++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ความเปราะบางของสังคมไทย

โดย ชัยอนันต์ สมุทวณิช 12 กรกฎาคม 2552 15:38 น.
โดยปกติ การก่อการร้ายมักเกี่ยวกับการใช้กำลังต่อรัฐ
ซึ่งมีความรุนแรงเกิดขึ้น ที่สำคัญก็คือ
เจตนาของผู้กระทำการหรือจะเรียกว่าเป็น "เป้าประสงค์"
ของการดำเนินงานนั้นๆ ก็ได้

การก่อการร้ายมักดำเนินการโดยองค์กรที่ปิดลับ
และเป็นการฉวยโอกาสของความหละหลวมของรัฐในการป้องกันเหตุ สรุปก็คือ
เป็นการกระทำที่ไม่เปิดเผยบุคคลในขบวนการก่อเหตุ

ดังนั้น การพิจารณาว่าการกระทำใดเข้าข่าย "การก่อการร้าย"
หรือไม่ก็จะไม่ดูเฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้น หากต้องดูถึงเป้าหมาย เจตนา
และกระบวนการดำเนินงานที่ปิดลับ

การที่ตำรวจตั้งข้อหากลุ่มพันธมิตรฯ
ว่าเป็นผู้ก่อการร้ายในการปิดล้อมสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมินั้น
น่าจะไม่สอดคล้องกับความหมายของการก่อการร้าย ทั้งในแง่เจตนา เป้าหมาย
และกระบวนการ

ที่สำคัญก็คือ กลุ่มพันธมิตรฯ ได้ดำเนินการอย่างเปิดเผย
มีการประกาศให้รู้ล่วงหน้า และไม่ได้ใช้กำลังความรุนแรงในการกระทำ

หากจะกล่าวโทษกันแล้ว คนทั้งหมดที่เข้าร่วมในวันปิดล้อมสนามบิน
น่าจะตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด

ที่น่าแปลกใจก็คือ คนอย่างนายกษิต ภิรมย์
ที่ขึ้นไปอภิปรายในฐานะนักวิชาการผู้รับเชิญ ก็พลอยถูกกล่าวหาไปด้วย
ซึ่งไม่อาจเข้าใจเป็นอื่นไปได้ว่าเป็นการเจาะจงตัว
เพราะมุ่งประสงค์ในการก่อปัญหาให้กับรัฐบาล เพราะนายกษิตเป็นรัฐมนตรีอยู่
คนอื่นๆ ที่มีบทบาทมากกว่านายกษิต กลับไม่ถูกกล่าวหา

การกล่าวโทษกลุ่มพันธมิตรฯ นั้น
เมื่อเทียบกับการก่อจลาจลในเมืองที่ประชาชนเดือดร้อน ล้มตาย
และเสียทรัพย์สินของราชการแล้ว ก็เทียบกันไม่ได้
ทำให้มีความคาดหมายได้ว่า กลุ่มคนเสื้อแดงคงจะถูกข้อกล่าวหาที่หนักพอๆ
กัน

การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงดูจะไม่หยุดง่ายๆ
เพราะกรณีการประท้วงรัฐมนตรีสาธารณสุขที่หน้าโรงพยาบาล
ทำให้คนกังวลว่ากลุ่มคนเสื้อแดง
เป็นกลุ่มคนที่ไม่ละเว้นแม้กระทั่งเขตโรงพยาบาล
แม้บุคคลที่เคยถูกสั่งห้ามเคลื่อนไหวแล้วก็ยังไม่หยุด

เหตุการณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่มคนเสื้อแดงนี้
แสดงให้เห็นถึงลักษณะพิเศษของกระบวนการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
ซึ่งมีอยู่อย่างเต็มรูปเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ลักษณะพิเศษเหล่านี้ได้แก่

1. เป็นการเคลื่อนไหวที่สนับสนุนตัวบุคคล

2. เป็นการเคลื่อนไหวที่ระดมความสนับสนุนจากประชาชนฐานล่างของสังคม

3. เป็นการเคลื่อนไหวที่มีความรุนแรง

สำหรับกลุ่มพันธมิตรฯ นั้น
ยิ่งนานวันก็ยิ่งมีการยกระดับคุณภาพของการเคลื่อนไหว
มีการกระจายตัวออกไปตามจังหวัดต่างๆ และปรับตัวจากการเป็น
"ขบวนการต่อต้านทักษิณ" ไปเป็นกลุ่มที่ต้องการสนับสนุน "การเมืองใหม่"
ในขณะที่มีการระดมทรัพยากรจากสาธารณชน
แทนที่จะอาศัยทุนรอนจากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

การเมืองไทยในอนาคตจึงไม่เหมือนการเมืองไทยในอดีตที่ผ่านมา
ตรงที่การเมืองไทยในอนาคตขึ้นอยู่กับบุคคลเพียงคนเดียว
แต่เป็นคนที่มีทรัพยากรทางการเมืองมหาศาล
จะว่าไปแล้วการเมืองไทยในอนาคตจึงเป็นการเมืองที่ไม่มีอนาคต
เพราะการต่อสู้เพื่อลบล้างอดีต

นอกจากนั้น
การเมืองไทยในอนาคตยังเป็นการเมืองที่แบ่งแยกประชาชนอีกด้วย
และเป็นการเมืองแห่งความเกลียดชัง

วิธีคิดของกลุ่มคนเสื้อแดงที่น่าสนใจก็คือ การวางสถานภาพของ
พ.ต.ท.ทักษิณ ดังสะท้อนจากการเตรียมจัดงานวันเกิดครบรอบหกสิบปี
ที่จะกระทำกันทั่วประเทศ และเคยคิดที่จะจัด ณ ท้องสนามหลวง
วิธีคิดเช่นนี้สะท้อนถึงความรู้สึกจงรักภักดี และการให้ความสำคัญแก่
พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ผู้นำทางการเมืองคนอื่นๆ ไม่เคยได้รับมาก่อน

พ.ต.ท.ทักษิณ คงเพิ่มบทบาททางการเมืองมากขึ้น
หากได้ที่พักพิงอย่างเป็นหลักแหล่งแล้ว
ซึ่งก็ไม่มีที่ใดเหมาะสมเท่ากับฟิจิ เนื่องจากเป็นประเทศเล็กๆ
และต้องการการลงทุน
แต่เดิมคนอินเดียซึ่งเป็นพ่อค้าคุมอำนาจทางเศรษฐกิจไว้ได้
มาบัดนี้ชนเผ่าพื้นเมืองทำลายอำนาจนั้น
ทำให้ฟิจิต้องการการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น

เมื่อลงหลักปักฐานได้แล้ว ในที่สุด พ.ต.ท.ทักษิณ
ก็อาจตัดสินใจตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น
ที่จะทำงานประสานกับพรรคการเมืองในประเทศไทย

ความพยามของ พ.ต.ท.ทักษิณในเวลานี้ก็คือ
ทำอย่างไรอิทธิพลของเขาจึงจะไม่หมดไป ดังนั้น การเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมา
จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า เขาจะไม่ทิ้งหรือวางมือจากการเมืองไทย

น่าเสียดายที่การเมืองไทยในอีกสิบปีข้างหน้า
จะวนเวียนอยู่กับปัญหาส่วนตัวของทักษิณ ชาติใดที่ประสบกับชะตากรรมเช่นนี้
ย่อมบั่นทอนสมรรถนะของคนในชาติ และยังทำลายความสามัคคีของชนในชาติอีกด้วย
การเมืองแทนที่จะเป็นตัวช่วยแก้ปัญหา
หรือเป็นตัวหารกลับเป็นตัวปัญหาเสียเอง คือ
เป็นตัวคูณทำให้ความสามารถในการแก้ปัญหาทางสังคม
และเศรษฐกิจมีความซับซ้อนมากขึ้น

ประชาธิปไตยในแต่ละประเทศต่างสะท้อนสังคมของประเทศนั้น
ไทยเราเองเพิ่งมี "ประชาธิปไตยเต็มใบ" มาไม่นาน
เราพบว่าความเสียหายมีมากกว่าความคุ้มค่า
และกลับทำให้ระบอบการเมืองถอยหลัง พนักงานของรัฐ เช่น
ตำรวจเสื่อมเกียรติภูมิ
ไม่ได้รับศรัทธาจากประชาชนผู้มีความตื่นตัวทางการเมือง

ไม่ เชื่อก็ต้องเชื่อว่าคนคนเดียวสามารถมีการกระทำที่ส่งผลสะเทือนให้แก่สังคม
ได้มากขนาดนี้ ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า
สังคมไทยเราไม่ได้มีความแข็งแกร่งเท่าที่เราเคยเชื่อ

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000078526

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น