มนุษย์ทุกคนที่เกิดมามีชีวิตอยู่ได้ในโลกนี้ ล้วนแต่มีปัญหาด้วยกันทั้งนั้น อาจเหมือนกัน ต่างกัน หรือเชื่อมโยงเป็นปัญหาเดียวกัน ก็เป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญ และจะต้องหาวิธีแก้อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเรื่องกิน การทำงาน การครองชีวิต
ดังนั้น ชีวิตที่ดีที่สุด คือ ชีวิตที่สามารถแก้ปัญหาได้
หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ได้แนะนำวิธีมีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่ายอยู่สงบ วิธีควบคุมตัวเองไม่ให้เป็นทาสความอยากมากจนเกินไป นั่นก็คือ ความพอเพียง
เพราะเห็นว่าคนในสังคมทุกวันนี้มีชีวิตที่วุ่นวาย กระเสือกกระสนดิ้นรนเพื่อแสวงหาปัจจัยมาสนองความปรารถนาทางใจ โดยไม่มีขอบเขตสิ้นสุด ไม่รู้จักพอ ขาดความพอดีในชีวิต หาหลักชีวิตไม่ได้
คนเช่นนี้ เมื่อพบอะไรก็ไขว่คว้าเรื่อยไป โดยนึกว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต ซึ่งจะขาดเสียไม่ได้เลย เหมือนคนลอยคออยู่กลางทะเลมองไม่เห็นฝั่ง มือก็ไขว่คว้าหาที่ยึดพยุงตัว พบสิ่งใดเข้าก็คว้าไว้ก่อน แม้สิ่งนั้นจะเป็นเพียงสวะลอยน้ำก็ตาม
นอกจากนั้นแล้ว ยังขาดการควบคุมใจตนเอง จึงก่อเวรให้แก่ตนและคนอื่น ก่อปัญหาต่าง ๆ ขึ้นในสังคม ทำให้เกิดความเดือดร้อน วุ่นวายไม่สิ้นสุด เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาเหล่านั้นจึงมีชีวิตอยู่อย่างไม่สงบสุข เป็นชีวิตที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ มีขึ้นมีลง ประสบสุขบ้างทุกข์บ้างตลอดเวลา
ในการแสวงหาปัจจัย 4 และสิ่งอำนวยความสุขอื่น ๆ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตนั้น จำเป็นต้องใช้กำลังใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ เพื่อให้ได้สิ่งเหล่านั้นมา
ผู้ที่มีกำลังหรือมีความรู้ความสามารถน้อย ย่อมหาได้น้อย แต่ความต้องการในปัจจัยและสิ่งอำนวยความสุขอื่น ๆ ของคนเรามีปริมาณเท่ากัน เมื่อสิ่งเหล่านั้นมีจำกัด ถึงแม้เราจะพัฒนาอย่างไรผลผลิตก็ยังมีจำกัดอยู่ดี จึงเกิดปัญหาว่า เมื่อฝ่ายหนึ่งสามารถหาได้มาก เก็บไว้ได้มาก อีกฝ่ายหนึ่งหาได้น้อย หรือไม่สามารถหาได้เลย ความขาดแคลนของฝ่ายหลังนี้จึงเกิดขึ้น
เมื่อเกิดความขาดแคลนและมีความต้องการปัจจัยที่จำเป็นขึ้นมา ก็จะต้องดิ้นรนแสวงหาเพิ่ม ครั้นหาได้ไม่พอเท่าที่ต้องการ จึงหันมาแสวงหาในทางที่ได้ง่าย ๆ ซึ่งไม่ต้องใช้ความรู้ความสามารถมากมาย อาศัยเพียงความกล้าและโอกาสอำนวยเท่านั้น นั่นก็คือ การปล้น ลักขโมย ทุจริต ซึ่งวิธีการเหล่านี้เป็นการแสวงหาที่ผิด
ส่วนผู้ที่มีความสามารถ แม้จะได้ปัจจัยมามากพอที่จะเลี้ยงตัวแล้วก็ตาม ก็ยังใช้ความสามารถนั้นแสวงหาอยู่ร่ำไป หาได้แล้วก็นำมาเก็บ กักตุนไว้ หรือใช้อย่างฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่ายจนเกินจำเป็น ไม่รู้จักคำว่าพอ หรือหยุด ทำให้อยากได้อยู่เรื่อยไป จนไม่สามารถจะควบคุมใจไว้ได้ ยิ่งหามาได้มากเท่าไร ก็ยิ่งอยากได้เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ การแสวงหาก็มีวิธีพิสดารมากขึ้น ถ้าควบคุมไว้ไม่ได้ก็อาจแสวงหาในทางทุจริต ฉ้อโกง ซึ่งเท่ากับว่าตกเป็นทาสของความอยากตลอดเวลา
ความพอเพียง คือ รู้จักยับยั้งความปรารถนาของตน ในขอบเขตที่เหมาะสมแก่ภาวะและฐานะของตน รู้จักควบคุมความอยากไว้ให้พอดี ไม่เกินขอบเขต ในกรณีที่ขาดแคลนก็แสวงหาปัจจัยมาบำรุงตัวเองและครอบครัว ให้พออยู่ได้อย่างเป็นสุขก็เพียงพอแล้ว ไม่ดิ้นรนให้มากไปกว่านี้อีก ครั้นยับยั้งได้แล้วชีวิตก็เริ่มจะสงบสุข มีเวลาเป็นของตัวเอง คิดถึงตัวเองได้บ้าง ต่อจากนั้นก็จะคิดถึงคนอื่นและคิดถึงสังคมต่อไป
พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9)
เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
ธรรมะวันหยุด, ข่าวสดออนไลน์, 21 มิ.ย.2557
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น