++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2553

FW: วิบากกรรมของ 'หัวกะทิ'

ชายคนหนึ่งมองปรากฏการณ์ "เผาโรงเรียน"
อย่างเข้าใจเพราะเคยโดนความเป็นที่ 1 หวดซ้ำแล้วซ้ำเล่า
วันนี้เขาจึงเลือกใช้ชีวิตอย่างสงบในผ้าเหลือง

การที่เด็ก วัยรุ่นคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาวางแผนและเผาโรงเรียนนั้น
สำหรับเพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้องร่วมสถาบัน
มันอาจเป็นการกระทำที่เต็มไปด้วยคำ ว่า ทำไม , สำหรับสังคมและคนอื่นๆ
มันคือ ความเครียด กดดัน ที่เกิดจากระบบการเรียนการสอนสำหรับเด็กหัวกะทิ
และสำหรับพ่อแม่ คือ การย้อนกลับไปถามตัวเองว่า
ยังอยากจะให้ลูกเรียนเก่งอยู่หรือเปล่า...


เราคงไม่ กล้าไปสรุปหรือหาคำตอบใดๆ ในเรื่องนี้ หากมี "พระ" อยู่รูปหนึ่ง
ที่หลายปีก่อน เคยสอบเอนทรานซ์คะแนนเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ได้ 2
เหรียญทองแดงจากการแข่งขันคณิตศาสตร์ โอลิมปิค เป็นวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
เกียรตินิยมอันดับ 1 จากรั้วจามจุรี และได้ทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ
ก่อนจะกลับมาทำ งาน และตัดสินใจก้าวเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์จนเข้าปีที่ 4
ปีนี้ และยังไม่มีโครงการลาสิกขาในอนาคตอันใกล้
หลังจากรับรู้ข่าวไม่ ค่อยสู้ดี อดีตนักเรียนห้อง king
ของโรงเรียนเตรียมอุดม ศึกษารูปนี้ บอกว่า
เหมือนกลับไปเห็นตัวเองสมัยก่อน และบอกสั้นๆ ว่า "อาตมาเข้าใจ
อาตมาเองก็เคยเป็นแบบนี้"
ตลอดการสนทนา ครูบาป๋อง สวนสันติธรรม อำเภอศรีราชา หรือ นายกรกฎ
เชาววะวนิช ในอดีต เจ้าของคะแนนเอนทรานซ์สูงสุด ปี 2537
ไม่เคยบอกว่าตัวเองโชคดี ที่ผ่านความเครียดเหล่านี้มาได้
แต่ความเครียดที่พัดเข้ามาหาหลายระลอกต่างหาก
ที่ช่วยสร้างภูมิต้านทานให้ผ่านช่วงวิกฤติ โดยเฉพาะทุกข์ครั้งสาหัสที่สุด
ที่ฉุดตัวเองให้พ้นจากหลุมดำมาได้


ตำรา A ความสัมพันธ์ F

ประวัติการเรียนของ ด.ช.กรกฎ ดีเด่นมาตลอด ตั้งแต่มัธยม1และ 2
ที่โรงเรียน จิตรลดา จากนั้นสอบเทียบข้าม ม.3 มาอยู่ห้องคิง
แผนกวิทย์-คอมพิวเตอร์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

แต่ความเครียดก็ก่อเค้า มาตั้งแต่ ม.2 ด้วยซ้ำ...
"ตอนนั้นทำตัวเพี้ยนๆ กับเพื่อนที่เป็นเด็กเรียน เขาชอบอ่านสามก๊ก
ก็เอามุขตลกสามก๊กมาเล่น ซึ่งมันเกินวัย
คนอื่นไม่เข้าใจเป็นตลกเชิงวิชาการ เป็นมุขเด็กเรียน
เราขำกับเพื่อนอยู่ไม่กี่คน เพื่อนคนอื่นก็คิดว่าเราบ้า หลายคนไม่ชอบเรา
แกล้งล้อ พูดจาไม่ดีด้วย แต่ไม่ถึงกับทำร้ายร่างกาย" เพียงเท่านี้ก็ทำให้
ด.ช.กรกฎเริ่มเครียดขึ้นมา พ่อแม่เองก็ไม่รู้เพราะลูกชายไม่ได้เล่า

แต่อาการขณะนั้นยังไม่ มาก เพราะยังมีเพื่อนแบบเดียวกันให้คบ
ซึ่งแต่ละคนนิสัยจะคล้ายๆ กันคือ จิตใจและอารมณ์ไม่ค่อยเข้มแข็ง
มีปัญหาด้านการสื่อสารและความสัมพันธ์ กับคนอื่นๆ แต่เรียนเก่ง
ดีกรีความเครียดมาเพิ่ม มากขึ้น
เมื่อย้ายมาเป็นน้องใหม่ในรั้วเตรียมอุดมฯ แวดล้อมไปด้วยเพื่อนๆ
ที่เก่งพอฟัดพอเหวี่ยงกัน แถมอายุมากกว่าเพราะ
เด็กชายจากจิตรลดามาแบบสอบเทียบข้าม ม.3
"สมัย ก่อนเพื่อนๆ ยังพึ่งเรา
แกล้งกันยังไงก็ยังต้องพึ่งเราเพราะเราเก่ง แต่ที่เตรียมฯ
ทุกคนเก่งถ้วนหน้า เลยไม่มีจุดเชื่อมระหว่างกับเรากับเพื่อนๆ ที่ไม่เก่ง
มนุษย์สัมพันธ์ไม่เกิด ไม่มีใครต้องพึ่งพาเรา" ครูบาป๋อง เสริมอีกด้วยว่า
ถ้าเด็กยิ่งไม่มีทักษะทางอารมณ์ ก็ไม่สามารถหาเพื่อนใหม่ได้

สำหรับเด็กสอบเทียบอย่าง เขา นอกจากจะเจอแต่เพื่อนเก่งๆ แล้ว
ความที่เรียนมัธยมต้นแค่ 2 ปี จึงมีหลายวิชาที่ตามไม่ทัน
หรือบางวิชาก็ไม่ได้เรียนมาก่อน แต่อาศัยว่าในห้องมีเพื่อนที่สอบเทียบ
มาอีก 2 คน กลุ่มนายกรกฎก็เลยคบกันอยู่แค่นี้

การแกล้ง ล้อเลียน ไม่เป็นปัญหาในหมู่เด็กโตชั้นมัธยมปลาย
แต่เรื่องน่าหนักใจกลับไปตกอยู่ที่ "ความสัมพันธ์"
"ปัญหามันอยู่ที่ตัวเรา เราแสดงออกกับคนอื่นไม่ดี คิดอย่างไรทำอย่างนั้น
ไม่ค่อยคิดถึงคนอื่น อยากทำอะไรก็ทำ อาจจะติดจากสมัยเด็กๆ
เพื่อนต้องเกรงใจเพราะเราเก่ง หลายคนมองเราไม่ดี ไม่คุยกับเรา ต่อต้านเรา
กับอาจารย์เองก็เคย ครั้งหนึ่งเขาสอนข้ามไปข้ามมา เราก็ยกมือแย้งถึง 2
รอบ บอกว่า ทำไมอาจารย์ไม่สอนบทนั้น บทนี้ จนอาจารย์เสียใจ
เดินออกจากห้อง เพื่อนๆ ต้องพาเราเอาพวงมาลัยไปขอโทษ
ซึ่งตอนนั้นเราก็รู้สึกผิด
และรู้ว่าตัวเองมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์จริงๆ"
ความตระหนักรู้มาเพิ่ม ขึ้นเมื่อตอนปิดภาคเรียนฤดูร้อนก่อนขึ้นม.5
กรกฎได้ไปบวชเรียน กับท่านปัญญานันทะ วัดชลประทานรังสฤษฎ์
เด็กหนุ่มใช้เวลาศึกษาธรรมมะ สุภาษิตบทสั้นๆ ที่กล่อมเกลาให้นึกถึง
เห็นใจคนอื่น อ่อนน้อม
"เปิดเทอมใหม่ เพื่อนบอกว่า เรานิสัยดีขึ้นเยอะ
ปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อนหายไปเยอะเลย" ความเปลี่ยนแปลงหลังจากนั้น
แต่เรื่องความเครียดใน การเรียน ยังคงมีอยู่
โดยเฉพาะหลังการสอบแต่ละครั้ง จะมีทั้งความตื่นเต้น กดดัน
จะไม่ให้เครียดได้อย่าง ไร เพราะตั้งแต่ ม.4 กรกฎก็อัดเรียนพิเศษเต็ม
วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพื่อเรียนเนื้อหา ม.5 ม. 6 ล่วงหน้า แล้วพอขึ้นมา
ม.5 คอร์สนอกห้องเรียนยิ่ง เข้มข้นขึ้น
"เสาร์-อาทิตย์เรียน ประมาณ 11 ชั่วโมง เน้นวิชาเอนท์หนักๆ 3-4 วิชา เหนื่อยมาก"


ติดบ่วงโอลิมปิค
ระหว่างที่ยังศึกษาอยู่ ชั้น ม.5
กรกฎได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปสอบคณิตศาสตร์โอ ลิมปิคที่ประเทศตุรกี
ซึ่งก็ไม่เป็นเรื่องแปลกเท่าไหร่ เพราะในห้องเดียวกัน มีเพื่อนๆ
ร่วมไปแข่งโอลิมปิควิชาการถึง 19 คน

แล้วกรกฎกับเพื่อน ก็ไม่ทำให้ผิดหวังด้วยการคว้าเหรียญทองแดงกลับมา
"ตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเอง เก่ง ฉลาดมาก คนให้การต้อนรับยกย่องเยอะ"
ครูบาป๋อง ย้อนวัยกลับไปดูสภาวะจิตใจตัวเอง
และนั่นก็เป็น "ทุกข์ก้อนที่ 2 ของอาตมา..."

เพราะสำเร็จมาตลอด เจ้าของเหรียญทองแดงโอลิมปิคจึงบอกกับตัวเองว่า
จะต้องสำเร็จยิ่งขึ้นไปอีก ส่วนความผิดพลาดจะเรียนรู้จากประสบการณ์คนอื่น

แต่ความผิดพลาดก็มาเยือน เร็วกว่าที่คิด ช่วงสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวง
หรือ "ทุนคิง" ในภาษาเด็กเตรียมฯ กรกฎไม่พลาดและไปพร้อมกับความมั่นใจเต็ม
ร้อย
ปรากฎว่าเขาผ่านรอบสอบ ข้อเขียน 10 คนสุดท้าย แต่กลับไปตกในช่วงสอบสัมภาษณ์ 5 คน

"เราก็รู้สึก อาย เครียด" ตามมาติดๆ
ด้วยการเป็นตัวแทนไปแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิคเป็น ปีที่ 2 ผลก็คือ
คะแนนไปอยู่ในช่วงตรงกลางค่อนไปทางครึ่งหลัง เลยชวดเหรียญทองแดงไป
"ทั้งอาย ทั้งทุกข์ กลุ้มใจ" แต่ 2 สัปดาห์ต่อมา เจ้าภาพครั้งนั้นคือ
ฮ่องกง มีการเลื่อนเกณฑ์ลงมาเพื่อเอื้อให้ตัวแทนจากประเทศตัวเอง
อานิสงส์ตกถึงกรกฎ เหรียญทองแดงที่ตอนแรกพลาด ก็ได้มาคล้องคอจนได้

ความทุกข์ที่กัดกินใจอยู่ หลายวัน แล้วจู่ๆ ก็พลิกผันกลับมาสมหวัง
ทำให้กรกฎเริ่มเห็นว่า "ความล้มเหลวเกิดขึ้นได้ตลอด"

"ถ้าไม่เคยได้เหรียญมา ก่อนก็ไม่กดดัน
ความสำเร็จสร้างความทุกข์ให้เราจากความยึดมั่น ถือมั่น"
เขาเริ่มเข้าใจบ้างแล้วว่า ความทุกข์ต้องมีเข้ามาเรื่อยๆ
แต่ถ้ารู้จักทำใจยอมรับความล้มเหลวได้ ก็จะไม่เป็นอะไร
ขนาดว่าเริ่มคิดได้ แต่เมื่อ "ทุกข์ก้อนหนักที่สุด" แวะเข้ามา
เขาก็แทบจะล้มทั้งยืน
เมื่อเรียนจบปริญญาตรี ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
เขาคว้าทุนไปเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ เรื่องเรียน
เรื่องวิชาการไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่ แต่พอมาเจอ "ธีซิส" ก่อนจบ
ที่ไม่ว่าจะพยายามเท่าไหร่ก็ไม่ผ่านสักที นักศึกษาหนุ่มท้อมาก
จนเคยคิดว่า ถ้าหลับไป แล้วพรุ่งนี้ไม่ต้องตื่นมาอีกเลย...ก็คงดี

"เพราะไม่อยากเจอความ ทุกข์อย่างนี้" สภาพจิตใจที่อ่อนแอตอนนั้น
ทำให้กรกฎตัดสินใจโทรหาพ่อแม่ที่เมืองไทย บอกว่า ถ้าเรียนไม่จบ
จะเป็นอะไรไหม คนฟังอีกซีกโลกก็ตกใจ แต่หลังจากนั้น
คนเป็นพ่อลงทุนลางานมาอยู่เป็นเพื่อน 2 เดือน มาดูแล ทำกับข้าวให้
คอยเป็นกำลังใจ จนจบปริญญาโทมาได้อย่างเฉียดฉิว
"สุด ท้าย คนที่เราพึ่งได้ก็คือคนที่รักเราที่สุด คือ พ่อกับแม่ หรือ
เพื่อนดีๆ เราก็พึ่งได้" ซึ่งตลอดเวลาที่ใช้ชีวิตอยู่ต่างแดน
นักเรียนไทยอาศัยอยู่คนเดียว คิดคนเดียว ทำคนเดียว ไม่มีใครให้คำปรึกษา
เวลาทุกข์จึงยิ่งดิ่งลึก
สิ่งหนึ่งที่ครูบาป๋องตั้งข้อสังเกต โดยอิงจากประสบการณ์ที่ผ่านมา คือ
เมื่อความผิดพลาดหรือความทุกข์เกิดขึ้นแล้ว จะมีการแสดงออก 2 อย่างคือ
คิดว่าตัวเองผิด ก็จะแสดงออกผ่านทางการฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเอง
กับอีกอย่างคือ คิดว่าเป็นความผิดของคนอื่น ก็จะระบายออกอย่างโกรธแค้น
ยกตัวอย่างเช่น กราดยิงเพื่อน (ในสหรัฐอเมริกา) ทำร้ายหรือ
ทำลายสถานที่ด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งไม่ว่าแบบไหนก็เป็นความรุนแรง

..............................................................

"คนภายนอกมองว่าอาตมาเก่ง ไม่เคยรู้ว่าอาตมาก็เคยทุกข์ เคยล้มเหลว"
ครูบาป๋อง กำลังจะบอกว่า ไม่ได้มีแต่ตัวเองเท่านั้นที่เจอปัญหา
"คนเราก็มองแต่ภายนอก จะมีใครไหมที่ทุกข์แล้วเอามาเล่าให้คนอื่นฟัง"
อาจฟังดูยากแต่อดีตนัก เรียนทุนในผ้าเหลืองรูปนี้
อยากให้ใครก็ตามที่ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ เข้าใจธรรมชาติของปัญหา ว่า
มันอาจจะรุนแรงแค่เฉพาะหน้า แต่พอเวลาผ่าน จะค่อยๆ ทุเลา
จนเราเองก็อาจจะลืม

"มีชาดกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องราวที่พระราชาสั่งให้คนคิดทำแหวน
ที่ใส่แล้วฉลาด เข้าใจโลก รู้ทุกเรื่อง
ช่างคนหนึ่งเลือกเขียนไว้บนตัวแหวนว่า 'เดี๋ยวมันก็ผ่าน ไป'
ฉะนั้นไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ถ้าอดทน เราก็แข็งแรงได้"
ทุกวันนี้ ครูบาป๋อง ยังพากเพียรตั้งใจศึกษาธรรมะต่อไป
เนื้อหาอาจไม่ได้แบ่งเป็นรายวิชาอย่างทางโลก แต่ทางธรรม
มุ่งศึกษาว่าร่างกายและจิตใจทำงานอย่างไร หาสาเหตุแห่งทุกข์หรือสมุทัย
เพื่อพาจิตใจให้อิสระจากทุกข์ แล้วนำเอาสิ่งที่ศึกษาไปให้คำปรึกษาหรือ
ช่วยเหลือผู้อื่นได้
"ความ รู้และจิตใจต้องไปควบคู่กัน โดยเฉพาะเด็กที่เก่ง มีพรสวรรค์
ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการสร้างประเทศใน อนาคต" หลวงพี่สอนน้อง

'รุ่นพี่' ถึง 'รุ่นน้อง'

มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ต่างๆ นานา ถึงการเรียนการสอนของ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
แต่ ไกร (นามสมมติ) นักเรียนชั้นม.6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็รู้สึกสงสารรุ่นน้องคน
ดังกล่าว เพื่อนๆ ในกลุ่มของเขาก็รู้สึกเช่นนั้น
แต่ก็อยากชวนให้สังคมมองพวกเขา และโรงเรียนของพวกเขาในอีกมุม
ไกรเองย้ายมาจากโรงเรียน สาธิตฯ ปทุมวัน เมื่อเกือบ 3
ปีก่อนพร้อมกับความถนัด ด้านคณิตศาสตร์ เขายอมรับว่า บางวิชาที่มหิดลฯ
เข้มข้นกว่าโรงเรียนอื่นจริงๆ (จากการคุยกับเพื่อนต่างสถาบัน)

"เข้มข้นจริง แต่เราไม่ได้เรียนเพื่อไปสอบเข้ามหาวิทยาลัย
เราเรียนเพื่อวิจัยองค์ความรู้ เพื่อนำกลับมาพัฒนาประเทศ
ถ้าไม่เข้มข้นแล้ว จะไปช่วยประเทศได้อย่างไร ถ้าคนที่มีอุดมการณ์อย่างนี้
เขาก็จะเข้าใจ ว่าเขาทำอะไรอยู่
เด็ก ที่เรียนที่นี่ ไม่ได้สนใจว่า ต่อไปจะเอ็นท์คณะอะไร
แล้วพ่อแม่จะชอบไหม งานหาง่ายหรือเปล่า แต่เราคิดว่าเราอยากเป็นอะไร
อยากรู้อะไร และอยากทำอะไรให้ประเทศ"
ส่วนเรื่อง "ความเครียด" ที่เขาอยากสื่อสาร ไกรยอมรับว่า มี
ซึ่งอาจผสมปนเปกับโรคคิดถึงบ้าน (Homesick) เพราะที่นี่ให้เด็กอยู่ หอ
ตั้งแต่อาทิตย์(เย็น)-ศุกร์

และเขาก็ยืนยันว่า "สอบตก" ไม่ได้มีผลกับคะแนนภาพรวมมากนัก ประมาณ ตก
2-3 ครั้งก็ยังได้เกรด 4 เพราะจะมีการสอบเล็กๆ น้อยๆ
อีกหลายครั้งคอยช่วยเสริมคะแนน
"แต่ถ้าตกจริงๆ ครูก็จะช่วยเหลือ ให้เข้า 'คลินิกวิชาการตอนกลางคืน'
เพราะที่โรงเรียนไม่สนับสนุนให้เรียนพิเศษ โดยเด็กๆ
สามารถเข้าไปคุยกับอาจารย์ ถามเรื่องทั่วไป เรื่องเรียน
หรือบางทีผมขาดเรียน ตามไม่ทัน ก็จะเข้าไปให้อาจารย์ช่วนสอนตั้งแต่ แรก"
หลังเลิกเรียนก็จะมีกิจกรรมต่างๆ เช่น sportday
เพื่อนในห้องอีก 23 คนของไกร มีหลายระดับ ทั้งเครียดน้อย เครียดมาก
ไปจนถึงเครียดมากที่สุด ในทุกครั้งที่สอบ แต่หลายคนก็มีทางออกต่างกัน
เช่น ปรึกษาเพื่อน เล่นเกมคอมพิวเตอร์ เพื่อนหญิงบางคนเลือกตีสควอช
เพราะช่วยระบายอารมณ์ได้ดีมาก
สำหรับไกร อยู่โรงเรียนรู้สึกอิสระมากกว่าอยู่ที่บ้าน
และเมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียนเก่า มหิดลฯ เครียดน้อยกว่า
เพราะเขาได้เรียน ได้เจอกับคนแบบเดียวกัน ชอบแบบเดียวกัน
ผิดกับที่เก่าที่เพื่อนมาจากทั่วสารทิศ ทั้งสอบเข้า ฝาก
เพื่อนจึงมีหลากหลายมาก จะไม่ค่อยเจอใครที่เหมือนกับตัวเอง
"แต่ นั่นก็ขึ้นกับว่าอยู่กับเพื่อนกลุ่มไหน
และอยู่ที่ว่าเราจะจัดการความเครียดยังไง จัดลำดับความสำคัญอย่างไร
ผมเองถ้าตั้งใจอ่าน ตั้งใจทำสุดๆ แล้วก็ยังตก ก็จะปล่อยวาง
ปล่อยมันไปบ้าง"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น