กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลร่องจิก
อ.ภูเรือ จ.เลย
เรียบเรียงโดย กฤนกรรณ สุวรรณาญจน์
"โครงการพัฒนาคลินิกเบาหวานโดยองค์การบริหารส่วนตำบลร่องจิก ช่วยให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การรับประทานอาหาร ออกกำลังกายและการแลกเปลี่ยนความรู้ได้ดีขึ้น จึงคัดเลือกผู้ป่วยเบาหวานและกลุ่มเสี่ยงในตำบลร่องจิก โดยการจัดทำโครงการในครั้งนี้ จะมีทีมสหวิชาชีพจากโรงพยาบาลมาตรวจประเมินสภาวะสุขภาพและให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างครบวงจร" คณะทำงานโครงการ
ที่ราบสลับสันเขาใน ต.ร่องจิก เป็นภูมิทัศน์ที่น่าชื่นชม อากาศเย็นสบายเหมาะแก่การมาเยือน คนส่วนใหญ่ทำไร่องุ่น และแก้วมังกร ไม้ดอกไม้ประดับ
เรื่องที่ประชาชนต้องการเป็นลำดับแรก คือ การดูแลรักษาโรคเบาหวาน ส่วนใหญ่ต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อยครั้งและมีคนไปใช้บริการเป็นจำนวนมาก
จากแฟ้มข้อมูลสุขภาพ (Family folder) ในปีงบประมาณ 2549 พบว่า ตำบลร่องจิกมีผู้ป่วยเบาหวาน 140 คน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 5,098 คน คิดเป็น 2.75% ของประชากรและมีจำนวนกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด 700 คน คิดเป็น 13.77% ของประชากรทั้งหมด ทั้งนี้ ยังพบว่า มีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
จากการประเมินความเข้าใจในเรื่องความรู้ การดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวาน พบว่า ส่วนใหญ่มีความรุ้อยู่ในเกณฑ์ดี ยกเว้นการควบคุมอาหาร การรับประทานยา การออกกำลังกาย ผู้ป่วยมีความรู้ดีแต่ยังขาดทักษะการปฏิบัติ สาเหตุมาจาก ขาดแรงกระตุ้นจูงใจให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและขาดความร่วมมือ จากผู้ดูแล เพราะผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ จะต้องมีผู้ที่ดูแลเรื่องยาอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งเรื่องอาหารการกิน และการจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะกับผู้ป่วย
หลังจากมีการทำประชาคม เรื่องการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ นายก อบต.จึงจัดทำข้อตกลงเป็นเอกสารกับเจ้าหน้าที่บริหารสาธารณสุข จัดบริการรักษาพยาบาล ส่งเสริม ป้องกัน สุขภาพให้แก่ประชาชน ด้วยข้อตกลงร่วมระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบลร่องจิกกับสถานีอนามัยตำบลร่องจิก ที่มีพันธะสัญญาร่วมกันว่า จะดูแลสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่น
โดยเน้นแผนงาน จัดซื้อบริการสุขภาพตามชุดสิทธิประโยชน์เพื่อจัดกิจกรรม 2 โครงการ ได้แก่ "โครงการพัฒนาคลินิกเบาหวานที่หน่วยรับบริการปฐมภูมิและโครงการค่ายเบาหวานตำบลร่องจิก"
สำหรับประเด็นสำคัญที่ต้องดำเนินการให้บรรลุตามแนวทางโครงการ คือ
1. ผู้ป่วยโรคเบาหวานในเขตตำบลร่องจิก จะได้รับการดูแลตรวจสุขภาพและควบคุมโรคอย่างครบวงจร จากทีมสหวิชาชีพโรงพยาบาลนิกเขตอย่างดี
2. โรงพยาบาลนอกเขต มีทีมสหวิชาชีพที่มีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน
3. ชุดทีมงานสหวิชาชีพ โรงพยาบาลนอกเขตมีความพร้อมในการปฏิบัติงานทั้งในและนอกพื้นที่
4.โรงพยาบาลนอกเขต มีความพร้อมในด้านวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์เพียบพร้อม
"โครงการเบาหวานทำให้ชาวบ้านไม่ต้องเสียเวลา เสียเงินค่ารถเดินทางไปโรงพยาบาลแล้วยังต้องไปรอนานๆ มีคุณหมอมาดูแล ถึงบ้าน ประจำสถานีอนามัยร่องจิกไปเลย" ผู้เข้าร่วมโครงการเบาหวานกล่าวด้วยรอยยิ้ม
เกิดการประสานสร้างทีม สื่อสารและพัฒนาศักยภาพ พลังของทีม โดย มี อบต. กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นหลัก ทั้งนี้ พลังของทีมได้รับความร่วมมือจาก กลุ่มผู้นำชุมชน , กลุ่ม อสม. กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภค, กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม, กลุ่มผู้สูงอายุ, กลุ่มอบรมนาฏศิลป์, กลุ่มต้านยาเสพติด, กลุ่มร่วมใจพัฒนา, กลุ่มดูแลผู้สูงอายุและคนพิการ , กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์, กลุ่มข้าราชการ, กลุ่มเกษตรกร , กลุ่มอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) เป็นการระดมพลังสมองและการปฏิบัติ จากกลุ่มต่างๆร่วมกัน
"ผู้ป่วยหลายคน น้ำตาลในเลือดลดลง หลายคนไม่ลดแต่ก็ไม่เพิ่ม สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ ผู้ป่วยต่างมีความหวัง กำลังใจในเรื่องการดูแลสุขภาพมากขึ้นเพราะได้เจอเพื่อน จากการเข้าร่วมกิจกรรมที่หมอ และ อบต. จัดให้ เขาได้คุยกัน ถามไถ่ทุกข์สุข ในเรื่องโรคเบาหวานที่เขาเป็นเหมือนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเอง"
"รับประทานยาสม่ำเสมอ ไม่ขาดการนัดรับยา เมื่อเปรียบเทียบระดับน้ำตาลในเลือดก่อนและหลังการทำโครงการ ด้วยการเจาะระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหารเช้าและเที่ยง 2 ชั่วโมง มื้อเช้าให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารตามปกติ ส่วนมื้อเที่ยงจะให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารตามสัดส่วนพลังงานที่ผู้ป่วยควรจะได้รับในแต่ละวัน เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของระดับน้ำตาลในเลือด"
นี่คือ เสียงสะท้อนอันเกิดจากความสำเร็จขอการทำงานหนัก
ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
ยลฤดี ตัณฑสิทธิ์
เอกชัย ด่านชาญชัย
กาญจนา สานุกูล
อรัญญา ศรีสุนาครัว
ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น