++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เชื้อร้ายไม่มีวันตาย 'กาฬโรคปอด' สกัดได้ที่ตัวพาหะ

Subject: เชื้อร้ายไม่มีวันตาย

'กาฬโรคปอด' สกัดได้ที่ตัวพาหะ!!

หลังจากที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009
มีผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ประชาชนยังขวัญเสียไม่หาย
แต่ขณะนี้ชาวโลกต้องหันมาตื่นตระหนกกับกระแสการระบาดครั้งใหม่ของ
"กาฬโรคปอด" ที่เกิดขึ้นในประเทศจีนมีผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ศพ
โดยทางองค์การอนามัยโลกออกมา เตือนว่า
เชื้อที่พบเป็นเชื้อชนิดเดียวกันกับ "กาฬโรคชนิดต่อมน้ำเหลืองอักเสบ"
ที่คร่าชีวิตผู้คนในยุโรปมาแล้วถึง 25 ล้านคนเมื่อหลายร้อยปีก่อน

หากถึงคราวที่ต้องเผชิญกับโรคร้ายนี้อีกครั้งหนึ่ง เราควรทำความรู้จัก
รวมถึงวิธีการป้องกัน ดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรค อันตรายนี้

โดย นพ.โอภาส การ์ย กวินพงศ์ ผอ.สำนักโรคติดต่อทั่วไป กระทรวงสาธารณสุข
ให้ความรู้ว่า กาฬโรคปอดเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เรียกว่า
เยอซิเนีย เพสทิส (Yersinia Pestis) มีลักษณะเป็นแท่ง อยู่ใน
สัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมโดยเฉพาะสัตว์ฟันแทะเพราะทำให้เชื้อเข้าสู่เยื่อในปากได้ง่าย
เช่น หนู กระรอก กระต่าย กระแต แมว และสุนัข มีพาหะที่สำคัญ คือ
"หมัดหนู" มีขนาดเล็กไม่กี่มิลลิเมตร สามารถ กระโดดได้ไกลถึง 1 เมตร หรือ
200 เท่าของขนาดตัวของมันเอง

วิธีการติดต่อจากสัตว์สู่คนมี 2 ทาง คือ

1.ทางมูลหมัด เชื้อแบคทีเรียที่ถูกถ่ายออกมาพร้อมกับมูลของหมัดอาจเข้าสู่ร่างกายของคนทางบาดแผลได้
และ

2.หมัดกัด เมื่อหมัดไปกัดสัตว์ฟันแทะต่าง ๆ เช่น
กัดหนูที่มีเชื้อโรคก็จะทำให้เชื้อแบค
ทีเรียเพิ่มจำนวนในตัวหมัดอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดการอุดตันและหากหมัดไปกัดคนเพื่อดูดเลือดอีกก็จะทำให้กลืนเลือดไม่เข้าจึงต้องคายหรือสำรอกเลือดที่ผสมเชื้อแบคทีเรียออกมาเข้าสู่บาดแผลของคนที่มันกำลังดูดเลือดอยู่
จึงทำให้เชื้อโรคเข้าสู่คนได้ 2 ทางหลัก ๆ ได้แก่
ต่อมน้ำเหลืองและกระแสเลือด

สำหรับเชื้อโรคที่เข้าทางต่อมน้ำเหลืองหากถูกหมัดกัดที่บริเวณขาจะทำให้ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตและหากถูกกัดบริเวณแขนก็จะทำให้ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้
หรือคอโต โดยเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้มีระยะฟักตัวของโรคประมาณ 1-7 วัน
จากนั้นจะเริ่มแสดงอาการด้วยการมีไข้ ตามด้วยต่อมน้ำเหลืองโตและแตก
เชื้อกระจายเข้าสู่กระแสเลือดทำให้เลือดเป็นพิษในที่สุด
หากไม่รีบรักษาอาจลุกลามเข้าไปที่เนื้อเยื่อของปอด
ทำให้เกิดปอดบวมและเสียชีวิตอย่างรวดเร็วภายใน 24-48 ชั่วโมง ส่งผลให้
กาฬโรคปอดมีอัตราการป่วยและเสียชีวิตประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์
ส่วนกาฬโรคต่อม น้ำเหลืองมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์

นอกจากกาฬโรคปอดจะติดต่อจากสัตว์สู่คนแล้ว
ยังสามารถติดต่อได้จากคนสู่คนโดยวิธีการติดต่อเหมือนกับโรคปอดหรือไข้หวัดใหญ่

คือ หลังจากที่เชื้อเข้าปอดคนหนึ่งแล้วจะสามารถติดต่อไปสู่อีกคนหนึ่งได้จากทางเดินหายใจด้วยการไอหรือจาม
หรือจากสิ่งของปนเปื้อนเชื้อโรคใหม่ ๆ
แต่จะแตกต่างกันตรงที่กาฬโรคปอดติดต่อได้ยากกว่า
เนื่องจากผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรงมากถ้าไม่เสียชีวิตทันทีก็จะต้องนอนพักรักษาตัวที่บ้านหรือโรงพยาบาลไม่มีโอกาสไปคลุกคลีกับผู้อื่นหรือออกไปเดินนอกบ้านเพื่อแพร่เชื้อ
ไปสู่ผู้อื่นได้
ส่วนกลุ่มเสี่ยงคือบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดหรือบุคคลที่อยู่ในบ้านเดียวกันกับผู้ป่วยขณะติดเชื้อ
เช่น พ่อ แม่ ญาติ พี่น้อง

อาการของกาฬโรคปอดนี้จะมีไข้ขึ้นสูง หนาวสั่น ปวดหัวรุนแรง ปวดเมื่อยตัว
เหนื่อยหอบ ต่อมาจะมีอาการไอถี่ขึ้นและไอเป็นเลือดซึ่งจะเกิดขึ้นภายใน 24
ชั่วโมง

ส่วนเสมหะตอนแรกจะเหนียวใสจากนั้นกลายเป็นสีสนิมหรือแดงสด
ถ้าไม่รีบมาพบแพทย์เพื่อรักษาจะเสียชีวิตภายใน 48 ชั่วโมง
ซึ่งการวินิจฉัยนั้นทำได้โดยการตรวจเลือด
น้ำเหลืองและไขสันหลังหรือการวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยโดยการเก็บเสมหะ
ย้อมสีกรัมและเพาะเชื้อในอาหารเพาะเลี้ยงธรรมดา ส่วนขั้นตอนการรักษานั้น
นพ.โอภาส อธิบายว่า
สำหรับผู้ที่ติดเชื้อแพทย์จะรักษาให้หายได้ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ ได้แก่
สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) เตตระซัยคลิน (tetracycline) หรือ
คลอแรมเฟนิคอล (Chloram phinicol) หลังจากรับประทานแล้วจะหายป่วยได้ภายใน
7-14 วันหรือขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ

ถึงแม้ประเทศไทยจะปลอดจากโรคนี้มานานกว่า 50 ปีแล้วก็ตาม
แต่หากมีอาการผิดปกติหรือมีอาการอย่างที่กล่าวไปข้างต้นให้รีบมาพบแพทย์เพื่อให้ยารักษาก่อนที่จะลุกลามรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต

ทั้งนี้สิ่งสำคัญคือการป้องกันตัวเองให้อยู่ห่างจากโรคร้ายนี้ด้วยการดูแลบ้านเรือนให้สะอาดอยู่เสมอ
เพราะโรคนี้มีหนูเป็นหลักในการเกิดเชื้อโรค ดังนั้นจึงต้องมีการป้องกัน 2
ทางได้แก่ ป้องกันไม่ให้หนูเข้าบ้าน
หากบ้านไหนมีเศษอาหารเหลือทิ้งหรือสกปรกรกรุงรังก็จะทำให้หนูเข้าบ้านได้
ฉะนั้นเราจึงควรเก็บข้าวของที่ไม่ใช้แล้วทิ้ง
อย่าปล่อยไว้ให้เป็นรังหรือที่อาศัยของหนูและเก็บเศษอาหารให้มิดชิด

วิธีกำจัดหนู ถ้าเราไม่สามารถสกัดกั้นหนูได้มีวิธีกำจัดหนู 3 วิธี ได้แก่
ใช้กาวดักหนู กรงดักหนู และวิธีธรรมชาติคือใช้แมวให้กินหนู
รวมทั้งควบคุมหมัดของสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและแมว
ซึ่งเราสามารถป้องกันหมัดได้ด้วยวิธีทาสารไล่แมลงที่ข้อเท้าและขากางเกง

นอกจากหนูและหมัดที่เป็นตัวการหลักในการนำเชื้อโรคมาสู่คนแล้ว
เราต้องรู้จักดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ
ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
รับประทานอาหารที่สะอาดถูกหลักอนามัยและมีประโยชน์
งดการสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์
รวมทั้งหมั่นฝึกฝนปฏิบัติตัวด้านความสะอาดให้ถูกหลักสุขาภิบาลและถูกสุขลักษณะด้วยเพื่อให้ห่างไกลจากโรคร้ายนี้ต่อไป.

ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น