++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ครีมชะลอวัยจากน้ำมันรำข้าวไทย งานวิจัยจากเภสัช มช.

ทีมวิจัยเภสัช มช. พบของดีในรำข้าวไทยใช้เป็นสารต้านริ้วรอยได้ผลดี พัฒนาถุงนาโนกักเก็บสารสำคัญจากของเหลือในการผลิตน้ำมันรำข้าว ได้สูตรครีมน้ำมันรำข้าวนาโน สร้างทางเลือกอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย พร้อมยื่นจดสิทธิบัตรและรอถ่ายทอดสู่เอกชน หวังเพิ่มมูลค่ารำข้าวไทยได้กว่า 3,000 เท่า แต่ได้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวถูกกว่านำเข้า 4 เท่า




ศ.ดร.อรัญญา มโนสร้อย อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ และผู้ประสานงานศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยเรื่อง “การเก็บกักสารสำคัญจากของเหลือในการผลิตน้ำมันรำข้าวในถุงขนาดนาโนเพื่อใช้ทางเครื่องสำอาง” เปิดเผยว่า ข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทยและคนส่วนใหญ่ในทวีปเอเชีย ดังนั้นข้าวจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของหลายประเทศในโลก ข้าวมีคุณค่าทางโภชนาการสูงและเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพโดยเป็นแหล่งรวมของสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายโดยเฉพาะในส่วนที่เป็นรำข้าว

อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนการสีข้าวมีการกำจัดส่วนรำข้าวออกไป ซึ่งมีการทิ้งไปเป็นอาหารสัตว์และนำไปสกัดเป็นน้ำมันรำข้าว ในขั้นตอนการผลิตน้ำมันรำข้าว จะมีการทิ้งกากรำข้าว และของเหลืออื่น ๆ ทั้งที่ยังมีสารสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพและความงาม สารสำคัญเหล่านี้ ได้แก่ แกมม่าออรีซานอล กรดไฟติก และกรดเฟอรูลิก ซึ่งมีสมบัติต้านอนุมูลอิสระและต้านปฏิกิริยาออกซิเดชั่นที่จะสามารถนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอางเพื่อชะลอความแก่ได้ อย่างไรก็ตาม สารเหล่านี้มีความคงตัวต่ำและมีขนาดโมเลกุลใหญ่ที่จะถูกดูดซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ยากเพื่อการออกฤทธิ์ที่มีประสิทธิภาพ

ปัจจุบัน มีการนำเทคโนโลยีนาโนในรูปถุงขนาดนาโนเมตร (หนึ่งในพันล้านเมตร) ในรูปไลโปโซมและนีโอโซมมาใช้ประโยชน์ โดยนีโอโซมเป็นรูปแบบที่มีความคงตัวและราคาถูกกว่า จึงมีการนำมาใช้เป็นระบบนำส่งสารผ่านผิวหนังกันอย่างแพร่หลาย โครงการวิจัยนี้ได้เพิ่มมูลค่าของรำข้าว กากรำข้าวและของเหลือต่างๆ จากโรงงานผลิตน้ำมันรำข้าวในประเทศไทยโดยนำมาสกัดสารสำคัญต่างๆ แล้วนำมาเก็บกักในนีโอโซมและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอางชะลอความแก่


ทีมวิจัยจากคณะเภสัชฯ มช.

โดยเตรียมสารสกัดกึ่งบริสุทธิ์ที่มีกรดเฟอรูลิก แกมม่าออรีซานอลและกรดไฟติกในปริมาณ 0.289 + 0.02, 14.41 + 0.69 และ 10.47 + 0.28 มิลลิกรัม/กรัม ตามลำดับ ซึ่งสารสกัดเหล่านี้นอกจากมีฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชั่นและต้านอนุมูลอิสระแล้วยังมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสในระดับดีเมื่อเทียบกับสารมาตรฐาน วิตามินซีและกรดโคจิก เมื่อนำสารสกัดมาเก็บกักในนีโอโซมโดยวิธีซูเปอร์คริติคอลคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งไม่ใช้ตัวทำละลายอินทรีย์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พบว่านีโอโซมช่วยเพิ่มการดูดซึมของสารสำคัญผ่านหนังหนูได้มากกว่าสารสำคัญที่ไม่ได้เก็บกักในนีโอโซมประมาณ 2 เท่า เมื่อนำนีโอโซมนี้ไปเตรียมเป็นครีมและเจล พบว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้ไม่ก่อการแพ้และระคายเคืองในกระต่าย และช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น ความชุ่มชื้น และความเนียนของผิวอาสาสมัครได้อย่างมีนัยสำคัญภายใน 28 วัน โดยให้ผลดีกว่าผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด

ศ.ดร.อรัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า หากได้นำผลงานนี้ออกสู่ธุรกิจ นอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่าของของเหลือจากการผลิตข้าวและน้ำมันรำข้าวแล้ว ยังช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ช่วยทดแทนการนำเข้าวัตถุดิบเครื่องสำอางที่มีมูลค่าสูง ช่วยลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นการนำเทคโนโลยีนาโนมาเพิ่มศักยภาพของผลิตภัณฑ์ทางเกษตรของไทยในการแข่งขันกับต่างประเทศได้

อนึ่ง ผลงานวิจัยเรื่อง "การเก็บกักสารสำคัญจากของเหลือในการผลิตน้ำมันรำข้าวในถุงขนาดนาโนเพื่อใช้ทางเครื่องสำอาง" ของ น.ส.รมย์ฉัตร ชูโตประพัฒน์ นักศึกษาโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก ซึ่งมี ศ.ดร.อรัญญา มโนสร้อย เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลักและหัวหน้าโครงการวิจัย และมี ศ.ดร.จีรเดช มโนสร้อย และ ศ.ดร.มาซาฮิโกะ อาเบะ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์โตเกียว (Tokyo University of Science: TUS) ร่วมทีมวิจัย ได้รับรางวัล 1 ใน 12 งานวิจัยเด่นของสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) ในงานประชุมวิชาการ PGJ-Ph.D. Congress ครั้งที่ 11 ประจำปี 2553 โดยโครงการวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (สกว.) งบประมาณแผ่นดินจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี 2549-2551 ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ Tokyo University of Science (TUS) บริษัท P&G ในเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่นและโรงงานที่ให้ตัวอย่างสำหรับการวิจัย บริษัทน้ำมันบริโภคไทย จำกัด และ บริษัทกมลกิจ จำกัด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น