++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

“เซ็กซ์เสี่ยง” ครองอันดับ 1 ปัญหาสาธารณสุขไทย

นัก วิชาการ เผย “เซ็กซ์เสี่ยง” ครองอันดับ 1 ปัญหาสาธารณสุขไทยนานกว่า 10 ปี หนุนร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ มั่นใจแก้ปัญหาเซ็กซ์ไม่ปลอดภัยทั้งระบบ ไม่ใช่แค่เรื่องแม่วัยใส พิสูจน์ชัดในต่างประเทศลดอัตราติดเอดส์-ท้องวัยเรียน เตรียมจับมือกรมอนามัยจัดประชาพิจารณ์ 16 ส.ค.นี้

น.ส.ณัฐยา บุญภักดี มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง กล่าวถึงกรณีที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เตรียมผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองอนามัยการเจริยพันธุ์ พ.ศ. ... ว่า นับตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับ 1 ของประเทศไทย นำไปสู่ปัญหาต่างๆ มากมาย อาทิ การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร การติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ การป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และความรุนแรงทางเพศ ซึ่งหัวใจสำคัญของร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ กำหนดให้ประชาชนทุกเพศ ทุกวัยมีความรู้เรื่องเพศศึกษาอย่างรอบด้าน เพื่อป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยทั้งระบบ ไม่เพียงแต่เรื่องการท้องก่อนวัยอันควรเท่านั้น

น.ส.ณัฐยา กล่าวต่อว่า การให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาอย่างรอบด้านครอบคลุมทั้งเรื่องการพัฒนาการของ สรีระทางร่างกาย ความสัมพันธ์ระหว่างเพศ ทักษะการตัดสินใจ หรือการต่อรองเมื่อจำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ ทั้งเพศหญิงและชาย ทักษะการเอาตัวรอดเมื่อถูกกระทำด้วยความรุนแรงทางเพศ หรือถูกละเมิดทางเพศ การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยเมื่อต้องมีเพศสัมพันธ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหากตั้งครรภ์โดยที่ไม่พร้อมจะต้องทำอย่างไร เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่วัยรุ่นเท่านั้นที่จำเป็นต้องรู้ แต่คนไทยทุกเพศทุกวัยต้องมีความรู้ด้วย

“พ.ร.บ.ฉบับนี้ครอบคลุมทั้งด้านร่างกาย ความสัมพันธ์ การป้องกันและการแก้ปัญหา จะเป็นการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาทั้งระบบ ซึ่งสำคัญมากไม่อยากให้ยึดติดเพียงแค่เรื่องของการแก้ปัญหาแม่ในวัยเรียน อย่างเดียว และในร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ล่าสุดได้มีการตัดเรื่องของการทำแท้งออกไปแล้ว จะเน้นเรื่องการป้องกันปัญหาด้วยการให้ความรู้เพศศึกษาที่ถูกต้องกับประชาชน ทั้งนี้ ในหลายประเทศที่มีการออกกฎหมายในลักษณะเช่นนี้ มีการพิสูจน์แล้วว่าอัตราเด็กท้องและการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ลดลง” น.ส.ณัฐยา กล่าว

น.ส.ณัฐ ยา กล่าวอีกว่า ในวันที่ 16 ส.ค.นี้ กรมอนามัย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จะร่วมกันจัดประชาพิจารณ์เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่โรงแรมทีเค พาเลซ โดยจะเชิญตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนที่ทำงานด้านเพศ ศึกษาและเอดส์ รวมถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วม โดยจะนำความคิดเห็นที่ได้จากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมาปรับปรุงแก้ไข กฎหมายรอบสุดท้าย ก่อนนำเข้าสู่ขั้นตอนการออกกฎหมายต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น