++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2553

ตำครกกระเดื่อง กินข้าวกล้อง ลดเบาหวาน กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลดงเหนือ อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร

เรียบเรียงโดย นพรัตน์ จิตรครบุรี


            "ตอนที่ ตร.กับน้าหมอที่อนามัยมาพาทำโครงการหมู่บ้านปลอดบุหรี่ ท่านมากินมานอนที่นี่ ท่านเป็นใครก็ไม่รู้ ไม่ใช่คนในหมู่บ้านท่านยังเห็นความสำคัญของสุขภาพชาวบ้าน พวกผมแท้ๆที่เป็นชาวบ้านและอยู่กับปัญหาจะเฉยอยู่ได้อย่างไร ตั้งแต่นั้นมาพวกผมก็นำเรื่องการสร้างสุขภาพของชุมชนเข้าสู่การประชุมของหมู่บ้านทุกเดือน" ประธาน อสม. บ้านคำอ้อ ตำบลดงเหนือ
            องค์การบริหารส่วนตำบลดงเหนือ เป็น อบต.ขนาดเล็ก ห่างจากจังหวัดสกลนคร 140 กิโลเมตร ผู้คนมีวิถีชีวิตดำเนินไปอย่างเรียบง่าย ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ ทำสวน

            การจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น อบต.ดงเหนือ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2549 กิจกรรมของกองทุนทั้งหมดเน้นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ ได้แก่ โครงการอบรมพัฒนาศักยภาพ อสม. มุ่งสู่ตำบลสุขภาพดี, โครงการค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนกลุ่มเสี่ยงเบาหวาน , โครงการครอบครัวอุ่นไอรัก , โครงการออกกำลังกายด้วยไม้พลองและโครงการออกกำลังกายด้วยครกกระเดื่อง ซึ่งเป็นโครงการที่เข้าถึงความเป็นชุมชนและได้รับความร่วมมือจากชุมชนเป็นอย่างดี

            "โครงการออกกำลังกายด้วยครกกระเดื่อง" พัฒนามาจากข้อมูลสุขภาพของชุมชนที่พบว่า กลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานในชุมชนเพิ่มมากขึ้น จากการคัดกรองโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแต่ละปี แม้ว่าสถานีอนามัยจะจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวมาโดยตลอด แต่ปัญหาก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับเจ้าหน้าที่ประจำสถานีอนามัยก็มีไม่เพียงพอกับจำนวนผู้รับบริการ จึงเป็นโจทย์สำคัญที่จะต้องช่วยกันคิดว่า จะทำอย่างไรกับปัญหานี้ดี

            คุณพาศิริ หล้าสอน พยาบาลวิชาชีพ 7 ประจำสถานีอนามัยคำยาง คือ หัวเรี่ยวหัวแรงในการทำประชาคมหมู่บ้าน ที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามาช่วยกันคิดไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน อบต. อสม. หรือสถานีอนามัย เมื่อชุมชนช่วยกันคิดก็เจอทางออกร่วมกัน ใครจะไปคิดว่าภูมิปัญญาชาวบ้านที่เป็นวิถีชีวิตคนไทยมาช้านานจะช่วยบรรเทาและลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานได้
            "ตอนที่คิดวิธีแก้ปัญหาร่วมกับชาวบ้าน ตัวเองก็ได้แนวคิดมาจาก การไปดูงานสร้างสุขภาพในหลายๆที่ จึงมาคิดว่าถ้าคนที่เสี่ยงจะเป็นเบาหวานได้ออกกำลังกายด้วย ได้สุขภาพดีด้วย ครกกระเดื่องก็น่าจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยได้ ส่วนเรื่องรายได้จากการขายเป็นเรื่องรอง เพราะชาวบ้านที่นี่ ส่วนใหญ่ปลูกข้าวกินเอง แต่ถ้าเขาทำเยอะก็จะหาตลาดให้ เป็นการเสริมรายได้อีกทางหนึ่ง จึงเสนอให้แนวคิดชาวบ้านตอนทำประชาคม ซึ่งชาวบ้านก็เห็นด้วยและเขียนโครงการเพื่อขออนุมัติงบจากกองทุน.." คุณพาศิริ หล้าสอน พยาบาลวิชาชีพ 7 สถานีอนามัยคำยาง

            โครงการออกกำลังกายด้วยครกกระเดื่อง เป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเบาหวานในชุมชน เป็นการนำหลักการบูรณาการมาลดปัญหาสุขภาพ มีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนที่ตรวจพบภาวะเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวาน สามารถป้องกันการเกิดโรคด้วยการออกกำลังกายตามวิถีชีวิตโดยการตำข้าวด้วยครกกระเดื่อง และยังสามารถนำข้าวกล้องที่ได้จากการตำมาบริโภคเพื่อประโยชน์ทางสุขภาพ และในอนาคตก็ยังสามารถนำไปขายเป็นการสร้างรายได้ให้กับครอบครัวเพิ่มอีกทาง

            นอกจากการเชื่อมประสานในแง่ของแนวคิดแล้ว โครงการฯ ยังใช้การระดมทุนในการจัดซื้อครกกระเดื่อง ซึ่งงบประมาณสนับสนุนมาจาก 2 แหล่งทุน คือ สสส. ในโครงการสร้างสุขภาพตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้ครกกระเดื่องตำข้าวมา 6 ครก จากกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ของ อบต.ดงเหนือ อีก 4 ครก เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของชุมชน
            เมื่อทุกอย่างพร้อม การดำเนินงานต้องมีผู้รับผิดชอบหลักซึ่งก็คือ อสม.ในหมู่บ้าน โดย อสม.จะเป็นผู้กระตุ้นให้เกิดการรวมกลุ่ม และชี้แจงแนวคิด ประโยชน์ของการออกกำลังกายด้วยครกกระเดื่อง ส่วนพยาบาลวิชาชีพประจำสถานีอนามัยก็จะคอยเป็นพี่เลี้ยง
            การรวมกลุ่มสมาชิกตำข้าวด้วยครกกระเดื่อง สมาชิกจะเป็นผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานในเบื้องต้น สมาชิกจะถูกแบ่งเป็นกลุ่มๆ มีประมาณ 6-10 คน ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ เพราะบางคนมีข้อจำกัดก็จะเลือกวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับตนเอง

            ด้วยลักษณะงานที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนทำให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมและมีความพึงพอใจในกิจกรรม ดังคำกล่าวของคุณพาศิริ
            "...ตอนนี้มีบ้านหลังหนึ่งไม่สีข้าวกินเลย กินแต่ข้าวที่ตำอย่างเดียว และระดับน้ำตาลก็ลดลงแม้จะไม่ใช่จากกิจกรรมนี้ทั้งหมดแต่เขาก็ภูมิใจ"คุณพาศิริ หล้าสอน พยาบาลวิชาชีพ 7 สถานีอนามัยคำยาง

            สิ่งที่ปรากฏขณะดำเนินกิจกรรม จำนวนผู้เข้าร่วมที่เพิ่มขึ้น ค่าดัชนีมวลกายและระดับน้ำตาลในเลือดของกลุ่มเสี่ยงลดลง จึงเป็นตัวชี้วัดของโครงการได้ในระดับหนึ่ง ปัจจุบัน กองทุนฯ ได้ขยายผลการดำเนินงานไปยังอีก 3 หมู่บ้านที่สนใจ ได้แก่ บ้านดอนแตง บ้านท่าช้าง และบ้านนาทวี โดยงบประมาณทั้งหมดได้รับการสนับสนุนจากทั้ง อบต. และกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ          
            แต่กว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนนั้นไม่ใช่ง่าย ปัจจัยความสำเร็จขึ้นอยู่กับประสบการณ์เดิมของชุมชน ที่ผ่านมาชุมชนได้มีโอกาสร่วมเรียนรู้ในกระบวนการทำงานสร้างเสริมสุขภาพกับ สสส. จึงทำให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพชุมชน ส่งผลให้เกิดการมีส่วนร่วมสูงในการทำกิจกรรม

            ศักยภาพของเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย ดังตัวอย่างของคุณพาศิริ หล้าสอน ที่มีความมุ่งมั่นในการสร้างสุขภาพของชุมชนอย่างแท้จริง ถึงแม้จะพึ่งย้ายมาทำงานได้ประมาณ 3 ปี แต่ชาวบ้านก็ให้ความไว้วางใจและร่วมมือในทุกกิจกรรม และ ทพ.ดร.สุขสมัย สมพงษ์ รองนายากแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสกลนคร  ก็ได้นำพาชาวบ้านสร้างชุมชนแบบมีส่วนร่วม โดยพัฒนากระบวนการทำงานและกระบวนการคิดแบบพึงตนเอง โดยชุมชน เพื่อชุมชน ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ และชุมชนได้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาทักษะการทำงานเพื่อสร้างเสริมสุขภาพของชุมชน

            พัฒนาการและความต่อเนื่องของกิจกรรมโครงการ เนื่องจากชุมชนมีการดำเนินงานเรื่องโรคเบาหวานมาโดยตลอด ตั้งแต่การตรวจคัดกรองโดย อสม. ในชุมชน เมื่อค้นพบกลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยสถานีอนามัยร่วมกับ อสม. ก็จัดกิจกรรมเข้าค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในกลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วย จนมาถึงการออกกำลังกายโดยครกกระเดื่อง จึงทำให้เกิดความร่วมมือจากชุมชนสูง

            การใช้หลักการแก้ปัญหาแบบบูรณาการด้วยแนวคิดหลักของการแก้ปัญหาที่มาจากประเด็นความต้องการของชุมชน การนำภูมิปัญญาชาวบ้านที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตมาใช้ในการสร้างสุขภาพ
        และการระดมทุนทางสังคมที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นการนำ อสม. มาเป็นแกนนำในการดำเนินการ การนำภูมิปัญญาท้องถิ่นคือ การตำข้าวด้วยครกกระเดื่องมาเป็นกิจกรรมการออกกำลังกาย รวมถึงงบสนับสนุนโครงการจาก สสส. และกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น อบต.ดงเหนือ
            เงื่อนไขและปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นส่วนประกอบที่เชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ที่จะนำพาให้การทำงานบรรลุสู่เป้าหมาย หากขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปอาจทำให้งานหยุดชะงักลงได้
            การทำงานกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น อบต.ดงเหนือ นอกจากจะช่วยให้ชาวบ้านได้รับประโยชน์ด้านสุขภาพแล้ว ยังทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลและสถานีอนามัยได้เรียนรู้ความจริงอีกด้านว่า การสร้างสุขภาพในชุมชนจะดำเนินการโดยลำพังและแก้ปัญหามิติเดียวไมได้ ต้องมองปัญหาอย่างบูรณาการทุกมิติ ส่วนชาวบ้านก็ได้เรียนรู้กระบวนการมีส่วนร่วมและพึ่งพาตนเอง ชาวบ้านมีศักยภาพในการทำงานถ้าได้รับการกระตุ้นและส่งเสริมจากทุกภาคส่วนอย่างจริงใจและต่อเนื่อง

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
กฤษณา ทรัพย์สิริโสภา
มัลลิกา มากรัตน์
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุดรธานี



ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น