คุณคงรู้จักใครบางคนที่ชอบโทษคนอื่นว่าเป็นคนผิด บกพร่อง หรือโทษเหตุการณ์ต่างๆ รอบตัวว่าทำให้เขามีทุกข์ไม่มีความสุขกันบ้างแล้ว
ในแง่จิตวิทยาเมื่อเราต้องพบกับบุคคลหรือเหตุการณ์ใดๆ เราจะเกิดความรู้สึกได้เป็น 3 อย่าง คือ พอใจ ไม่พอใจ และเฉยๆ เราจะยึดติดอารมณ์ที่พอใจซึ่งมักจะอยู่ไม่นานก็จะจางหายไป แล้วเราจะอยากได้อารมณ์พอใจอย่างนั้นอีก แต่มันจะไม่เกิดได้ง่ายๆ หรอก
ความรู้สึกพอใจ ไม่พอใจ และเฉยๆ เกิดจากจิตใจของเราเองทั้งนั้น ไม่ได้เกิดจากเหตุการณ์นั้นหรือบุคคลนั้นๆ เลยบางทีเราพบเหตุการณ์เดียวกันหรือบุคคลเดียวกันเราก็รู้สึกเฉยๆ ชอบหรือไม่ชอบ แปรเปลี่ยนได้บ่อยๆ ไป ฉะนั้นเราควรรับผิดชอบต่อความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบที่เกิดจากจิตใจของเรามากกว่าไปโทษเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
คนที่ชอบโทษคนอื่นมากๆ มักเป็นคนที่ มีความรู้สึกแบบสุดโต่ง เช่น เวลารักใครก็รักมาก ถ้าเกลียดใครก็รุนแรง ซึ่งโดยลักษณะนี้ จะทำให้เขาประเมินค่าของสิ่งที่เขาได้พบ (ทั้งคนและเหตุการณ์) เกินกว่าความเป็นจริงเสมอ เช่นเวลาจะรักใครก็รู้สึกรักมากเหลือเกิน ทั้งที่เขาไม่ได้มีค่ามากมายอย่างที่ควรจะได้รับความรักมากขนาดนั้น หรือเวลาเกลียดใครก็จะเกลียดมากมายอย่างไม่สมเหตุผลเช่นกัน
ความรู้สึกสุดโต่งจึงเป็นสิ่งไม่ดี ควรลดลงให้อยู่ในระดับทางสายกลางจะดีกว่า
คนที่มีความรู้สึกสุดโต่งและมักโทษ คนอื่นนี้จะมีปัญหาที่จิตใจตัวเองคือ เป็นคนที่มีจิตใจอ่อนแอ ขาดพลังในการเรียนรู้ ขาดปัญญา ต้องมีการพัฒนาให้จิตเข้มแข็งและมีพลังมากขึ้น
การจะแก้ได้ก็คือการฝึกสมาธิบ่อยๆ ทำให้เกิดสติและเข้าใจความคิด อารมณ์ ของตนเองได้ดีว่ากำลังคิดทางลบ (-) หรือบวก (+) อยู่ มีสาเหตุจากอะไร?
จะตระหนักว่าทุกอย่างอยู่ที่จิตหรือความคิดของเราเองไม่ใช่ความผิดของคนอื่นหรอก จึงควรเลิกโทษคนอื่นเสียที หันมา รับผิดชอบต่อความอ่อนแอของจิตของเราดีกว่า ต้องฝึกให้เข้มแข็งขึ้น รับผิดชอบตัวเองต่อ ความทุกข์-สุข ชอบ-ไม่ชอบของตัวเอง ซึ่งเกิดจาก ความคิดหรือจิตของตัวเองทั้งนั้น ไม่ใช่คนอื่น มาทำให้เราเป็นทุกข์เลย จะได้เลิกโทษคนอื่นเสียที
จากนั้นก็จะพัฒนาความรู้สึกให้เกิดความสมดุล ไม่มากไป ไม่น้อยไป จะไม่รักอะไรมากจนเข้าข่ายหลงหรือเกลียดบางคนชนิดไม่มีสาเหตุแบบอคติ ซึ่งจะทำให้จิตใจของเราไม่มีความสงบเลย
เราจะไม่คาดหวังมากเกินไป เพราะถ้าหากได้มาเราก็ดีใจหรือชอบเขา แต่ถ้าไม่ได้เราก็จะโกรธเกลียดเขาโทษเขาว่าทำให้เราไม่มีความสุขอีก
แต่เราจะรู้จักปรับจิตให้อยู่อย่างสมดุลและเป็นทางสายกลาง หลายๆ ครั้งเราจะได้สัมผัสความเงียบสงบภายในตัวเรา (inner silence) ซึ่งจะสามารถสื่อสารให้เราทราบได้ว่าชีวิตเราต้องการอะไรจริงๆ บ้าง
อ่านบทความวันนี้แล้วคงเห็นใจและเข้าใจคนที่ชอบโทษคนอื่นว่าเขามีความทุกข์และมีจิตใจที่อ่อนแออยู่มาก โดยเฉพาะพวกที่มี ความรู้สึกสุดโต่ง เขาอาจอยู่ข้างๆ คุณในบ้าน ในที่ทำงาน หรือเป็นตัวคุณเองก็ได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า โดย ศ.ดร.นพ.วิทยา นาควัชระ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น