หนุ่ย หนองโสน
เห็นจั่วหัวเรื่องแล้ว ท่านอย่าเพิ่งงงเลยนะครับ เพราะ หอ สระ แอ ก็คือ แหธรรมด๊าธรรมดานั่นเอง พวกเราคนไทยโดยทั่วไปส่วนมาก รู้จักรูปร่างหน้าตาของมันดีว่าเป็นอย่างไร ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ต่างก็คุ้นเคยกับมันดี ตั้งแต่ระดับลูกคนหาเช้ากินค่ำยันรัฐมนตรีก็ว่าได้ ในวันเสาร์อาทิตย์ตามลำลางหรือคูข้างถนนเรามักจะเคยเห็นบ่อยๆว่ามีคนไปยืนถือแห (ที่จริงเขาเรียกว่าขึ้นแห) รอที่จะทอดปลากันอยู่โดยทั่วไป บางรายถึงขนาดเอารถเก๋งไปจอดรอทอดแหกันเป็นที่ครึกครื้น (พวกนี้คงล่าด้วยความสนุก ถือว่า เป็นการปิคนิคสุดสัปดาห์ไปในตัว) ยิ่งเป็นหน้าน้ำลดใหม่ๆ ประมาณเดือนธันวาผมถึงมีนาคมยิ่งจะเห็นพวกล่าปลาด้วยแหกันออกเกลื่อนตา ฉะนั้นผมคงไม่ต้องอธิบายคำจำกัดความ คำว่า หอ สระ แอ แห ให้มากความนะครับ
เดี๋ยวก่อนท่านอย่าเพิ่งสงสัย ก็เมื่อรู้ว่าคนไทยรู้จักแหกันดีอยู่แล้ว ผมจะเขียนไปหาพระแสงด้ามง้าวทำไมกันอีกเล่า แหก็คือ เครื่องมือหาปลาอีกชนิดหนึ่งนอกจากอวน ข่าย สวิง สุ่ม เบ็ด ฯลฯ ซึ่งผู้หาปลาอาชีพและสมัครเล่นต่างก็รู้จักกันดีทั้งนั้น แต่ที่ผมจะมาเขียนถึงในวันนี้ ผมเขียนถึงวิธีเย็บแห ที่คนหาปลาเป็นอาชีพต่างก็เย็บกันเป็นแทบทุกคน เพราะถือว่าเป็นเครื่องมือหากินอันสำคัญยิ่ง ต่อการดำรงชีวิต ท่านผู้อ่านที่เคยเห็นแต่ไม่รู้ขั้นตอนกรรมวิธีเย็บจะได้เก็บเอาไว้เป็นความรู้ประดับเล่นโก้ๆ ก็ยังดี เรียกว่า ดีกว่าอยู่เปล่าเปล่า อาจจะไม่ละเอียดเท่าที่ควร ถ้าใครอยากรู้จริงๆ ถามมาได้นะครับ ผมจะอธิบายและวาดรูปประกอบเอาไว้เย็บเป็นกันไปเลย โดยไม่ต้องหาครูเพิ่มเติม ถ้ามีมากๆ จะเขียนเป็นตำราให้เฮียต่วยพิมพ์ขายเสียเลย จะได้รวยกับเขาซักที
โดยทั่วไปแหตามท้องตลาดที่เห็นแขวนโชว์กันอยู่นั่นน่ะ เขาใช้วิธีผนึกเอา นักหามืออาชีพหรือสมัครเล่นที่ชอบล่าปลาโดยวิธีนี้เป็นชีวิตจิตใจ เขาไม่นิยมกันหรอกครับ เพราะมันไม่แน่นอน บางทีก็บาน บางครั้งก็บานเล็กกว่ากระโปรงของสาวสังคมระดับไฮโซเสียอีก หรืออย่างร้ายก็ไม่บานเอาเลย สร้างความอับอายขายขี้หน้าขี้ตาให้กับคนทอดหลายเฟื้องหลายสลึงทีเดียวละ ผู้สันทัดกรณีในการทอดแหบอกว่า ไอ้แหผนึกนี่มันไม่มีการทิ้งช่วง (ภาษาคนเย็บแห) เพราะใช้เครื่องทอแล้วมาผนึกเอาทีหลัง มันจึงบานมั่งไม่บานมั่ง ผีเข้าผีออกอย่างนั้นแหละ สู้เย็บเองหรือว่าจ้างคยเย็บเป็นเย็บให้ไม่ได้ แน่นอนกว่า ถ้าจะทอดไม่บานก็เป็นเพราะความไม่ประสาหรือไม่เอาอ่าวเอาเกาะของคนทอดแห เองไม่เกี่ยวกับแหแต่อย่างใดทั้งสิ้น
ทีนี้ผมจะขออธิบายถึงวิธีการเย็บแหพอเป็นที่เข้าใจกันเลยนะครับ ตอนแรกต้องเตรียมชุนเตรียมปลาเสียก่อน ชุนคือ เครื่องมือใส่ด้ายที่จะเย็บ รูปร่างคล้ายกับพระขรรค์ขนาดเล็กที่พวกเกจิอาจารย์ทำออกจำหน่ายพวกญาติโยมนั่นแหละ ความกว้างก็แล้วแต่ขนาดของแหที่เราต้องการ เจาะริมทั้งสองด้านให้เป็นรู ตรงกลางเป็นแกนยาวๆ สำหรับใส่ด้าย จะซื้อหรือแกะเอาเองก็ตามสะดวก ถ้าซื้อจะเป็นชุนพลาสติก แกะเองใช้ไม้ไผ่ผิวแกะเอา สำหรับปลานั้นคือ ที่กำหนดขนาดของแหที่เราจะเย็บ ส่วนมากมักทำกันเองจากไม้ไผ่ มันทำไม่ยาก รูปร่างมันไม่เหมือนปลาหรอกครับ แบนๆ สันด้านหนึ่งหนา อีกด้านหนึ่งบางคล้ายมีดอีโต้ที่อีแก่ชอบถือไว้ในมือแล้วยืนชี้นิ้วให้เราทำงานนั่นแหละ แต่มันกว้างเท่ากันตลอดทั้งหัวและท้าย ยาวไม่เกิน ๔-๕ เซ็นต์ ถ้าจะว่าเหมือนปลาก็พออนุโลมว่า คล้ายปลาอีแปบได้ ต่อไปก็หาซื้อด้าย (ที่จริงสมัยนี้เขาใช้ไนล่อนหมดแล้ว) ที่จะเย็บก็มีด้ายเบอร์ ๒,๓,๔,๖,๙ และ ๑๒ เบอร์ของด้ายหมายถึงจำนวนเส้นด้ายเล็กๆที่เขานำมาขวั้นรวมกันเป็นด้าย เช่น ด้ายเบอร์ ๒ ก็มีด้ายเส้นเล็กๆ ๒ เส้น มีขายตามร้านขายอุปกรณ์การหาปลาทั่วไป ขนาดของด้ายมีความสำคัญต่อการทอดแหมากทีเดียว
เมื่อหาอุปกรณ์ครบแล้ว ก็กะขนาดของแหว่า เราต้องการขนาดเท่าไร คือ ขนาดตั้งแต่ ๓ เซ็นต์สำหรับปลาเล็ก ถ้าปลาขนาดใหญ่ เช่น ปลาช่อนนิยมตั้งแต่ ๕ เซ็นต์ขึ้นไป สมมุติว่าเราต้องการแหขนาด ๖ เซ็นต์ เราทำปลาที่จะเย็บแหกว้าง ๓ เซ็นต์ จึงจะได้แหขนาด ๖ เซ็นต์ ที่สำคัญ ตัวชุน ตัวปลา และด้ายนี่ ขนาดสัมพันธ์กับตามขนาดของแห เพราะขนาดของแหยิ่งใหญ่ ปลาตัวที่เราทอดต้องตัวใหญ่ตามขึ้นไปด้วย
(อ่านต่อตอนที่ ๒)
ที่มา ต่วยตูน ฉบับเดือนตุลาคม ๒๕๓๐ ปีที่ ๑๗ เล่มที่ ๒
หลายๆแห่งเขาห้ามใช้ไม่ใช่หรือ แล้วจะทันปี 2555 ไม๊นี่ ปีที่พระอริยเจ้าห่วงใยลูกหลานชาวไทย อ่านต่อ...http://www.ainews1.com/article311.html
ตอบลบ