++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เจลล้างมือ ฆ่าเชื้อโรค

เจลล้างมือ ฆ่าเชื้อโรค
อ.บวรพงศ์ พรชุติ / ภาควิชาวิศวกรรมเคมี /มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร


เจลล้างมือ (hand cleansing gel)

สุขภาพ เป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้คนยุคนี้สมัยนี้ให้ความสนใจกัน
ใครไม่สนใจสุขภาพจะดูไม่ทันสมัยไม่อินเทรนด์
วัยรุ่นหนุ่มสาวหันมาออกกำลังกายดูแลรักษาผิวพรรณหน้าตาเพื่อเพิ่มเสน่ห์ให้กับตนเอง
ในขณะที่คนทำงานนิยมใช้กีฬาในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานไปจนถึงการเจรจาธุรกิจ
ส่วนคุณลุงคุณป้าวัยเกษียณอายุหมั่นดูแลสุขภาพของตนเองด้วยไม่ต้องการเป็นภาระแก่ลูกหลานอีกทั้งได้เพื่อนคุยยามเหงา

เจลล้างมือในต่างประเทศเป็นที่นิยมในหมู่พ่อแม่ที่มีลูกเล็กๆในฐานะผลิตภัณฑ์สำหรับล้างมือในกรณีที่ไม่มีน้ำและสบู่
ประกอบด้วยแอลกอฮอล์ไม่น้อยกว่า 60 %
โดยแอลกอฮอล์ที่ใช้นิยมเอทิลแอลกอฮอล์ (ethyl alcohol)
ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ (isopropyl alcohol) หรือทั้งสองชนิดผสมกัน
มีที่มาจากความพยายามในการปรับปรุงการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่บนมือจากการสัมผัสผู้ป่วยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

แรกเริ่มเดิมทีก่อนและหลังการพยาบาลผู้ป่วยในห้องพักหมอและพยาบาลจะล้างมือด้วยน้ำและสบู่
จากการศึกษาพบว่าการล้างมือด้วยน้ำและสบู่สามารถกำจัดเชื้อโรคได้ดี
แต่เนื่องจากในห้องพักที่มีผู้ป่วยหลายคนในขณะที่มีอ่างล้างมือเพียงอ่างเดียว
ทำให้การเดินไปล้างมือไม่สะดวก จึงมีการทดลองเพิ่มจำนวนอ่างล้างมือ
พบว่าไม่ทำให้ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเท่าใดนัก
จึงมีการพัฒนาเจลล้างมือซึ่งมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นแอลกอฮอล์ขึ้น
การใช้เจลล้างมือทำได้โดยหยดเจลลงบนฝ่ามือประมาณ 3 - 5 มิลลิลิตร
จากนั้นถูมือไปมาให้ทั่วจนกระทั่งเจลระเหยไปหมด
เจลล้างมือได้รับความนิยมเพราะสะดวก
ไม่จำเป็นต้องเดินไปล้างมือที่อ่างและยืนอยู่ที่อ่างจนกว่าจะล้างเสร็จ
นอกจากนี้สิ่งสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อจากการสัมผัสผู้ป่วยคือต้องฆ่าเชื้อโรคอย่างรวดเร็วซึ่งเจลล้างมือดีกว่าการล้างมือด้วยน้ำและสบู่
เพราะสามารถติดตั้งที่ผนังใกล้เตียงผู้ป่วย หรือใส่ในรถเข็นของนางพยาบาล
แม้กระทั่งทำเป็นขวดเล็กๆพกติดตัวก็ได้

การทำความสะอาดมือสำหรับผู้ที่จะเข้าห้องผ่าตัดจะแตกต่างจากการล้างมือหลังพยาบาลผู้ป่วย
สิ่งสำคัญคือต้องกำจัดจุลินทรีย์ทั้งหมดบนมือศัลยแพทย์
และป้องกันการเจริญเติบโตของแบคทีเรียหลังจากสวมถุงมือยางซึ่งทำให้เกิดสภาวะคล้ายเรือนกระจกที่สามารถเร่งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย
สิ่งนี้มีความสำคัญเนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการรั่วขึ้นบนถุงมือโดยที่ตามองไม่เห็น
ของเหลวจากบาดแผลผู้ป่วยอาจไหลเข้าไปยังถุงมือและนำเชื้อแบคทีเรียกลับไปยังบาดแผลได้
จึงได้มีการทำการทดลองใช้สารละลายไพวิโดนไอโอดีนเข้มข้น 4 % (4% pividone
iodine) หรือสารละลายคลอเฮกซิดีนกลูโคเนทเข้มข้น 4 % (4% aqueous
chlorhexidine gluconate)
ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมในการทำความสะอาดมือก่อนทำการผ่าตัด
เปรียบเทียบกับการใช้เจลล้างมือพบว่ามีประสิทธิภาพใกล้เคียงกันแต่เจลล้างมือระคายเคืองน้อยกว่า

จะเห็นว่าแรกเริ่มเดิมทีเจลล้างมือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในโรงพยาบาลที่ต้องการความปลอดเชื้อซึ่งออกจะไกลตัวบุคคลทั่วไป
เมื่อมีการนำผลิตภัณฑ์นี้เข้าสู่ตลาดของผู้บริโภคทั่วไปจึงเกิดคำถามที่ว่าผู้บริโภคมีความจำเป็นในการใช้ผลิตภัณฑ์นี้หรือไม่
ในประเด็นนี้ผู้เขียนไม่ขอออกความเห็นและยืนยันว่าบทความนี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อต่อต้านผลิตภัณฑ์ชนิดนี้
เพราะผู้เขียนเองก็ซื้อไปใช้ระหว่างท่องเที่ยวเสมอ
อย่างไรก็ดีการทำความสะอาดมือควรใช้วิธีล้างด้วยน้ำและสบู่ถ้าทำได้
จากนั้นจึงค่อยใช้เจลล้างมือเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย
เพราะจากคำแนะนำในการใช้เจลล้างมือเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียไม่ควรใช้ขณะมือสกปรก
เช่น เปื้อนฝุ่นผง
แต่ถ้าไม่มีน้ำและสบู่การล้างมือด้วยเจลล้างมือก็ย่อมจะดีกว่าไม่ล้างเสียเลย

เนื่องจากองค์ประกอบส่วนใหญ่ของเจลล้างมือคือแอลกอฮอล์จึงมีสมบัติของการเป็นตัวทำละลาย
ดังนั้น การใช้เจลล้างมือจึงทำให้เกิดการชะชั้นน้ำมันบางๆที่เคลือบผิวหนังซึ่งทำหน้าที่ป้องกันเชื้อแบคทีเรีย
แม้ว่าแอลกอฮอล์จะกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ได้ดีเมื่อมีความเข้มข้นตั้งแต่ 60
- 90 % โดยน้ำหนัก ผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดจะใช้ความเข้มข้นไม่เกิน 70 %
เพราะจะทำให้ผิวแห้งจากการสูญเสียชั้นน้ำมัน อาจเกิดการแพ้ได้ง่าย
และต้นทุนในการผลิตเจลสูงขึ้น
เพื่อลดปัญหาผิวแห้งจากการใช้เจลจึงมีการเติมสารบางชนิดเข้าไปนั่นคือ
moisturizer ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียด้วย
เพราะทำให้การระเหยช้าลง แอลกอฮอล์จึงสัมผัสเซลล์แบคทีเรียนานขึ้น

ข้อเสียสำคัญอีกข้อหนึ่งของ เจล ล้างมือคือการเป็นสารระเหยง่าย
(volatile material) และติดไฟได้ง่าย (highly flammable)
มีจุดวาบไฟประมาณ 20 องศาเซลเซียส
จุดวาบไฟคืออุณหภูมิที่ทำให้ของเหลวระเหยเป็นไอในปริมาณมากพอที่จะทำให้เกิดการลุกไหม้ได้เมื่อมีสะเก็ดไฟ
จะเห็นว่าจุดวาบไฟของเจลล้างมือมีค่าค่อนข้างต่ำคือมีค่าน้อยกว่าอุณหภูมิทั่วไปของอากาศบ้านเราเสียอีก
ดังนั้น เจลล้างมือจึงมีความเสี่ยงในการติดไฟสูง
แม้ว่าในต่างประเทศจะมีการใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้มาเป็นเวลาพอสมควรและแทบจะไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจากการใช้เจลล้างมือเลยก็ตาม
แต่ก็มีรายงานอยู่บ้างเป็นเหตุการณ์เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ดูแลสุขอนามัยคนหนึ่ง

เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวได้เดินไปกดเจลล้างมือลงบนฝ่ามือ
จากนั้นถอดเสื้อคลุม (gown) ออก นำไปพาดไว้ จากนั้นถูมือไปมา
ขณะเดียวกันก็เดินไปดึงประตูเลื่อน
ทันใดเจ้าหน้าที่คนนั้นก็ได้ยินเสียงเหมือนไฟช็อต เห็นแสงสว่างวาบขึ้น
เปลวไฟลุกบนฝ่ามือของเธอ
เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปพบว่ามือของเธอถูกไฟลวกเป็นรอยแดงแต่ไม่มีแผลพุพองแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดีคงไม่มีใครอยากจะได้รับประสบการณ์เช่นนี้

ได้มีการอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า
มีไฟฟ้าสถิตเกิดขึ้นที่เสื้อคลุมของเจ้าหน้าที่ที่ทำจากโพลีเอสเตอร์ 100
% (100 % polyester) ซึ่งเกิดขึ้นได้ง่ายเพราะเป็นเส้นใยที่มีความชื้นต่ำ
เมื่อเธอเอื้อมมือไปดึงประตูเลื่อนโลหะ
ไฟฟ้าสถิตจากมือของเธอจึงเคลื่อนที่ไปยังประตู เกิดประกายไฟ
ทำให้เจลที่เหลืออยู่บนมือลุกติดไฟ ดังนั้น
การใช้เจลล้างมือจึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง

การใช้เจลล้างมืออย่างถูกวิธีเพื่อป้องกันการติดไฟทำได้โดย
ขณะใช้ควรอยู่ห่างจากเปลวไฟ แหล่งให้ความร้อนหรือ สะเก็ดไฟ เช่น
ไม่ใช้ขณะเล่นรอบกองไฟ ขณะทำอาหาร หรือขณะสูบบุหรี่
นอกจากนี้ควรใช้ในบริเวณที่อากาศถ่ายเทสะดวก
เพื่อป้องกันการสะสมของไอระเหยซึ่งติดไฟง่าย
แม้ว่าจุดวาบไฟจะต่ำแต่ถ้าอากาศถ่ายเทสะดวก
ความเข้มข้นของไอระเหยจะไม่มากพอที่จะติดไฟได้
และควรถูมือให้แอลกอฮอล์ระเหยไปจนหมดก่อนที่จะทำกิจกรรมอื่นต่อไป

สิ่งสุดท้ายที่ต้องคำนึงถึงได้แก่การเก็บรักษา
อาศัยหลักการเช่นเดียวกับการใช้คือ
ควรเก็บรักษาในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส
เก็บให้ห่างจากเปลวไฟ แหล่งให้ความร้อนหรือสะเก็ดไฟ
ไม่วางไว้ในที่ที่แดดส่องถึง
บริเวณที่เก็บไม่ควรมีการสูบบุหรี่และอากาศถ่ายเทสะดวก
สุดท้ายนี้ผู้เขียนอยากจะฝากไว้ว่าสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆสมัยนี้แม้จะมีคุณอนันต์หากไม่รู้จักใช้ก็มักจะมีโทษมหันต์
การจับจ่ายเงินทองซื้อข้าวของมาอำนวยความสะดวกจึงจำเป็นต้องเข้าใจตัวผลิตภัณฑ์นั้นๆด้วยเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าและปลอดภัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น