++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ปฏิรูปประเทศไทย-แผนปรองดองฯ

โดย แสงแดด 22 มิถุนายน 2553 16:23 น.

ความพยายามของ "ภาคการเมือง" ที่ได้เริ่มเดินหน้ากับ
"การปฏิรูปประเทศไทย" โดยพุ่งเป้าไปที่ "แผนความปรองดอง-แผนสมานฉันท์"
ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็น "โจทย์ยาก" ที่สุด ดังศึกษาได้จากสารพัดโพลล์
(Poll) ที่ต่างทยอยผลของการสำรวจออกมาว่า
"ความเป็นไปได้ยากกับการปรองดอง" ที่สูงถึงร้อยละเกือบ 70

"ภาคการเมือง" ได้เดินหน้าไปบ้างแล้ว กล่าวคือ ในส่วนของ
"วุฒิสภา" มีการดำเนินการตั้ง "คณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมือง"
ซึ่งเป็นคณะใหญ่ประกอบไปด้วย
สมาชิกวุฒิสภาทั้งจากการสรรหาจากการเลือกตั้ง
โดยแต่งตั้งจากประธานวุฒิสภา ท่านประสพสุข บุญเดช
และได้ระดมความคิดเห็นจากองค์คณะกรรมการเอง
และเชิญผู้ทรงคุณวุฒิและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องคุณสาทิตย์ วงศ์หนองเตย
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาชี้แจงและให้ข้อมูล ตลอดจนสื่อมวลชน

การประชุมของคณะกรรมการฯ
วุฒิสภาได้ดำเนินการจัดประชุมมาแล้วประมาณ 5 ครั้ง ก็ต้องยอมรับว่า
"แข่งขัน-เอาจริงเอาจัง" อย่างมาก
ทั้งนี้การประชุมยังคงวนเวียนอยู่กับเนื้อหาเดิมๆ
กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรรมการหลายท่านที่เป็นทั้ง
"ส.ว.เลือกตั้ง-ส.ว.สรรหา" ชอบแสดงความคิดเห็นเชิงอภิปราย "น้ำท่วมทุ่ง!"
และ "เลยเถิด-นอกลู่นอกทาง-แตกประเด็น" ทำนองสไตล์ไปทาง
"นักการเมือง-ส.ส." ไปเสียฉิบ!

จากการประชุมประมาณ 5 ครั้ง ของคณะกรรมการติดตามฯ วุฒิสภา
ต้องบอกว่ายังไม่ได้ออกทะเล
ด้วยการกำหนดกรอบทิศทางในการติดตามแต่ประการใด พูดง่ายๆ หมายความว่า
"น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง" มีแต่ "สาละวนอยู่ในอ่าง"
กับการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นช่วง
"เหตุการณ์ไม่สงบ" ขอย้ำอีกครั้งว่า สไตล์เป็นสมาชิกผู้แทนราษฎร์ (ส.ส.)
และ/หรือเป็นนักการเมืองไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ก็คงต้องรอให้โอกาสทั้งประธานที่ประชุม คุณจิตติพจน์
วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ พร้อมรองประธานฯ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก
3-4 คน ว่าจะสามารถกำหนดทิศทางและแผนงานเพื่อสรุปข้อเสนอให้กับประประธานวุฒิสภา
สมาชิกวุฒิสภา แต่คงไม่สำคัญเท่ากับประชาชนคนไทยว่าจะได้อะไรจาก
"วุฒิสภา" กับกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม

ส่วนของ "สภาผู้แทนราษฎร" นั้น แทบไม่ต้องกล่าวถึง
นอกจากจะไม่มีการตั้งคณะกรรมการใดๆ ที่จะเป็น "องค์กร-กลไก" กับ
"การคลี่คลาย-แก้ไข" กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว
พร้อมทั้งยังไม่มีความคิดใดๆ ด้วยซ้ำที่จะตั้งใจมาช่วย "ฟื้นฟู-เยียวยา"
แต่ในทางกลับกัน "กลับซ้ำเติม!" ให้สถานการณ์เลวร้ายไปมากกว่านี้
โดยเฉพาะ "พรรคเพื่อไทย-ฝ่ายค้าน" ซึ่งเราต่างตระหนักรู้ดีว่าเป็น
"แกนนำ" สำคัญของ "แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ
(นปช.)-กลุ่มเสื้อแดง" ตลอดจน "ส่งเสริม-สนับสนุน"
อย่างเปิดเผยกับเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" โดยแน่นอนมี ทักษิณ ชินวัตร
เป็นผู้สนับสนุนหลัก

ทั้งนี้ ต้องเรียนต่อท่านผู้อ่านว่าในส่วนของ "ฝ่ายนิติบัญญัติ"
นั้น องค์ประกอบสำคัญที่มีบทบาทมากที่สุดและได้ดำเนินการไปแล้ว คือ
"วุฒิสภา" ที่แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่าต้องการมีส่วนร่วม
เพื่อการเยียวยาและฟื้นฟูสถานการณ์ทาง "การเมืองด้วยการเมือง"

ในขณะเดียวกัน ด้าน "ฝ่ายบริหาร" หรือ "รัฐบาล"
ได้เดินหน้าอย่างเต็มสูบเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์
เวชชาชีวะ ด้วยการกำหนด "แผนปรองดอง-แผนสมานฉันท์ 5 ข้อ" กล่าวคือ
การป้องและเทิดทูนให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีความเข้มแข็งมากขึ้น
การปฏิรูปสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะเว็บไซต์และวิทยุชุมชน
การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและเสริมสร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้นแก่สังคม
การกำหนดองค์กรอิสระในการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงกับกรณีเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม
และการปฏิรูปการเมืองกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง
และแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ในแต่ละแผนปรองดองฯ 5 ข้อนั้น
ได้กำหนดประธานของแต่ละคณะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ว่า
ประธานของคณะอาจารย์คณิต ณ นคร ยังไม่ได้มีการตั้งกรรมการเป็นองค์คณะ
เนื่องด้วยการสรรหาบุคลากรมาเป็นกรรมการในชุดการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ
น่าจะระดมได้ยาก เหตุผลสำคัญน่าเชื่อว่า "ไม่มีใครอยากเปลืองตัว" และ
"เจ็บตัว!" เพราะ "ความละเอียดอ่อน" ของเหตุการณ์

ส่วนคณะกรรมการปฏิรูปสื่อฯ มีแต่เพียงประธานเท่านั้น
ที่เป็นคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ส่วนองค์ประกอบของกรรมการคนอื่นๆ ยังไม่สามารถระดมได้เช่นเดียวกัน

คณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและเสริมสร้างความเสมอภาคนั้น
ยังไม่มีการกำหนดประธานและองค์คณะแต่ประการใด แต่ถึงอย่างไรก็ตาม
การที่ได้ทั้งอดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน
เป็นประธานยุทธศาสตร์ปฏิรูปประเทศ และนายแพทย์ประเวศ วะสี
เป็นประธานด้านสมัชชาประชาชนฯ ที่จะเป็น "องค์กรอิสระ" ที่มุ่งเน้น
"การปฏิรูปประเทศไทย" และจะมีสำนักงานครบวงจรมีลักษณะเป็น
"หน่วยงานพิเศษ" ที่จะต้องปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง
มิใช่เพื่อรัฐบาลชุดปัจจุบัน

และที่สำคัญที่สุด คือ
คณะกรรมการปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
ยังไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด น่าเชื่อว่า
อยู่ในช่วงของการพิจารณาสรรหาประธานและองค์คณะกรรมการ

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง หมายความว่า คณะกรรมการทั้งหมด 4 ชุด
ที่ยังไม่มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์
เวชชาชีวะ ซึ่งคาดว่าน่าจะเสร็จสมบูรณ์ได้ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน
หรืออย่างช้าสุดประมาณต้นเดือนกรกฎาคม

"คณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองฯ"
โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์
อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นประธาน
พร้อมทั้งได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเสร็จสมบูรณ์ไปเรียบร้อย
โดยนายกรัฐมนตรี ภายในหนึ่งสัปดาห์ และที่สำคัญได้เรียกคณะกรรมการทั้งหมด
ที่ถูกเรียกขานว่า "19 อรหันต์" ประชุมไปเรียบร้อยแล้วหนึ่งครั้ง
พร้อมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอีก 3 ชุด ดังต่อไปนี้

คณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
คณะอนุกรรมการวิเคราะห์กรอบโครงสร้างรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมืองไทย
และคณะอนุกรรมการการมีส่วนร่วมกับประชาชนในการสร้างความเข้มแข็งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

คณะของอาจารย์สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ น่าจะเป็นชุดที่เรียกขานว่า
"เสือปืนไว!" ที่ "แต่งตั้งเร็ว- ประชุมเร็ว-เดินเครื่องทันที"
ไม่มีการรีรอ ซึ่งเป็นนักวิชาการล้วนๆ ไม่มีนักการเมือง
และ/หรือนักธุรกิจ ใดๆ ทั้งสิ้น

ภารกิจสำคัญที่คณะกรรมการชุดนี้
นอกเหนือจากพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองฯ
ซึ่งจะเป็นการประชุมพิจารณาร่วมกันของคณะกรรมการชุดใหญ่

แต่การพิจารณาเสนอความคิดเห็นและแนวทางในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ซึ่งแน่นอนจำต้องศึกษาถึงสถาบันหลักๆ ของชาติ
และสถาบันการเมืองเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ "สถาบันประชาชน"
จะเป็นหนึ่งองค์ประกอบสำคัญในการเสริมสร้างให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ
และเสริมสร้างความเข้มแข็งเช่นเดียวกัน
โดยทั้งสองส่วนนั้นได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการเป็นที่เรียบร้อย

ในกรณีของ "ภาคประชาชน"
ที่ทางคณะกรรมการชุดใหญ่ให้ความสำคัญอย่างมากเช่นเดียวกัน นอกจาก
"สถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์" และ "สถาบันการเมือง"
ในการปฏิรูปการเมืองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น
ด้วยการจัดตั้งคณะอนุกรรมการและ
"คณะทำงานในการระดมรับฟังความคิดเห็นและมีส่วนร่วมกับประชาชน"

"แนวทางสร้างความสมานฉันท์ในสังคมไทย" จากการเสนอของ
"คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ"
ที่ได้ดำเนินการและสรุปจัดทำรายงานเสร็จไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2552 นั้น
ได้มีการเผยแพร่ และนำเสนอต่อรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อย แต่กลับ "ถูกดอง!"
ไว้ มิได้ดำเนินการแต่ประการใด

ผลของการศึกษาและพิจารณาของคณะกรรมการสมานฉันท์
มุ่งเน้นครอบคลุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับชาติบ้านเมือง โดยเฉพาะที่
"การปฏิรูปนักการเมือง" ทั้งในกรณีของ "คุณสมบัติ-การปฏิบัติตัว" ตลอดจน
"พรรคการเมือง" และสำคัญที่สุดคือ "รัฐธรรมนูญ" ทั้งของปี 2540 และปี
2550

ในขณะเดียวกัน ในส่วนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้านการเมือง ตลอดจน
"สื่อมวลชน" ที่มีการหยิบยกประเด็นของ
"ความเป็นกลาง-ไม่ก่อให้เกิดความแตกแยก"
แต่ที่เป็นแนวทางสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ทั้งเสริมสร้าง
"ความรู้-ความเข้าใจ" และ "การมีส่วนร่วม" ในการเสริมสร้างทั้ง
"ความสมานฉันท์" และ "ความเข้มแข็ง" ควบคู่กันไป!

คณะกรรมการชุดท่านอาจารย์สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ น่าจะเป็นชุดแรกที่
"เดินหน้า" ไปเรียบร้อย
ซึ่งการเร่งระดมรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนทั่วทุกภูมิภาค
น่าจะเดินเครื่องและจัดทำข้อสรุปได้ภายในระยะเวลา 6 เดือนต่อแต่นี้
ซึ่งหวังว่า การดำเนินการอย่างจริงจังในเชิงวิชาการของคณะกรรมการชุดนี้
ที่ประธานอาจารย์สมบัติ และกรรมการทุกคนล้วนเป็นนักวิชาการที่ยึดมั่น!
"ความเป็นกลาง-หลักการ-ความถูกต้อง" เท่านั้น ปราศจากอคติและ
"การแบ่งแยก" แต่อย่างใด

ที่สำคัญที่สุด "ไม่มีการกำหนดสีใดๆ ทั้งสิ้น!"

1 ความคิดเห็น:

  1. แล้วจะทันปี 2555 ไม๊นี่ ปีที่พระอริยเจ้าห่วงใยลูกหลานชาวไทย อ่านต่อ...http://www.ainews1.com/article311.html

    ตอบลบ