++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

กองทัพ ดอกไม้ และก้อนหิน

โดย ว.ร.ฤทธาคนี 15 กรกฎาคม 2553 20:22 น.
ทุกครั้งที่มีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลอย่างรุนแรง จนพัฒนาไปสู่การใช้กำลังทหารเข้าควบคุมสถานการณ์นั้น กองทัพของหลายประเทศมีประสบการณ์ตกเป็นจำเลยสังคม เช่น สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ได้แก่การสังหารนักศึกษา 4 คน ภายในมหาวิทยาลัยเคนท์ ในวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1970 โดยกองกำลังพิทักษ์รัฐโอไฮโอ เหตุเกิดขึ้นเมื่อนักศึกษาทั่วประเทศประท้วงรัฐบาลสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีนิกสัน กรณีสหรัฐฯ แทรกแซงและบุกยึดกัมพูชา

ในวันนั้น นักศึกษาจำนวนประมาณ 2,000 คน เริ่มต้นเดินขบวนประท้วงรัฐบาลประธานาธิบดีนิกสัน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1970 เป็นส่วนหนึ่งของการเดินขบวนประท้วงทั่วสหรัฐฯ แต่ยุติชั่วคราวในวันนั้นเพราะนักศึกษาติดเรียน แต่นัดกันมาร่วมเดินขบวนประท้วงภายในบริเวณสนามหญ้าหน้าตึกอำนวยการในวันที่ 4 พฤษภาคม

นักศึกษาสหรัฐฯ ต่อต้านรัฐบาลนิกสัน ก็เพราะว่าก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 1968 นั้น ประธานาธิบดีนิกสันสัญญาว่าจะยุติสงครามเวียดนาม แต่กลับประสบปัญหาซับซ้อนของสงคราม และเกิดกรณีสังหารหมู่ที่ไมลาย เมื่อ ร.อ.วิลเลียม เคลลี สั่งทหารในหน่วยของเขายิงทิ้งทั้งผู้หญิงและเด็ก จำนวน 347 คน อย่างหฤโหด โดยอ้างว่าเป็นพวกเวียดกงคอมมิวนิสต์เวียดนามใต้

เหตุการณ์นั้นทำให้สาธารณชนสหรัฐฯ และคนทั่วทั้งโลก ประณามกองทัพบกและรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้กองทัพสหรัฐฯ ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันทั้งทางสังคมและในสมรภูมิ เมื่อกองทัพเวียดนามเหนือบุกกระหน่ำตลอดทุกแนวรบ โดยกองทัพเวียดนามเหนือและกองกำลังเวียดกง ใช้กัมพูชาเป็นฐานปฏิบัติการ ทำให้กองทัพบกสหรัฐฯ ต้องบุกกัมพูชา และต่อมาเขมรแดงยึดอำนาจรัฐได้ เข้าปกครองประเทศในปี ค.ศ. 1975 และตั้งแต่ปีนั้นเองจนถึง ค.ศ. 1979 รัฐบาลเขมรแดงสังหารประชาชนเขมรที่มีรากความคิดแบบตะวันตก หรือเคยเป็นคนที่ทำงานกับชาวตะวันตกนับเป็นล้านๆ คน และนำไปฝังตามทุ่งนาหลายแห่งเกือบทั่วประเทศ เรียกว่าทุ่งสังหาร

นอกจากนี้แล้ว นักศึกษาสหรัฐฯ หวั่นเกรงว่าหากสหรัฐฯ ขยายแนวรบสู่กัมพูชาแล้ว รัฐบาลจะออกหมายเกณฑ์คนไปรบเพิ่มขึ้นอีก จึงออกมาประท้วง เพราะว่าทหารเกณฑ์สหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นคนในวัยเรียนมหาวิทยาลัยแล้วเกือบทั้งสิ้น

ดังนั้น การเผารัฐธรรมนูญและหมายเกณฑ์เป็นกิจกรรมประกอบการเดินขบวนประท้วงรัฐบาลใน มหาวิทยาลัยและขยายตัวออกไปสู่เมืองพร้อมทั้งเกิดข่าวลือคำขู่ต่างๆ แต่ที่นายกเทศมนตรีเมืองเคนท์กังวลใจมากที่สุด คือคำขู่ว่าจะเผาเมืองและมหาวิทยาลัย เหตุการณ์บานปลายอยู่แล้ว เพราะคนเมืองเคนท์ปากระป๋องเบียร์และก้อนหินใส่ร้านรวงและรถยนต์บนถนนที่ เดินขบวนผ่าน เมื่อตำรวจเข้าจับกุมก็เกิดปะทะกันขึ้น จนในที่สุดผู้ว่าการรัฐโอไฮโอส่งกองทหารพิทักษ์รัฐไปเสริมกำลังตำรวจเมือง เคนท์ เมื่อนายกเทศมนตรีประกาศภาวะฉุกเฉิน

เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนั้น กองร้อย เอ และกองร้อย จี ได้รับคำสั่งให้สลายนักศึกษา และเมื่อเข้าสลายนักศึกษาก็กระจายตัวออกเป็นกลุ่มย่อย แต่สิบเอกเทเลอร์ ดึงปืนพก 11 มม.จากซอง แล้วยิงใส่นักศึกษา ทำให้ทหารคนอื่นยิงตามด้วยปืนไรเฟิล ทำให้นักศึกษาตาย 4 คน บาดเจ็บ 9 คน ภายในเวลา 13 วินาที ด้วยกระสุน 67 นัด ปัจจุบันนี้ยังไม่มีใครรู้สาเหตุการยิงนักศึกษา

ในอังกฤษเอง ทหารก็ยิงพลเมืองผู้บริสุทธิ์ตาย 13 คน บาดเจ็บอีกนับสิบ ในการสลายฝูงชนในวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1972 เมื่อประชาชนไอร์แลนด์เหนือประท้วงกฎหมายการจับกุมข้อหาการก่อการร้าย ที่ให้อำนาจรัฐมากเกินไป เพราะขบวนการก่อการร้าย IRA พวกหัวรุนแรงในไอร์แลนด์เหนือมักใช้ความโหดสังหารหมู่คนบริสุทธิ์ด้วยการวาง ระเบิด หลังเหตุการณ์ทหารถูกปลด ด้วยข้อหาขาดวินัยควบคุมอารมณ์ไม่ได้ โดยศาลวินิจฉัยว่าทหารอยู่ในภาวะอันตราย เพราะว่าพบระเบิดและอาวุธปืนในกลุ่มผู้เดินขบวน มีหลายกรณีที่ฝ่าย IRA หัวรุนแรงใช้โอกาสสร้างเรื่องด้วยการสุ่มยิงพวกโปรเตสแตนต์ เพื่อให้เรื่องบานปลาย เพราะฝ่ายโปรเตสแตนต์จะต้องแก้แค้น เป็นการเปิดศึกระหว่างลัทธิศาสนาและเพื่อให้ชาวโปรเตสแตนต์อพยพออกจาก ไอร์แลนด์เหนือ

ประเทศไทยไม่เคยมีประสบการณ์เช่นนั้น จนกระทั่งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่มิได้หมายความว่าคนไทยไม่รู้จักการเดินขบวนประท้วง ซึ่งครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อประชาชน นิสิตนักศึกษา ประท้วงรัฐบาลฝรั่งเศสอินโดจีน เรียกร้องดินแดนคืนกลายเป็นตัวจุดประกายให้รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ใช้เงื่อนไขนี้กดดันรัฐบาลฝรั่งเศสให้เจรจาคืนดินแดนที่ฝรั่งเศสยึดไปในสมัย ร.ศ.112 ครั้งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช ฝรั่งเศสตอบโต้ด้วยการเพิ่มกำลังทหาร และโจมตีนครพนมและอุบลราชธานี เพื่อขู่รัฐบาลไทย ซึ่งตอบโต้ด้วยกำลังทหารจนมีชัยชนะ สามารถเรียกร้องดินแดนคืนได้ โดยมีญี่ปุ่นเป็นผู้ไกล่เกลี่ยมิให้สงครามขยายตัว

ต่อมามีการประท้วงรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในเดือนมีนาคม 2500 นั้น สาเหตุคือพรรคมนังคศิลา พรรครัฐบาลชนะการเลือกตั้งแต่ประชาชนทั่วไปเรียกว่า “เลือกตั้งสกปรก” ครั้งนั้นไม่เกิดการปะทะ เพราะจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้สนับสนุนประชาชนให้เดินขบวนไปเจรจากับจอมพล ป. นายกรัฐมนตรี ทำให้ทหารบกกลายเป็นวีรบุรุษทันที พร้อมทั้งเกิดวีรบุรุษแห่งสะพานมัฆวานรังสรรค์ คือ ร.ต.อาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งนำทหารมารักษาการณ์ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ แต่กลับให้ความสะดวกแก่ประชาชนเดินขบวนไปทำเนียบรัฐบาลได้

และเหตุการณ์นั้นเอง ทำให้จอมพลสฤษดิ์ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ทำการปฏิวัติรัฐประหารโค่นอำนาจจอมพล ป.และ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ คู่อริกันสำเร็จ แต่อำนาจทำให้จอมพลสฤษดิ์ เกิดความโลภ

เมื่อสิ้นชีวิตลงในปี พ.ศ. 2507 เกิดการแย่งชิงมรดกกันระหว่างทายาทกับภรรยา ทำให้สาธารณชนได้รู้เรื่องการใช้อำนาจหน้าที่ทุจริตคอร์รัปชัน และในที่สุดรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ใช้อำนาจกฎหมาย ม.17 ยึดทรัพย์สินของจอมพลสฤษดิ์ ให้เป็นของรัฐ

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นั้น เป็นขบวนการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการที่ไม่ให้รัฐธรรมนูญ ประชาชน เหตุการณ์นี้ค่อยๆ ก่อตัวจากการตีพิมพ์วิจารณ์รัฐบาลจอมพลถนอมเป็นเผด็จการของนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหงจึงถูกตัดสิทธิการสอบ โดยคำสั่งอธิการบดีมหาวิทยาลัย เรื่องจึงบานปลายกลับกลายเป็นการต่อต้านรัฐบาลโดยนิสิต นักศึกษา และประชาชนจำนวนนับแสนๆ คน

แต่เพราะความโลภอำนาจของ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร บุตรชายจอมพลถนอม จึงใช้กำลังทหารเข้าสลายประชาชนจนเกิดบาดเจ็บล้มตาย แต่มีทหารบางส่วนก็ไม่เอาด้วย เมื่อการเดินขบวนประท้วงใกล้จะจบลงด้วยดี แต่ตำรวจภายใต้การนำของ พล.ต.ต.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น สกัดนักศึกษาด้วยความรุนแรงจนเกิดการปะทะกัน มีการบาดเจ็บและการเสียชีวิตของนักศึกษาสตรีคนหนึ่ง ทำให้การประท้วงประทุขึ้นอีกและรุนแรงมากขึ้น มีการเผาสถานที่ราชการอยู่สองวัน ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสออกอากาศทางโทรทัศน์ให้ทุกฝ่ายยุติ และทรงขอให้จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร เดินทางออกนอกประเทศชั่วคราว เพื่อลดความโกรธแค้นของประชาชน

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่า 14 ตุลาคม เมื่อมีการสังหารกันระหว่างคนไทยด้วยกันที่มีอุดมการณ์คนละขั้ว คือขวาสุดกับซ้ายสุด เป็นเหตุการณ์วิกฤตการเมืองที่ซับซ้อนมากเหตุการณ์หนึ่ง เป็นการขยายผลส่วนหนึ่งของอนาธิปไตยในปีกของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่กำลังใช้ประโยชน์จาก 14 ตุลาคม 2516 เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย จากประชาธิปไตยเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ หรืออะไรทำนองนั้น

สาเหตุเกิดจากความต่อเนื่องจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม เมื่อจอมพลถนอม และจอมพล ประภาส เดินทางกลับเข้าประเทศ นิสิตนักศึกษาจึงรวมตัวกันต่อต้าน และเหตุการณ์มีความรุนแรงมากระหว่างคนสองขั้วที่ฆ่ากันเองอย่างทารุณ เช่น พวกขวาจัดจับนิสิตคนหนึ่ง แล้วกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จึงถูกประชาทัณฑ์และแขวนคอนิสิตคนนั้น เหตุการณ์เลวร้ายมากจนทหารต้องทำรัฐประหารเพื่อยุติการเข่นฆ่ากันอย่างไร้ เหตุผล แต่เกิดจากความบ้าคลั่งและถูกปลุกระดม เหตุการณ์นั้นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้รับสมาชิกใหม่เพิ่มเติม เมื่อนิสิตนักศึกษาเข้าร่วม

ครั้นมาถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 เมื่อ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่รัฐธรรมนูญขณะนั้นยอมให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถคัดสรรจากบุคคลภายนอกได้ และครั้งนั้นพรรคสามัคคีธรรมที่สนับสนุนทหาร เสนอให้ พล.อ.สุจินดา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ถูกต่อต้านจากกลุ่มนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ที่เกรงว่าอนาคตของตนเองจะมืดมน เพราะกลัวเป็นการสืบทอดอำนาจของคนพรรคสามัคคีธรรม โดยเฉพาะ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่อุตส่าห์ลาออกจากอำนาจในกองทัพไปเล่นการเมือง เพื่อหวังเป็นนายกรัฐมนตรี แต่หากพรรคสามัคคีธรรมครองอำนาจแล้ว โอกาสของตนเองก็ดับสูญไปด้วย

ส่วน พลตรีจำลอง ศรีเมือง ไม่ไว้ใจนายทหารหลายคนที่มีอำนาจอยู่ เกรงว่าจะเกิดการครองอำนาจ ทั้งทางการทหารและวงการเศรษฐกิจ จึงต่อต้านการเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุจินดา ด้วยเพียงคำพูดของ พล.อ.สุจินดา เองว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ” เพราะก่อนหน้านั้นหลังจากที่ทำการรัฐประหารโค่นอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ได้ชื่อว่าเป็น “บุฟเฟต์คาบิเนต” เพราะมีการทุจริตอย่างกว้างขวาง ทำให้การปฏิวัติรัฐประหารของ รสช. นำโดยคณะทหาร และคนนำคนหนึ่งคือ พล.อ.สุจินดา ที่ปฏิเสธไม่ขอรับตำแหน่งทางการเมือง ได้รับความชื่นชมจากประชาชน ไม่ต่างกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ประชาชนออกมาแสดงความขอบคุณและชื่นชมทหาร

เหตุการณ์ 17 พฤษภาคม 2535 เป็นเหตุการณ์รุนแรง ซึ่งมีกลุ่มอนาธิปไตย เช่น นายเหวง โตจิราการ เป็นแกนนำ ยั่วยุทหารจนหมดความอดทนทำร้ายประชาชนเป็นการทำลายภาพลักษณ์ทหารให้เสื่อม เสีย และก็เป็นเช่นนั้น เมื่อขาดวินัยเป็นบทเรียนของทหารมาตลอด จึงทำให้สงกรานต์เลือด 2552 ทหารใช้ความอดกลั้นเป็นอย่างมาก จนมาถึงเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 มหาโหด ที่ทหารเป็นเหยื่อโดยตรงจากกลุ่มเสื้อแดงหัวรุนแรงนิยมความโหด และแผนยึดครองพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อต่อรอง

และสมมติว่าทหารยอมให้คนเสื้อแดงยึดถนนสีลมได้ อะไรจะเกิดขึ้นกับกรุงเทพฯ หรือหากทหารไม่ตรึงกำลังปิดล้อมคนเสื้อแดงไม่ให้ขยายผลการยึดพื้นที่ใน กทม.เพิ่มเติมแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นกับคนกรุงเทพฯ และประเทศไทยแต่ด้วยความอดกลั้นและมีวินัยภายใต้ภาวะกดดันจากประชาชนขณะที่ ความเป็นอยู่เหมือนอยู่ในสมรภูมิ เพราะฝ่ายใช้กำลังของคนเสื้อแดงใช้อาวุธทุกรูปแบบทำร้ายทหาร จับทหาร แต่ไม่ได้ให้เกียรติของความเป็นคนไทย กระทืบทหาร และยิงทิ้งทหารกลางถนน ซึ่งคนไทยและต่างประเทศเห็นกันจะจะทหารยังคงอดทนไม่คิดล้างแค้น เพราะเขาทำหน้าที่ปกป้องคนกรุงเทพฯ

ดัง นั้น อย่าโยนความผิดให้ทหารเลย เพราะเขาทั้งหลายได้ทำหน้าที่สมบูรณ์แบบแล้ว ทั้งๆ ที่ถูกทำร้าย ถูกทำลายศักดิ์ศรี และต้องอดทนต่อภาวะกดดันต่างๆ ทั้งร่างกายและจิตใจ หากถูกใส่ร้ายว่าทำร้ายประชาชนแล้วครั้งต่อไปทหารคนไหนจะกล้าปกป้องคน กรุงเทพฯ อีกล่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น