ลักษณะเด่นๆของคนที่เกิดวันเสาร์ ก็คือ มักจะคนหงุดหงิดง่าย และใจร้อน
และบางคนก็จะมีลักษณะชอบเก็บตัว ไม่ชอบสุงสิงกับใคร ใครก็ตาม
ที่มีลักษณะชอบเก็บตัว ชอบอยู่คนเดียวเงียบๆ พวกนี้ มักจะเป็นคนที่คิดมาก
ฉะนั้น ท่านผู้รู้ ท่านจึงได้แต่งเป็นบทร้อยกรองสอนใจ เอาไว้ว่า
อยู่คนเดียว ให้ระวัง ยั้งความคิด อยู่ร่วมมิตร ให้ระวัง ยั้งคำขาน
อยู่ร่วมราษฎร์ เคารพตั้ง ระวังการ อยู่ร่วมพาล ต้องระวัง ทุกอย่างไป
ถ้าอยู่คนเดียว ก็มักจะอดคิดมากไม่ได้ คิดไปได้สารพัดเรื่องนั่นแหละ
เดี๋ยวเรื่องโน้น เดี๋ยวเรื่องนี้ และเพราะความเป็นคนชอบคิดนี่เอง
จึงทำให้เป็นคนที่ค่อนข้างเครียดง่าย และช่างจดช่างจำ เจ้าคิด เจ้าแค้น
ใครทำให้เจ็บล่ะก้อ จำจนวันตาย นี่แหละ คือลักษณะนิสัย
ของคนที่เกิดวันเสาร์
กรรมฐานสำหรับคนที่เกิดในวันเสาร์
ลักษณะนิสัย ของคนที่เกิดวันเสาร์ ดังที่กล่าวมาข้างต้น
ท่านก็คงพอจะเดาออก ว่ากรรมฐานที่จะใช้แก้ไขนิสัย
ของคนที่เกิดวันเสาร์นั้น คงจะไม่มีอะไรดี เท่ากับกรรมฐาน 2 ข้อ
ดังต่อไปนี้ คือ
1. พรหมวิหาร 4.... กรรมฐานหมวดนี้ จะช่วยแก้นิสัยใจร้อน ทำให้ใจเย็นลง
และจากที่เคยหงุดหงิดง่าย ก็จะหงุดหงิดได้ยากขึ้น
2. อานาปานสติ.... กรรมฐานข้อนี้ จะช่วยแก้นิสัย ความเป็นคนชอบคิดมาก
เพราะกรรมฐานข้อนี้ เป็นกรรมฐาน ที่จะช่วยตัดกระแสวิตก ได้อย่างดีเยี่ยม
เมื่อรู้แล้วว่า คนที่เกิดวันเสาร์ ควรจะเจริญกรรมฐาน ทั้ง 2 ประเภทนี้
ทีนี้ เราก็จะมาศึกษา ในรายละเอียดกันล่ะว่า กรรมฐานแต่ละประเภท
ที่กล่าวมานั้น มีวิธีปฏิบัติกันอย่างไร ?
พรหมวิหาร 4
พรหมวิหาร ถ้าจะแปล ก็ต้องแปลว่า คุณธรรม เป็นเครื่องอยู่ ของพระพรหม
พูดง่ายๆ ก็คือ พระพรหม จะต้องมีคุณธรรม 4 ข้อนี้ จึงจะเป็นพระพรหมได้
ที่เขาสร้างรูปพระพรหม ให้มี 4 หน้า ก็เป็นการจำลองคุณธรรมทั้ง 4 ด้าน
ของพระพรหมนั่นเอง และเนื่องจาก คุณธรรมทั้ง 4 ข้อ ของพระพรหมนั้น
ไปตรงกับคุณธรรม ของพ่อ ของแม่ พระพุทธเจ้า จึงได้ทรงยกย่อง พ่อแม่
ว่าอยู่ในฐานะ พรหมของลูก
ทีนี้ คุณธรรม ทั้ง 4 ข้อนั้น มีอะไรบ้างล่ะ ?
ก็มี ดังต่อไปนี้ คือ
1. เมตตา ได้แก่ความรัก ความเอ็นดู ความปรารถนาดี อยากให้ทุกๆชีวิต
มีแต่ความสุขความเจริญ
2. กรุณา ได้แก่ความสงสาร เวลาเห็นคนตกทุกข์ได้ยาก ก็อดที่จะสงสาร
อดที่จะช่วยเหลือไม่ได้
3. มุทิตา ได้แก่ ความพลอยยินดี เมื่อคนเห็นอื่น เขาได้ดีมีสุข
4. อุเบกขา ได้แก่ การรู้จักวางเฉย ไม่ซ้ำเติม เมื่อเห็นคนอื่นพลาดพลั้ง
เพราะการกระทำ ของเขาเอง
คุณธรรมทั้ง 4 ข้อนี้ เมื่อเราเจริญ ให้เกิด ให้มี ขึ้นในใจแล้ว
มันจะช่วยขจัดอารมณ์เศร้าหมอง อันเปรียบเสมือนสนิมในใจออกไป
ได้หลายอย่างทีเดียว
ขณะ นี้ กำลังพูดถึงกรรมฐาน ซึ่งเหมาะ สำหรับคนที่เกิดวันเสาร์
โดยเมื่อตอนที่แล้ว ได้พูดถึงกรรมฐาน หมวดพรหมวิหาร ซึ่งจะช่วยทำให้ใจ
ที่เคยร้อนเย็นลงกว่าเดิม และความหมาย ของพรหมวิหาร แต่ละข้อ
ก็ได้อธิบายให้ฟัง อย่างคร่าวๆมาแล้ว ในตอนที่ผ่านมา ยังคงค้างอยู่
ก็เฉพาะในประเด็นที่ว่า พรหมวิหาร แต่ละข้อนั้น
ช่วยขจัดอารมณ์เศร้าหมองภายในใจ ข้อใดได้บ้าง... เรามาพบคำเฉลย ในตอนนี้
กันได้เลยครับ
พรหมวิหาร ข้อแรก คือ เมตตา ได้แก่ ความรัก ความปรารถนาดี อยากให้ทุกๆ
ชีวิต มีแต่ความสุข
ถ้าใครก็ตาม ที่เจริญพรหมวิหารข้อนี้ ให้เกิด ให้มี ในใจได้
ก็จะทำให้ใจของผู้นั้น ละคลายจากความโกรธเกลียด ซึ่งเป็นอารมณ์เศร้าหมอง
ภายในใจได้ ถ้าเจริญ ให้เต็มที่ ถึงที่สุด เราก็จะได้เห็น
ความเปลี่ยนแปลง ทางด้านจิตใจ ได้อย่างชัดเจน คือเราสามารถ
ที่จะให้อภัยได้ แม้กระทั่ง ผู้ที่เป็นศัตรู
อย่างองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นผู้ที่มากด้วยเมตตา
และมีเมตตา เต็มเปี่ยมอยู่ในพระทัย ครั้งหนึ่ง
พระอานนท์ได้เคยทูลถามถึงความรู้สึก ว่าพระองค์รู้สึกอย่างไร
กับพระเทวทัต ซึ่งตามจ้องล้างจองผลาญพระองค์มาโดยตลอดพระพุทธองค์
ทรงตอบว่ายังไง ท่านทราบไหมครับ ?
พระองค์ตรัสตอบว่า "เรารักราหุล พุทธชิโนรส ของเราอย่างไร เราก็รัก
และมีจิตเมตตา ในพระเทวทัต ผู้มีจิตคิดประทุษร้ายต่อเรา ฉันนั้น"
นี่แหละ คือยอดของความเมตตาจริงๆ คือรัก และให้อภัยได้ แม้กระทั่งศัตรู
ถ้าเราเจริญเมตตาให้มากๆ จิตใจเรา ก็จะเป็นอย่างนี้
คือจะไม่มีความเคียดแค้น ไม่พยาบาทใคร และพร้อมที่จะให้อภัย กับคนทุกคน
จิตแบบนี้ เป็นจิตที่เยือกเย็น และละเอียดอ่อน ท่านยังบอกอีกว่า ใครก็ตาม
ที่เจริญเมตตา อยู่เป็นประจำ ผู้นั้น ย่อมได้รับอานิสงส์ ถึง 11
ประการด้วยกัน อาทิเช่น หลับก็เป็นสุข, ตื่นก็เป็นสุข,
มีสีหน้าที่แจ่มใส, ไปไหนมาไหน มีเทวดาคอยตามอภิบารักษา , ไฟ ศัสตรา
ยาพิษ ทำอันตรายไม่ได้ ฯลฯ เป็นต้น
ตรงอานิสงส์ที่ว่า ไฟ ศัสตรา ยาพิษ ทำอันตรายไม่ได้ บางท่านอาจจะไม่เชื่อ
ว่าจะเป็นไปได้ ก็ใคร่ขอยกตัวอย่างเรื่องจริง ของพระผู้ปฏิบัติดีรูปหนึ่ง
คือ หลวงปู่พุทธบาทตากผ้า วัดพระพุทธบาทตากผ้า อ.ป่าซาง จ.ลำพูน
หลวงปู่พุทธบาทตากผ้านั้น เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า
ท่านเป็นพระที่มีเมตตาสูงมาก ไม่เคย แม้แต่จะดุใคร มีอยู่ครั้งหนึ่ง
ท่านออกธุดงค์ มีคนมาลองดีท่าน โดยแอบเอายาสั่งใส่น้ำ ถวายให้ท่านดื่ม
ด้วยอยากจะลอง ว่าท่านเก่ง จริงหรือไม่ ขณะที่หลวงปู่
กำลังจะยกแก้วขึ้นดื่มนั้น ก็ปรากฎว่า แก้วได้แตกดัง เพล้ง !
โดยไม่มีสาเหตุ เล่นเอาคนที่แอบเอายาสั่งไปถวายท่าน ต้องก้มลงกราบ
และขอขมาต่อท่านกันยกใหญ่
ที่เป็นดังนี้ ก็คงเป็นด้วยอานิสงส์แห่งเมตตาที่ ว่า ไฟ ศัสตรา ยาพิษ
ทำอันตรายไม่ได้ หรือไม่เช่นนั้น ก็อาจจะเกิดขึ้น จากอำนาจของเทวดา
ที่คอยตามอภิบาลรักษาท่าน เพราะความที่ท่านมีจิตเมตตาสูงนั่นเอง
ผู้ที่มีจิตเมตตาสูงนั้น อย่าว่าแต่มนุษย์จะให้ความ เคารพบูชาเลย
ขนาดเทวดา หรือสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ ด้วยตาเปล่า ก็ยังให้ความเคารพ
และคอยคุ้มครอง ให้ปราศจากภยันตราย และนี่ก็คือประจักษ์พยาน
ที่แสดงให้เห็นว่า อานุภาพแห่งเมตตานั้น มีอยู่จริง
ทีนี้มาถึงพรหมวิหารข้อที่ 2 คือ กรุณา ได้แก่ ความสงสาร
ความสงสาร หรือกรุณานี้ ถ้าจะถามว่า ช่วยขจัดอารมณ์เศร้าหมองข้อใด ?
ก็ต้องตอบว่า ขจัดความเศร้าหมอง ข้อ วิหิงสา คือการชอบเบียดเบียน
รังแกคนอื่น สัตว์อื่น
ใครก็ตาม ที่ไม่มีความสงสารต่อเพื่อนมนุษย์ หรือต่อสัตว์อื่น
ผู้นั้นก็พร้อมที่จะเบียดเบียนคนอื่นได้ตลอดเวลา ที่เป็นดังนี้
ก็เพราะขาดความสงสารตัวเดียว
ถ้ามีความสงสาร อยู่ในใจแล้ว เราจะเบียดเบียนใครไม่ลง อย่างแน่นอน
ด้วย เหตุนี้ ท่านจึงบอกว่า กรุณา ความสงสาร นี่แหละ คือตัวที่จะสังหาร
วิหิงสา คือการเบียดเบียน ซึ่งถือว่า
เป็นเครื่องเศร้าหมองทางใจอย่างหนึ่ง
ทีนี้ พรหมวิหาร ข้อที่ 3 คือ มุทิตา
มุทิตา ได้แก่ ความพลอยยินดี เมื่อเห็นคนอื่นได้ดี พอพูดแค่นี้ หลายท่าน
ก็คงจะพอเดาออกว่า มุทิตา ความพลอยยินดี เมื่อเกิดขึ้นในใจใคร ความริษยา
ก็ย่อมจะหมดไป จากใจของผู้นั้น มุทิตา ความพลอยยินดี กับความริษยา
มันมีลักษณะ ที่ตรงกันข้าม เหมือนน้ำ กับไฟ ยามใด ที่มีมุทิตา ยามนั้น
ริษยา ต้องไม่มีอยู่ในใจ แต่ถ้ายามใด ใจเต็มไปด้วยความริษยา เมื่อนั้น
มุทิตา ก็ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เช่นกัน
อุเบกขา คือการวางเฉย
การ ที่เราจะวางเฉยได้ นั่นก็เพราะ ได้มานึกถึงเรื่องกรรม ของแต่ละบุคคล
ทางพระ ท่านก็บอกไว้แล้วว่า กัมมุนา วัตตติ โลโก สัตว์โลก
ย่อมเป็นไปตามกรรม คือใครทำกรรมอย่างใดไว้ ผู้นั้น ก็จะต้องเป็นผู้รับผล
แห่งกรรมนั้น
ใครก็ตามที่นึกถึงเรื่องกฎแห่งกรรมของแต่ละบุคคลบ่อยๆ
คนประเภทนั้นจะเจริญอุเบกขา คือความวางเฉยได้ง่าย แต่สำหรับใครก็ตาม
ที่ไม่นึกถึงเรื่องกฎแห่งกรรมเลย คนประเภทนั้น เวลามีเหตุการณ์อะไร
เกิดขึ้น กับคนรอบข้าง ก็มักจะเป็นทุกข์ เป็นร้อน ทำใจไม่ได้
ยกตัวอย่างเช่น ลูกหลานของเรา ถูกจับ ในคดียาเสพติด
ถ้าเราเป็นผู้เจริญพรหมวิหารข้อนี้ คืออุเบกขาพรหมวิหาร
เมื่อมาระลึกได้ว่า เราได้เคยห้ามปรามเขาแล้ว แต่เขาไม่เชื่อ
กลับไปพัวพัน เกี่ยวกับเรื่องยาเสพติด จนกระทั่งถูกจับ
ก็ต้องวางเฉยให้เป็น นั่นถือว่า เขาสร้างกรรม ที่จะทำให้ถูกจับ ด้วยตนเอง
ไม่มีใคร ไปทำเขา ใจเราก็จะเป็นปกติได้
แต่ ถ้าเรา ไม่นึกถึงเรื่อง กรรมใคร กรรมมัน มีแต่คิดว่า ลูกหลานของฉัน
จะผิดไม่ได้ จะถูกจับไม่ได้ แล้วก็หาทางวิ่งเต้น เพื่อให้ลูกหลานของตน
หลุดพ้นจากคดี อย่างนี้ซีครับ เป็นตัวอันตรายมาก
สังคมทุกวันนี้ ที่มันวุ่นวาย เดือดร้อน กันไม่รู้จักหยุด ไม่รู้จักหย่อน
ก็เพราะผู้ใหญ่ประเภทที่วางอุเบก ขาไม่เป็นนี่เอง ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก
( ป.อ.ปยุตโต ) ท่านเคยปรารภไว้ว่า คุณธรรม ในหมวดพรหมวิหารนั้น
ที่ท่านต้องวางอุเบกขา ( ความวางเฉย ) ไว้กำกับ เป็นข้อสุดท้าย
ก็เพื่อรักษาสภาพใจของผู้เจริญ ไม่ให้เป็นทุกข์ กับผลกรรม ที่คนรอบข้าง
จะต้องได้รับ นั่นประการหนึ่ง
และอีกประการหนึ่ง ก็คือ เพื่อรักษาความยุติธรรม ของสังคมเอาไว้
อีกทางหนึ่งด้วย บางท่านอาจจะสงสัย ว่าอุเบกขาพรหมวิหาร
ช่วยรักษาความยุติธรรม ให้สังคม ได้อย่างไร ข้อนี้เห็นได้ไม่ยากครับ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้เราไปดูกระบวนการยุติธรรม ของบ้านเมือง
คนที่ทำผิดกฎหมาย คนนั้นก็ต้องได้รับโทษ ตามกระบวนการยุติธรรม
โดยไม่มีการยกเว้น ไม่ว่าผู้ทำผิด จะเป็นใครก็ตาม
แต่โดยความเป็นจริงแล้ว ก็ยังมีบุคคลจำนวนไม่ใช่น้อย
ที่พยายามหาทางหลบหลีก เพื่อให้พวกพ้องของตนเอง หลุดรอด
จากการเอาผิดทางกฎหมาย เช่น พยายามหาทางวิ่งเต้น ติดสินบนเจ้าพนักงาน
เพื่อให้พวกพ้องของตนเอง พ้นจากความผิด เป็นต้น โดยไม่สนใจว่า
สิ่งที่ตนทำนั้น จะถูกต้องหรือไม่
ถ้าบ้านเมืองเรา เป็นเสียอย่างนี้ ความยุติธรรม คงหาไม่ได้ในสังคม
คนทำผิด ถ้ามีเงิน มีอำนาจ ก็พร้อมที่จะพลุดรอด จากการเอาผิดของกฎหมายได้
อย่างนี้ มันก็คงไม่ยุติธรรม
สภาพ ของสังคม มันคงเป็นอย่างนี้ต่อไป ถ้าคนในสังคม ยังวางเฉยไม่เป็น
เพราะไม่เคยนึกถึงเรื่อง กรรมใคร กรรรมมัน ท่องอยู่ได้แต่เพียงว่า ลูกฉัน
หลานฉัน พรรคพวกฉัน จะผิดไม่ได้ จะถูกจับไม่ได้
ฉะนั้น ถ้าจะว่าไปแล้ว สภาพสังคมในปัจจุบันนี้ กำลังต้องการผู้ใหญ่
ที่มีใจเป็นอุเบกขา คือพร้อมที่จะวางเฉยได้ทันที ถ้าพบว่า ลูกตัว หลานตัว
และพรรคพวกของตัว ทำผิดจริง จะไม่ปกป้องเอาไว้
ให้เสียความยุติธรรมของบ้านเมือง
ท่านเห็นหรือยังล่ะครับ ว่า อุเบกขาพรหมวิหารนั้น
ช่วยรักษาความยุติธรรมให้บ้านเมืองได้อย่างไร
ที นี้ มาพูดในแง่ ของการรักษาจิตใจ ของผู้เจริญอุเบกขาบ้าง
ผู้ที่เจริญอุเบกขานั้น จะทำให้ มีความสุขใจ และมีความสบายใจ
มากขึ้นกว่าเดิม
แต่เดิม อาจจะเคยเป็นทุกข์เป็นร้อน กับเรื่องราวของบุคคลรอบตัว
เช่นลูกบ้าง หลานบ้าง พรรคพวกบ้าง ที่ไปเที่ยวก่อกรรม ทำความผิดเอาไว้
อาศัยที่เรามีเมตตา คือรักเขามาก ก็เลยต้องทำ ทุกวิถีทาง เพื่อปกป้องเขา
ให้พ้นผิด ในกรณีเช่นนี้ ท่านถือว่า ใช้เมตตา ไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้อง คือ
ถ้าเขาทำถูก เราใช้เมตตาได้..... แต่ ถ้าเขาทำผิด เราต้องวางอุเบกขาเป็น
อย่างนี้ต่างหาก จึงจะเป็นการสมควร และถูกต้องตามพุทธประสงค์
การที่เราจะวางอุเบกขาได้ ในกรณีเช่นนี้ เราต้องระลึก และยอมรับ
ในเรื่องของกฎแห่งกรรมให้มากๆ ว่ากรรมใดก็ตาม ที่เรา หรือคนรอบตัวเรา
ได้ทำไว้ ผู้ทำจะต้องเป็นผู้ได้รับผลทั้งสิ้น ในเมื่อกล้าทำ
ก็ต้องกล้ารับ จะปัดความผิด ไปให้คนอื่นรับแทน
หาได้ไม่....ต้องทำใจให้ได้อย่างนี้ แล้วท่าน ก็จะวางเฉยได้ และใจท่าน
ก็จะเป็นสุข ไม่ต้องทุกข์ เหมือนแต่ก่อน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น