ในอนาคตอันใกล้เมื่อหลากหลายประเทศรวมกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว การหลั่งไหลของประชากรหลากหลายเชื้อชาติก็จะตามมา ระบบการศึกษาก็จะต้องรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านนี้ จึงเป็นเรื่องน่าจับตามอง
จะเห็นว่า มีนักเรียนต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น และก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเห็นได้จากการลงทุนของโรงเรียนนานาชาติ และมหาวิทยาลัยต่างๆ ปัจจุบันโรงเรียนนานาชาติทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 120 แห่ง และอยู่ในกรุงเทพมหานคร 83 แห่ง ภูมิภาค 37 แห่ง มีนักเรียนรวมกันทั้งหมดประมาณ 35,000 คน และเฉลี่ยจะมีการขยายตัวของโรงเรียนนานาชาติ ประมาณ 5 แห่งต่อปี
นั่นเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ผู้คนที่ทำงานอยู่ในภูมิภาคนี้ หรือที่อยู่ในประเทศรอบ ๆ ข้าง ส่วนใหญ่จะนิยมส่งลูกหลานมาอยู่และเรียนในประเทศไทยในโรงเรียนนานาชาตินั่นเอง
ประเทศไทยนั้นโดยศักยภาพแล้ว เนื่องจากมีความสะดวกในการเดินทางจะเห็นว่าสนามบินสุวรรณภูมิ หรือดอนเมือง ให้ความสะดวกกับการเดินทางของผู้คนที่ทำงานในภูมิภาคนี้ ผู้คนเหล่านั้นมีครอบครัว มีลูกหลานก็ให้อยู่ในกรุงเทพฯ เรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ แม้กระทั่งชาวบ้านที่อยู่ข้าง ๆ บ้านเราไม่ว่าจะเป็นประเทศข้าง ๆ ประเทศใดก็แล้วแต่ ก็มักจะส่งลูกหลานเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ
หากว่าโครงสร้างเป็นแบบนั้น การเรียนการสอนในโรงเรียนก็จะต้องเพิ่มการใช้ภาษาอังกฤษ และภาษาจีนกันมากขึ้น และมีการปรับปรุงหลักสูตรการสอนให้ก้าวสู่ระดับสากลมากขึ้น
หมายความว่า เมื่อเรามีโรงเรียนอินเตอร์มากขนาดนี้ สิ่งที่โรงเรียนทั่วไปจะต้องปรับปรุงคือ การแก้ไขเรื่องภาษา และระบบหลักสูตรการสอนนั่นเอง จะเห็นว่าไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาคทั้งระดับมัธยมและมหาวิทยาลัย
เช่น AIT ที่เปิดมาแล้วกว่า 50 ปี หรือ ABAC ที่มีนักเรียนต่างชาติมาเรียนกันมากมายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และแน่นอนหากไทยรู้จักปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาให้ได้มาตรฐานสากล ไทยก็จะสามารถที่จะพัฒนาธุรกิจการศึกษาให้กลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ได้.
วิกรม กรมดิษฐ์/มองโลกแบบวิกรม
เดลินิวส์ออนไลน์, พุธที่ 11 มิถุนายน 2557
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น