++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

รากแก้วแห่งปัญญา : Research University นิธิ เอียวศรีวงศ์

', 'โดย สำนักงานกองทุนสนุบสนุนการวิจัย (สกว.)
18 มิถุนายน 2547 09:25 น.
เมื่อตอนผมเริ่มทำงานที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่แรก ๆ
การวิจัยออกจะเป็นเรื่องไกลตัวของอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก
ผมจำได้ว่าผู้บังคับบัญชาในตอนนั้นเคยกล่าวในการประชุมว่า
เพราะเป็นมหาวิทยาลัยใหม่
จึงยังอ่อนแอในทุกด้านจนเกินกว่าจะไปสนใจเรื่องการวิจัยได้

ฟังดูในสมัยนี้ก็เหมือนมีเหตุผลดี
แต่ข้อสรุปอย่างนี้ต้องตั้งบนสมมติฐานว่าการเรียนการสอนและการวิจัยนั้นเป็นสองเรื่องที่แยกออกจากกันได้
(ยังไม่ต้องพูดถึงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและการบริการชุมชน
ซึ่งก็เป็นภารกิจที่แยกออกจากกันได้เป็นส่วน ๆ เหมือนกัน)
การที่ในสมัยนี้ยังฟังข้อสรุปอย่างนี้ว่ามีเหตุผลก็เพราะจนถึงสมัยนี้
คนมหาวิทยาลัยจำนวนมากก็ยังมองการวิจัยและการสอนแยกออกจากกันได้เหมือนกันกับสมัยโน้น


แต่การวิจัยและการเรียนการสอนระดับมหาวิทยาลัยนั้นไม่สัมพันธ์กันจริงหรือ ?

การวิจัยอาจถูกพ่อมดหมอผีในทางวิชาการทำให้กลายเป็นรูปแบบขึงขัง
นับตั้งแต่การตั้งสมมติฐานการวิจัยไปจนถึงการเขียนรายงาน
กลายเป็นพิธีกรรมอันหนึ่งที่ละเอียดซับซ้อน แต่หัวใจจริง ๆ
ของการวิจัยคือกระบวนการสร้างความรู้ใหม่นั่นเอง

ในกระบวนการนี้ประกอบด้วยการกระทำซึ่งเกิดขึ้นในชีวิตของผู้คนคือการตั้งคำถามใหม่
ตั้งคำถามกับคำถามเดิม ตั้งคำถามกับคำตอบเดิม ตอบคำถามเดิมใหม่
ตอบคำถามใหม่ ตอบคำถามที่เกิดจากการตั้งคำถามใหม่กับคำถามเดิม ฯลฯ
จนในที่สุดก็สร้างความรู้ใหม่ขึ้นมา
ความรู้ใหม่ก็ไม่ใช่อะไรที่ลี้ลับสูงส่งเกินกว่าที่คนทั่วไปทำอยู่ในชีวิตปรกติอยู่แล้ว
บางครั้งอาจเป็นข้อมูลใหม่,
บางครั้งเป็นการมองความสัมพันธ์ของข้อมูลเก่าอย่างใหม่,
บางครั้งเป็นโลกทรรศน์ใหม่,
และบางครั้งก็เป็นการผสมผสานกันของทั้งหมดเหล่านี้

ผมคิดว่าสาระสำคัญของการศึกษามหาวิทยาลัยไม่ใช่การถ่ายทอดและรับรู้ข้อมูล
เพราะส่วนนี้น่าจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าและย่อมเยาราคากว่า
(ทั้งแก่ตนเองและสังคม) โดยการศึกษาด้วยตนเอง
แต่การศึกษาระดับมหาวิทยาลัยหมายถึงการฝึกปรือที่จะตั้งคำถามใหม่,
ตั้งคำถามเดิมใหม่ .......... (อย่างที่กล่าวในย่อหน้าข้างบน)........
จนทำให้เกิดความเคยชินที่จะมองหาช่องทางที่เป็นไปได้ในการสร้างระบบความสัมพันธ์ใหม่ของข้อมูลอยู่เสมอ
กล่าวโดยสรุปก็คือหัวใจของการวิจัยนั้นเอง

ถ้าการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยหมายความแต่เพียงการถ่ายทอดข้อมูล
ผมชอบตั้งคำถามกับผู้คนเสมอว่า
ทำไมเราไม่พิมพ์ข้อมูลเหล่านั้นแล้วแจกนักศึกษาไปตั้งแต่วันประกาศผลการสอบคัดเลือกเลย
อย่าลืมพิมพ์ปริญญาบัตรไว้ท้ายเล่มพร้อมปรุกระดาษให้ฉีกไปติดข้างฝาได้ทันทีที่อ่านหนังสือชุดนั้นจบด้วย
แล้วมหาวิทยาลัยก็ปิดทำการเสียเลยดีกว่า

หลายทศวรรษผ่านไปจนบัดนี้
การวิจัยไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในป่าหิมพานต์สำหรับมหาวิทยาลัยไทยอีกแล้ว
ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นี้เอง
ผมได้ยินมาว่าสภามหาวิทยาลัยหรือสถาบันอะไรทำนองนั้นซึ่งมีหน้าที่กำหนดแนวทางของมหาวิทยาลัยในอนาคต
ได้ประกาศว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ของเรามุ่งจะไปเป็น research university
จะแปลว่าอะไรผมก็ไม่แน่ใจ
ขอแปลไปตามอัตโนมัติว่ามหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย

แปลว่าอะไรยังไม่ค่อยสำคัญเท่ากับว่า research university
หมายความว่าอย่างไร
และหมายความว่าอย่างไรนั้นผมไม่ได้ยินว่าสถาบันดังกล่าวได้นิยามไว้
ยิ่งคิดถึงความหมายในเชิงปฏิบัติก็ยิ่งรู้สึกว่าเราอาจกำลังสับสนบางอย่าง

ถ้า research university หมายถึงมหาวิทยาลัยที่มุ่งจะทำการวิจัยเป็นหลัก
ผมสงสัยว่าทำไมไม่เปลี่ยนมหาวิทยาลัยเป็นสถาบันวิจัยไปเสียเลย
สถาบันการวิจัยก็สามารถสอนได้
เพียงแต่สอนแคบคือสอนอะไรที่มีฐานมาจากการวิจัยของตัวเป็นส่วนใหญ่
ผมคิดเสมอว่าการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมีความหมายกว้างกว่าทักษะเฉพาะด้าน

ยังมีปัญหาอีกเรื่องหนึ่งที่เกิดกับการวิจัยของมหาวิทยาลัย
ซึ่งพบได้ทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศทุนนิยมอย่างสหรัฐนั่นก็คือการวิจัยเป็นสินค้าด้วย
หมายความว่าขายได้
แต่ตลาดของสินค้าชนิดนี้มีผู้ชื้อที่มีความต้องการอยู่สองอย่าง

หนึ่ง คือคนที่ต้องการความจริง
แต่ต้องเป็นความจริงที่ถือเป็นสมบัติส่วนตัว
สามารถเอาความจริงที่ได้จากการวิจัยไปบริหารให้เกิดกำไรหรือประโยชน์ทางอื่นแก่ตนเองได้
สัญญาวิจัยของบริษัทยาหลายแห่งในสหรัฐที่ "จ้าง" การวิจัย
จะกำหนดไว้ว่าผู้วิจัยไม่มีสิทธิ์เปิดเผยผลงานของตัวเอง
บริษัทจะตัดสินใจเปิด, เปิดบางส่วน, หรือปิดผลงานวิจัยเอง
และความจริงก็ปรากฏว่าผลงานวิจัยที่ชี้ว่าตัวยาบางตัวซึ่งส่งมาให้วิจัยนั้นมีอันตรายก็ถูกปกปิดเป็นความลับ

อย่างที่สองก็คือ กลุ่มผู้จ้างที่ไม่ต้องการความจริง
แต่อยากได้ฉายาบารมีของการวิจัยโดยมหาวิทยาลัยมาห่มคลุมความเท็จและความชุ่ยของตัว
สินค้าวิจัยประเภทนี้มหาวิทยาลัยก็ผลิตออกขายไม่น้อย
ในเมืองไทยทุกวันนี้นักวิชาการในมหาวิทยาลัย
(บางครั้งก็ใช้ชื่อคลุมเครือระหว่างชื่อตัวกับชื่อมหาวิทยาลัย)
ที่ผลิตสินค้าประเภทนี้ออกขายอยู่มาก
โดยเฉพาะเพื่อสนับสนุนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ
อยากได้การวิจัยสนับสนุนเขื่อน, อุโมงค์ผันน้ำ, สนามบิน, การท่องเที่ยว,
พิพิธภัณฑ์, ทางด่วน, รถไฟใต้ดิน ฯลฯ
เร่เข้ามาเถิดแม้มหาวิทยาลัยอาจมีชื่อร้านว่า eight-to-four
แต่เปิดขายตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งสองเรื่องนี้เกี่ยวพันกับจริยธรรมการวิจัย
เป็นเรื่องใหญ่เสียจนพ้นจากบทความชิ้นนี้ แต่เพราะเป็นเรื่องใหญ่ขนาดนี้
มหาวิทยาลัยจึงควรให้ความสนใจและไตร่ตรองให้ดี ผมเพียงแต่อยากเตือนว่า
มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันที่ต้องได้รับ public trust
หรือความไว้วางใจจากสาธารณชนจึงสามารถประกอบภารกิจของตัวได้ผล
ปราศจากสิ่งนี้มหาวิทยาลัยจะทำอะไรที่ควรทำไม่ได้ไปมาก

ถ้า research university
หมายความว่าจะสนับสนุนการวิจัยให้เกิดขึ้นให้มากในมหาวิทยาลัย
คำถามก็คือการวิจัยที่เกิดขึ้นมากนั้นจะไปสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับภารกิจด้านอื่น
ๆ ของมหาวิทยาลัยอย่างไร โดยเฉพาะด้านการเรียนการสอน เช่น
สมมติว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งเป้าจะขยายบัณฑิตศึกษาจนกระทั่งครึ่งหนึ่งของนักศึกษาเป็นนักศึกษาระดับบัณฑิต
(ดังที่ได้ยินข้อดำริเช่นนี้เช่นกัน) แน่นอนว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น
ย่อมมีการวิจัยในมหาวิทยาลัยมาก
เพราะเกือบครึ่งหนึ่งของนักศึกษาต้องทำวิจัยอะไรสักเรื่องหนึ่งอยู่
แต่การวิจัยนั้นจะไปเกี่ยวกับการเรียนการสอน, การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม,
และการบริการชุมชนอย่างไร? ผมคิดว่าเราคงไม่สามารถสรุปเอาเองได้ว่า
มันจะเกี่ยวเองโดยอัตโนมัติ
เพราะในอีกหลายมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาครั้งหนึ่งอยู่ในระดับบัณฑิตศึกษาการวิจัยเหล่านั้นก็ไม่เกี่ยว

โดยส่วนตัวผมคิดว่าความหมายของ research university
คือภารกิจทุกด้านของมหาวิทยาลัย
โดยเฉพาะการเรียนการสอนต้องมีพื้นฐานอยู่กับการกระทำที่เรียกว่าวิจัย
(แม้อาจไม่ออกมาในรูปพิธีกรรมอย่างที่พวกพ่อมดหมอผีสั่งเอาไว้ก็ตาม)
หลักสูตรแม้ในชั้นปริญญาตรีก็ต้องลดการป้อนเนื้อหาข้อมูลลง
แล้วหันไปสู่การร่วมกันสำรวจตรวจสอบคำตอบสำเร็จรูปทางวิชาการต่าง ๆ
ว่าเกิดขึ้นจากกระบวนทรรศน์อะไร, ข้อสรุปทางวิชาการอะไร, วิธีการอะไร ฯลฯ
เพื่อนำไปสู่การประเมินกระบวนการนั้นว่ามีจุดอ่อนจุดแข็งในส่วนใดบ้าง
ก่อให้เกิดการตั้งคำถามใหม่,
ตั้งคำถามกับคำถามเดิม....(ย้อนกลับไปดูย่อหน้าข้างบน)....
จนกระทั่งชั้นเรียนดำเนินไปด้วย "การวิจัย" ไม่ใช่การ "บอกหนังสือ"

research university จึงไม่ได้หมายความเพียงมีการวิจัยมาก ๆ
แต่หมายรวมถึงการรื้อระบบของทุกภารกิจของมหาวิทยาลัยให้ดำเนินไปด้วยจิตวิญญาณของการวิจัย

มหาวิทยาลัยที่ไม่มีรายงานการวิจัยออกมาเลยสักชิ้นเดียว อาจเป็น research
university ได้มากกว่ามหาวิทยาลัยที่ปั๊มรายงานวิจัยออกมาเป็นกระตั๊กก็ได้
เพราะในโลกนี้มีรายงานการวิจัยจำนวนมากที่ขาดจิตวิญญาณของการวิจัย
และมีจิตวิญญาณของการวิจัยจำนวนมากที่ไม่มีรายงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น