(“ศ.ดร.นพ.วิทยา นาควัชระ” )
เพื่อลดการขยายตัวของกลุ่มมิจฉาชีพ หรือ 18 มงกุฎในคราบเด็ก และวัยรุ่น การแก้ปัญหาต้องแก้ที่ต้นน้ำ นั่นก็คือครอบครัว โดย 'ศ.ดร.นพ.วิทยา' บอกถึงวิธีการเลี้ยงลูกสำหรับพ่อแม่ เพื่อเป็นแนวทางให้ลูกเป็นเด็กดีว่า
1. ก่อนอื่นพ่อแม่ต้องให้ความสำคัญ และความสนใจเรื่องการพัฒนาจิตใจของลูกให้มีจิตสังคม หรือจิตสาธารณะเสียก่อน เช่น ถ้าจะสอนเรื่องความกตัญญู ไม่ใช่สอนให้กตัญญูกับคนในครอบครัวเพียงอย่างเดียว เช่น “ฉันเป็นแม่ ลูกจะต้องกตัญญูกับแม่” แต่ทั้งนี้ควรสอนให้ลูกตัญญูต่อคนอื่น เช่น ครู สังคม และประเทศชาติด้วย
2. พ่อแม่จะต้องพัฒนาจิตสำนึกในส่วนที่ดี (หน้ามือ) ให้งอกงามเพิ่มขึ้น เช่น ความรัก ความเมตตา ความเอื้ออาทร ความอ่อนโยน ขณะที่จิตสำนึกในส่วนไม่ดี (หลังมือ) เช่น ความหน้าด้าน เกียจชัง ควรลดให้เกิดน้อยลง ซึ่งถ้าเมื่อไร พ่อแม่ลืมพัฒนาส่วนที่เป็นหน้ามือให้แก่ลูก ภาพในส่วนของหลังมือ ไม่ว่าจะก้าวร้าว รุนแรง จะขยายตัวมากขึ้น นำไปสู่การเอาเปรียบ และหลอกลวงผู้อื่น และสังคมต่อไปได้
เช่น สอนให้ลูกรู้จัก ยิ้ม ไหว้ ทักทาย ชมเชย ช่วยเหลือ ทำให้เด็กรู้สึกว่า ตัวเขาเองมีค่า เพราะพ่อแม่ชมเขา สอนเขา หรือมองเขาในลักษณะที่ให้เกียรติ พร้อมกับภูมิใจตัวลูก เมื่อลูกรู้สึกว่าตัวเองมีค่าแล้ว ก็สอนต่อไปว่า ต้องกระจายคุณค่าไปยังผู้อื่นด้วย ทำให้เด็กได้รับมิตรภาพมากขึ้น
แต่ถ้าเมื่อไรที่พ่อแม่ไปตำหนิ หรือไม่ให้เกียรติลูก จิตใต้สำนึก และเมล็ดพันธุ์ด้านลบ จะขยายพันธุ์มากขึ้น ทำให้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่กระด้าง ส่งผลให้ก่อการกระทำที่ผิดกฎหมาย และหลอกลวง กลายเป็น 18 มงกุฎได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
3. หลอมให้ลูกทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม ด้วยการแบ่งปันเวลาในครอบครัว พาลูกออกไปทำประโยชน์เพื่อสังคมบ้าง ทั้งนี้เพื่อปลูกฝังให้ลูกรู้จักแบ่งปัน สู่การเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคสิ่งของช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส หรือการปลูกป่าคืนต้นไม้ให้ป่าใหญ่ เป็นต้น หลอมความอ่อนโอน และมองเห็นคุณค่าของเพื่อนมนุษย์
4. สอนลูก ให้รู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น และปกป้องผลประโยชน์บนความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ในสังคม ด้วยการสอนให้ลูกรู้สึกไม่ดี กับการกระทำผิด เช่น เมื่อเห็นเพื่อนถูกรังแก ต้องวิ่งเข้าไปห้าม หรือวิ่งเข้าไปบอกครูทันที
ตัวอย่างง่ายๆ คือ ตั้งคำถามให้ลูกคิด เช่น เมื่อเห็นลูกนกตกลงมาจากรัง ลูกจะต้องทำอย่างไร จะปล่อยไว้เฉยๆ หรือปีนขึ้นไปเก็บ รวมทั้งต้องสอนให้ลูกกล้า และไม่อายที่จะทำความดี และกล้าที่จะบอก อาทิ สิ่งใดไม่ถูกต้อง ต้องช่วยกันแย้ง เป็นต้น
5. แบบอย่างที่สำคัญของลูก คือแบบอย่างที่ดีของพ่อแม่ ดังนั้น พ่อกับแม่ต้องเป็นแบบอย่างด้านความเข้มแข็ง อดทน เสียสละ ไม่เอาเปรียบผู้อื่น นอบน้อม อ่อนหวาน เป็นต้น โดยทำให้ลูกเห็นบ่อยๆ จะช่วยให้ลูกซึมซับได้ดี
ลูกจะเป็นอย่างไร ส่วนหนึ่งมาจากพื้นฐานการเลี้ยงในครอบครัว ถ้าเลี้ยงด้วยใจ พร้อมกับใส่คุณธรรม ลูกก็จะมีภูมิคุ้มกันที่ดี เวลาเจอปัญหา หรือพบกับทางตัน ก็จะหาทางออกด้วยสติ ไม่เอาเปรียบ หรือคดโกงผู้อื่น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น