++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ปัญหาอาเซียน ปัญหาโลก ปัญหาไทย

โดย ว.ร.ฤทธาคนี 23 กรกฎาคม 2552 17:13 น.
อาเซียนก่อกำเนิดขึ้นในปี 2510
อันเป็นความฝันของคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ที่จะรวมตัวกันเพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิตร่วมกันเพื่อให้เกิดความสันติสุข
และมั่งคั่ง โดยชั้นต้นพยายามที่จะจัดตั้งสมาคมอาสา หรือ Association of
South East Asia แต่เกิดปัญหาภายในของกลุ่ม
โดยเฉพาะความขัดแย้งเรื่องเขตแดน
และแหล่งทรัพยากรเกิดปัญหาสงครามระหว่างอินโดนีเซียกับมาเลเซียและสิงคโปร์
ที่เรียกว่า สงครามเผชิญหน้าหรือ Confrontation ใน ค.ศ.1962-1966
ซึ่งประเทศตะวันตกเข้าช่วยสิงคโปร์ และมาเลเซีย

กรณีที่อินโดนีเซียบุกยึดครองพื้นที่บางแห่งในเกาะบอเนียวที่นอกเหนือเขต
ปกครองของตัวเอง และจะยึดบรูไน
รวมทั้งอินโดนีเซียจะบุกขึ้นเกาะสิงคโปร์ด้วยในปี 1965
และสงครามยุติได้โดยมีการประชุมหย่าศึกที่กรุงเทพฯ
จึงทำให้แนวคิดการรวมตัวกันต้องยุติไปโดยปริยาย

การขยายตัวสงครามอินโดจีนที่พัฒนาจากสงครามปลดแอกของเวียดนาม
โดยโฮจิมินห์ต้องการแยกตัวจากอาณานิคมของฝรั่งเศส และเวียดนาม
ชนะเด็ดขาดที่สมรภูมิเดียนเบียนฟูใน ค.ศ. 1954 สอดคล้องกับภาวะเข้าตาอับ
(Stalemate) กรณีสงครามเกาหลีที่ปันมุนจอม
ค่ายโลกตะวันตกสถาปนาเวียดนามใต้ให้เป็นแนวป้องกันการขยายเขตอิทธิพล
และการยึดครองของคอมมิวนิสต์แต่เกิดการต่อต้านของประชาชนเวียดนามใต้บางส่วน
ที่ไม่ต้องการรัฐบาลหุ่นเชิดของสหรัฐฯ
ซึ่งเป็นกลุ่มที่แสวงอำนาจเพื่อคอร์รัปชันจึงเกิดสงครามปลดแอกอีกครั้งหนึ่ง
ในยุค 1960 ทำให้สหรัฐฯ ส่งกำลังทหารเข้าช่วยเหลือรัฐบาลเวียดนามใต้
และพัฒนาเป็นสงครามเวียดนามที่มีสมรภูมิครอบคลุมประเทศลาว และเขมร
โดยรัฐบาลไทยให้การสนับสนุนสหรัฐฯ ในการใช้ฐานทัพในประเทศไทย

ในห้วงวิกฤตการเมืองในภาวะสงครามเย็นโลกประชาธิปไตยตะวันตกกับโลก
คอมมิวนิสต์ที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์นำโดยอดีตโซเวียตใช้ทั้งอิทธิพลการเมือง
และการทหารเข้ายึดประเทศต่างๆ เช่น ฮังการี
ซึ่งชาวฮังการีต่อต้านเป็นสงครามกองโจรในเมืองกลางกรุงบูดาเปส
หรือการยึดครองอดีตเชคโกสโลวาเกียใน ค.ศ. 1948
รวมทั้งจีนกลายเป็นรัฐคอมมิวนิสต์ที่แผ่อิทธิพลสู่เกาหลีและเวียดนาม
ทำให้รัฐบาลประธานาธิบดีไอเซนฮาวเวอร์ สถาปนาทฤษฎีโดมิโนอันหมายความว่า
ถ้าประเทศใดประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตกเป็นของโลก
คอมมิวนิสต์แล้ว
ประเทศเพื่อนบ้านก็ได้รับอิทธิพลทั้งทางตรงและทางอ้อมกลายเป็นประเทศ
คอมมิวนิสต์ด้วย

เวียดนามเหนือให้การสนับสนุนสงครามกองโจรปลดแอกในเวียดนามใต้อย่างสมบูรณ์
แบบ โดยกำหนดเส้นทางส่งกำลังบำรุงเรียกว่า
เส้นทางโฮจิมินห์ผ่านลาวและเขมรสู่เวียดนามใต้ได้ทุกภาคและในห้วงต้นยุค
ค.ศ. 1970 เวียดนามเหนือเริ่มมีชัยชนะในสงครามการเมือง
โดยเฉพาะที่โต๊ะเจรจาสันติภาพที่กรุงปารีส

กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังเผชิญกับความเป็นจริง
หรือไม่เป็นจริงของทฤษฎีโดมิโน
ซึ่งสำแดงผลอย่างชัดเจนขึ้นเมื่อโมเมนตัมสงครามการเมืองที่ฝ่ายเวียดนาม
เหนือเหนือกว่าสหรัฐฯ
โดยเฉพาะประชาชนอเมริกันเองออกมาต่อต้านสงครามเวียดนามอย่างเข้มข้น
จริงจัง และเมื่อผนวกกับพลังต่อต้านของชาวยุโรปแล้วทำให้รัฐบาลทั้งของประธานาธิบดี
จอห์นสัน และนิกสัน พูดถึงการยุติสงคราม แต่โฮจิมินห์ต้องการให้ชัยชนะ
และรวมชาติซึ่งประสบความสำเร็จในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1975
เมื่อธงเวียดนามเหนือชักสู่ยอดเสาที่ทำเนียบรัฐบาลเวียดนามใต้ในกรุงไซง่อน
ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นนครโฮจิมินห์

รัฐบาลไทยโดยพันเอกถนัด คอมันตร์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศขณะนั้นและเป็นอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิ
ปัตย์ เป็นผู้ที่มีความสำคัญมากในการวิ่งลอกระหว่างไทย อินโดนีเซีย
มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์
ที่ต่างก็เป็นเป้าหมายของเวียดนามตามยุทธศาสตร์สหพันธรัฐอินโดจีนของโฮจิ
มินห์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ขณะเดียวกันนายลี กวนยู
เดินทางไปแสดงปาฐากถาทั้งที่สหประชาชาติ
และกลุ่มประเทศยุโรปเพื่อขอให้มีการสนับสนุนอาเซียน

จุดกำเนิดอาเซียนจึงมีเพียงการรวมตัวกัน 5
ประเทศแรกเพื่อความเข้มแข็งทางการเมือง การรวมความมั่งคั่งทรัพยากร
และสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจเพื่อให้มีการลงทุนจากประเทศที่พัฒนาแล้ว
การขจัดความต่างในเรื่องวัฒนธรรมเพื่อให้เป็นประชาคมที่อยู่ร่วมกันได้โดย
ไม่มีข้อขัดแย้ง และการพัฒนาระบอบการปกครองตามวิถีทางประชาธิปไตย

ความแข็งแกร่งของอาเซียนมีผลทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกลุ่มกำเนิด
อาเซียน มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะเรื่องความมั่นคง
การต่อต้านการขยายอิทธิพลลักษณะจักรวรรดินิยมคอมมิวนิสต์เวียดนาม
จนจีนเปิดสงครามสั่งสอนเวียดนาม
ประกอบการลดความขัดแย้งทางการเมืองภายในกลุ่มประเทศกำเนิดอาเซียนได้สร้าง
แรงดึงดูดให้มีการลงทุนจากประเทศอุตสาหกรรมมากขึ้น
โดยเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่น

ต่อมากลุ่มประเทศยุโรปจนทำให้สิงคโปร์กลายเป็นเสือเศรษฐกิจตัวที่ห้าของ
เอเชีย (New Industrial Countries-NIC)
และนโยบายสร้างสนามรบให้กลายเป็นสนามการค้าของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
ที่เป็นวลีแห่งยุคซึ่งแสดงปาฐกถาที่ทำเนียบขาวว่า "ไทยจะเป็น Nice
หรือจะเป็นประเทศที่น่ารัก"
และด้วยการรวมตัวของอาเซียนนี่เองทำให้แนวคิดสหพันธรัฐอินโดจีนไม่สัมฤทธิผล
จนกระทั่งโลกคอมมิวนิสต์ยุโรปที่เริ่มต้นที่เยอรมันตะวันออกเสื่อมลง
จนแผ่ขยายผลอย่างรวดเร็ว และในที่สุดสหภาพโซเวียดก็กลายเป็นอดีตไปด้วย

ภาวะความตึงเครียดระหว่างระบอบการปกครองต่างอุดมการณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียง
ใต้เริ่มลดลงไปสู่สันติ
กลุ่มก่อตั้งอาเซียนใจกว้างเปิดรับสมาชิกเพิ่มจนปัจจุบันมี 10 ประเทศ คือ
อินโดนีเวีย พม่า บรูไน เขมร ลาว ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม
และไทยซึ่งมีศักยภาพแข็งแกร่งพอที่จะดึงดูดให้นางฮิลลารี คลินตัน
เดินทางมาร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 16
ที่จังหวัดภูเก็ต

แต่ภายในกลุ่มประเทศอาเซียนมีปัญหาภายในที่มีผลกระทบทั้งภายใน
และต่อทัศนคติของประชาคมโลก เช่น
กรณีความขัดแย้งระหว่างไทยกับเขมรในเรื่องปราสาทพระวิหาร
ซึ่งเกี่ยวข้องกับองค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติที่ต้องระลึกถึงบูรณภาพดิน
แดนไทยด้วย ปัญหาพม่าที่เกี่ยวข้องกับระบอบการปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร
การก่อการร้ายในเขต 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเกี่ยวข้องกับมาเลเซีย
และการก่อการร้ายสากลที่ยังคงมีอิทธิพลในอินโดนีเซีย
ซึ่งได้มีการวางระเบิดในกรุงจาการ์ตาเมื่อเร็วๆ นี้

ปัญหาพม่าเป็นปัญหาเกี่ยวข้องกับปัญหาสิทธิมนุษยชนโดยตรง
ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่สำหรับอาเซียนทั้งกลุ่มโดยรวม
แต่เรื่องของไทยกับเขมรกรณีปราสาทพระวิหารเป็นเรื่องภายในของทั้งสองประเทศ
แต่เรื่องการก่อการร้ายสากลนั้นเป็นเรื่องใหญ่
เพราะถ้าทฤษฎีการสร้างรัฐดาอุห์ อิสลาเมียห์ ลายา (Daulah Islamiah Raya)
สามารถสร้างฐานที่เข้มแข็งได้ที่อินโดนีเซียและเมื่อผนวกมาเลเซียตะวันออก
และภาคใต้ของฟิลิปปินส์ได้อย่างแน่นแฟ้นแล้ว
ภัยคุกคามในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยก็จะเปลี่ยนรูปโฉมทั้งที่จะมีความ
รุนแรงขึ้น มีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งขึ้นกว่าปัจจุบันหลายเท่า
และมีตัวเชื่อมโยง และตัวเชื่อมโยงนี้อยู่ที่ไหน
ตัวเชื่อมโยงแม้ดูว่าเป็นเรื่องเพียงเล็กน้อย
แต่สามารถสร้างแรงสะท้อนกลับได้อย่างเต็มที่
โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ
ในเขตสี่จังหวัดภาคใต้

มีคดีเชื่อมโยงคดีหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องของรัฐกับประชาชนคนไทยที่นับถืออิสลาม
เป็นเรื่องเกี่ยวกับคดีความการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดภาคใต้
เป็นเรื่องการแสดงความจริงตามขบวนการยุติธรรม
เพื่อสงวนสิทธิของคนไทยที่ตกเป็นผู้ต้องหา

คดีนี้คือคดีนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม
และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งหายตัวไปอย่างลึกลับ เมื่อวันที่
12 มีนาคม พ.ศ. 2547 ในช่วงสมัยรัฐบาลทักษิณ 1

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547 เสนอแนวทางแก้ปัญหาความไม่สงบใน
3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และขอความเป็นธรรมในการสอบสวน 5
ผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายมูจาฮีดีน
ซึ่งทนายสมชายชี้แจงว่า
มีการกระทำทารุณกรรมต่อผู้ต้องหาเหล่านี้ให้สารภาพ
ซึ่งกรณีนี้สร้างความอับอายให้กับกระบวนการสืบสวน
สอบสวนของตำรวจเป็นอันมาก

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2549
ทักษิณขณะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ออกมายอมรับเป็นครั้งแรกว่า
กรมสอบสวนคดีพิเศษได้พบหลักฐานสำคัญที่ระบุว่า นายสมชาย นีละไพจิตร
ได้เสียชีวิตแล้ว โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวข้องมากกว่า 4 คน
และสามารถจะสรุปสำนวนเสร็จนั้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 นั่นเอง
แต่อำนาจบริหารของทักษิณยังไม่สามารถที่จะทำให้คดีนี้คลี่คลายได้
หรือเป็นเพราะว่ามีเรื่องต้องอำพรางและปิดบังความจริง
ทักษิณสามารถสั่งการตำรวจได้โดยตรงอย่างหนักแน่นให้ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ
ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ทำการสอบสวนคดีนี้เป็นอันดับหนึ่ง
ทั้งความสำคัญและความเร่งด่วน

คดีทนายสมชาย นีละไพจิตร จะเป็นตัวเชื่อม 2 กรณีคือ
เป็นเหตุในการปลุกระดมการก่อการร้ายสากลให้ใช้เป็นเหตุผลเพื่อเข้าแทรกแซง
และสนับสนุนกำลังพลและเงินทุนการก่อการร้ายภาคใต้ที่อาเซียนก็ช่วยลำบาก
และอีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ
เป็นเหตุผลที่สามารถแสดงให้โลกได้รับรู้ว่ารัฐบาลไทยไม่จริงจังและจริงใจต่อ
เรื่องสิทธิมนุษยชน

ปัจจุบันเหตุก่อความไม่สงบภาคใต้เป็นเรื่องภายในประเทศก็จริง
แต่หากการก่อการร้ายสากลในภูมิภาคเอเชียแข็งแกร่งขึ้นด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม
เรื่องราวนายสมชาย นีละไพจิตร
จะเป็นประเด็นและเป็นตัวเชื่อมได้ไม่มากก็น้อย
และนี่เป็นรอยแผลหนึ่งของรัฐบาลทักษิณ

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000083469

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น