++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เมื่อผิวคลื่นแดงสงบ แต่คลื่นใต้น้ำยังรุนแรง

โดย ว.ร.ฤทธาคนี 8 กรกฎาคม 2553 20:08 น.


เหตุการณ์พฤษภามหาหฤโหด 53 เป็นประวัติศาสตร์สังคม รัฐศาสตร์การเมือง และเศรษฐกิจ ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย แม้นว่าประเทศไทยเคยผ่านความรุนแรงมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งครั้งรุนแรงที่สุดน่าจะได้แก่การถูกพม่าปล้น ทำลายเผาบ้านเผาเมืองนานถึง 7 วัน จนสิ้นกรุงศรีอยุธยา จนอารยธรรม ความศิวิไลซ์ และวิชาการถูกทำลายสิ้น แต่คนไทยยังโชคดีที่มีบุรุษไทยนับร้อยนับพันร่วมกับพระยาตากทำการกู้ชาติสำเร็จภายใน 7 เดือน และโดยฉันทามติศรัทธาของเหล่าทหาร พระยาตากจึงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ตามแบบฉบับกรุงศรีอยุธยา

และความโลภทำให้พระยาสรร ที่พระเจ้ากรุงธนบุรีให้ไปปราบกบฏแต่เข้ากับกบฏอยุธยาที่ปล้นขุดทรัพย์สมบัติที่คาดว่าถูกฝังไว้ จนบ้านเมืองย่อยยับกว่าเดิม จนพระยาอินทรอภัย ผู้รักษากรุงเก่าทัดทานไม่ไหว ต้องหนีกลับมารายงานพระเจ้ากรุงธนบุรี

พระยาสรรจึงยกทัพพร้อมกับพวกกบฏเข้าปล้นพระราชวังกรุงธนบุรีในวันที่ 9 มีนาคม 2324 บังคับให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีออกผนวช และคุมพระองค์ไว้ที่พระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงให้ถอนทัพจากศึกเขมรกลับกรุงธนบุรี แล้วจับพระยาสรรและพวกประหารชีวิตสิ้น แต่มีหลายตำนานเกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หลวงวิจิตรวาทการเคยเขียนเป็นตำนานว่า มีทหารนายหนึ่ง รูปร่างและใบหน้าคล้ายกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อาสาตายแทน เพราะขณะนั้นพระองค์ท่านยังทรงครองผ้าเหลือง และมีการจัดการให้สมเด็จพระเจ้าตากสินได้เล็ดลอดหนีไปจำวัดแถวจังหวัดนครศรีธรรมราช

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชเลขาถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าวชิรุณหิต สยามมกุฎราชกุมาร ว่า “สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงมีพระเมตตาต่อพระราชโอรสและพระราชธิดา ของสมเด็จพระเจ้าตากสินทั่วหน้า ยกเว้นแต่เจ้าฟ้าบางพระองค์ที่ตั้งองค์เป็นศัตรูจึงถูกกำจัดตามแต่กรณี แม้ว่าพระญาติของพระองค์ถูกใส่ร้าย และต้องพระราชอาญาของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแต่พระองค์มิทรงใส่พระทัย ทรงใช้เมตตาธรรมนำการปกครอง ทรงสร้างเมืองหลวงใหม่ และรื้อฟื้นอารยธรรมต่อจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงทำไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงให้ชำระสะสางกฎหมายไทยให้ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม และเกิดมิติรัฐด้วยกฎหมายตราสามดวง ซึ่งเหมาะแก่กาลสมัยของชาติไทย ซึ่งเพิ่งเสียกรุงอย่างย่อยยับมาได้เพียง 15 ปี จนแทบจะไม่เหลืออะไรเลยเป็นแม่แบบ

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงเทพมหานครขึ้นในปี พ.ศ. 2325 ผ่านพ้นภัยสงครามมากมาย จนถึงยุคชาติตะวันตกล่าอาณานิคมยุคที่ 2 อันเป็นการล่าเพื่อความร่ำรวยในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ยุคแรกนั้นเป็นการล่าเมืองขึ้นเพื่อเผยแพร่ศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะในยุคพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประเทศไทยถูกคุกคามอย่างมากมาย แต่ด้วยมีเทวาปกป้องเมือง ดังเช่นที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถวายพระนามเทวาองค์นี้ว่าพระสยามเทวาธิราชในปี พ.ศ. 2398

มีการก่อกบฏ เรียกว่ากบฏ รศ.130 ที่คาดหวังปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยุ่หัว แต่ด้วยพระสยามเทวาธิราชคุ้มครองและพระบารมีปราบฝ่ายกบฏตั้งแต่ยังไม่ได้ทำการ เพราะร.ท.ยุทธ คงอยู่ หรือหลวงสินาดโยธารักษ์ กลัวพระบารมีจึงสารภาพกับหม่อมเจ้าพันธุ์ประวัติ ผู้บังคับบัญชาตน ซึ่งนำความไปกราบทูลสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระบิดาแห่งโรงเรียนเสนาธิการทหารบก และทรงเป็นองค์บุพการีกองทัพอากาศ

ความเจริญทางการเมืองในยุโรปพัฒนาไปในลักษณะประชาธิปไตยมากขึ้น มีเจ้านายและปัญญาชนที่ได้รับทุนหลวงหรือทุนส่วนตัวไปเรียนในยุโรป เข้าใจในระบบการเมืองนี้ และต้องการที่จะนำมาใช้ในบ้านเมืองเราตั้งแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

แต่ความน่ากลัวของประชาธิปไตยที่มีหลายรูปแบบ ทั้งสร้างสรรค์และทำลาย หากความเสมอภาคต้องทำลายล้างกัน เช่น ในการทำลายราชวงศ์พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 หรือราชวงศ์โรมานอฟแห่งการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1917 สังคมไทยคงย่อยยับไปตั้งแต่ พ.ศ. 2475 แล้ว แต่ด้วยพระปรีชาสามารถทรงเข้าใจในกลยุทธ์ของกลุ่มอนาธิปไตยนิยม ซึ่งต้องการการเปลี่ยนแปลงแบบรุนแรง และทรงรับรู้ว่ามีปัญญาชนที่เข้าใจในระบบประชาธิปไตยแบบสร้างสรรค์อยู่ในคณะราษฎร์ พ.ศ.2475 และก่อนที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญให้ด้วยพระองค์เอง แต่เพราะพระองค์ต้องการให้ประเทศไทยมีระบบการเมืองท้องถิ่นที่แข็งแกร่งเสียก่อนด้วยพระราชบัญญัติเทศบาล เพื่อให้ประชาชนท้องถิ่นรู้จักเลือกตัวแทนที่ดี ที่เหมาะสม เข้าไปบริหารและจัดการงานต่างๆ ของชุมชน แต่มิได้เป็นไปตามพระราชประสงค์ เพราะคณะราษฎร์ชิงยึดอำนาจการปกครองเสียก่อน

แต่หากเป็นไปตามพระราชหฤทัยแล้ว การเมืองไทยคงจะมีความแข็งแกร่งจากท้องถิ่นที่จะต้องเข้าใจประชาธิปไตยบริสุทธิ์ทั่วทั้งประเทศ ว่าชุมชนแข็งแกร่งต้องมีนักการเมืองที่เสียสละ มิฉะนั้นก็จะไม่ได้รับการเลือกตั้ง ถึงแม้ว่าจะมีเจ้าพ่อเจ้าแม่เกิดขึ้น แต่ก็จะถูกคนในชุมชนบอกศาลาเองในที่สุด

บทเรียนของศูนย์รวมอำนาจก็คือความล้มเหลวของการปกครอง การกระจายอำนาจจากศูนย์รวมที่ไม่เคยชินกับหลักธรรมาภิบาล การปกครองท้องถิ่นก็ล้มเหลวด้วย เพราะระบบศูนย์รวมอำนาจยังคงมีอำนาจอิทธิพลอยู่ การปกครองท้องถิ่นจึงยังเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์รวมอำนาจที่เกิดจากเงินตราในลักษณะต่างๆ และหลักประชานิยมแบบซื้อตรงย่อมได้ผลเสมอ

วิถีการเมืองที่เปลี่ยนแปลงใน พ.ศ. 2475 ที่ไม่รุนแรง ก็เพราะพระเมตตาธรรม และอำนาจพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงกระทำการต่อต้านคณะราษฎร์ได้หลายกลยุทธ์ เช่น เสด็จลงใต้ด้วยทั้งทางเรือและรถไฟเพื่อทรงจัดกองทัพขึ้นปราบกบฏ แต่ทรงเลือกใช้สันติวิธี เผชิญหน้ากับคณะกบฏผู้ก่อการด้วยน้ำพระทัยกล้าหาญ และทรงเห็นแก่ประโยชน์สุขของพระราชวงศ์ และพสกนิกรที่ไม่ควรต้องรับทุกข์จากสงครามการเมือง

แต่หลังจากนั้นเพียงปีเดียวก็เกิดกบฏบวรเดช ที่แท้จริงก็เป็นส่วนหนึ่งของการแตกแยกของคณะทหารในคณะราษฎร์เอง และมีนายทหารบางกลุ่มกลัวว่าคณะราษฎร์จะเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่สาธารณรัฐจึงเกิดสู้รบกันขึ้น แต่ในที่สุดฝ่ายรัฐบาลชนะ ด้วยสามารถที่จะแสดงจุดยืนว่ามิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐ

ต่อจากกบฏบวรเดช 2476 ก็เกิดการปฏิวัติรัฐประหารและการกบฏขึ้นหลายครั้ง และในห้วง พ.ศ. 2475 จนถึง พ.ศ. 2525 เกิดสงครามอุดมการณ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่มีหลายความคิด แต่มีอุดมการณ์เลนิน-เหมา ที่หวังความเสมอภาค แต่ภาวการณ์ในพรรคคอมมิวนิสต์เองก็เกิดความแตกแยก เพราะปีกอนาธิปไตยหัวรุนแรงหวังที่จะนำเข้ากองทัพคอมมิวนิสต์ต่างชาติเข้ามาล้มล้างไทย ทำให้อุดมการณ์ชาติอยู่เหนือความต้องการเอาชนะรัฐบาล

และพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์นายกรัฐมนตรีนำเอาหลักการเมืองนำหน้าการทหาร ตามรอยพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน พร้อมทั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงออกเยี่ยมราษฎรทั่วทุกหัวระแหง และทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุขเป็นกำลังใจให้ทหาร และทรงให้ทหารเป็นเพื่อนที่ดีของประชาชน ให้ทหารเป็นที่พึ่งของประชาชน และทหารต้องพัฒนาถิ่นทุรกันดารที่อยู่ในเขตภัยคอมมิวนิสต์จนประชาชนคนไทยเชื่อมั่นในทหาร

แต่การเปลี่ยนแปลงหลังระบบทักษิณ 2549 เกิดกระแสสังคมจิตวิทยาที่มีคนบูชาเงินมากมาย ทั้งคนเสื้อแดง ทหารแตงโม ตำรวจมะเขือเผา และข้าราชการสตรอเบอรี่ เกิดทัศนคติดั้งเดิมที่จะใช้กำลังประชาชน ทหาร และตำรวจนอกแถวล้มล้างสถาบันชาติ

ที่สามารถพูดได้เช่นนี้ เพราะกระแสการต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์รุนแรงมากในห้วงมีนาคมและเมษายน 2553 จนรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปี 2548 ที่รัฐสามารถใช้ความเด็ดขาดจัดการกับคนที่มุ่งร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ระดับหนึ่ง

ทั้งเมษายน 2552 และเมษายน 2553 เกิดความรุนแรงที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลภายใต้การชี้นำและโฆษณาชวนเชื่อของทักษิณ เกิดเหตุการณ์รุนแรงมากมายกว่าครั้งใดๆ ในอดีต โดยเฉพาะการเผาบ้านเผาเมือง มีการยิงระเบิด M-79 ทุกวัน มีการใช้กองกำลังติดอาวุธปะปนในฝูงชน และเลือกปลิดชีพคนและทหารตามแผนหฤโหด เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นสนามรบสงครามกลางเมืองด้วยอาวุธสงคราม อาวุธแสวงเครื่อง และระเบิดขวด

แต่เหตุการณ์มิได้เป็นไปตามที่ทักษิณและสาวกโหดต้องการ จึงยอมสยบความรุนแรง เปลี่ยนวิถีสู่ระบบการเมืองที่ใช้กลยุทธ์เดิมๆ แต่เตรียมการคลื่นใต้น้ำไว้เมื่อรัฐบาลเพลี่ยงพล้ำ

ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ชั่วร้ายรุนแรงขึ้นอีกในการโยกย้ายข้าราชการปีงบประมาณ 2554 นั้น รัฐบาลจะต้องยึดถือธรรมาภิบาล แต่งตั้งคนดี มีวิชาความรู้ ซื่อสัตย์สุจริต มีอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์อย่างจริงใจ มั่นคงแน่วแน่ ต้องเป็นคนไม่เห็นแก่เงิน แต่เป็นคนที่เสียสละ จนเป็นที่รู้กันในหมู่พวกข้าราชการทหาร ข้าราชการพลเรือน และตำรวจ

ต้องกำจัดพวกทหารแตงโม ตำรวจมะเขือเทศ และข้าราชการสตรอเบอรี่ เพราะเป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นเพราะพวกนี้เอง ทำให้กลไกรัฐบาลบกพร่อง จึงมีการลำเลียงคน อุปกรณ์ ที่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นอาวุธได้ ปล่อยให้มีการยึดรถยนต์ทหาร มีการลำเลียงยางรถยนต์ และเหตุการณ์อื่นๆ มากมายเกินพรรณนา และหากมีข้าราชการ ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนที่มีอุดมการณ์และเป็นกลไกที่แท้จริงของประชาชน เหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองก็คงไม่รุนแรงขนาดนี้ เพราะตำรวจแต่ละพื้นที่ย่อมรู้ดีว่าใครเป็นใคร ใครมีแนวโน้มรุนแรง และใครกล้าที่จะเผาบ้านเผาเมือง และกล้ายิงคนได้ เพราะตำรวจอยู่กับสังคมชุมชน ส่วนทหารนั้นก็เป็นพวกที่สนับสนุนที่พัก อาวุธ และสถานที่การฝึก

กองทัพนั้นย่อมรู้ดีว่าใครเป็นใคร นายทหารระดับกลางยอมเป็นตัวจักรในการถ่ายทอดคำสั่ง และนายทหารระดับล่างเป็นผู้ดำเนินการตามคำสั่ง เพราะฉะนั้นหัวแถวย่อมมีความสำคัญต่อความเป็นความตายของชาติ

nidd.riddhagni@gmail.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น