27 พฤษภาคม 2547 02:19 น.
โดย ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2547 ศาสตราจารย์โจเซฟ เฮาท์ฟาสต์ (Joseph
Hautvast, M.D.,Ph.D.-hautvast@wcsf.nl) จากเนเธอร์แลนด์
เพื่อนเก่าแก่ของ
ศ.นพ.อารี วัลยะเสวี ได้มาเล่าเรื่อง Wageningen Centre for Food
Sciences (www.wcsf.nl) ของเนเธอร์แลนด์
ให้พวกเราฟังที่มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
หัวข้อการพูดคุยคือ วิธีการระดมทุนวิจัยจากภาคธุรกิจ รูปแบบของศูนย์ WCSF
คือ วิธีการหนึ่งของการระดมทุนวิจัยจากภาคธุรกิจ
ที่จริงศูนย์ WCSF เป็นโครงการ 10 ปี (1997-2007)
ที่มีภาคีร่วมกันลงทุนและร่วมกันเก็บเกี่ยวผล 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มภาคธุรกิจเอกชน (จำนวนไม่มากนัก
ประมาณ 10 บริษัท) กลุ่มมหาวิทยาลัย (3-4 แห่ง) และภาครัฐบาล
มีกระทรวงเศรษฐกิจเป็นเจ้าภาพ ผมจำไม่ได้แน่ว่า งบประมาณ 10 ปีเท่ากับ
150 ล้าน
เหรียญสหรัฐแน่หรือไม่ แต่ที่ชัดเจนคือ
เขามีแผนงบประมาณไว้อย่างชัดเจนว่าภาพรวมเท่าไรและภาคีแต่ละกลุ่มต้อง
"ออกค่าใช้จ่าย" เท่าไร
- ภาครัฐบาล ออก 43% เป็นตัวเงิน
- ภาคธุรกิจ ออก 35% เป็นตัวเงิน และเป็นของ (in kind)
- ภาคมหาวิทยาลัย ออก 22% เป็นของทั้งหมด
การออกค่าใช้จ่ายเป็น "ของ" (in kind) หมายถึง เงินเดือนเจ้าหน้าที่
ค่าพื้นที่ห้องปฏิบัติการ ค่าเช่าเครื่องมือ ฯลฯ WCSF
มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีซีอีโอ เป็น
ผู้รับผิดชอบ อยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการนโยบายซึ่งประชุมปีละ 2
ครั้ง คณะกรรมการมาจากภาคีทั้ง 3 กลุ่ม ภารกิจหลักของ WCSF คือ ทำงาน
วิจัยระดับที่เรียกว่า "precompetitive research"
ที่จะประยุกต์ใช้งานได้ภายใน 5-10 ปี เป็นการ "วิจัยเพื่ออนาคตอันใกล้"
ไม่ใช่วิจัยเพื่อปัจจุบัน และไม่ใช่
วิจัยแบบไม่คิดถึงการใช้งาน
การวิจัยเพื่อปัจจุบันหรือเพื่อ 1-2 ปีข้างหน้า เป็น competitve research
บริษัทต่าง ๆ จะไม่มาร่วมมือกัน เพราะต้องแข่งขันกัน
ต้องเป็นความลับระหว่างกัน
การวิจัยแบบไม่คิดถึงการใช้งาน เป็น "การวิจัยฟ้าสีน้ำเงิน" (blue sky
research) บริษัทไม่มีเงินมากพอ และไม่สามารถรับความเสี่ยงได้
ก็จะไม่สนใจลงทุน
ผลลัพธ์ทั้งหมดของ WCSF ต้องตีพิมพ์เผยแพร่ และจดสิทธิบัตร
นอกจากคณะกรรมการนโยบายแล้ว ยังมีคณะกรรมการวิชาการ (Scientific
Committee) ซึ่งก็มาจากภาคี 3 ฝ่ายเช่นกัน และประชุมบ่อย เข้าใจว่า 6
ครั้ง/ปี
ช่วยกันคิดทิศทางและลำดับความสำคัญของการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร
ที่จะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันของบริษัทสมาชิก โจทย์วิจัยทุก
โจทย์ที่นักวิจัยในสถาบันสมาชิกเสนอ
จะต้องมีเป้าหมายเพื่อการประยุกต์ใช้งานได้ภายใน 5-10 ปี และต้องผ่าน
peer review
การทำวิจัยไม่จำกัดเฉพาะทำในมหาวิทยาลัยสมาชิกเท่านั้น
ทำในสถาบันที่ไม่เป็นสมาชิกก็ได้ แต่เงินทุนวิจัยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80
ต้องจ่ายให้แก่
มหาวิทยาลัยสมาชิก (เวลานี้ขยับขึ้นเป็นร้อยละ 90)
การวิจัยอาจทำในห้องปฏิบัติการของบริษัทสมาชิกก็ได้
แต่ตามปกติเขาไม่อยากให้เข้าไปทำ
เพราะเขาต้องการปกปิดกิจกรรมวิจัยส่วนที่บริษัททำเอง
นอกจากผู้อำนวยการสถาบัน (ซีอีโอ) แล้ว WCSF ยังมี Scientific Director
(ผู้อำนวยการฝ่าย) ทำหน้าที่บริหารจัดการให้เกิดงานวิจัยในด้านนั้น ๆ
ตามทิศ
ทางและลำดับความสำคัญที่กำหนดโดยคณะกรรมการนโยบาย
ที่จริงผู้อำนวยการฝ่ายเหล่านี้แหละที่เป็นผู้คิดทิศทางและลำดับความสำคัญเสนอให้คณะ
กรรมการนโยบายมีมติเห็นชอบ (นี่ผมเดาเอาเองนะครับ)
เขามีข้อตกลงด้านความรับผิดชอบและผลประโยชน์ชัดเจน เช่น
บริษัทสมาชิกต้องรับผิดชอบค่าสมาชิกล่วงหน้า 4 ปี เนื่องจากสัญญาวิจัยยาว
4 ปี ถ้า
บริษัทจะลาออกจากสมาชิกภาพ ก็ต้องจ่ายค่าสมาชิก 4 ปีข้างหน้าก่อน
แม้บริษัทที่ล้มละลาย ก็ต้องจ่าย (มีตัวอย่างจริง)
บริษัทที่เข้ามาเป็นสมาชิกภายหลัง ก็ต้องจ่ายค่าสมาชิกย้อนหลังด้วย
เขาเรียก entry fee เพราะเท่ากับได้มารับรู้ความรู้วงในส่วนที่ WCSF
ผลิตมาแล้วด้วย
แรงดึงดูดสมาชิกที่เป็นบริษัทก็คือ "ความรู้วงใน" นี่แหละ
และเป็นที่รู้กันว่าความสามารถในการดูดซับ "ความรู้วงใน"
ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทมีนักวิทยาศาสตร์
หรือนักวิจัยที่มีความสามารถดูดซับได้แค่ไหน ด้วยเหตุนี้เอง
ค่าสมาชิกของแต่ละบริษัทจึงไม่เท่ากัน
บริษัทใหญ่จะต้องจ่ายค่าสมาชิกในวงเงินที่สูง เพราะมี
นักวิทยาศาสตร์ที่จะดูดซับความรู้ได้มาก
ผมถาม ศาสตราจารย์ โจเซฟว่า WCSF เป็น Dutch Model แตกต่างจาก US I-U CRC
(Industry-University Collaborative Research Center ของสหรัฐ
อเมริกา) อย่างไร ท่านตอบว่า Dutch Model เน้นจำนวนสมาชิกน้อยราย
แต่ละรายต้องลงเงินสูง ทำให้มีความเอาจริงเอาจัง (commitment) สูง
ของสหรัฐ
เน้นบริษัทสมาชิกจำนวนมาก และแบ่งกันออกค่าสมาชิกในระดับเพียง 50,000
เหรียญสหรัฐต่อปี ในขณะที่บริษัทสมาชิก WCSF จ่ายค่าสมาชิกในระดับปีละ
1 ล้านเหรียญ
ในเนเธอร์แลนด์มีศูนย์วิจัยในรูปแบบเดียวกับ WCSF อีก 3 ศูนย์
เน้นวิจัยด้านเทเลคอม, โพลีเมอร์, และโลหะวิทยา
วิธีการจัดตั้งศูนย์เหล่านี้ เริ่ม
โดยกระทรวงศึกษาธิการกับกระทรวงเศรษฐกิจ ร่วมกันคิดหลักการ
แล้วประกาศให้เสนอ concept paper ในปี คศ. 1994 มีการเสนอ 18 concept
paper คัด
เหลือ 6 แจ้งให้เสนอแผนงานในรายละเอียด ในที่สุด ให้จัดตั้งได้ 4 ศูนย์
สำหรับ WCSF ทาง OECD ได้มาประเมิน บอกว่ามีความสำเร็จอย่างน่ายกย่อง
นี่คือรูปแบบของการสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างภาครัฐ-ภาค
อุตสาหกรรม-และภาควิชาการ
และเป็นรูปแบบของการจัดการงานวิจัยบูรณาการที่มี "โครงสร้าง" ชัดเจน
มองจากมุมของภาคอุตสาหกรรม นี่คือรูปแบบของ
การสนับสนุนการวิจัยอุตสาหกรรมที่มอบอำนาจกำกับส่วนหนึ่งให้แก่ภาคอุตสาหกรรม
ไม่ใช่ภาครัฐกำกับแต่ฝ่ายเดียว
ศาสตราจารย์ โจเซฟ มองว่า WCSF เป็นวิธีระดมทุนวิจัยจากภาคธุรกิจ
แต่ผมมองว่าเป็นรูปแบบของการที่ภาครัฐสนับสนุนการวิจัยในภาคธุรกิจอย่างชาญ
ฉลาด โดยมีผลก่อความแข็งแรงทั้งในภาคธุรกิจและภาควิชาการ และที่สำคัญ
เป็นรูปแบบการทำงานในลักษณะ "ภาคีที่เท่าเทียมกัน" เพราะทั้งสามฝ่ายต่าง
ก็มีส่วนเข้าไปกำกับการดำเนินการของศูนย์วิจัยในรูปแบบนี้
และเหนือสิ่งอื่นใด
นี่เป็นวิธีเปลี่ยนพฤติกรรมการวิจัยในมหาวิทยาลัยให้หันมาร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมได้โดยไม่ต้องกำหนด
"ระเบียบ" ใด ๆ ขึ้นผลักดัน
ในลักษณะที่คล้ายคลึงกับที่โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษกประสบความสำเร็จมาแล้วเป็นวิธีใช้กระสุนนัดเดียว
ยิงนกได้ถึง 3 ตัว คือเกิดการเปลี่ยนแปลง
ระบบการสนับสนุนการวิจัยในภาคธุรกิจ
เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมด้านการวิจัยในภาคธุรกิจ
และเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมด้านการวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา
ต้องการแสดงความคิดเห็นต่อบทความ ติดต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
(สกว.) โทร.0-2298-0454 e-mail : pr@trf.or.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น