++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2553

กรมวิทย์ฯ เตือนระวังจุลินทรีย์ก่อโรคในผักสด แนะล้าง 3 น้ำลดปนเปื้อนสูง 99 เปอร์เซ็นต์

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
เตือน!นำผักสดมารับประทานหรือตกแต่งบนจานอาหารโดยไม่ล้างทำความสะอาดเสี่ยงรับเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคอาหารเป็นพิษ
แนะวิธีลดการปนเปื้อนได้ด้วยตนเองโดยการลอกใบชั้นนอกของผักสดทิ้งและล้างใบชั้นในด้วยน้ำสะอาด
2-3 ครั้งจะช่วยลดการปนเปื้อนลงได้ 90-99% และหากยังไม่รับประทานทันที
ควรทำให้สะเด็ดน้ำและเก็บในภาชนะที่สะอาดปิดสนิท
เพื่อป้องกันการปนเปื้อนซ้ำ

นายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีการปลูกผักนานาชนิด หลายชนิดนิยมทำให้สุกเช่น ผัด
ลวก ต้มหรือทอด ก่อนนำมารับประทานซึ่งกระบวนการเหล่านี้
จะทำให้เชื้อจุลินทรีย์หรือเชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่ตายได้
แต่มีผักอีกหลายชนิดที่นิยมนำมาทำสลัดหรือนำมาบริโภคสดหรือเป็นเครื่องเคียงรับประทานร่วมกับอาหารพื้นเมืองอื่น
เช่น ผักกาดหอม กะหล่ำปลี ใบโหระพา ใบสะระแหน่ ซึ่งรับประทานร่วมกับส้มตำ
ลาบ น้ำตก และยำชนิดต่างๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการนำผักสดตกแต่งบนจานอาหารหรือโรยบนตัวอาหาร เช่น ผักชี
ต้นหอม แตงกวา มะเขือเทศ ทำให้อาหารดูน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น
โดยธรรมชาติของผักสดมักมีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ค่อนข้างมากและบางส่วนอาจเป็นเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค
ดังนั้นการนำผักสดมารับประทานแบบดิบๆ
หรือใช้ตกแต่งบนจานอาหารโดยที่ผู้บริโภคไม่มีกระบวนการป้องกันเชื้อโรค
อาจทำให้ผู้บริโภคเจ็บป่วยได้

ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถลดการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคในผักสดได้ด้วยตนเอง
โดยการลอกใบชั้นนอกของผักสดทิ้งและล้างใบชั้นในด้วยน้ำสะอาด 2 ถึง 3
ครั้งจะช่วยลดการปนเปื้อนลงได้ 90-99 % และหากยังไม่รับประทานทันที
ควรทำให้สะเด็ดน้ำและเก็บในภาชนะที่สะอาดปิดสนิทเพื่อป้องกันการปนเปื้อนซ้ำ
เพียงเท่านี้ผู้บริโภคก็จะสามารถรับประทานผักสดได้อย่างปลอดภัย

นายมงคล เจนจิตติกุล ผู้อำนวยการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร
กล่าวเพิ่มเติมว่า
แม้ภาครัฐจะมีมาตรการเฝ้าระวังความปลอดภัยของผักสดมาอย่างต่อเนื่องแต่ก็ยังคงตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์อยู่
จากข้อมูลในปี 2551
ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผักสดที่จำหน่ายตามตลาดสดและซุปเปอร์มาร์เก็ตในเขตกรุงเทพมหานครและนนทบุรี
จำนวน 97 ตัวอย่าง ตรวจพบเชื้อซัลโมเนลล่า (Salmonella spp.) 16 ตัวอย่าง
เชื้อวิบริโอโคเลอรา (Vibrio cholerae) 14 ตัวอย่าง และเชื้อลิสทีเรีย
โมโนไซโตจิเนส (L.monocytogens) 2 ตัวอย่าง
จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าในตลาดยังคงพบเชื้อที่ปนเปื้อนในผักสดอยู่
โดยเชื้อจุลินทรีย์ที่ตรวจพบทั้ง 3 ชนิดนี้สามารถพบได้ทั่วไปในธรรมชาติ
หากเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เจ็บป่วยเนื่องจากเชื้อโรคอาหารเป็นพิษได้
อย่างไรก็ตามกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ซึ่งเป็นหน่วยงานให้บริการตรวจวิเคราะห์อาหารเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคยังคงดำเนินการสุ่มเก็บตัวอย่างผักสดนำมาตรวจหาการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์อย่างต่อเนื่อง
เพื่อเฝ้าระวัง ความปลอดภัยให้กับประชาชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น