไร ซึ่งคนที่คัดค้านก็ค้านหัวชนฝา
โดยที่ไม่รับฟังแนวทาง รายละเอียดต่างๆ หากตั้งธงมาแล้วว่าค้าน
ก็ค้านอย่างไม่ฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน
"กทม. ไม่มีการเตรียมตัวที่ดีพอ
ไม่มีการหาข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่โดยละเอียด
และไม่ชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ ซึ่งสิ่งที่ กทม.ขาดคือความละเอียดอ่อน
เพราะเมื่อชูความคิดนี้ขึ้นมาแต่ไม่ได้มีการพูดคุย สร้างความเข้าใจก่อน
ไม่พยายามหาแนวร่วมให้คนอยากใช้ ดังนั้นจึงมีแต่คนออกมาค้าน
ซึ่งตรงนี้ก็ต้องเห็นใจผู้ที่ค้าน เพราะกทม. เองก็ไม่ได้ให้ข้อมูล
สร้างความเข้าใจอย่างถูกต้องให้เขาเลย" รศ.น.สพ.ปานเทพ ติง
ด้าน อ.สพ.ญ.มธุรวันต์ ทัฬหิกรณ์ รองคณบดีฝ่ายบริการ
คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.มหิดล มองว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้มีคนคัดค้าน
คือความไม่มั่นใจใน "จิตสำนึก" ของเจ้าของสุนัข
กับภาพของสุนัขเดินถ่ายเรี่ยราดหน้าบ้านคนอื่น
หรือเจ้าของปล่อยสุนัขถ่ายโดยไม่สนใจต่อความเป็นสาธารณะ
แต่ทุกวันนี้เชื่อว่า คนที่รักสุนัข เริ่มหันมาใส่ใจ
มีความระมัดระวังและมีความสำนึกมากขึ้น ดังนั้น หากจะมี Dog Park
เจ้าของสุนัขก็ต้องมีนิสัยรับผิดชอบต่อสังคมเกิดขึ้นก่อน
"สุนัข บางตัวเจ้าของรักเหมือนลูก
แต่ก็ต้องปล่อยให้อยู่แต่ในบ้านไม่กล้าให้ออกมาข้างนอกเพราะกลัวสุนัขจรจัด
กัด และสร้างความรำคาญแก่เพื่อนบ้าน เมื่อเป็นเช่นนั้น Dog Park
จึงเป็นเหมือนสถานที่เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ให้เกิดขึ้น
สร้างสุขภาพจิตที่ดี คลายเครียดทั้งหมาและเจ้าของ
ในส่วนคนที่ไม่ชอบก็ต้องเห็นใจคนรักสัตว์ด้วย ทั้ง 2
ส่วนนี้จึงต้องเห็นใจซึ่งกันและกัน" อ.สพ.ญ.มธุรวันต์ ขยายความ
ทั้งนี้ รศ.น.สพ.ปานเทพ มีข้อเสนอว่า
กับเสียงค้านที่ต้องการให้สร้าง Dog Park ห่างจากชุมชนนั้นหากจะทำจริงๆ
Dog Park ก็คงไร้ประโยชน์ เพราะคงไม่มีใครไปใช้บริการ ดังนั้น จึงอยากให้
กทม.ใช้พื้นที่ใต้ทางด่วนมาสร้าง เพราะมีหลายบริเวณที่ยังรกร้าง
ไม่มีใครนำมาทำประโยชน์ กทม.ก็เข้าไปพัฒนา กั้นรั้วรอบขอบชิด
ปรับปรุงพื้นที่ให้ดี เชื่อว่า มีคนใช้บริการแน่นอน
แถมพื้นที่ใต้ทางด่วนส่วนใหญ่ยังอยู่ในละแวกของชุมชน ไม่ไกลจากเมือง
สามารถทำ Dog Park โดยเฉพาะได้เลย ไม่ต้องยุ่งกับสวนสาธารณะของคน
"หาก คิดจะทำจริงๆ ก็คงเสร็จไปนานแล้ว
แต่สิ่งที่ถือเป็นอุปสรรคของเรื่องนี้ คือ
กทม.นั่นเองแหละที่ไม่สร้างความกระจ่าง ไม่หาแนวร่วม
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าอนาคต Dog Park ต้องเกิดขึ้นแน่ แต่ก็ต้องลุ้นไม่ให้
กทม.ถอดใจเสียก่อนเช่นกัน"อาจารย์หมอปานเทพทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปข้อสรุประหว่าง "คน-หมา" จะลงเอยอย่างไร
เสียงค้านจะยังมีอยู่ หรือ กทม.จะพลิกบทบาทจนได้เสียงหนุนเพิ่มขึ้น
ก็คงต้องตามดูกันต่อไป... หากทำได้งานนี้มีหวังได้ใจคนรักหมาไปเต็มๆ
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000087820
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น