++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2552

อึ้ง! จอตู้มีรายการวิทย์ไม่ถึง 2% นักวิชาการแนะเพิ่มจำนวน ปชช.จะไม่งมงาย

อึ้งรายการวิทยาศาสตร์ในจอตู้ รวมกันทุกช่องเพียง 1.94%
ของเวลาออกอากาศทั้งหมด ระบุ ทีวีไทยมากสุด 8 รายการ
เผยรูปแบบรายการสารคดีเยอะสุด ขณะที่เนื้อหา เน้นแต่ข้อมูลข่าวสาร
แต่เข้าไม่ถึงแก่นความรู้-ความคิด นักวิทยาศาสตร์ ชี้ ต้องเร่งเสริมสร้าง
เพราะหากสังคมมีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์ บ้านเมืองจะพัฒนา
ไม่งมงาย-หลงเชื่อไร้เหตุผล

ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Monitor)
จัดเสวนา "รายการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในฟรีทีวี" นายธาม
เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อ
กล่าวว่า การศึกษาโทรทัศน์ฟรีทีวีเรื่องเนื้อหารายการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
พบ 26 รายการ คิดเป็น 1,137 นาทีต่อสัปดาห์ หรือคิดเป็น 1.94 %
ของเวลาออกอากาศ ในจำนวนนี้เป็นรายการจากต่างประเทศ 8 รายการ
ผลิตในประเทศ 18 รายการ
แต่รายการจากต่างประเทศกลับมีเวลาออกอากาศมากกว่ารายการที่ผลิตในไทย
โดยช่องที่มีเนื้อหาวิทยาศาสตร์มากที่สุด คือ ทีวีไทย 8 รายการ
รองลงมาช่อง 9 มี 7 รายการ NBT มี 5 รายการ ช่อง 3 ช่อง 5 และช่อง 7
พบสถานีละ 2 รายการ

นายธาม กล่าวอีกว่า ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบรายการสารคดีมากที่สุด
รองลงคือ แมกกาซีน เกมโชว์ การ์ตูน และการประกวดแข่งขัน
โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายคนทั่วไปมากที่สุด ตามด้วยเด็กและเยาวชน ทั้งนี้
มีการเสนอทักษะการสังเกตในทุกรายการ
ยกเว้นรายการที่เสนอข่าวสารความก้าวหน้าของเทคโนโลยี
ส่วนทักษะที่พบรองลงมา คือ การตีความหมายและสรุปข้อมูล ซึ่งทั้ง 2
กระบวนการนั้น เป็นกระบวนการแรก และสุดท้ายของกระบวนการวิทยาศาสตร์
ขณะที่กระบวนการอื่นๆ เช่น ทดลองหรือตั้งสมมติฐาน
ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการให้แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ กลับไม่ได้รับความสำคัญ

"ประเด็น สำคัญที่พบ คือ รายการวิทยาศาสตร์มีวัตถุประสงค์
เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารมากที่สุด ทั้งที่รายการประเภทนี้
ควรมีแก่นแท้ที่ให้ความรู้ แนวคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์
ให้ผู้ชมเข้าใจหลักการ เหตุผล ปรากฏการณ์ที่เกิดอย่างเป็นเหตุและผล
เกิดทักษะในการค้นคว้า ส่งเสริมความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ อาทิ
คิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล ไม่หลงเชื่อโดยง่าย อีกทั้งการนำเสนอเทคโนโลยี
ควรเสนอโดยให้ข้อมูลอย่างรอบด้าน ทั้งเบื้องหลังหลักการของการสร้าง
วิธีการใช้ คุณประโยชน์ โทษ ผลกระทบ ความจำเป็น และความเหมาะสมต่อผู้ใช้
รวมถึงการใช้เทคโนโลยีอย่างคำนึงถึงหลักจริยธรรม
โดยไม่เน้นภาพลักษณ์ของเทคโนโลยีที่ทันสมัยแล้วจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด"
นายธาม กล่าว

นายชัยวัฒน์ คุประตกุล นักวิทยาศาสตร์และนักสื่อสารทางวิทยาศาสตร์
กล่าวว่า พัฒนาการของรายการวิทยาศาสตร์ทางโทรทัศน์ถือว่าดีขึ้น
เมื่อเทียบกับ 10 กว่าปีที่ผ่านมา
ซึ่งรายการวิทยาศาสตร์จะช่วยสร้างประชาชนที่มีคุณภาพมากขึ้น
เพราะหากสังคมใดมีประชากรที่มีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์ คือ มีเหตุและผล
จะทำให้ลดความงมงาย ลดความเชื่อที่ผิดๆ
แม้รายการโทรทัศน์ที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์จะมีเพิ่มขึ้น
แต่ความหลากหลายของรายการยังไม่เพียงพอ โดยขาดรายการวิทยาศาสตร์แบบสดๆ
ที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้อย่างหลากหลาย
รวมถึงรายการวิทยาศาสตร์กึ่งบันเทิง และนิยาย ละครวิทยาศาสตร์
เป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างจินตนาการทางวิทยาศาสตร์
ทั้งยังปลูกฝังความเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะสามารถเข้าถึงได้ง่าย

ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ
ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
(ไบโอเทค) (สวทช.) กล่าวว่า ไม่แปลกใจกับผลการศึกษาที่ออกมา
ซึ่งสถานีต่างๆ ควรพิจารณาเรื่องเวลาการออกอากาศว่าเหมาะสมหรือยัง
อีกทั้งควรรายการวิทยาศาสตร์ในรูปแบบเกมโชว์
เพราะเป็นสิ่งที่ประชาชนสนใจและเข้าใจได้ง่าย
รวมทั้งทำให้ภาพของวิทยาศาสตร์นั้นเป็นต้นแบบให้กับคนในสังคม
ไม่ใช่นึกถึงนักวิทยาศาสตร์ก็จะเป็นคนที่หัวยุ่งๆ เหมือนไอน์สไตน์เสมอไป

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000093536

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น