++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

พิชิตเลข....กับแชมป์คณิตศาสตร์โลก

พิชิตเลข....กับแชมป์คณิตศาสตร์โลก

รายงานพิเศษ โดย.....สุกัญญา แสงงาม

ขณะ ที่เด็กๆ จำนวนไม่น้อยเกลียดวิชา "คณิตศาสตร์" เหมือนกับยาขม
แต่ก็มีเด็กอีกจำนวนหนึ่งชื่นชอบการเรียนวิชานี้เป็นอย่างมาก ดังเช่น
บรรดาเด็กไทยที่เดินทางไปแข่งขันคณิตศาสตร์โลก
ระหว่างประเทศที่สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ประเภทบุคคลและประเภททีม
และสามารถคว้าเหรียญทองได้ 14 เหรียญทอง 19 เหรียญเงิน และ 16
เหรียญทองแดง

คำถามที่ตามก็คือ
อะไรคือแรงดลใจให้พวกเขาชื่นชอบวิชาที่คนจำนวนมากไม่อยากเข้าใกล้

ด.ช.จิรวัชร อนันต์โรจน์วงศ์ นักเรียนชั้น ม.3 ร.ร.สาธิต
มศวปทุมวัน เจ้าของรางวัลเหรียญทองประเภททีม รางวัลกลุ่ม และประเภทบุคคล
เล่าถึงเคล็ดลับการทำคะแนนคณิตศาสตร์ ว่า
ก่อนอื่นเวลาเรียนจะต้องตั้งใจเรียน หากไม่เข้าใจตรงไหนให้ถามอาจารย์
อย่าปล่อยไป ที่สำคัญ อย่าใช้วิธีจำ ต้องใช้ทำความเข้าใจ
และหมั่นทำคณิตศาสตร์อย่างสม่ำเสมอ ยิ่งทำทุกวันยิ่งดี

ทั้งนี้ ในช่วงใกล้สอบจะแบ่งเวลาวันละ 2 ชั่วโมง ทำโจทย์คณิต
หากเป็นช่วงปกติจะฝึกฝนวันละชั่วโมง
เพราะการฝึกฝนทุกวันจะกระตุ้นให้คิดคณิตเร็วขึ้น

"จะเก่งคณิต ต้องเริ่มจากครอบครัวปลูกฝังเรื่องเลข ตั้งแต่เด็ก
เวลาผมไปซื้อของกับแม่ แม่จะให้เช็กรายการสินค้าที่ซื้อว่าถูกต้องหรือไม่
เป็นชิ้น และรวมราคาทั้งหมด ตรงนี้เป็นการฝึกความละเอียด
พอมาที่โรงเรียนทางโรงเรียนจะมีการจัดการเรียนการสอนพิเศษให้กลุ่มเด็ก
อัจฉริยะ เพื่อเพิ่มทักษะให้แก่นักเรียน
และพยายามส่งนักเรียนเข้าแข่งขันตามโครงการต่างๆ
เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์นอกห้องเรียน กระตุ้นให้เด็กเกิดความตื่นตัว
กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้เรื่องใหม่" ด.ช.จิรวัชร แนะนำ

ด้าน น.ส.นัฐนิชา เทพพรพิทักษ์ นักเรียนชั้น ม.4
ร.ร.มหิดลวิทยานุสรณ์ เจ้าของรางวัลเหรียญทอง ประเภททีม และกลุ่ม 3 คน
และเหรียญเงิน ประเภทบุคคล เล่าให้ฟังว่า ต้องตั้งใจเรียน
ฝึกฝนทำโจทย์คณิตศาสตร์มาก พยายามคิดหลากหลายวิธี
แต่ต้องได้คำตอบที่ถูกต้อง สำหรับโจทย์ที่นำมาลับสมองมาจากหลายที่
มีทั้งในหนังสือของไทยและต่างประเทศ อินเทอร์เน็ต นอกจากนี้
ยังมีการแลกข้อมูลกันในกลุ่มเพื่อนที่ชอบคณิตศาสตร์
ซึ่งเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้มีพัฒนาการด้านคณิตศาสตร์ดีขึ้น

นัฐนิชา เล่าที่มาของการชื่นชอบวิชาคณิตศาสตร์เป็นพิเศษว่าน่าจะมาจากคุณพ่อคุณแม่
ที่ปูพื้นฐานคณิตศาสตร์ให้โดยไม่รู้ตัวตั้งเล็ก เริ่มจากเกมนับนิ้ว 1 2 3
4 และ 5 พอเริ่มนับคล่องจะพยายามหาเกมต่างๆ ให้ลูกๆ 3 คน ลับสมองเสมอ
เช่น ระหว่างทางนั่งรถไปโรงเรียนจะให้ลูกแข่งกันคิดเลข 24 โดยใช้วิธี บวก
ลบ คูณ หาร หรือทำอย่างไรก็ได้โดยใช้เลขทะเบียนรถคันข้างหน้าเป็นโจทย์และให้ได้คำตอบ
24

"ส่วนตัวเวลามีการบ้านเยอะ อาจารย์สั่งทำงานหลายชิ้น
พอรู้สึกเครียดก็จะหาโจทย์คณิตศาสตร์มาทำ พอทำได้จะรู้สึกหายเครียด
ก็จะหันกลับมาทำงานที่อาจารย์สั่ง อย่างไรก็ตาม อยากฝากถึงเพื่อนวัยเรียน
อย่ามองคณิตศาสตร์เหมือนอย่าขม โจทย์คณิตเป็นสิ่งท้าทาย
ครั้งแรกกว่าจะได้คำตอบอาจจะใช้เวลา หากฝึกฝนทำโจทย์ซ้ำๆ บ่อยๆ
จะรู้สึกว่าง่าย" นัฐนิชา แจกแจง

ขณะที่ นายพัฒรัฐ ช่างประหยัด นักเรียนชั้น ม.3 ร.ร.สาธิต
มศวปทุมวัน ซึ่งได้รับรางวัลเหรียญทองประเภททีม เหรียญเงินประเภทกลุ่ม 3
คน และเหรียญเงิน ประเภทบุคคล บอกว่า
เคล็ดลับการเรียนคณิตศาสตร์คงหนีไม่พ้นการหมั่นทำโจทย์บ่อยๆ
ลองจับเวลาว่าใช้เวลานานแค่ไหนจึงค้นหาคำตอบได้
โดยส่วนตัวมีมุมมองว่าคณิตศาสตร์เป็นเกมประเภทหนึ่ง
ถ้าหาคำตอบถูกเราจะรู้สึกภาคภูมิใจ พอมีความรู้สึกดีๆ กับคณิตศาสตร์แล้ว
จะอยากลองทำโจทย์ใหม่ๆ เสมอ

"ตอนแรกไม่รู้ว่าชอบเลข มารู้ตอนเรียนอยู่ ป.3
มีโอกาสเข้าโครงการของ สสวท.จะมีเกมซึ่งเป็นโจทย์คณิตศาสตร์
ให้นักเรียนทำ พอทำได้ในเวลาที่กำหนดและคำตอบถูก นั่นล่ะถึงรู้ว่าชอบ
หลังจากนั้น พอกลับมาบ้านเริ่มหาโจทย์จากอินเทอร์เน็ตมาทำลับสมองอย่างสม่ำเสมอ
และการพิชิตโจทย์คณิตแต่ละข้อ จะพยายามค้นหาคำตอบหลายๆ วิธี
ไม่ใช่วิธีเดียว ตรงนี้จะทำให้เราเรียนรู้ทางลัดในการหาคำตอบ
จะมีผลดีตอนทำข้อสอบ ซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องเวลา"

และปิดท้ายกันที่ ด.ช.ภคภาค ภูมิวัฒน์ นักเรียนชั้น ม.3
ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย ได้รับรางวัลเหรียญทอง ประเภททีม เหรียญเงิน
ประเภทกลุ่ม 3 คน และประเภทบุคคล ได้เหรียญทองแดง ที่บอกว่า
จะเก่งคณิตได้ต้องหมั่นทำโจทย์ทุกวัน
ซึ่งตนเองอาจจะโชคดีกว่าหลายคนที่มีพี่ชายผ่านเวทีแข่งขันคณิตศาสตร์ระดับ
ประเทศหลายครั้ง ทำให้เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาให้ข้อมูล โดยว่างๆ
พี่ชายจะนำข้อสอบเก่ามาให้ทำอาทิตย์ละ 1-2 วัน
ขณะที่โรงเรียนจะเชิญศิษย์เก่าที่เคยเข้าค่าย
สสวท.และอาจารย์ข้างนอกมาสอน อาทิตย์ละ 3 วัน

"อาศัยทำข้อสอบเก่าๆ เวลาเรียนจะตั้งใจเรียน ไม่วอกแวก
พยายามทำความเข้าใจเนื้อหาที่อาจารย์สอน
บางครั้งก็เป็นติวเตอร์ให้เพื่อนบ้าง ตรงไหนเพื่อนไม่เข้าใจก็จะบอก
อธิบาย ซึ่งการอธิบายให้เพื่อนฟังเหมือนเป็นการทบทวนเลขไปในคราวเดียวกัน"
ด.ช.ภคภาค แนะนำ

...ฟังคำแนะนำจากบรรดานักคณิตศาสตร์แล้ว น้องๆ คิดเปลี่ยนใจกันบ้างหรือยัง

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000080591

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น