++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ดอนหอยหลอด จอดไม่เห็นหอย (๑)

กุลฉัตร

            เมื่อวันเสาร์ที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๓๐  น้องชายได้ชวนข้าพเจ้าร่วมเดินทางไปเที่ยวชมดอนหอยหลอดร่วมกับสมาชิก ชมรมแบดมินตันของเขา โดยทางรถยนต์ส่วนบุคคล กว่าจะรวบรวมพลกันที่ตรงข้ามกับวัดภาณุรังษี ถนนจรัลสนิทวงศ์ได้ ประมาณ ๙.๐๐ น. กว่าๆ ขบวนรถเก๋งรวม ๔ คัน ล้วนเป็นรถของประเทศยุโรปทั้งนั้น อย่าไปทราบยี่ห้อรถเลย เพราะไม่ได้ค่าโฆษณา บรรทุกสมาชิกและแขกของสมาชิกรวม ๑๒ ผู้ใหญ่ ๒ เด็ก แล่นตามกันเป็นขบวนผ่านสี่แยกสะพานกรุงธนฯ เลี้ยวขวาเข้าถนนสายพุทธมณฑล ประเดี๋ยวชิดกัน ประเดี๋ยวห่างกัน ตามสภาพของการจราจรวกวนกันหลายเลี้ยวหลายถนนจนมาออกถนนธนบุรีปากท่อ พอผ่านสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองที่จังหวัดสมุทรสาคร ก็ได้รับการต้อนรับขับสู้ (ความจริงเสียงดัง ซู่ ซู่ มากกว่า) จากพระพิรุณตลอดทาง ประเดี๋ยวตกหนัก ประเดี๋ยวเบา  เป็นภาระอันหนักของสารถีทุกคันรถ แต่พอเลี้ยวขวาเข้าตัวจังหวัดสมุทรสงคราม (แม่กลอง) จึงได้หยุด รถทั้ง ๔ คันจอดเข้าที่ริมทางเท้าหน้าตึดแถวสร้างใหม่มีคนเช่าอยู่บางห้อง พวกเราทั้งหมดก็ลงไปยืนเข้าคิวกันแบบอารยชนชาวยุโรปปฏิบัติกันในห้องแถวห้องหนึ่ง ที่ผู้จัดการทีมของเรา ไขกุญแจเปิดให้ (ยืนทำอะไรกัน ให้เอาไปคิดเป็นการบ้าน)

            ทั้งหญิง ๒ ชายไม่ค่อยฉกรรจ์ ๑๐ เด็กชาย ๒ คน พอเบาตัวกันแล้วก็ข้ามถนนเข้าไปเติมอาหารและเครื่องดื่มในร้านตรงกันข้าม ตามอัธยาศัย ถือโอกาสรอฝ่ายจัดการลำเลียงอาหารมื้อกลางวันและเครื่องดื่มลงเรือยนต์เครื่องกลางลำสั้นๆ รูปร่างเหมือนคนจัดการ  แต่ก็พอดีกับจำนวนนักทัศนาจรกลุ่มดังกล่าว รวมทั้งชายฉกรรจ์พื้นบ้านอีก ๓ คน ทราบต่อมาว่าเป็นนายท้ายเรือคนหนึ่ง อีก ๒ คนยังไม่แจ้งชัด เรื่อเคลื่อนออกจากท่าน้ำหน้าวัด (ลืมอ่านชื่อ) ประมาณหลังเพล มุ่งออกปากอ่าวชิดฝั่งขวามือ พวกเราก็เริ่มแจกจ่ายกับแกล้ม (กุ้งอบและปลาหมึกแห้งทอด) อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกงเผ็ดลูกชิ้นปลา) และเครื่องดื่มซึ่งมีทั้งน้ำอัดลมหลายยี่ห้อ รวมทั้งน้ำผลไม้ที่อัดลมสมัยใหม่ (คูลเลอร์) และน้ำเปล่า ที่ขาดไม่ได้คือ น้ำเปลี่ยนนิสัยชาวสก๊อทซ์ โดยไม่มีการข่มเขา ฯ หรือแย่งกัน

            ข้าพเจ้านั่งอยู่ท้ายเรือขนาบด้วยวัยสะรุ่น ๒ คน ละเลียดน้ำเปลี่ยนนิสัยกับน้ำแข็งในถ้วยกระดาษแกล้มด้วยกุ้งอบได้ประมาณ ๒ ตัว ก็ต้องชะงักกลางคันเพราะปรากฎว่าเรือทำท่าว่าจะไม่ยอมแล่นบนผิวน้ำ แต่กลับจะมุดใต้คลื่นลูกใหญ่ๆ แทน พวกเราจึงพากันลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า  ยังไม่มีใครอยากจะเสี่ยงว่ายน้ำโต้คลื่นปากอ่าวกัน ควรจะย้อนกลับไปชมวิวในแม่น้ำลำคลองกันดีกว่า ถ้าใครอยากจะเห็นหอยหลอด ก็แวะไปดูที่ตลาดสดก็แล้วกัน ว่าอะไรก็ว่าตามกัน เรือไม่ล่ม นายท้ายก็เบนหัวเรือกลับทางเก่าด้วยความเต็มใจ แล่นชิดฝั่งขวาถูกกฎจราจรทางน้ำเปี๊ยบ (คือ ฝั่งตรงข้ามกับขามา) พวกเราจึงค่อยเจริญทั้งอาหารและเครื่องดื่มกันต่อไป โดยเฉพาะวัยสะรุ่นทั้งสอง ดูจะแก่กับแกล้มกับน้ำอัดลมมากกว่าข้าว จนเรือแล่นมาจะถึงโรงทำน้ำปลาแห่งหนึ่ง จึงได้รับการชี้แนะจากชายฉกรรจ์ร่างเป็นแมนสูงสง่า ดำสนิทเจ้าของถิ่นซึ่งยังคงไม่ทราบว่า เป็นผู้ใด นายท้ายเรือคนว่าง่ายก็เบนหัวเรือจอดเทียบบันไดท่าน้ำโรงทำน้ำปลาทันที ให้พวกเราปีนป่ายขึ้นฝั่ง  หายไปสักพักก็พากันหอบหิ้วน้ำปลากันมา บางคน (ลูกช่างซื้อ) ยังกะจะกลับไปเปิดร้านชำ

            พอได้เสียเงินกันตามประสาคนช่างซื้อ สมาชิกรุ่นลูกคนหนึ่งเป็นช่างซื้อด้วย ได้เสนอแนะให้นายท้ายเรือกลับไปที่ปากอ่าวอีกครั้งหนึ่ง แต่ให้เรือแล่นชิดฝั่งซ้ายตรงกันข้ามกับครั้งแรก โดยให้เหตุผลว่า ฝั่งซ้ายจะไม่ต้องฝ่ากระแสลมและน้ำคลื่นจะไม่จัด ไม่มีใครรวมทั้งบุรุษพื้นบ้านทั้งสามคัดค้าน (ไม่เป็นประชาธิปไตยนี่) ในที่สุดคำแนะนำของสมาชิกรุ่นลูกก็สัมฤทธิ์ผล เรือแล่นมาอย่างสงบราบเรียบ จนถึงปากอ่าวแลเห็นหาดทรายกว้างสุดสายตาพวกเราเข้าใจว่าถึงดอนหอยหลอดแล้ว แต่ผู้รู้ (รู้จริงหรือเปล่าก็ไม่ทราบ) ว่าจวนจะถึงแล้ว มีเรือหาปลาชายฝั่งจอดลงอวนอยู่โบกมือทักทายฝ่ายเรา และให้สัญญาณอะไรไม่ทราบ ไม่เห็นมีปฎิกิริยาใดๆจากพันท้ายของเรา เรือคงแล่นตรงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมีเสียงดังครืด ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าถึงแน่แล้วเกยตื้นอย่างว่า นายท้ายหมุนพวงมาลัยให้เรือโคลงตัวอยู่ไปมาแต่ก็ไม่หลุด ไม่มีใครตื่นตกใจ เพราะสังเกตได้ว่าน้ำตื้นมาก ทั้ง ๓ บุรุษพื้นบ้านก็บอกว่า ลุยน้ำแค่อกประเดี๋ยวก็ถึงบ้านผู้ใหญ่บ้านแล้ว ในที่สุดก็ต้องดับเครื่องยนต์เพราะใบพัดและหางเสือเรือทำท่าจะไม่ยอมอยู่ในบังคับของนายท้ายเรือ  สักครู่มีเสียงดังท้ายเรือ นึกว่าปลาฉลามหรือแมวน้ำ กลายเป็นหนึ่งในสามบุรุษพื้นบ้านดำน้ำมาโผล่ท้ายเรือและบอกกับนายท้ายเรือ ซึ่งขณะนั้นวางมือจากพวงมาลัยมานั่งคลำอะไรอยู่ท้ายเรือก็ไม่ทราบว่า ทิ้งสมอเรือซิจะได้แก้ไขได้สะดวก คำตอบของนายท้ายเรือทำเอาข้าพเจ้าสะดุ้งตกใจแทนแคลงใจที่ว่า นายท้ายเรือทำไมไม่รู้ร่องน้ำต้องให้ชาวกรุงชี้แนะ "สมอเรืออยู่ที่ไหน?" อ้าว  นายท้ายเรือไม่รู้ แล้ว ห-มาที่ไหนจะไปรู้หละ?  ร้อนถึงแมวน้ำ เอ๋ยลูกเรือ คงอยู่ประจำลำนี้ บอกว่าเปิดกระดานท้ายเรือขึ้นซิ นั่นแหละจึงได้เกาสมอเรือให้จอดนิ่ง ปลุกปล้ำ (ว่าเพิ่งตกใจว่าเกิดวางมวยกันหรือรังแก ๒ สตรี) หางเสือและใบพัดอยู่สัก ๑๐ นาทีก็ยังไม่สำเร็จ สมาชิกคนหนึ่งที่มีประสบการณ์มากล่าวว่า "มาคราวที่แล้วใช้เรือยนต์ลำใหญ่ที่ใช้วิ่งรับผู้โดยสารข้ามแม่น้ำเป็นประจำ เพื่อความปลอดภัยก็ติดอย่างนี้แหละ ร้อนถึงผู้โดยสารเกือบทั้งลำเรือ ต้องลงเข็นเรือแทนใช้เครื่องยนต์ จึงหลุดกลับไป กทม.ได้" แล้วยังมีหน้าพามาติดในครั้งนี้อีกพิลึกคนแท้ๆ  คำบอกเล่าถึงวีรกรรมครั้งที่แล้วมากระทบโสตของสมาชิกรุ่นลูกผู้นำร่อง เกรงว่าจะน้อยหน้าพวกที่มาติดทรายครั้งก่อน จัดการแก้กางเกง (โอ๊ย ไม่อยากดู ประเดี๋ยวตาเป็นกุ้งยิง) เปล่าหรอก ไม่ได้โป๊ เขาใช้ผ้าขาวม้าของเพื่อนผลัดไปนุ่งกางเกงอาบน้ำ โชว์ความกำยำล่ำสันของท้องโตประมาณ ๖ เดือน โดดลงทะเลตื้นท่วมอกพร้อมกับสมาชิกเสียง ดังฟังชัดอีกคนหนึ่งช่วยกันฉุดลากเรือจนเคลื่อนที่ได้ก็พอดีกับ ที่ลูกเรือเกาะเกาหางเสือและใบพัดเรือพอแก้ขัดไปได้  สามารถแล่นแข่งคู่คี่กับเรือจ้าง  ทันใดก็มีเรือเป็ดมีเครื่องยนต์บรรทุกชายฉกรรจ์เกือบเต็มลำแล่นตรงมาหาเรือเรา ต๊กกะใจนึกว่าหมดตัวแล้วพวกเรา ไม่ควรมาเลย แต่พอเรือเข้ามาใกล้พอเจรจากันได้ยิน คนในเรือเป็ดก็วันทามาที่เรือของเราพร้อมกับปราศรัยไต่ถามความในว่า "เรือเป็นไรไปล่ะผู้ใหญ่?" แน่ะจะเยาะเย้ยกันหรือไง แถมยังเรียกหาพวกเราคนใดคนหนึ่งเป็น "ผู้ใหญ่บ้านเสียอีก" ฝากไว้ก่อนเถอะไม่มา กทม.บ้างก็แล้วไป จะตั้งให้เป็นกำนัน เทียว ความจริงเขาหวังดีจะมาช่วยลากเรือเรานั่นเอง ในขณะเดียวกันพวกเรือหาปลาที่ให้สัญญาณเกี่ยวกับร่องน้ำครั้งแรกก็โดดน้ำลากเชือกเส้นโต จะมาช่วยอีกรายหนึ่ง ขอบคุณหลาย

        (อ่านต่อตอนจบ)

ที่มา ต่วยตูน ฉบับเดือนตุลาคม ๒๕๓๐ ปีที่ ๑๗ เล่มที่ ๒

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น