++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ธรรมในสังคมไทย ศ.กีรติ บุญเจือ


...พระอาจารย์พุทธทาสเคยกล่าวว่า ธรรมะ คือ กฎธรรมชาติ (natural law) คือ กฎทำดี-ได้ดี ทำชั่ว-ได้ชั่ว ซึ่งเป็นไปโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องมีใครคอยจับผิดเอาผิดลงโทษ

แต่ในบริบทที่ท่านกล่าวนั้น น่าจะหมายถึงกฎของธรรมชาติ (law of nature) คือ กฎวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ด้วย เช่น เอาออกซิเจนกับไฮโดรเจนมารวมกันในอัตราส่วน 1 ต่อ 2 จะได้น้ำ

บางครั้งท่านหมายถึงจริยธรรม คือหลักความประพฤติดีทั่วไป ไม่ว่าใครหรือศาสนาใดสอน และท่านก็ยกตัวอย่างว่า พระเจ้าของศาสนาคริสต์ คือธรรมะที่ชาวพุทธเชื่อและถืออยู่แล้วโดยไม่รู้ตัว

ทั้งนี้ก็เพราะ 84,000 พระธรรมขันธ์ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกนั้น ส่วนมากก็เป็นคำสอนร่วมกับศาสนาอื่น ๆ นั่นเอง และมีพุทธธรรมซึ่งเป็นธรรมะของพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ เช่น นิพพาน และทางสู่นิพพานโดยเฉพาะ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ตรัสในพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม” ก็เข้าใจได้ว่า หมายถึง พระองค์ทรงเลือกทศพิธราชธรรมเป็นพระนโยบาย คงมิได้ทรงหมายถึงกฎหมายซึ่งไม่ต้องทรงเลือก

เพราะระบอบการปกครองของเราระบุไว้เป็นหน้าที่อยู่แล้ว ตามตำแหน่งประมุขของชาติว่า จะต้องทรงใช้พระอำนาจตามรัฐธรรมนูญ คือ ผ่านทางสภานิติบัญญัติ ทางคณะรัฐมนตรี และทางองค์กรศาล ส่วนพระปฐมบรมราชโองการ ต้องเป็นพระนโยบายส่วนพระองค์ นอกเหนือไปจากที่มีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

เมื่อได้วิเคราะห์ความหมายของคำ “ธรรม” ไปแล้ว ก็ควรตีความดูว่า “ธรรมในสังคมไทย” ควรมีความหมายว่าอย่างไร จะหมายความว่าสังคมไทยเดินตามกฎธรรมชาติ ก็เป็นเรื่องที่เป็นปรกติอยู่แล้ว

พูดไปก็เหมือนเอากำปั้นทุบดิน ไม่ต้องพูดก็ได้ เช่น ถางป่ามาก น้ำก็ท่วมมาก ศาสนาไหนก็ยกเว้นให้ไม่ได้ เอาแค่ว่าสังคมไทยให้ความเคารพแก่ธรรมของทุกศาสนา รวมทั้งธรรมที่ทุกศาสนาสอนร่วมกันด้วย ก็ไม่มีอะไรจะวิเคราะห์และวิจักษ์

มาสะดุดที่คำ “ธรรมาภิบาล” การบริหารโดยธรรม ซึ่งถ้าใช้ในความหมายภาษาอังกฤษว่า moral governance หรือ ethical governance ก็ถือว่าเป็นปรกติ คือ หมายความว่ามีการปกครอง โดยเอาหลักศีลธรรมหรือจริยธรรมมาใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งก็คงจะยาก เหมือนที่ครอมเวลเคยใช้ปกครองประเทศอังกฤษมานาน 20 ปี

คือ ใครทำผิดศีลธรรมก็เข้าคุก จึงปรับมาเป็นการปกครองที่ดี (good governance) คือ เดินตามกฎหมายให้เที่ยงธรรม ยุติธรรม ผิดต้องมีการลงโทษอย่างจริงจังไม่เลือกหน้า เพื่อให้สมบูรณ์แบบก็ควรส่งเสริมกิจกรรมอิสระด้านมนุษยธรรม จริยธรรม ศาสนธรรม ซึ่งต้องส่งเสริมโดยไม่บังคับ และไม่มีการกำหนดบทลงโทษ ก็เรียกว่าเป็นการบริหารงานที่ดีแล้ว รัฐบาลคอยดูแลเรื่องกฎหมายให้ดีก็พอแล้ว เปิดโอกาสและดูแลให้องค์กรอื่นที่เป็นเอกชน ทำเรื่องที่ไม่ควรออกเป็นกฎหมาย

แต่ต้องหาวิธีชักชวนให้ทำดีมากกว่าที่กฎหมายบังคับ โดยมีกฎหมายคุ้มครอง จัดสรรงบประมาณให้ตามความจำเป็น หากรัฐบาลทำเสียเอง ก็ยากที่จะแยกธรรมออกจากกฎหมาย นั่นคือบังคับให้ถือธรรมเป็นกฎหมาย มีบทลงโทษ การบริหารประเทศแบบนี้จึงจะเรียกว่า ธรรมาภิบาล อย่างที่ครอมเวลเคยปกครองประเทศอังกฤษเพื่อความสะใจของตนเอง

สังคมไทยไม่คิดจะทำอย่างนั้น แต่ใช้คำ “ธรรมาภิบาล” เสียอย่างสวยหรูไม่น่ากลัว แต่ผลเสียก็คือ มีความสับสนระหว่างกฎหมายที่ควรจะเคร่งกลับไม่เคร่ง และข้อธรรมที่ควรจะส่งเสริมก็ไม่ส่งเสริมเท่าที่ควร กลับออกเป็นกฎหมายบังคับ และไม่ได้ผล

เพราะผู้ปฏิบัติและผู้ควบคุมการปฏิบัติไม่รู้สึกว่าควรลงโทษ เช่น บังคับให้ซื่อสัตย์สุจริต แทนที่จะบังคับให้ปฏิบัติตามกฎหมาย และส่งเสริมให้มีหน่วยงานอบรมความซื่อสัตย์สุจริตอย่างเต็มที่...

กีรติ บุญเจือ, ศาสตราจารย์ราชบัณฑิต
คอลัมน์ ราชบัณฑิตยเสวนา
เดลินิวส์ออนไลน์, อังคารที่ 17 มิถุนายน 2557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น