++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553

จากพื้นที่นำร่อง กลายเป็นชุมชนต้นแบบ กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลวังแขม อ.คลองขลุง ข.กำแพงเพชร

เรียบเรียงโดย ณัฐฏ์ รัตนกานต์

            ตำบลวังแขมมีพื้นที่เพียง 107.2 ตารางกิโลเมตร มี 13 หมู่บ้าน ประชากรรวม 10,629 คน หรือมี 2,731 ครัวเรือน ซึ่งนับเป็น อบต.ขนาดกลาง
            ระยะแรกในการพัฒนากองทุนฯ เกิดขึ้นไม่ยากนัก เพราะวังแขม เป็นท้องถิ่นที่ถือว่ามีต้นทุนทางสังคมสูง คือ ในพื้นที่มีสถานีอนามัยถึง 2 สถานี คือ สถานีอนามัยวังแขม และสถานีอนามัยบ่อทอง ซึ่งทั้งสองสถานีอนามัยนี้มีการประสานสัมพันธ์และร่วมมือกันในการทำงานร่วมกับ อสม.เป็นอย่างดี ซึ่ง อสม.เองก็ถือว่าเป็นกำลังสำคัญที่ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพของคนในชุมชน เห็นได้จากการจัดกีฬาประจำปีเพื่อเชื่อมความสามัคคีของตำบลซึ่งจัดมาเป็นเวลา 7 ปีแล้ว ในชื่อว่า "กีฬาวังแขมสัมพันธ์" ใช้เชื่อมความสัมพันธ์และบูรณาการกิจกรรมของงานปกครองสาธารณสุข ศึกษาธิการ และอบต.ในชุมชน
           
            จุดเริ่มต้นการทำงานเริ่มจากการทำประชาคม จัด อบต.สัญจรขึ้น เพื่อพบปะรับรู้ปัญหาของประชาชน แล้วสถานีอนามัยก็เป็นเจ้าภาพในการจัดทำโครงการ และมีการอนุมัติโครงการจาก คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ จากนั้นก็จัดทำเป็นแผน อบต. เพื่อดำเนินการต่อไป ส่วนหลักการในการอนุมัติงบประมาณนั้นมีข้อตกลงอยู่ว่า หากเป็นโครงการที่พัฒนาสุขภาวะอย่างยั่งยืน จะมีสิทธิ์รับงบสนับสนุนมากกว่าโครงการอื่น

            เมื่อการทำงานเป็นไปตามหลักการที่วางไว้ จึงมีโครงการและกิจกรรมต่างๆกว่า 10 โครงการ สามารถดำเนินการได้สำเร็จทุกโครงการ สำหรับโครงการที่พึงพอใจที่สุด คือ  โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ป่วยโรคเบาหวาน เนื่องจากประชาชนในวังแขมป่วยเป็นโรคเบาหวานกันมาก สถานีอนามัยในพื้นที่ทั้งสองแห่ง จึงจัดทำโครงการร่วมกับ อบต. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ในเรื่องโรคเบาหวานและสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับ ที่เหมาะสม สามารถดูแลตนเองและมีพฤติกรรมเกี่ยวกับสุขภาพที่ถูกต้อง การทำเช่นนี้เพื่อรับโอนการรักษามาไว้ที่สถานีอนามัยทั้งสองแห่ง แทนและเป็นการลดค่าใช้จ่ายหรือ ภาระการเดินทางของประชาชนในท้องถิ่น
            ทั้งยังจัดให้มีการให้ความรู้โดยแพทย์จากโรงพยาบาลคลองขลุงมาสอน และจัดกิจกรรมเรื่องอาหารและการออกกำลังกายให้กับผู้ป่วย สำหรับการตอบรับหลังจากการจัดอบรม ผู้ป่วยสะท้อนมายังสถานีอนามัยว่า เมื่อไรจะจัดอีกเพราะผู้เข้าร่วมอบรมมีความพึงพอใจมาก

            นายชัยวัฒน์ พันธุ์วิทยากูล นายก อบต. วังแขม เป็นผู้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาสุขภาพอย่างยั่งยืนดังคำพูดที่ว่า "ผมให้ความสำคัญกับการพัฒนาให้ครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา ประเพณี วัฒนธรรม คุณภาพชีวิต อาชีพ การท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้ตำบลวังแขม เป็นเมืองน่าอยู่ สะอาด ปราศจากขยะมูลฝอย สภาพแวดล้อมดีและร่มรื่น ประชาชนได้รับบริการด้านสาธารณสุขอย่างทั่วถึง"
            กระบวนการทำงานของ อบต. วังแขมมีจุดเด่นด้านการประสานความสามัคคีทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนที่มีการจัดทำประชาคมทุกเดือน หรือ จัด อบต.สัญจรเพื่อหาข้อมูล และใช้หอกระจายข่าวไร้สายที่สามารถกระจายเสียงไปทั่วถึงทุกหมู่บ้าน เน้นความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และการทำงานแบบมีส่วนร่วม ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ส่งผลให้การประเมินผลมีความพึงพอใจสูง ถึงแม้ไม่ได้ทำการประเมินผลอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนก็ตามที

            สิ่งที่ทำให้โครงการต่างๆ ประสบผลสำเร็จ มีปัจจัยหลายส่วนสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นผู้นำที่มีบุคลิกการทำงานที่ให้เกียรติ ให้ความสำคัญกับทีม มุ่งประสานความสามัคคีทุกภาคส่วนของชุมชน ทำให้เกิดผลงานที่ดี ประสบผลสำเร็จ และเข้าสู่ท้องถิ่นได้มากขึ้น รวมไปถึงทีมงานที่เข้มแข็ง ทุกคนทำงานด้วยจิตมุ่งมั่น เพื่อพัฒนาชุมชนและเพื่อสุขภาพของคนในชุมชนที่แข็งแรง รวมไปถึงเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยที่เป็นที่ยอมรับของชุมชน เป็นกันเอง ยิ้มแย้ม พูดจาดี สามารถเข้าถึงประชาชนได้ ทีสำคัญคือ สนใจสุขภาพประชาชนอย่างจริงจัง

            สุดท้ายคงเป็นผลจาก อสม. ที่เป็นบุคคลสำคัญในการดูแลสุขภาพของชุมชน เป็นส่วนร่วมหนึ่งในการผลักดันโครงการต่างๆให้ประสบผลสำเร็จ

            และทั้งหมดนี้ ได้สะท้อนคุณภาพของการเป็นชุมชนต้นแบบได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่มีระบบหรือการเตรียมการที่ดี มีการดำเนินการที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง และที่สำคัญ คือ การมีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ และความสามัคคีของชุมชน รวมถึงปณิธานการทำงาน คือ ให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพที่ดี สิ่งเหล่านี้ช่วยให้การดำเนินงานต่างๆ บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียนโดย
วราภรณ์ สัตยวงศ์
วพบ.พุทธชินราช



ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น