++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เวทีนโยบาย:ต้นน้ำแห่งชีวิตเกษตรกร

โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ 3 สิงหาคม 2552 15:43 น.
เมื่อน้ำคือจุดกำเนิดแห่งสรรพชีวิต
ประเทศไทยก็ดุจเดียวกันก่อเกิดและรุ่งเรืองได้ด้วยความอุดมสมบูรณ์แห่งแหล่ง
น้ำ ดังอารยธรรมมากมายที่ผุดพรายรายรอบลุ่มน้ำในอดีต
ต่างจากปัจจุบันที่ความสำคัญของแหล่งน้ำในการรวมศูนย์รังสรรค์วัฒนธรรมได้ลด
ลง โดยเฉพาะวัฒนธรรมเกษตรกรรมที่ถูกทอนคุณค่าลงไปในกระแสเศรษฐกิจทุนนิยมซึ่ง
การเคลื่อนย้ายทุนและแรงงานง่ายดายเพียงคลิก

ถึงกระนั้น
เศรษฐกิจฐานรากของไทยไม่ใช่ตลาดหุ้นหรืออุตสาหกรรมตามการอุปโลกน์ตัวเองว่า
เป็นนิกส์ เสือ หรือดีทรอยส์เอเชีย
เพราะผ่านมาพิสูจน์ชัดว่านอกจากมีค่าเพียงฐานการผลิตราคาถูกที่ขาดนวัตกรรม
ของตัวเองแล้ว คราวถึงภาวะล่มสลายจากปัจจัยภายในอย่างการละโมบลงทุนเกินตัวช่วงเศรษฐกิจต้ม
ยำกุ้ง หรือปัจจัยภายนอก เช่น ทุนนิยมตัวเอ้อเมริกาถดถอยทางเศรษฐกิจ
ทั้งประชาชนและประเทศชาติต่างก็หันมาพึ่งพิงพึ่งพาเกษตรกรรมเป็นทางรอด
ทางออกด้วยกันทั้งสิ้น

หากทว่าระบบเกษตรกรรมไทยเองก็กลับกำลังเผชิญวิกฤตเรื้อรังด้วยหลงทิศ
นับแต่ก้าวตามการปฏิวัติเขียวแบบไม่ลืมหูลืมตาทว่าลืมเลือนภูมิปัญญาท้อง
ถิ่น การหวนคืนสู่ภาคการเกษตรจึงหมายถึงการนำเข้าเคมีภัณฑ์และเมล็ดพันธุ์จาก
บรรษัทเกษตรกรรมข้ามชาติและระดับชาติมากขึ้น

ยิ่งยืนหยัดดำรงวิถีชีวิตเกษตรกรดั้งเดิมไม่อยู่ใต้อาณัติเกษตรเชิง
เดี่ยวหรือเกษตรพันธสัญญายิ่งผจญความยากลำบากจากการถูกกีดกันแย่งชิงฐาน
ทรัพยากรและปัจจัยผลิตหลัก เมล็ดพันธุ์ ที่ดิน แหล่งน้ำ
โดยกลุ่มทุนธุรกิจเกษตรที่มีอิทธิพลเหนือนโยบายรัฐด้วยวาทกรรมการพัฒนาและ
สิทธิบัตร

การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างขาดธรรมาภิบาล
เอื้อประโยชน์บรรษัทเกษตรกรรมกว่าเกษตรกร
รวมถึงเปิดกว้างให้นิคมอุตสาหกรรมฉกฉวยแหล่งน้ำไปใช้สูงขึ้นเรื่อยๆ
โดยไม่คำนึงถึงการปนเปื้อนมลพิษของน้ำเสียที่ถูกทิ้งจากโรงงาน
ย่อมนำการล่มสลายสู่ระบบเกษตรกรรมไทยในท้ายสุด
ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรายย่อยหรือบรรษัทเกษตรกรรมยักษ์ใหญ่ -
ต่างกันเพียงโมงยามมาถึงเท่านั้น

ถ้าพินิจพื้นที่ทำการเกษตร 111
ล้านไร่ที่จำแนกเป็นพื้นที่ชลประทาน 37 ล้านไร่ 1.9 ล้านครัวเรือน
และพื้นที่เกษตรน้ำฝน 74 ล้านไร่ 3.7 ล้านครัวเรือน
จากพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ 320 ล้านไร่ ประชากร 15.9 ล้านครัวเรือน
จักพบว่าระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำยังครอบคลุมได้ไม่ถึงครึ่ง
ซึ่งที่แล้วมาเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังทำมาหากินอยู่ได้ก็ด้วยฝนฟ้ายังตกต้อง
ตามฤดูกาลเท่านั้น

ครั้นหวังอาศัยน้ำฝนในภาวะโลกร้อนอากาศแปรปรวนก็ยากเกินกว่าจะคำนวณ
ฤดูเพาะปลูกเก็บเกี่ยวได้ถูกต้องดังก่อน
ทั้งน้ำท่วมฝนแล้งยังเกิดสม่ำเสมอ
ชีวิตเกษตรกรไทยจึงเสี่ยงกว่าเดิมด้วยไม่อาจหวังฝนฟ้าหรือกระทั่งพึ่งพาระบบ
ชลประทานจากแหล่งน้ำมากมายในผืนแผ่นดินไทยได้

25 ลุ่มน้ำหลักและ 254
ลุ่มน้ำย่อยของประเทศที่คิดเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำราว 512,000 ตร.กม.
ที่มีทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำปัตตานี ลุ่มน้ำท่าจีน
และลุ่มน้ำแม่กลอง ที่เคยอุดมจนสร้างสรรค์อารยธรรมหลากหลาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกษตรกรรมที่สอดคล้องวิถีชีวิตวิถีวัฒนธรรม
กลับไม่อาจทำหน้าที่ดีเท่าเดิม
ด้วยถูกการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจำกัดการเข้าถึงและกำจัดการจัดสรร

ถึงแม้พื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทานจะมีไม่ถึง
ครึ่งของพื้นที่ทางเกษตรทั้งหมด ทั้งยังแปรผันกันไปในแต่ละลุ่มน้ำหลัก
ดังพื้นที่ลุ่มน้ำประธานในภาคกลางที่มีลุ่มน้ำเจ้าพระยา สะแกกรัง ป่าสัก
ท่าจีน แม่กลอง เพชรบุรี และชายฝั่งทะเลตะวันตก 11.9
ล้านไร่นั้นเป็นพื้นที่ชลประทานถึง 11.7 ล้านไร่ หรือร้อยละ 97.69
ขณะที่ลุ่มน้ำประธานในภาคเหนือที่มีลุ่มน้ำสาละวิน กก ปิง วัง ยม น่าน
10.3 ล้านไร่ ก็เป็นพื้นที่ชลประทานเพียง 5.1 ล้านไร่ หรือร้อยละ 49.04

นั่นทำให้ต้องเร่งพัฒนาระบบชลประทานที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลบนผล
ประโยชน์ประชาชนเป็นสำคัญ
อย่างน้อยสุดก็ต้องขยายพื้นที่ชลประทานให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีศักยภาพในการ
พัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทานที่มีทั้งสิ้น 60.3 ล้านไร่ให้ได้โดยไว
เนื่องด้วยในปัจจุบันพัฒนาไปแล้วเพียง 28.1 ล้านไร่เท่านั้น
แยกเป็นพื้นที่ชลประทานโดยการดำเนินโครงการชลประทานขนาดใหญ่และขนาดกลาง
23.7 ล้านไร่ และโครงการชลประทานขนาดเล็กและโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 4.4
ล้านไร่

ทั้ง นี้
ในทางปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจักต้องผสานความกล้าหาญของผู้
ปฏิบัติการ ความจริงใจในสัญญาทางการเมืองของผู้กำหนดนโยบาย
และเจตนารมณ์ของกฎหมาย เข้าด้วยกันอย่างลงตัว
จนกระทั่งมีพลังเพียงพอพลิกวิกฤตทรัพยากรน้ำจากเคยควบคุมชีวิตกลับมาให้
กำเนิดชีวิต เพราะวิถีเกษตรกรนับแต่หวานเพาะเมล็ดพันธุ์ยันเก็บเกี่ยวผลงานงามล้วนแล้ว
แต่ต้องมีน้ำเลี้ยงชีวิต

อนึ่งในระดับปฏิบัติการนั้นพันธกิจกรมชลประทาน พ.ศ.2552
ที่เน้นหนักพัฒนาแหล่งน้ำตามศักยภาพของลุ่มน้ำให้สมดุล
บริหารจัดการน้ำอย่างทั่วถึง เป็นธรรม ยั่งยืน
เสริมสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาและบริหารจัดการน้ำทุกระดับอย่าง
บูรณาการ และดำเนินการป้องกันบรรเทาภัยภายใต้วิสัยทัศน์ น้ำสมบูรณ์
สนับสนุนการผลิต เสริมสร้างคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจมั่นคง
คงนำรอยยิ้มมาสู่เกษตรกรรายย่อยได้บ้างเพราะจะสามารถเข้าถึงและครอบครอง
ปัจจัยผลิตหลักนี้มากกว่าเก่า

ด้านคำมั่นสัญญาทางการเมืองสวยหรูดูดีต่อชีวิตชาวนาชาวไร่ดังแถลง
นโยบายต่อรัฐสภาว่านโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรกคือทำแผนฟื้นฟู
เศรษฐกิจระยะสั้นภาคการเกษตร พัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติ
เร่งลงทุนพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำและการชลประทานโดยให้ความสำคัญกับการมี
ส่วนร่วมของประชาชนและธรรมาภิบาล
รวมถึงสร้างรายได้และศักยภาพทางเศรษฐกิจในระดับฐานรากโดยจัดตั้งกองทุน
เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและทรัพยากรธรรมชาติระดับชุมชน

ตลอดจนจัดหาแหล่งน้ำให้ทั่วถึงเพียงพอ
เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรน้ำเพื่อการผลิตทางการเกษตรแก้ภัยแล้งและให้
เหมาะสมกับชนิดพืช เพิ่มพื้นที่ชลประทานทุกขนาด ขยายระบบการกระจายน้ำ
และที่สำคัญจัดตั้ง 'สภาเกษตรกรแห่งชาติ'
เพื่อให้เกษตรกรมีส่วนร่วมเสนอนโยบายและวางแผนพัฒนาการเกษตรอย่างเป็นระบบ
จะไม่เป็นเพียงลมปากหวานหูถ้ารัฐบาลตระหนักรู้ว่าการกระทำสำคัญกว่าคำพูด
(Actions speak louder than words.)

ส่วนกฎหมายสูงสุดถ้าไม่ถูกบิดเบือนเจตนารมณ์ก็จะคลิกชีวิตเกษตรกรราย
ย่อยไทยให้เข้าถึงและครอบครองปัจจัยการผลิตหลักทั้งเมล็ดพันธุ์ ที่ดิน
แหล่งน้ำได้ โดยเฉพาะมาตรา 85(2)
ที่กำหนดให้รัฐต้องจัดหาแหล่งน้ำเพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้อย่างเพียงพอเหมาะ
สมแก่การเกษตร มาตรา 85(4)
จัดให้มีแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและทรัพยากรธรรมชาติอื่นอย่างเป็น
ระบบและเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม รวมถึงสำคัญสุด มาตรา 84(8)
ที่ต้องส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรในการวางแผนและรักษาประโยชน์ร่วมกัน
เพราะจะสามารถแปรถ้อยความหลักการสู่การปฏิบัติได้ดีที่สุด

การร่วมขับเคลื่อน
พ.ร.บ.สภาเกษตรกรกับภาคประชาสังคมที่มุ่งสร้างเสริมสิทธิเกษตรกร
(Farmers' Rights) ให้เข้าถึงปัจจัยผลิตหลักจึงควรเป็นทั้งยุทธศาสตร์
เป้าประสงค์ และตัวชี้วัดที่รัฐบาลพูดจริงทำจริง จริงใจ
และประชาชนต้องมาก่อนตระหนัก
เพราะนอกจากพรากแอกอาณัติอิทธิพลจากบ่าไหล่เกษตรกรรายย่อยจำนวนมหาศาลทั่ว
ประเทศได้แล้ว ยังทวีความเข้มแข็งขึ้นด้วยการรื้อถอนโครงสร้างการผลิตทางการเกษตรเสียใหม่
ให้สอดรับกับการเพิ่มมูลค่า (Value Added)
สินค้าเกษตรด้วยทักษะด้านการบริหารจัดการผลผลิตและองค์กรเกษตรกรรูปแบบต่างๆ
โดยใช้องค์ความรู้ นวัตกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น
และเทคโนโลยีที่เหมาะสมบนชานชาลาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Creative
Economy) ที่เกษตรกรไทยไม่ว่าปลายอ้อปลายแขมแค่ไหนก็โดยสารได้

พ. ร.บ.สภาเกษตรกรจะประดุจสายธารการเปลี่ยนผ่านอย่างสร้างสรรค์สำหรับเกษตรกร
รวมถึงรัฐบาลในห้วงยามการเมืองเศรษฐกิจรุมเร้าทุกทิศทางโดยไม่ต้องโหมโฆษณา
ชวนเชื่อโชว์ผลงาน
เพราะความเป็นอิสระเหนืออาณัติพันธนาการครอบครองของบรรษัทเกษตรกรรมในปัจจัย
ผลิตหลักเท่านั้นจึงจะนำความรุ่มรวยมาสู่ชีวีและธรณีได้

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000087728

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น