++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ใช้ปลาหมึกทำนายฟุตบอล : หนึ่งในการคาดเดา

โดย สามารถ มังสัง 12 กรกฎาคม 2553 13:46 น.
ทุกครั้งที่มีการแข่งขันซึ่งจะต้องจบลงด้วยการแพ้ชนะหรือแม้กระทั่งเสมอ ก็จะมีบรรดานักคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นหรือที่เรียกกันในภาษาชาวบ้านทั่วๆ ไปว่า หมอดู จะออกมาทำนายทายทักผลของการแข่งขันว่าใครแพ้ ใครชนะ และเมื่อผลออกมาหลังจบการแข่งขัน ปรากฏว่ามีทั้งถูกและผิด

ถ้าบังเอิญทำนายถูกต้องก็จะได้รับการยกย่องกล่าวขวัญถึง แต่ถ้าบังเอิญทำนายผิดคนก็จะไม่ใส่ใจและหาเหตุผลว่าทำไมทายผิด เพราะอะไร ด้วยเหตุนี้บรรดาหมอดูทั้งหลายจึงยังคงเป็นที่สนใจทุกครั้งที่มีการแข่งขัน ควบคู่ไปกับการพนันขันต่อของบรรดานักการพนัน ในทำนองเดียวกับเจ้าพ่อใบ้หวย คนไหนบอกถูกหรือแม้กระทั่งใบ้แล้วมีคนแทงบางคนตีความถูก ก็จะมีคนแห่ไปขอเลขต่อโดยไม่เคยคิดใส่ใจจดจำ หรือแม้กระทั่งนำผลการใบ้หวยที่ผ่านมาคิดในเชิงสถิติว่าถูกเท่าไหร่ และผิดเท่าไหร่ เพื่อหาความเป็นไปได้ของผลที่จะเกิดขึ้นจากการใบ้หวยเบอร์ หรือผลในการทำนายการแข่งขันแต่อย่างใด

ในการแข่งขันฟุตบอลโลก ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ก็ทำนองเดียวกัน ได้มีบรรดานักคาดเดาผลของการแข่งขันเหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมา แต่ในครั้งนี้ได้มีการคาดเดาที่ค่อนข้างแปลกไปจากทุกครั้งที่ผ่านมา เมื่อคนกลุ่มหนึ่งในประเทศเยอรมนีได้ทำการพยากรณ์ผลการแข่งขันฟุตบอลโดยใช้ ปลาหมึกที่ชื่อว่า พอล ซึ่งเลี้ยงไว้ในสถานที่เลี้ยงสัตว์น้ำมาเป็นเครื่องมือในการทำนาย โดยให้ปลาหมึกเลือกกินอาหารในกล่องที่เขียนชื่อทีมฟุตบอลที่จะทำการแข่งขัน และปรากฏว่าเจ้าพอลทำนายถูกเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในนัดที่เยอรมนีแข่งกับอังกฤษ และเยอรมนีแข่งกับสเปน จึงทำให้กลายเป็นข่าวใหญ่โตดังไปทั่วโลก

ปลาหมึกทำนายผลการแข่งขันได้อย่างไร และน่าเชื่อได้มากน้อยแค่ไหน ถ้ามองในแง่ความเป็นไปได้ในเชิงตรรกศาสตร์

ก่อนที่จะเข้าสู่ประเด็นแห่งปัญหาดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองย้อนไปมองสิ่งที่เกิดขึ้น และเป็นอยู่ในสังคมไทยก่อนว่ามีการทำนายผลโดยอาศัยการเสี่ยงทายโดยใช้ พฤติกรรมการกินของสัตว์บ้างไหม ก็จะพบว่ามี เช่น การใช้ไก่จิกไพ่แล้วพยากรณ์ตามความหมายของไพ่ที่ไก่จิก และการทำนายที่คนไทยทุกคนคุ้นเคยและจดจำได้แทบทุกคนก็คือ การเสี่ยงทายพืชผลทางการเกษตรในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดยดูจากการกินกระยาหารของพระโค เช่น กินหญ้า และกินถั่ว เป็นต้น ก็จะมีคำทำนายไปตามความหมายที่ปรากฏในคัมภีร์ของพรหม เป็นพราหมณ์ เป็นต้น

จากสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกินของสัตว์ และนำมาแปลความหมายในการพยากรณ์นั้น ถ้ามองในแง่ของความเป็นศาสตร์แล้วพอจะอธิบายได้ว่า ความเป็นไปได้ที่ผลจะถูกต้องหรือผิดพลาดน่าจะเกิดจากปัจจัย 2 ประการ คือ

1. พฤติกรรมการกินของสัตว์อันเกิดจากสัญชาตญาณในการเลือก และไม่เลือก โดยมีส่วนประกอบของอาหารเป็นเหตุจูงใจร่วมด้วยประการหนึ่ง

2. ความเชื่อความศรัทธาที่มีต่อศาสตร์การเสี่ยงทายของคนที่จัดให้มีการเสี่ยงใน ลักษณะนี้ จนเปลี่ยนเป็นพลังทางจิตชี้นำให้สัตว์ที่นำมาเป็นเครื่องมือในการเสี่ยงทาย ทำในสิ่งที่เป็นเหตุให้สอดคล้องกับผลที่เกิดขึ้นจริงประการหนึ่ง

ไม่ว่าข้อสันนิษฐานทั้ง 2 ประการดังกล่าวจะถูกหรือผิด ผู้เขียนคิดว่าในฐานะที่เป็นชาวพุทธ และถูกสอนให้เชื่อในกฎแห่งกรรมอันมีลักษณะเชื่อมโยงระหว่างเหตุกับผล กล่าวคือ ผลที่เกิดขึ้นทุกประการจะต้องมาจากเหตุ จะเกิดขึ้นลอยๆ โดยไม่มีเหตุไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ทำให้มองเห็นว่าการทำนายผลฟุตบอลของเจ้าพอลที่ถูกต้อง นั้น ถ้าจะพูดให้สอดคล้องกับแนวพุทธแล้วก็น่าจะบอกได้ว่าผลที่เกิดขึ้นเป็นการ บังเอิญ ดังนั้นก็บอกได้ว่ามาจากเหตุคือความบังเอิญ คือบังเอิญเดาถูกผลจึงถูกโดยบังเอิญ ไม่มีหลักประกันความแน่นอนแต่อย่างใด

เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะยังเชื่อความบังเอิญอีกต่อไปหรือไม่ ถ้าเป็นการเชื่อเฉยๆ คือไม่นำความเชื่อไปทำอะไรต่อ คือไม่นำไปยืนยัน และที่สำคัญคือไม่นำไปเล่นการพนันก็ไม่เสียหายอะไร แต่ถ้านำไปเป็นเหตุยืนยันหรือเล่นการพนันมีผลเสียหายแน่นอน และนี่คือเหตุจูงใจให้นำเรื่องนี้มาเขียนเพื่อหวังให้เกิดผล 2 ประการ คือ

1. เพื่อให้ท่านผู้อ่านเชื่ออย่างมีเหตุมีผล โดยการแยกแยะเรื่องที่อ่านเพื่อความบันเทิง และฟังเพื่อความบันเทิงออกจากการอ่านการฟังเพื่อเป็นความรู้ และพัฒนาความคิดให้มีศักยภาพในการดำเนินชีวิตประจำวันให้ดียิ่งขึ้น

2. เพื่อนำแนวทางแห่งคำสอนของพุทธศาสนาในเรื่องความเชื่อตามนัยแห่งกาลามสูตร มาบอกเล่าโดยอาศัยเหตุการณ์ที่เป็นข่าวเรื่องปลาหมึกทำนายผลฟุตบอลอยู่ในขณะ นี้

ไม่ว่าท่านจะอ่านแล้วเห็นด้วยหรืออ่านแล้วไม่เห็นด้วยกับข้อเขียนนี้ ผู้เขียนขอให้ท่านอ่านแล้วเชื่อหรือปฏิเสธโดยใช้เหตุผลในเชิงตรรกะ เชื่อได้ว่าท่านจะได้ประโยชน์จากการอ่านแน่นอน

อันที่จริงในสังคมไทยวันนี้ และเวลานี้มีเรื่องราวที่ฟังแล้วอ่านแล้วต้องคิดเพื่อหาเหตุผลมีอยู่อย่าง ดาษดื่น ทั้งในแง่สังคม การเมือง และแม้กระทั่งในเรื่องของเศรษฐกิจล้วนแล้วแต่ต้องการหลักคิดในเชิง ตรรกศาสตร์ทั้งสิ้น ยกตัวอย่างในทางการเมือง ในส่วนที่เป็นกิจกรรมของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐเพื่อขจัดความ ทุกข์ยากให้แก่ประชาชน โดยการยกปัญหาและแยกปัญหาที่สำคัญและควรแก้ไขก่อนหลังโดยคำนึงถึงความรุนแรง ของปัญหา แต่รัฐบาลกลับไปทำสิ่งที่ไม่เป็นปัญหา เช่น ให้รัฐมนตรีมานั่งรับโทรศัพท์ฟังชาวบ้านบ่น และก่นด่า ทั้งๆ ที่ไม่ต้องฟังก็รู้อยู่แล้วว่าเขาคิดอย่างไร และถ้ามีโอกาสพูดจะพูดเรื่องอะไร และพูดอย่างไร เพราะเพียงแค่ติดตามข่าว และความคิดเห็นจากสื่อมวลชนก็รู้แล้วว่าชาวบ้านคิดอย่างไร และต้องการให้รัฐบาลทำอะไร

ที่ ยกมาเป็นเพียงหนึ่งกิจกรรมตัวอย่างที่ไม่มีเหตุผลในเชิงตรรกะในการทำงานของ รัฐบาล ที่พูดได้ว่าลงทุนมากแต่ได้ผลน้อย คนเห็นแล้วไร้สาระพอๆ กับเรื่องปลาหมึกทำนายผลฟุตบอลที่ได้เพียงการโปรโมตตัวเอง และสถานประกอบการเพื่อหวังผลให้แก่ตัวเองเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น