เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมได้ไปเที่ยวตลาดน้ำตลิ่งชัน หน้าที่ทำการเขตตลิ่งชันริมคลองชักพระ
ผมชอบเที่ยวตลาดน้ำ ตลาดสด ตลาดเก่า เพราะชอบบรรยากาศผู้คน ที่มีปฏิสัมพันธ์กันแบบมีมิตรภาพมากกว่าธุรกิจ และมักได้ความคิดดี ๆ ติดตัวกลับมา
วันนั้นได้เดินไปจนถึงศาลาริมคลอง เห็นมีวงดนตรีไทยผู้สูงอายุ (มาก ๆ)ตั้งวงเล่นกันอยู่ แต่ละคนดูตั้งใจเล่นกันมาก มีคนเดินมาดูบ้างแต่ไม่มากนัก
ผมให้ความสนใจวงดนตรีไทยผู้สูงอายุวงนี้ เคยดูรายการทีวีเขาสัมภาษณ์มาบอกว่า ทุกคนตั้งใจ
มาเล่นให้ผู้คนฟัง หลายคนอยู่ไกล ๆ เดินทางมาเอง เอาเครื่องดนตรีมาเอง ไม่ได้เงินค่าจ้างด้วย แต่ก็เต็มใจมา เพราะดีกว่าอยู่บ้าน และรู้สึกว่าตัวเองมีค่า ไม่เหงาได้พบปะและพูดคุยกับคนที่ชอบของคล้าย ๆ กัน คอเดียวกัน โดยไม่เน้นเรื่องธุรกิจหรือผลประโยชน์
คิดว่า เออหนอ...เขาเข้าใจหาความสุขง่าย ๆ ให้ตัวเอง ไม่ทอดทิ้งตัวเอง ยังคงมีความหวังในชีวิตอยู่เสมอ แถมรู้จักแบ่งปันความสุขให้ผู้อื่นด้วย
ขอคารวะ...ด้วยใจครับเคยมีคนถามผมว่า แล้วความสุขง่าย ๆ ของผมเล่า มีอะไรบ้าง ?
ในวัยนี้ผมก็มีหลักในการหาความสุขง่าย ๆ ดังต่อไปนี้...
1. มีสุขภาพดี (Healthy) ทั้งกายและใจ รู้จักวิธีดูแลสุขภาพทั้งกายและใจของตัวเองให้ดี
2. มีเงินใช้พอควร (Wealthy) เงินเป็นความจำเป็นอย่างหนึ่ง ต้องรู้จักอดออม ประหยัด และขยัน
3. สร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ (Relation) โดยเฉพาะกับเพื่อนและญาติดี ๆ ที่เป็นกัลยาณมิตรถ้ามีคู่ครองก็ต้องสร้างมิตรให้ดีกับคู่ครอง และไม่ลืมสร้างมิตรกับตัวเองด้วยนะครับ
4. สนุกตามวัย คนเราต้องมีสนุกบ้าง ต้องมีความหวัง นึกถึงสิ่งต่าง ๆ ในแง่บวก ตื่นเต้นได้บ้าง
5. สบายตามควร ถ้าเลือกได้ก็เลือกอยู่ในที่บรรยากาศสบาย ๆ เอาไว้ก่อน รู้จักลดเงื่อนไขในชีวิตลง อยู่ง่าย กินง่าย ทำอะไรง่าย ๆ ขึ้น
6. แบ่งปันให้มากขึ้น การรู้จักแบ่งปันนี้เป็นสุดยอดคุณธรรมของมนุษย์ เป็นนิสัยของคนดี ใคร ๆ ก็รักและนับถือ จะอยากเป็นผู้ให้มากขึ้นและเป็นผู้รับน้อยลง (Give More and Take Less)
คุณจะมีความสุขจากการแบ่งปัน ได้มิตรเพิ่มมากขึ้น รู้สึกตัวเองมีค่า และมักจะไม่อยากทำผิดกฎหมายหรือผิดศีล
คุณจะเรียกวิธีทำให้เกิดความสุขทั้งหมดนี้ว่าเป็น ความสุขง่าย ๆ สไตล์บ้าน ๆ ก็ได้
ผมใช้วิธีดังกล่าวนี้เสมอ และได้รับความสุขกลับมามากขึ้นทุกวัน ถ้ามีทุกข์เข้ามาก็อยู่ไม่นาน เดี๋ยวก็จากไป
นี่ถ้าผมเล่นดนตรีไทยได้ คงจะไปร่วมวงกับวงดนตรีดังกล่าวข้างบนนี้ก็ได้ถือเป็นการแบ่งปันความสุขอีกอย่างหนึ่งไงเล่า!
ศ.ดร.นพ.วิทยา นาควัชระ (จิตแพทย์)
ที่มา คอลัมพ์โลกและชีวิต โดยนายแพทย์วิทยา นาควัชระ นสพ แนวหน้า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น