++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

“นิวเคลียร์” อีกหนึ่งทางเลือกด้านพลังงานของไทย : บีโอไอ

โดย สุนันทา อักขระกิจ 11 กรกฎาคม 2553 15:19 น.

ปัจจุบันประเทศไทยต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนหลายล้านล้านบาทในแต่ละปี เพื่อนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันที่นับวันราคาจะปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการที่ประเทศไทยยังใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าสูงถึงร้อยละ 71 ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในโลก เนื่องจากทั่วโลกใช้เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น หากปริมาณการใช้ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป อาจทำให้ประเทศไทยต้องประสบกับวิกฤตด้านพลังงานในอนาคต

กระทรวงพลังงาน ในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรงเรื่องการจัดหาพลังงานไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามศึกษาและค้นคว้าเพื่อหาแหล่งพลังงานต่างๆ มารองรับความต้องการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเน้นเรื่องการกระจายความเสี่ยงทางพลังงาน คือ การไม่พึ่งพาเชื้อเพลิง หรือพลังงานชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงอย่างเดียว และต้องเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เป็นมิตรกับคนและสิ่งแวดล้อม รวมถึงช่วยลดภาวะโลกร้อนด้วย

ทั้งนี้เ เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อหน่วยกับพลังงานอื่นๆ ต้องไม่แพงกว่า ประชาชนสามารถยอมรับได้ รวมถึงต้องสามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างมีเสถียรภาพด้วย และเมื่อพิจารณาจากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นพบว่า “พลังงานนิวเคลียร์” เป็นพลังงานทางเลือกที่น่าสนใจในอันดับต้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ มีราคาถูกกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ และยังมีประสิทธิภาพสูงกว่าถ่านหินถึง 100,000 เท่า

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานได้เตรียมเสนอแผนการเตรียมความพร้อมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นในประเทศไทย ต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานประมาณต้นปี 2554 และเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2553 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับล่าสุดปี 2553 – 2573 หรือ PDP 2010 โดยแผนดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ กำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่จะเกิดขึ้นรวม 54,005 เมกะวัตต์ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่จะเกิดขึ้นถึง 5 โรง รวมกำลังการผลิต 5,000 เมกะวัตต์ เริ่มตั้งแต่ปี 2563 – 2571

สำหรับเหตุผลสำคัญที่ทำให้พลังงานนิวเคลียร์ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในการนำมาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้านั้น มีหลายประการ ดังนี้

ประการแรก เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้แก่ประเทศ เนื่องจากประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และทะเลอันดามัน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าถึงร้อยละ 71 ซึ่งถ้าปริมาณการใช้พลังงานยังสูงเช่นนี้ต่อไป อาจจะมีใช้ได้อีกประมาณ 20 ปี หรือน้อยกว่านั้น จึงถือว่ามีความเสี่ยงสูงมากในด้านของแหล่งพลังงาน

ประการที่สอง เกิดแรงกดดันจากภาวะโลกร้อน โดยในช่วงที่ผ่านมาภาวะโลกร้อนได้แสดงผลอย่างชัดเจนและรุนแรง จึงเกิดแรงกดดันจากนานาประเทศทั่วโลก ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลทำให้ราคาพลังงานที่ใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลเพิ่มมากขึ้น
ประการที่สาม เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาพลังงานให้สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว เนื่องจากในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผันผวนมาก ดังนั้น หากเลือกใช้พลังงานที่ไม่มีเสถียรภาพด้านราคา ในระยะเวลาอีก 20-30 ปีข้างหน้า ราคาพลังงานอาจปรับสูงขึ้นมาก และไม่สามารถซื้อหามาใช้ได้

ประการที่สี่ ควรสงวนปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยไว้สำหรับใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ที่มีคุณค่าสูงกว่า เช่น ด้านการขนส่งและคมนาคม รวมถึงด้านอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
นอกจากความน่าสนใจแล้ว การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ยังมีข้อดีอีกหลายประการ คือ

ประการแรก เป็นเชื้อเพลิงที่มีความมั่นคงในการจัดหา สามารถกำหนดแผนการจัดหาได้อย่างชัดเจน มีผลในเชิงพลังงานสำรองของประเทศ และการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ทำให้มี Capacity Factor สูง

ประการที่สอง การแข่งขันกับเชื้อเพลิงอื่นๆ นั้น เนื่องจากสถานการณ์ด้านราคาของก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันมีความผันผวนในระดับสูง ทำให้เชื้อเพลิงนิวเคลียร์มีความสามารถในการแข่งขัน และหากพิจารณารวมต้นทุน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสังคมแล้ว นิวเคลียร์จะมีราคาถูกกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ

ประการที่สาม เกิดผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตไฟฟ้า

หากเปรียบเทียบโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในขนาดเดียวกันนั้น โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์สามารถลดมลพิษได้เป็นจำนวนมาก



ส่วนความกังวลเรื่องความปลอดภัยว่าเมื่อมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แล้ว จะเกิดการรั่วไหลของรังสีจนก่อให้เกิดโรคมะเร็ง รวมทั้งจะเกิดการระเบิดเหมือนโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิลหรือไม่นั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ได้แสดงความมั่นใจว่าปัจจุบันการออกแบบและเทคโนโลยีของโรงไฟฟ้าฯ ดังกล่าวเข้าสู่รุ่นที่ 4 และ 5 แล้ว โดยเน้นให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องแรก จึงมีระบบการป้องกันหลายขั้นตอน เพื่อไม่ให้สารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกสู่ภายนอก ซึ่งทุกขั้นตอนของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ต้องดำเนินการตามมาตรฐานของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ จะต้องเข้าไปตั้งในพื้นที่ใดนั้น ความปลอดภัยสำหรับชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าฯ จะต้องตั้งอยู่บนกฎเกณฑ์ที่เรียกว่า 3S คือ

1. ความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ (Nuclear Safety) หมายถึง การเลือกสถานที่ตั้ง ต้องเหมาะสมตามหลักเกณฑ์ หลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยงภัยธรรมชาติ ทั้งน้ำท่วม ลมพายุ แผ่นดินไหว คลื่นสึนามิ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งที่มีชุมชนหนาแน่น เพื่อให้เกิดอันตรายน้อยที่สุด และการก่อสร้างต้องใช้มาตรฐานระดับสากลเท่านั้น

2. ความมั่นคงปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ (Nuclear Security) ประเทศที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะต้องยึดกฎเกณฑ์ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด และต้องไม่สะสมยูเรเนียมเกินกว่าที่กำหนด เนื่องจากเป็นเรื่องความมั่นคงระหว่างประเทศ

3. การพิทักษ์ความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ (Nuclear Safeguards) ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศมาตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอว่าเชื้อเพลิงที่ยังไม่ได้ใช้ และเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วมีการจัดเก็บตรงตามมาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่

หากในอนาคตประเทศไทยจะต้องดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นมาจริงๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญา และข้อผูกพันระหว่างประเทศ รวมถึงต้องควบคุมการใช้งานว่าจะต้องนำวัสดุนิวเคลียร์ โรงงานนิวเคลียร์ไปใช้ในทางสันติเท่านั้น โดยมีองค์กรกลางทำหน้าที่ควบคุมดูแลและให้เป็นไปตามสนธิสัญญาและข้อผูกพันที่ได้ลงนามกันไว้

สำหรับแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ ดังกล่าวในประเทศไทยนั้น ในเบื้องต้นกำหนดสร้างนำร่อง 2 โรง โดยโรงแรกคาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จในปี 2563 หากเริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2557 และโรงที่สองในปี 2564 มีกำลังการผลิตประมาณ 1,000 เมกะวัตต์/โรง/ปี ซึ่งแต่ละโรงจะมีราคาค่าก่อสร้างประมาณ 2.0-2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ/เมกะวัตต์ และมีอายุการใช้งานได้ประมาณ 60 ปี

การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ จึงเป็นเรื่องระดับประเทศ เพราะโรงไฟฟ้าฯ ดังกล่าวทั่วโลกมีระบบมาตรฐานสากลเดียวกัน และเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สามารถนำไปใช้เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างได้ โดยเฉพาะประเทศต่างๆ ที่กำลังมองหาแหล่งพลังงานในอนาคต ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศเหล่านั้น โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในอนาคต ในภาวะที่ประเทศไทยจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในระดับสูงเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้

จะเห็นได้ว่า พลังงานแต่ละประเภทมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ดังนั้น การเลือกใช้พลังงานอย่างเหมาะสม ในสัดส่วนที่พอดี จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นโรงไฟฟ้าที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก สามารถเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศได้ แต่ประเด็นต่อต้านที่สำคัญคือ เรื่องความปลอดภัย การจัดการกากกัมมันตรังสี และการพัฒนาอาวุธ รวมทั้งการทำให้ประชาชนยอมรับ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก รวมถึงการให้ความรู้และประชาสัมพันธ์ที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกันกับประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างการศึกษาให้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โรงแรก ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเวียดนามนั้นมีความก้าวหน้าอย่างมากที่จะสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าว ล่าสุดได้กำหนดจะสร้างในบริเวณตอนกลางของประเทศ ซึ่งอยู่ใกล้กับจังหวัดอุบลราชธานีของไทย
ปัจจุบันทั่วโลกมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จำนวน 436 โรง โดยสหรัฐอเมริกามีมากที่สุดจำนวน 104 โรง และเมื่อช่วงต้นปี 2553 ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ประกาศแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ ดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีก 100 โรง ทั้งนี้เพื่อช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อน และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับภาครัฐว่าจะสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างถูกต้องกับประชาชนอย่างไร กระทรวงพลังงานนับว่ามีบทบาทสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ส่วนการตัดสินใจจะสร้างหรือไม่นั้น จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสังคมรอบด้าน และการยอมรับจากประชาชนเป็นสำคัญ

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น