++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

รายงานพิเศษ : พิษหุ้น "ส.ส.-ส.ว."...เมื่อ กกต.ไม่มองเจตนารมณ์ของ กม.!!

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ปัญหาว่าด้วยเรื่อง "หุ้น" ไม่เพียงทำให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วินิจฉัยให้สิ้นสุดสมาชิกภาพถึง 16 คน
เนื่องจากถือหุ้นในธุรกิจสื่อ
และบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากรัฐในลักษณะผูกขาดตัดตอน
อันเป็นการกระทำต้องห้ามตาม รธน.มาตรา 48 มาตรา 265
แต่ยังทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)
เผชิญชะตากรรมเดียวกันอีก 13 คน โดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
ส.ส.สุราษฎร์ธานี และรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง
ตัดความรำคาญด้วยการชิงลาออกจาก ส.ส. โดยอ้างว่า
ไม่อยากเสียเวลาไปเตรียมสู้คดี ที่
กกต.ต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องหุ้นอีกครั้ง

แต่ใช่ว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จะโดนพิษหุ้นเล่นงานอยู่พรรคเดียว
เพราะยังมี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านอีกไม่ต่ำกว่า 10 คน จาก 44 คน
ที่อาจจะถูก กกต.วินิจฉัยให้พ้นสภาพเช่นกันในเร็วๆ นี้ เช่น นายสุนัย
จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วนกลุ่ม 2 พรรคเพื่อไทย, นายสมพล เกยุราพันธุ์
ส.ส.สัดส่วนกลุ่ม 5 พรรคเพื่อไทย, พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ และ
ส.ส.พิจิตร พรรคชาติไทยพัฒนา, นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร
รัฐมนตรีช่วยคมนาคม และ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคชาติไทยพัฒนา
และนายเสนาะ เทียนทอง ส.ส.สัดส่วนกลุ่ม 5 พรรคประชาราช ฯลฯ

สำหรับรายชื่อบริษัทที่บรรดา ส.ส.และ ส.ว.ถือหุ้นอยู่ และ
กกต.ระบุว่า เป็นบริษัทต้องห้ามตาม รธน.มาตรา 48 และมาตรา 265 ประกอบด้วย
1. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด
(มหาชน) 3.บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) 4.บริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด
(มหาชน) 5.บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) 6.บริษัท
ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) 7.บริษัท สหโคเจน (ชลบุรี) จำกัด
(มหาชน) 8.บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 9.บริษัท ไทยคม จำกัด
(มหาชน) 10.บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 11.บริษัท ทีทีแอนด์ที
จำกัด (มหาชน) 12.บริษัท ผู้จัดการ จำกัด (มหาชน) 13.บริษัท
ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 14.บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด
(มหาชน) 15.บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) 16.บริษัท
โกลว์พลังงาน จำกัด (มหาชน) 17.บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น
จำกัด (มหาชน) และ 18.บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ มาตรา 48 บัญญัติว่า "ผู้
ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์
วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคมมิได้
ไม่ว่าในนามตนเองหรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทน
หรือจะดำเนินการโดยวิธีการอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมที่สามารถบริหาร
กิจการดังกล่าวได้ในทำนองเดียวกับการเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการ
ดังกล่าว"

ขณะที่มาตรา 265(2) บัญญัติว่า "สมาชิก
สภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา
ต้องไม่รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ
หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ
หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน
หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือ
เข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม"

เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่เพียงอนุ กกต.และ
กกต.ชุดใหญ่จะมองข้อกฎหมายมาตรา 48 และ 265 ต่างกัน (อนุ
กตต.มองว่าการถือหุ้นของ ส.ส.และ ส.ว.ไม่ขัด รธน.มาตราดังกล่าว แต่
กกต.ชุดใหญ่เห็นตรงข้าม) แต่ใน กกต.ชุดใหญ่เอง ก็ยังเห็นไม่เหมือนกัน โดย
กกต.เสียงข้างมาก (นายอภิชาต สุขัคคานนท์, นางสดศรี สัตยธรรม, นายสมชัย
จึงประเสริฐ) มองว่า ส.ส.หรือ
ส.ว.จะต้องไม่ถือหุ้นที่ได้รับสัมปทานจากรัฐทั้งก่อนและหลังการเข้ารับ
ตำแหน่ง ซึ่งตรงกับความเห็นของที่ปรึกษากฎหมายของ กกต.ส่วน
กกต.เสียงข้างน้อย (นายประพันธ์ นัยโกวิท เคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
2550 ด้วย) เห็นต่าง โดยมองว่า ส.ส.-ส.ว.สามารถถือหุ้นได้
หากถือก่อนที่จะดำรงตำแหน่ง
และไม่ได้ถือจำนวนมากถึงขนาดจะเข้าไปครอบงำหรือก้าวก่าย
หรือแทรกแซงกิจการ เพราะมาตรา 265 ของ
รธน.อยู่ในหมวดการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ หากมีการกระทำที่ขัดกัน
จึงจะเป็นการฝ่าฝืนมาตราดังกล่าว

นอกจาก กกต.จะเสียงแตกแล้ว
สังคมยังได้เห็นปฏิกิริยาจากหลายฝ่ายต่อคำวินิจฉัยของ กกต.ต่อเรื่องหุ้น
ส.ส.-ส.ว.ด้วย เช่น นายประสพ บุญเดช ประธานวุฒิสภา บอกว่า หาก ส.ว.16
คนต้องพ้นสมาชิกภาพ จะทำให้เหลือ ส.ว.ไม่ถึงร้อยละ 95
ส่งผลให้เกิดภาวะสุญญากาศ เพราะ ส.ว.ที่เหลือทำงานไม่ได้
พิจารณากฎหมายก็ไม่ได้ ต้องรอให้เลือกตั้งหรือสรรหา ส.ว.มาให้เกินร้อยละ
95 ก่อน

ขณะที่ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ซึ่งเป็น 1 ใน 16
ส.ว.ออกมาแฉว่า เห็นข้อบกพร่องหลายประการในคำวินิจฉัยของ กกต.เช่น
ไม่ระบุรายละเอียดคำวินิจฉัย 16 ส.ว.เป็นรายบุคคลว่า แต่ละคนผิดอย่างไร
หุ้นบริษัทไหนเป็นหุ้นที่ได้สัมปทานจากรัฐ และผูกขาดตัดตอนอย่างไร
พร้อมยืนยัน หุ้นบริษัท โรงไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง ที่ตนถืออยู่
เป็นบริษัทลงทุนไม่ได้รับสัมปทานจากรัฐโดยตรงและไม่ได้มีการผูกขาด
จึงไม่น่าจะเข้าข่ายต้องห้าม นายสมชาย ยังเตรียมร้องต่อศาลปกครองด้วย
โดยชี้ว่า "กระบวนการวินิจฉัยของ กกต.ไม่ใช่แค่ 2 มาตรฐาน
แต่เป็นมาตรฐานที่หลากหลาย ไม่อยากใช้คำว่ามั่ว
เมื่อเห็นข้อบกพร่องเหล่านี้ พวกเราต้องขอความเป็นธรรมจากศาลปกครอง
เพื่อขอให้ถอนคำวินิจฉัยของ กกต."

ด้าน นายเสนาะ เทียนทอง ส.ส.สัดส่วนกลุ่ม 5
และหัวหน้าพรรคประชาราช ออกมาโจมตี กกต.เช่นกัน ว่า
กกต.ตีความตามตัวอักษรเท่านั้น ไม่ได้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นหลัก
และว่า "ถ้า ผมผิด กกต.ก็ต้องผิดกันหมด เพราะ
กกต.รับรองให้ปฏิบัติหน้าที่ได้ ทำไม กกต.ไม่ทักท้วงคุณสมบัติของ ส.ส.และ
ส.ว.ตั้งแต่แรก กกต.รับรองคุณสมบัติของสมาชิกทุกคนเกิน 1 ปีแล้ว
ก็ถือว่าจบกัน จะมาเอาเรื่องอะไรกันอีก"

ขณะที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ได้ที
รีบอ้างว่า "รธน. ฉบับนี้มีปัญหา เพราะกำหนดให้ ส.ส.ต้องขาดคุณสมบัติ
ทั้งที่ถือหุ้นเพียงเล็กน้อย เช่นเดียวกับ นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ
ต้องจากพ้นตำแหน่งนายกฯ ทั้งที่แค่ทำกับข้าว
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการที่จะจัดการกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ
เพียงคนเดียว แต่เนื้อหาของ
รธน.กลับส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง"

ก่อนที่หลายฝ่ายจะพูดกันไปมากกว่านี้
และก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ขาดเรื่องการถือหุ้นของ ส.ส.-ส.ว.
เราลองมาฟังมุมมองที่น่าสนใจของผู้ที่ไม่ได้มีส่วนได้เสียจากการถือหุ้น
ครั้งนี้ว่า มองการถือหุ้นของ ส.ส.-ส.ว.อย่างไร เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของ
กกต.หรือไม่?

นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550
เผยกับวิทยุ ASTVผู้จัดการ ว่า โดยเจตนารมณ์ของมาตรา 48 และ 265 หาก
ส.ส.-ส.ว.ถือหุ้นธุรกิจสื่อสารมวลชน อาจจะขัด รธน.มาตรา 48
แต่ถ้าเป็นการถือหุ้นบริษัททั่วไปที่ไม่ใช่ธุรกิจสื่อ
และเป็นการถือตั้งแต่ก่อนมาเป็น ส.ส.-ส.ว.ก็ไม่ขัด รธน.มาตรา 265
เพราะไม่ได้ใช้ตำแหน่งหรืออำนาจหน้าที่เพื่อให้ได้หุ้นนั้นมา
หรือเพื่อให้บริษัทนั้นได้สัมปทานจากรัฐ

"หุ้น ที่ ส.ส.หรือ ส.ว.ถือไว้เนี่ย จะเป็นการขัด รธน.หรือไม่
ผมมองว่าคงต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่ง ก็คือ หุ้นของบริษัท
ห้างหุ้นส่วน หรือความเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์หรือสื่อสาธารณะเนี่ย
ถ้าหุ้นดังกล่าวใครถือไว้ อาจจะเป็นการขัด
รธน.แต่ถ้าหากว่าเป็นหุ้นทั่วไป เป็นหุ้น
แม้ว่าจะเป็นสัมปทานหรือเป็นคู่สัญญาในลักษณะผูกขาดตัดตอน
ถ้าไม่ใช่สื่อสาธารณะหรือหนังสือพิมพ์ ใครถือไว้ ผมว่าถ้ามีมาก่อน (เป็น
ส.ส.-ส.ว.)ไม่น่าจะผิด"

"(ถาม-ในกฎหมายในมาตราที่เกี่ยวข้อง
ไม่ได้เขียนไว้ว่าถือก่อนถือหลังใช่มั้ย?) ใน รธน.มาตรา 265
มันมีถ้อยคำหนึ่งที่จะต้องพิจารณา คือ ถ้าเทียบกับ รธน.ฉบับก่อนๆ
เรามีคำว่า "คงถือไว้ซึ่งหุ้นดังกล่าวต่อไป"
คงถือไว้เนี่ยหมายความว่าถ้ามีมาก่อนและดำรงตำแหน่งแล้วยังคงถือไว้เนี่ย
ถ้ามีถ้อยคำอย่างนี้ จะเป็นความผิด แต่ รธน.ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 265 ใน
รธน.ปัจจุบัน ไม่มีบทบัญญัติเหล่านี้ในส่วนของ
ส.ส.-ส.ว.แต่จะไปมีบัญญัติไว้ในมาตรา 269
ในเรื่องของการถือหุ้นของรัฐมนตรี ก็คือถ้ารัฐมนตรีมีหุ้นอยู่เดิม
แล้วพอดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แล้วยังคงถือไว้ซึ่งหุ้นเหล่านี้ต่อไป
เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด กรณีดังกล่าวก็จะเป็นความผิด
หรือเป็นการถือหุ้นที่ขัดต่อ รธน.ใน รธน.ปัจจุบันมาตรา 269
เขาเขียนไว้แบบนี้ ผมจึงมองว่า ถ้าหุ้นที่ได้มาก่อนหรือได้มาทีหลังเนี่ย
มันจะมีผลในทางกฎหมาย"

นายเสรี ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ขนาดผู้ที่เป็นรัฐมนตรี
ยังสามารถถือหุ้นได้ 5% แล้ว
ส.ส.-ส.ว.ซึ่งมีอำนาจหน้าที่น้อยกว่ารัฐมนตรีด้วยซ้ำ
จะตีความกฎหมายแบบเข้มงวดไม่ให้ถือหุ้นได้เลย น่าจะเป็นสิ่งที่เกินเลยไป
และจะทำให้เกิดความสับสนโกลาหลได้ พร้อมยืนยันว่า เรื่องหุ้น
ส.ส.-ส.ว.ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ รธน.แต่อยู่ที่พฤติกรรมของแต่ละคนมากกว่า

ส่วนกรณีที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย พยายามจี้ให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
12 คนที่ถูก กกต.วินิจฉัยให้พ้นสมาชิกภาพจากกรณีถือหุ้น ให้ลาออกตาม
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี และรองนายกฯ นั้น นายเสรี เห็นว่า
ไม่ควรลาออก เพราะไม่ใช่เรื่องทุจริตหรือทำผิดในการปฏิบัติหน้าที่

"ไม่ ควรลาออกหรอก เพราะ 1.มันไม่ใช่เรื่องทุจริต
2.มันไม่ใช่เรื่องที่เขาไปปฏิบัติหน้าที่แล้วเกิดปัญหา มันไม่ใช่ และ
3.มันไม่ใช่เรื่องผิดศีลธรรม ถ้าเข้าเกณฑ์ 3 ข้อนี้
ผิดจริยธรรมก็ควรออกแล้วล่ะ แต่เกณฑ์เหล่านี้เป็นเกณฑ์ที่ถูกสร้างขึ้นมา
และยังหาข้อยุติไม่ได้ ถามว่า จะออกทำไม ออกแล้วเลือกตั้งใหม่
เสียงบประมาณตั้งเท่าไหร่
เลือกตั้งแล้วคนเหล่านี้ก็มีสิทธิ์ลงสมัครได้อีก แล้วจะลาออกทำไม
ผมว่ามันต้องมีเหตุมีผล และสมควรแก่เหตุ สังคมก็จะอยู่ได้
บ้านเมืองก็จะอยู่รอด อย่าไปถึงขนาดว่าเป็นกระแสไปทุกเรื่อง
หรือเป็นความต้องการที่เกิดอะไรขึ้น แล้วก็ต้องให้ออกกันให้หมด
ผมว่าอย่าไปถึงขนาดนั้นเลย"

"(ถาม-ถ้าศาล รธน.วินิจฉัยกลับทางกับ กกต.
กกต.ต้องรับผิดชอบมั้ย?) ผมว่า ถ้าโดยกฎหมายก่อนนะ
กกต.ก็ไม่ต้องรับผิดชอบหรอก เพราะเป็นดุลพินิจ และที่ผ่านมา
กกต.ก็บอกว่าให้ใบเหลือง-ใบแดงคนนั้นคนนี้ไปแล้ว ไปศาล
ศาลก็บอกไม่ต้องให้ ไม่ต้องเลือกตั้งใหม่ ตั้งหลายเรื่อง
มันก็เหมือนศาลน่ะ ศาลชั้นต้นตัดสินแล้วว่าอย่างนี้
ศาลอุทธรณ์ว่าอีกอย่าง ไปศาลฎีกาว่าอีกอย่าง ถ้าบอกว่า
กกต.ต้องรับผิดชอบด้วย อีกหน่อยศาลฎีกาตัดสิน ไม่ตรงกับศาลชั้นต้น
ไม่ต้องลาออกหมดเหรอ ใช่มั้ย ผมว่ามันเป็นระบบน่ะ ก็ต้องยอมรับ
ระบบมันถูกสร้างแบบนี้ เห็นไม่ตรงกันก็ได้ ไม่เป็นไร แต่ในที่สุดแล้ว
มันยุติแบบไหน ก็ต้องเป็นแบบนั้น ถ้า กกต.ไม่ได้ทุจริต
กกต.ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย เพียงแต่ใช้ดุลพินิจที่ต่างกัน
ผมว่าอย่าไปลงโทษเขาถึงขนาดนั้นเลย อีกหน่อยก็ไม่มีใครกล้าทำงานหมด"

ด้าน ศ.ดร.สุจิต บุญบงการ ประธานสภาพัฒนาการเมือง
และอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พูดถึงปัญหาเรื่องหุ้นของ ส.ส.-ส.ว.ว่า
ประเด็นไม่ได้อยู่แค่ว่า
ส.ส.-ส.ว.ถือหุ้นบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากรัฐหรือไม่
แต่ศาลรัฐธรรมนูญต้องตีความด้วยว่า
ส.ส.-ส.ว.ที่ถือหุ้นนั้นเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงกิจการนั้นหรือไม่ และถ้า
ส.ส.-ส.ว.ถือหุ้นตั้งแต่บริษัทนั้นยังไม่ได้รับสัมปทานจากรัฐจะถือว่าขัด
รธน.หรือไม่

"อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตีความของ ศาลรัฐธรรมนูญ
ตอนแรกก็มีประเด็นที่น่าสนใจ คือตอนที่ถือ (หุ้น) อยู่เนี่ย
บริษัทยังไม่ได้รับสัมปทาน แต่อยู่ๆ บริษัทไปรับสัมปทาน
โดยที่เจ้าตัวหรือผู้ถือหุ้นอาจจะยังไม่รู้เรื่อง อะไรแบบนั้น
อันนั้นศาลรัฐธรรมนูญคงต้องดูข้อเท็จจริงว่ามันเป็นยังไง
อันนั้นคงต้องเป็นการตีความจากศาล
ซึ่งผมคิดว่าผมเองก็ไม่อยากจะไปชี้นำศาล แต่หลักมันอยู่ที่ว่า
คุณเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทาน หลักก็คือ คล้ายๆ กับว่า
รู้อยู่แล้วว่ารับสัมปทาน คุณยังไปถืออยู่และไปแทรกแซง
ไปทำให้บริษัทนั้นได้รับสัมปทาน ทำนองนั้น
ก็ต้องไปดูว่าก้าวก่ายแทรกแซงแค่ไหน
ข้อกฎหมายมันค่อนข้างจะเขียนไว้กว้างว่า ก้าวก่ายแทรกแซง
ขั้นสุดท้ายก็ต้องศาลรัฐธรรมนูญในการตีความว่าอย่างไรถึงก้าวก่ายอย่างไรถึง
แทรกแซง เมื่อก่อนเป็นแต่เพียงแค่ผู้ถือหุ้น
ซึ่งอันนั้นมันชัดเจนในแง่ของกฎหมายว่าอย่างไรคือถือหุ้น
แต่พอก้าวก่ายแทรกแซงมันเปิดช่องให้ตีความได้ ...จะตีความกว้างก็ได้
ตีความแคบก็ได้ จะให้เป็นคุณหรือจะให้เป็นโทษก็ได้
ก็ทำให้เกิดปัญหาในการตีความได้เหมือนกัน"

ขณะที่นายวรินทร์ เทียมจรัส ส. ว.สรรหา และอดีต กกต.กทม. ซึ่งเป็น
1 ใน 20 ส.ว.ที่ กกต.วินิจฉัยว่าถือหุ้นไม่ขัด รธน.พูดถึงกรณีที่
กกต.วินิจฉัยให้ 16 ส.ว.และ 13 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ พ้นสมาชิกภาพ
จากกรณีถือหุ้นขัด รธน.มาตรา 48 และ 265 ว่า ส่วนตัวแล้วเห็นด้วยว่า
กกต.มีอำนาจที่จะวินิจฉัยเรื่องการถือหุ้นของ ส.ส.-ส.ว.
แต่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัย เพราะการจะพิจารณาว่า ส.ส.-ส.ว.ถือหุ้นขัด
รธน.หรือไม่ ต้องแยกเป็น 2 ส่วน ในส่วนของมาตรา 48 ที่ห้าม
ส.ส.-ส.ว.ถือหุ้นธุรกิจสื่อนั้น ชัดเจนอยู่แล้วว่าห้ามถือหุ้น
เพราะเจตนารมณ์ของมาตราดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้
ส.ส.-ส.ว.ใช้สื่อในการครอบงำสังคม ส่วนมาตรา 265 นั้น
เป็นบทบัญญัติที่อยู่ในหมวด "ผลประโยชน์ขัดกัน" ดังนั้น ถ้า
ส.ส.-ส.ว.ถือหุ้นบริษัททั่วไป
และไม่ได้มีการเข้าไปแทรกแซงหรือใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อให้ได้หุ้นนั้นมา
หรือเพื่อให้บริษัทนั้นได้รับสัมปทานจากรัฐ ก็ถือว่าไม่ขัด รธน.ซึ่ง
กกต.ควรวินิจฉัยโดยดูเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ไม่ใช่วินิจฉัยตามตัวอักษรอย่างเดียว

"คือถือ ตามตัวหนังสือน่ะ ไม่ได้ดูถึงเจตนารมณ์ เพราะจริงๆ
แล้วมันเป็นเรื่องใหม่ และเราก็ต้องฟังว่า ตอนที่เขาเขียนกฎหมายน่ะ
เขียนอย่างไร ตรงนี้อาจจะเป็นความบกพร่องตอนที่ร่างกฎหมาย
ที่อนุมัติกฎหมาย คือ หลายๆ ครั้งในประสบการณ์ของผม ที่เราอยู่ในสภาเนี่ย
เราเห็นว่า บางครั้งเรามัวแต่ไปมุ่งที่จะเอาชนะกัน
จนลืมถึงหลักการเรื่องการเขียนกฎหมายที่ไม่ให้มีปัญหาภายหลัง
และที่สำคัญที่สุดคือ ในระยะหลังเนี่ย
เราเขียนกฎหมายโดยตามใจคนซึ่งไม่ใช่นักกฎหมาย เราเขียนโดยพยายามอธิบายไง
อธิบายไปอธิบายมา มันก็เลยมาล็อกตัวเอง ซึ่งเราจะเห็นว่าในกฎหมายเก่าๆ
เขาจะไม่เขียนล็อกไว้ เขาเขียนเปิดกว้าง
และให้กลไกให้ข้อเท็จจริงมันไปดำเนินการ เพราะการตีความกฎหมายเนี่ย
มันเป็นศาสตร์อีกศาสตร์หนึ่ง"

"(ถาม-คิดว่า
ส.ว.สามารถร้องขอความเป็นธรรมหรือฟ้องศาลปกครองได้เหรอ?)
ตรงนั้นเป็นแนวคิดของกลุ่มหนึ่ง ที่เห็นว่า เราจะไปสู่กระบวนการตรงนั้น
แต่ทีนี้มันก็จะมีประเด็นว่า คำวินิจฉัยชี้ขาดตรงนี้เป็นอำนาจของ
กกต.มั้ย ถ้าเป็นอำนาจของ กกต. มันเคยมีคำวินิจฉัยของศาล รธน.แล้วว่า
ใครมายุ่งเกี่ยวไม่ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องการใช้อำนาจทางปกครอง ก็ไปศาลได้
เช่น กรณีครั้งหนึ่ง ในสมัยที่ผมเป็น กกต.มีการสั่งให้
กกต.ชลบุรีพ้นตำแหน่ง อันนั้นเป็นคำสั่งของ กกต.ในทางบริหาร
ตอนนั้นก็ไปยื่นฟ้องศาลปกครองชั้นต้น แล้วศาลยก แล้วผมบอกให้อุทธรณ์ไป
ท้ายที่สุดศาลฎีกาของศาลปกครองสูงสุดก็บอกว่านี่เป็นเรื่องการวินิจฉัยทาง
ปกครอง อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ไม่ใช่เป็นอำนาจเด็ดขาดของ
กกต.แต่ถ้าเป็นเรื่องวินิจฉัยใบแดง การขาดคุณสมบัติอย่างนี้ โอเค
ผมเห็นว่ามันเป็นเรื่องอำนาจของ กกต."

นายวรินทร์ ยืนยันด้วยว่า เรื่องหุ้นของ
ส.ส.-ส.ว.ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ รธน. ดังนั้นไม่เห็นด้วยกับการแก้
รธน.โดยอ้างปัญหาดังกล่าว และว่า โดยหลักการ เมื่อกฎหมายเกิดแล้ว
ต้องพยายามใช้ และพยายามตีความกฎหมายให้ใช้ได้ อันไหนเป็นเรื่องความผิด
ก็ต้องบอกว่าผิด อันไหนไม่ผิด ก็บอกไม่ผิด ไม่ใช่บอกว่า ถ้าผมผิด
แล้วต้องแก้ให้ถูก อย่างนี้ใช้ไม่ได้!!


http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9520000082522

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น