++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ก้าวแรก..กับงานสร้างสุขภาพคนบ้านผือ กรณีศึกษาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านผือ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น

เรียบเรียงโดย วิลาวัลย์ เอื้อวงศ์กูล

            "กิบแซ่บ นอนหลับ บ่เจ็บ บ่ไข้"

            นิยามความหมายของการมีสุขภาพดีที่ออกจากปากของชาวบ้านคนหนึ่งในตำบลบ้านผือ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น บอกเป็นนัยให้รู้ถึงความต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและแฝงไว้ด้วยความเรียบง่ายตามแบบวิถีคนอีสาน
            ในคำพูดที่ฟังดูสบายๆยังสะท้อนภาพการอยู่อาศัยท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ดี ทั้งที่อยู่อาศัยและอาหารการกินในชีวิตประจำวัน เมื่อทุกอย่างกลมกลืน ชีวิตที่สมดุลก็ตามมา กลายเป็นความสุขใจที่คนในทุกคุ้มบ้านล้วนปรารถนา
            เมื่ออยู่ดีมีแฮง เพราะได้กินอิ่มนอนอุ่น โรคภัยที่น่าจะคุกคามถามหาก็น้อยลง จึงไม่ผิดเลยดับสุภาษิตโบราณที่ว่า "อโรคยา ปรมาลาภา"

            แต่ทันใดที่โรคภัยเบียดเบียน การได้รับการดูแลและรับการรักษาบริการที่ดีย่อมเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ แนวคิดที่ต้องการให้หน่วยงานระดับท้องถิ่นอย่าง อบต. หันมาใส่ใจและส่งเสริมงานด้านสุขภาพอย่างจริงจัง จึงเป็นหนึ่งในความพยายามที่ สปสช. ผลักดันมาโดยตลอด
            สุพัฒน์ กุมพิทักษ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านผือ คือ หนึ่งในกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ทั้งๆที่ไม่มีความเข้าใจมาก่อนถึงการดำเนินงานที่ชัดเจน แต่ด้วยเล็งเห็นประโยชน์ที่จะเกิดกับประชาชนเป็นตัวตั้ง ทำให้ อบต.บ้านผือ ไม่รีรอที่จะเข้าร่วมโครงการกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับตำบล เพื่อให้พี่น้องกว่า 6,000 คน จากทั้งหมด 10 หมู่บ้าน มีที่พึ่งที่วางใจได้ในเรื่องสุขภาพ เพราะขณะนั้นงานด้านสาธารณสุขยังไม่ถูกบรรจุอยู่ในแผนงานของ อบต.บ้านผือมาก่อน
            ก่อนหน้านี้ มีกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลบ้านผือ ที่แห่งนี้มีกองทุนที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพมาก่อนในชื่อ กองทุนพัฒนาสุขภาพชุมชน  ซึ่งเกิดขึ้นจากการระดมเงินภายในชุมชนเพื่อเป็นต้นทุนในการรักษาสุขภาพ จัดเป็นกองทุนภายในของท้องถิ่นที่ไม่มีกฏระเบียบหรือเงื่อนไขในการดำเนินการมาก จึงมีความสะดวก รวดเร็ว และสนองตอบความต้องการของประชาชนได้มาก เมื่อผนวกเข้ากับเงินกองทุนระบบหลักประกันสุขภาพที่ถูกนำไปใช้เป็นหลักด้านการส่งเสริมสุขภาพ ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านได้รับประโยชน์โดยตรง โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนและผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่วนผู้รับบริการคนอื่นๆ ต่างก็มีความรู้และทักษะในการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น
           
            ตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในฐานะผู้ให้บริการหนีไม่พ้น "อาสาสมัคร" โดยเฉพาะ  อสม. หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ผู้ถือเป็นตัวแทนที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด เพราะเข้าถึงแทบทุกหัวกระไดบ้าน ซ้ำยังมีการแบ่งพื้นที่กันรับผิดชอบครบทุกหมู่บ้าน  อสม. ได้เข้ามามีบทบาทชัดเจนในการบริหารจัดการดูแลสุขภาพภาคประชาชน ตั้งแต่การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อพัฒนาโครงการและแผนงานของหมู่บ้าน สำหรับดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพได้อย่างเท่าเทียม เสมอภาค และทั่วถึงในทุกพื้นที่

            พร้อมกันนั้น ได้มีการดำเนินงานในลักษณะพหุภาคี โดยเชื่อมประสานสถานีอนามัย โรงพยาบาล ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน เครือข่ายชาวบ้าน และโรงเรียนต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ อบต.บ้านผือ เพื่อร่วมคิด วางแผนงาน และจัดทำโครงการทั้งหมดรวม 22 โครงการในทุกหมู่บ้านทุกพื้นที่ ครอบคลุมทั้งงานจัดซื้อบริการสุขภาพตามสิทธิประโยชน์ 5 โครงการ การสนับสนุนงบประมาณหน่วยบริการสาธารณสุข 2 โครงการ และการสร้างหลักประกันสุขภาพในขั้นพื้นฐาน ที่มีมากที่สุดถึง 15 โครงการ

            โครงการเด่นที่สร้างการตื่นตัวและสะท้อนการมีส่วนร่วมของคนใน ชุมชนค่อนข้างมาก คือ กิจกรรมออกกำลังกาย หนึ่งในโครงการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชนที่สร้างความคึกคัก กระฉับกระเฉงให้กับคนทุกรุ่นทุกวัยในตำบลบ้านผือ เพราะทุกคนได้มีส่วนในการเลือกและกำหนดกิจกรรมนี้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นแอโรบิก รำไม้พลอง จนผู้เข้าร่วมคนหนึ่งถึงกับพูดด้วยหัวใจพองโตว่า การออกกำลังกายทำให้เขารู้สึกตัวเบา และมันได้กลายเป็นกิจวัตรหนึ่งในชีวิตประจำวันไปแล้ว

            โครงการออกกำลังกายไม่เพียงสร้างกระแสการสร้างเสริมสุขภาพให้กับประชาชน หากในมิติทางสังคม ลานกีฬาแห่งนี้ยังเป็นพื้นที่พบปะกันของคนทุกกลุ่มทุกอาชีพ จากหลายหมู่บ้าน ผ่านสื่อกลางที่ไม่เพียงนำมาสู่ความสามัคคียิ่งขึ้นของคนในตำบล แต่ช่วยผลักดันให้แนวคิดเรื่องการสร้างนำซ่อมเห็นผลเป็นรูปธรรมเพิ่มขึ้น
            ถึงแม้จะยังไม่มีการประเมินผลจริงจังว่า การสร้างสุขภาพเหล่านี้จะช่วยลดความเจ็บป่วยหรือภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและอื่นๆ มากน้อยเพียงใด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นชี้ชัดถึงกระบวนการทีส่วนร่วมของประชาชนในการ สร้างหลักประกันสุขภาพ รวมทั้งการได้สร้างสัมพันธภาพที่ดีในการทำงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะในฐานะผู้บริหาร ผู้ให้บริการ หรือ ผู้รับบริการ

            ประการสำคัญอยู่ที่การได้ปรับประบวนทัศน์ใหม่ให้กับองค์กรส่วนท้องถิ่นให้หันมาใส่ใจกับการสร้างหลักประกันสุขภาพ ซึ่งมีแต่จะเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่ายทั้งผู้ให้และผู้รับ  การทำงานภายใต้ทรัพยากรและงบประมาณที่จำกัดยังสร้างการเรียนรู้ให้กับ อบต.บ้านผือ ให้รู้จักจัดลำดับและจัดสรรงบประมาณให้กับโครงการที่มีความสำคัญและมีความเป็นไปได้มาดำเนินการก่อน
            ความสุขบนรอยยิ้มที่ได้เห็นผู้รับบริการมีสุขภาพที่แข็งแรง ลดภาวะเสี่ยงจากโรคภัยไข้เจ็บ และเห็นการชักชวนชาวบ้านคนอื่นๆ ให้เข้ามาร่วมกิจกรรมมากขึ้น คือ ขวัญกำลังใจอันมีค่าแก่ อสม. ผู้สวมหัวใจอาสามาให้บริการอย่างเต็มเปี่ยมด้วยพลัง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การพิจารณาค่าตอบแทนที่เหมาะสมให้แก่ อสม. คือ หนึ่งในข้อเสนอเชิงนโยบายที่ได้จากการสรุปบทเรียน เพื่อเป็นการช่วยเหลือเรื่องปากท้องในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นปัจจุบัน

            เช่นเดียวกับการเพิ่มพูนวิชาความรู้ในการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับก้าวแรกๆของการวางระบบหลักประกันสุขภาพของประชาชนในระดับท้องถิ่น "พี่เลี้ยง" ที่จะมาทำหน้าที่ถ่ายทอด ชี้แนะ และให้แนวทางยังเป็นอีกความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเงินงบประมาณที่รัฐบาลต้องจัดหามาสนับสนุนอย่างเพียงพอ

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
ณรงค์ คำอ่อน
เกศินี สราญฤทธิชัย
กันนิษฐา มาเห็ม
พัชรินทร์ เพิ่มยินดี
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ขอนแก่น



ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น