โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 28 กรกฎาคม 2552 16:33 น.
โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
เมื่อช่วงวันหยุดที่ผ่านมาฉันได้ไปร่วมกิจกรรม
"พิพิธพาเพลินเชิญเที่ยว ตอน เที่ยวย่านพิพิธภัณฑ์ ภาค 1" ที่ทาง
"มิวเซียมสยาม" เขาจัดขึ้นให้ผู้ที่สนใจได้ร่วมเดินทางโดยรถรางเพื่อเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ที่
น่าสนใจต่างๆในเกาะรัตนโกสินทร์
ซึ่งก็นับว่าตัดสินใจไม่ผิดเลยที่ขอร่วมเดินทางไปเที่ยวกันกับเขาด้วย
เพราะฉันได้ไปเยือนพิพิธภัณฑ์ถึงห้าแห่งด้วยกัน
แถมยังได้นั่งสบายๆบนรถราง
พร้อมทั้งมีมัคคุเทศก์คอยบรรยายสิ่งต่างๆที่น่าสนใจระหว่างทางให้ฟังกัน
เริ่มเดินทางไปชมพิพิธภัณฑ์แห่งแรก นั่นก็คือ
"พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร" พิพิธภัณฑ์ที่หลายๆคนเคยมาเที่ยวกันแล้ว
แม้บ่อยครั้งจะได้ยินคนบ่นว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ทันสมัย
มีแต่ของเก่าไร้ชีวิตชีวา
แต่ข้าวของหลายๆสิ่งภายในก็มีคุณค่าควรแก่การเข้าชม
อีกทั้งประวัติศาสตร์ของพื้นที่แห่งนี้ก็น่าสนใจ
โดยแต่เดิมนั้นบริเวณนี้เคยเป็น "วังหน้า" หรือ "พระราชวังบวรสถานมงคล"
ที่ประทับของวังหน้า หรือมหาอุปราช แต่ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5
ก็ได้ใช้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ป้อมพระสุเมรุ หนึ่งในสองป้อมที่ยังเหลือในพระนคร
ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้นอกจากจะมีข้าวของล้ำค่าจากหลายยุคหลายสมัย
แล้ว ก็ยังมีสิ่งก่อสร้างที่เป็นโบราณสถานสำคัญอีกด้วย เช่น
พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน
ซึ่งตอนนี้เป็นสถานที่จัดแสดงประวัติศาสตร์ชาติไทย พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
ที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองไทย
พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ที่เคยเป็นท้องพระโรงของวังหน้า หมู่พระวิมาน
หรือพระที่นั่งต่างๆ ของวังหน้าที่ใช้เป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ
ที่ควรค่าแก่การชม
รถรางวิ่งต่อมาที่ "พิพิธภัณฑ์ป้อมพระสุเมรุ" ป้อม
ปราการเก่าแก่ของกรุงเทพฯที่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงสองป้อมเท่านั้น
(อีกป้อมหนึ่งคือป้อมมหากาฬ) ป้อมแห่งนี้ตั้งอยู่ที่สวนสันติชัยปราการ
ตรงหัวมุมถนนพระอาทิตย์และถนนพระสุเมรุ
ป้อมพระสุเมรุนั้นสร้างขึ้นในปีที่สองของการขึ้นครองราชย์ของรัชกาล
ที่ 1 พร้อมๆกับการสร้างกำแพงเมืองและขุดคูรอบพระนคร
มีลักษณะเป็นป้อมก่ออิฐถือปูนความสูงสามชั้น
ชั้นบนเป็นหอรบสูงมีเครื่องบนเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องใช้ในการสังเกต
การณ์ข้าศึกจากทิศเหนือและบริเวณโดยรอบ
ข้าวของต่างๆ ที่ขุดพบในการปฏิสังขรณ์ป้อมพระสุเมรุ
วันนี้ฉันได้ปีนขึ้นไปอยู่บนป้อมพระสุเมรุเลยทีเดียว
ต่างจากวันอื่นๆ ที่ได้เพียงยืนมองอยู่เบื้องล่างเท่านั้น
โดยชั้นที่หนึ่งของป้อมนั้นเป็นลานป้อมรูปแปดเหลี่ยมด้านไม่เท่า
มีกำแพงล้อมรอบ บนกำแพงมีใบเสมา
ซึ่งระหว่างใบเสมาเหล่านั้นก็จะมีปืนใหญ่ตั้งไว้เพื่อป้องกันข้าศึกศัตรูที่
จะรุกรานเข้ามา และบนชั้นที่สองก็มีปืนใหญ่เช่นเดียวกัน
อีกทั้งที่กลางลานป้อมยังมีหอรบ ซึ่งปัจจุบันจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ
แสดงประวัติของป้อมพระสุเมรุ รวมทั้งยังมีวัตถุโบราณต่างๆ
ที่ขุดพบในการปฏิสังขรณ์แต่ละครั้งอีกด้วย
ชมป้อมพระสุเมรุและสวนสันติชัยปราการกันแล้ว
รถรางพาเรามาต่อกันที่ "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์"
แหล่งรวมผลงานศิลปะทั้งแบบไทยประเพณีและศิลปะร่วมสมัยชิ้นสำคัญของไทย
แต่เดิมนั้นสถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์เคยเป็นพระตำหนักของเจ้านายฝ่ายวังหน้า
มาก่อน และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5
ก็ได้มีการรื้อถอนพระตำหนักเพื่อสร้างเป็นโรงกษาปณ์สิทธิการ
หรือโรงงานผลิตเงินเหรียญ ก่อนจะกลายมาเป็นหอศิลป์แห่งชาติ
หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ อย่างในปัจจุบัน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์เจ้าฟ้า
ห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวรของที่นี่นั้นมีผลงานชิ้นสำคัญหลายชิ้นด้วย
กัน ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 6 ภาพวาดฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน
พระบรมสาทิสลักษณ์ของกษัตริย์ที่วาดโดยจิตกรชาวต่างประเทศ
จิตรกรรมพุทธศาสนาวาดบนผืนผ้า หรือที่เรียกว่าพระบฎ
อีกทั้งยังมีผลงานภาพวาดและประติมากรรมของศิลปินแห่งชาติ
และศิลปินผู้มีชื่อเสียงของไทยอีกหลายท่านด้วยกัน
ในส่วนของนิทรรศการหมุนเวียนนั้นก็จะมีผลงานศิลปะของศิลปินทั้งชาว
ไทยและชาวต่างประเทศมาจัดแสดงให้ชมกันตลอดทั้งปี ประมาณเดือนละ 2
นิทรรศการ ซึ่งนิทรรศหมุนเวียนหนึ่งที่กำลังจัดแสดงอยู่ในตอนนี้ก็คือนิทรรศการของผู้
ที่ได้รับคัดเลือกจากโครงการประกวดจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค ครั้งที่ 11
ซึ่งจะเปิดให้ชมกันได้ถึงสิ้นเดือนนี้
พระรูปของรัชกาลที่ 6 ภายในพิพิธภัณฑ์ รัชกาลที่ 6
รถรางวิ่งผ่านวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวังมาที่อาคารราชวัลลภ
ของหน่วยบัญชาการกำลังสำรอง หรือกรมการรักษาดินแดนเดิม เพื่อมาชม
"พิพิธภัณฑ์รัชกาลที่ 6"
พิพิธภัณฑ์ที่มีสิ่งของเครื่องใช้ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นจำนวนมาก
พิพิธภัณฑ์รัชกาลที่ 6 นี้ แบ่งเป็นสองห้องด้วยกัน โดยใน
"ห้องพระบารมีปกเกล้า" นั้น จะเป็น 5 ส่วน ได้แก่
ส่วนจัดแสดงการเทิดพระเกียรติ รัชกาลที่ 6
ซึ่งประดิษฐานพระบรมรูปจำลองรัชกาลที่ 6
ทรงเครื่องทรงพระมหาพิชัยยุทธเป็นสีแดงทั้งองค์
ถูกต้องตามตำราพิชัยยุทธนาการโบราณราชประเพณี ส่วนพระราชประวัติ
รัชกาลที่ 6 ส่วนจัดแสดงพระราชกรณียกิจ
ส่วนจัดแสดงพระปรีชาชาญด้านการทหาร
และส่วนจัดแสดงประวัติความเป็นมาของหน่วยบัญชาการกำลังสำรอง
ฉลองพระองค์แบบต่างๆของรัชกาลที่ 6
และห้องจัดแสดงอีกห้องหนึ่งนั้นก็คือ "ห้องรามจิตติ"
ซึ่งเป็นห้องที่จัดแสดงของใช้ส่วนพระองค์ ได้แก่ ฉลองพระองค์ ฉลองพระบาท
พระมาลา และเครื่องหมายต่างๆ
ซึ่งหน่วยบัญชาการกำลังสำรองได้รับมอบจากสำนักพระราชวัง
และเพื่อเป็นการรักษาของใช้ส่วนพระองค์เหล่านี้ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่
สุด โดยฉลองพระองค์เหล่านี้มีจำนวนนับร้อยๆเลยทีเดียว
ส่วนด้านในสุดของห้องก็จัดจำลองห้องทรงงานของรัชกาลที่ 6
ที่มีลายพระหัตถ์ของพระองค์ทั้งในภาษาไทย และภาษาอังกฤษให้ได้ชมกัน
มาปิดท้ายการเที่ยวย่านพิพิธภัณฑ์กันที่ "มิวเซียมสยาม"
พิพิธภัณฑ์ที่เน้นเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย
ด้วยการเรียนรู้ที่เน้นสร้างประสบการณ์ใหม่ๆในการชมพิพิธภัณฑ์
และยังตั้งใจให้เด็กและเยาวชนไทยสร้างสำนึกในการรู้จักตนเอง
รู้จักเพื่อนบ้าน และรู้จักโลก ผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่
ทำให้การเรียนรู้ประวัติศาสตร์นั้นไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป
มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้
การเที่ยวชมมิวเซียมสยามนั้นถือว่าเป็นเรื่องสนุก
ต่างจากพิพิธภัณฑ์อื่นๆที่มักจะมีป้ายห้ามถ่ายรูป ห้ามจับ
แต่ที่แห่งนี้สามารถสัมผัสได้ทุกสิ่งแบบไม่หวงห้าม
อีกทั้งยังเล่นสนุกกับอุปกรณ์ทันสมัยต่างๆ ที่มีไว้ให้
สนุกกันได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เลยทีเดียว
โดยเนื้อหาภายในมิวเซียมสยามนี้ก็แบ่งออกเป็น 17 ห้อง
ที่เล่าเรื่องราวความเป็นมาของประเทศไทยตั้งแต่ยังเป็นดินแดนสุวรรณภูมิ
จนมาถึงสยามประเทศ ก่อนจะมาเป็นประเทศไทยอย่างในปัจจุบัน
นอกจากพิพิธภัณฑ์ทั้ง 5 แห่งที่ฉันได้ไปเที่ยวมาวันนี้แล้ว
พิพิธภัณฑ์ในเกาะรัตนโกสินทร์นี้ยังมีอีกมากมายหลากหลายแห่ง
และนี่ก็เป็นการเที่ยวย่านพิพิธภัณฑ์ภาคแรกเท่านั้น
เชื่อแน่ว่าน่าจะมีภาคสองตามมาในไม่ช้านี้
ผู้ที่สนใจอยากเข้าร่วมกิจกรรมก็ต้องติดตามข่าวสารจากมิวเซียมสยามกันต่อไป
ความรู้มากมายในมิวเซียมสยาม
* * * * * * * * * * * * *
* * * * * * * * * * * * * *
* * * * * * * * * * * * * *
* * * * * *
สนใจกิจกรรมต่างๆ ของทางมิวเซียมสยาม
สามารถโทรสอบถามได้ที่.0-2225-2777 หรือดูรายละเอียดที่ www.ndmi.or.th
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9520000085370
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น