++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การสร้างระบอบประชาธิปไตย



การปกครองระบอบประชาธิปไตย จะตั้งมั่นอยู่ได้ดีในสังคมที่พลเมืองส่วนใหญ่ มีฐานะทางเศรษฐกิจระดับชนชั้นกลาง และมีการศึกษาดี ดังนั้น จะสร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้นในบ้านเมืองไทย ก็จำเป็นต้องวางรากฐานในด้านอาชีพของประชาชน ในทางเศรษฐกิจ และการศึกษา เมื่อพลเมืองไทยมีรากฐานเหล่านั้นดีแล้ว ประชาธิปไตยก็เข้มแข็งเอง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยวิจารณ์ไว้ว่า...

"การสร้างสรรค์ระบอบประชาธิปไตยในบ้านเมืองของเราที่แล้วมานั้น ถ้าจะเปรียบไปก็เหมือนกับการสร้างเครื่องที่มีน้ำหนักมากลงบนตัวเรือน โดยไม่คำนึงว่าเสาอันบอบบางที่อยู่เบื้องล่างนั้น จะรับน้ำหนักนั้นได้หรือไม่

เมื่อเรามัวแต่ทำกันอย่างนี้แล้ว หลังคาก็ต้องพังทุกครั้งไป เพราะเสาต่าง ๆ ไม่สามารถจะทานน้ำหนักของเครื่องบนนั้นได้ เรามัวแต่คิดกันที่จะสร้างรัฐสภา กำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา และกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภากับรัฐบาล

เรามัวแต่คิดกันว่า ทำอย่างไรจึงจะควบคุมอำนาจของรัฐบาลได้ โดยที่ในขณะเดียวกัน ก็จะให้รัฐบาลนั้นมีเสถียรภาพตามควร ไม่ต้องล้มลุกคลุกคลาน เรามัวเป็นห่วงกันว่า ทำอย่างไรจึงจะล้อมกรอบอำนาจทหารเอาไว้ให้อยู่ มิให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง

เรามัวแต่วิตกวิจารณ์กันอยู่ว่า ทำอย่างไรจะให้คนที่มีคุณวุฒิเข้าสมัครรับเลือกเป็นผู้แทน และทำอย่างไรจะให้ราษฎร เลือกเฉพาะผู้ที่มีคุณวุฒิและความเหมาะสม เข้ามาเป็นผู้แทนของตน แต่ตลอดเวลานั้น เรามิได้คำนึงกันมากนักว่า ระบอบประชาธิปไตยนั้น จะต้องตั้งอยู่บนรากฐานอันใด จึงจะยั่งยืนถาวรต่อไปได้

เรามองข้ามกันไปเสียว่า ประชาชนที่มีอาชีพอยู่ในระดับดีและมั่นคงเท่านั้น ที่จะมีเวลาและปัญญามาใช้ความคิดในทางการเมือง อันถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อตนเอง

เรามักจะลืมกันเสียว่า ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองของคนที่เจริญแล้ว ในทางอาชีพและในทางเศรษฐกิจ มีผลประโยชน์ที่ต้องรักษา คนที่ยังมีอาชีพไม่มั่นคง ยังขาดความปลอดภัยในทรัพย์สินที่หาได้ และยังไม่มีประโยชน์เป็นกอบกำที่ต้องรักษานั้น จะเลือกผู้แทนของตนเองให้ถูกต้องเหมาะสมอย่างไรได้?

เพราะวัตถุประสงค์ขั้นมูลฐานในการเลือกผู้แทนนั้น ก็เพื่อให้ผู้แทนเข้ามารักษาประโยชน์ของตน หรือของกลุ่มคนที่มีอาชีพอย่างเดียวกับตน

เมื่อการเลือกผู้แทนได้กระทำกันโดยขาดวัตถุประสงค์ขั้นมูลฐานดังนี้แล้ว ผู้แทนก็ไม่มีประโยชน์ของชนกลุ่มใดที่จะต้องรักษา ผู้แทนก็เลยเข้ามารักษาและแสวงหาประโยชน์ตน หนักเข้าก็ต้องฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งกันอีก

นอกจากนั้น ระบอบประชาธิปไตยยังเป็นระบอบการปกครองของคนที่สามารถวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ด้วยตัวของตัวเองได้ เพราะในระบอบประชาธิปไตยนั้น ประชาชนเป็นผู้วินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ของบ้านเมืองด้วยตัวของตัวเอง คนที่จะวินิจฉัยปัญหาด้วยตัวของตัวเองได้นั้น จะต้องเป็นคนที่มีการศึกษาอยู่ในระดับดีพอสมควร

แต่เมื่อการศึกษาของประชาชนยังอยู่ในระบอบที่ไม่เอาไหนดังที่เห็นกันอยู่แล้ว ประชาชนก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อระบอบประชาธิปไตย เพราะไม่สามารถจะอาศัยพึ่งพิงให้วินิจฉัยปัญหาอย่างใดได้ หน้าที่ในการวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ของบ้านเมือง ก็คงตกอยู่แก่คนไม่กี่คนอยู่นั่นเอง แล้วจะมีระบอบประชาธิปไตยกันไปทำไม?"

สยามรัฐออนไลน์, 9 มิถุนายน 2557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น